การตลาดคืออะไร? (ทำไมถึงสำคัญกับทุกคน)

การตลาด

การตลาด คืออะไร

1. การตลาด คืออะไร

======================

– การตลาด คือการทำให้มี demand มากกว่า supply มีคนอยากซื้อมากกว่าที่เราอยากขาย นี้คือหัวใจสำคัญของคำว่าการตลาด

– อยากแนะนำให้ลองไปดูภาพยนตร์เรื่อง The Joneses แล้วคุณจะเข้าใจนิยามคำว่าการตลาดมากๆ ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้

– จริงๆ แล้วการสื่อสาร (communication) เป็นแค่ส่วนนึงของการตลาด (marketing) และการตลาดก็เป็นแค่ส่วนนึงของธุรกิจ (business) ถ้าเราเข้าใจภาพนี้ เราจะเข้าใจว่าเราจะใช้การตลาดเพื่อช่วยธุรกิจได้อย่างไร สุดท้ายแล้วการตลาดคือมีหน้าที่ทำยังไงให้ธุรกิจมันเติบโต มีกำไรมากขึ้น

– ทุกๆ อย่างเป็นการตลาดได้ (Everything is a marketing) แม้กระทั่งการแต่งตัว การโพสต์ในโซเชียล การเลือกทำทุกอย่างสามารถเป็นการตลาดได้ แค่เราต้องมองให้ออกว่าสิ่งที่เราทำ เราคาดหวังผลลัพธ์ในแบบที่มันเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราไม่ได้คาดหวังผลลัพธ์แบบนี้ เราก็ควรจะต้องเปลี่ยนวิธีการ เช่น ถ้าเราใส่เสื้อยืดธรรมดา เราก็อาจจะไม่ได้คาดหวังอะไร แต่แน่นอนถ้าเราไปเจอลูกค้า เจอบริษัทใหญ่ๆ เราก็ต้องทำการตลาดตัวเอง อาจจะต้องใส่เสื้อผ้าที่เรียบร้อยขึ้น ทุกอย่างคือการตลาด แค่ต้องมองให้ออกว่าอะไรที่เราสามารถเอามาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสหรือเพิ่ม demand ได้

การทำ Personal branding

2. เทรนด์การทำ Personal Branding คืออะไร

======================

– ได้ยินคำนี้บ่อยๆ สมัย Clubhouse พึ่งเกิด ปีที่แล้วในช่วงนี้ถ้าใครเล่น Clubhouse แรกๆ จะมีคำนึงที่ได้ยินบ่อยมากคือ หิวแสง

– จริงๆ แล้วการทำ Personal Branding ก็คือการทำการตลาดให้ตัวเอง ถ้าใช้คำว่าคนคนนึงอยากเด่นอยากดังถือว่าเขาหิวแสงไหม ก็อาจจะต้องดูว่าแสงที่เขาได้เพิ่มขึ้นมันช่วยอะไรกับตัวเขาหรือเปล่า บางคนเขาก็มีของอยู่แล้ว เขาแค่มีที่ที่ทำให้แสงมันมาลงโดนตัวเขา เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือหิวแสง อะไรคือ personal branding นิยามของมันอาจจะใกล้ๆ กัน แต่วิธีการพูดมันต่างกันเยอะมากเหมือนกัน

– บางแบรนด์ไม่เคยมีคนรู้จักเลย แต่มีคนรู้จักเร็วมากเมื่อทำเรื่องของ CEO Branding เพราะพอมันเป็นคน มันจับต้องง่าย มันรู้สึกได้ ช่วยทำให้แบรนด์หรือธุรกิจเป็นที่รู้จักง่ายขึ้น เร็วขึ้น ส่วนวิธีการจะเป็นรูปแบบไหน บางคนมีหน้าที่อย่างเดียวคือออกสื่อให้คนรู้จักมากที่สุด แต่หลังบ้านไม่ต้องทำ เดี๋ยวมีคนบริหารจัดการให้ บางคนอาจจะใช้วิธีการเป็นหนังสือชีวประวัติขององค์กร ก็เป็น personal branding อีกวิธีการนึง ขึ้นอยู่กับว่าวิธีการไหนที่เหมาะกับเรา เพราะวิธีการก็คือ execution สิ่งที่เขาทำอาจจะไม่ได้เหมาะกับธรรมชาติหรือความเป็นตัวเรา ก็ต้องเลือกวิธีการทำ personal branding หรือการทำการตลาดตัวเองให้เหมาะสมด้วย

– ไม่ว่าเราจะทำอะไรดีขนาดไหน มันต้องมีสิ่งที่ไม่ถูกใจคนบ้างอยู่แล้ว เหมือนคำที่เขาบอกว่าลำพังขนาดพระพุทธเจ้ายังมีคนนินทาเลย แล้วนับประสาอะไรกับคนธรรมดาอย่างเรา เพราะฉะนั้นการที่มีคนไม่ชอบเป็นเรื่องปกติ

– สิ่งที่อยากจะบอกคนที่ทำเรื่อง personal branding คือต้องกลับมาดูว่าวัตถุประสงค์ในการทำของเรา เราทำด้วยเจตนาดีไหม สิ่งที่เราทำไปมันตั้งใจทำให้ใครเดือดร้อนหรือเปล่า ถ้าเกิดทำด้วยเจตนาดี คิดว่าขอให้ทำในสิ่งที่ตั้งใจและเชื่อว่ามันดีเถอะ มันจะมีอยู่แล้วคำที่ลบ คนที่ไม่ชอบ เพราะถ้าเราเลือกที่จะเป็น ใครบางคน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ feedback ในด้านของคนที่ไม่ชอบเราให้ได้ด้วย

เทรนด์ของ metaverse

3. เทรนด์ของ Metaverse, NFT เป็นอย่างไร

======================

– เป็นเทรนด์ที่จะ disrupt โลกทั้งหมดอีกที ทำให้ผมนึกถึงตอนที่เกิด digital disruption ในยุคของการเกิดอินเทอร์เน็ตแรกๆ เป็น game changer ที่สำคัญมาก

– จริงๆ คีย์สำคัญคือเรื่องของ NFT การที่เราสามารถ verify อะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นไฟล์หรือรูปภาพสามารถทำให้เป็น digital asset ได้ อันนี้จะส่งผลกระทบต่อทุกๆ สิ่งเยอะกว่าที่คิดไว้ คุณอาจจะยังไม่สามารถใช้มันในวันนี้ได้ แต่อย่างน้อยคุณต้องเริ่มเรียนรู้ได้แล้วว่าเบสิคพื้นฐานของสิ่งนี้มันคืออะไร

– พื้นฐานของการตลาดคือทำให้คนอยากได้ อยากมีอะไรบางอย่าง ถ้าเราลองมาเปรียบเทียบอย่าง luxury brand ถามว่ามีความจำเป็นไหม เอาจริงๆ มันไม่ได้จำเป็นกับเบสิคพื้นฐานของชีวิต ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋า Chanel ที่ราคาขึ้นทุกปี ขึ้นแล้วไม่มีลง ไม่มีลดราคา ถ้าเราพูดถึงฟังก์ชั่นการใช้งานกระเป๋า Chanel ใบนึงของอย่างเดียว คงไม่ค่อยสมกับราคา แต่ประเด็นคือคนอยากได้ เรื่องราวสตอรี่เบื้องหลัง การที่เขาต้องสร้าง demand ให้มากกว่า supply วันนี้กระเป๋า Chanel รุ่นคลาสสิคใบนึงราคาเกือบๆ แตะสามแสนแล้ว สมมุติมีเงินเดินไปที่ร้าน จะเข้าร้านก็ต้องรอคิวก่อน พอได้เข้าไป เลือกเสร็จ จะเอาของ รุ่นส่วนใหญ่ที่อยากได้มันก็มักจะไม่มีของเลย ต้องรอเป็น waitling list รอตั้งแต่ 3-6 เดือน นี่แค่กระเป๋าหนึ่งใบ ที่มี demand มากกว่า supply ตลอด ราคาจึงไม่เคยตก

– กลับมาที่ NFT ก็เหมือนกัน การที่ของที่เป็น physical มันมีจำนวนจำกัด (scarcity) แต่ digital มันทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เมื่อก่อนเราฟังเพลงจากเทป ต้องเดินไปเสียเงินซื้อมา แต่พอมันเป็น digital เราสามารถโหลดฟังบน iTune หรือเดี๋ยวนี้ก็สามารถฟังผ่าน streaming ได้ นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้น digital ทำให้มันสะดวกและต้นทุนต่ำลง กลายเป็นว่า value มันก็ลดลงด้วย กลายเป็นไฟล์ที่มัน copy paste ส่งต่อกันได้
แต่พอเป็น NFT มันทำให้ความเป็น digital มันยืนยันความเป็นเจ้าของได้ว่าจริงๆ แล้วรูปๆ นี้ เพลงๆ นี้ใครเป็นเจ้าของกันแน่ นี้คือการแสดงความเป็นเจ้าของบน digital ทำให้มันกลายเป็น digital asset ได้หลากหลายขึ้น

– เปรียบเทียบง่ายๆ ยกตัวอย่างรูป โมนาลิซา มีรูปก๊อปปี้ปลอม digital print มากมาย แต่ทุกคนรู้ว่าของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ต่อให้คนก็อปปี้ไปมากเท่าไหร่ value ก็ไม่ลดลง กลายเป็นว่า value ยิ่งเพิ่มขึ้น คนยิ่งรู้สึกอยากได้

– NFT ก็มีคอนเซ็ปต์เดียวกัน ไม่ว่าคุณจะก็อปไฟล์ไปมากแค่ไหน เช่น ไฟล์ NFT ในกลุ่ม Bored Ape Yacht Club ที่ประมูลกันเป็นหลักล้าน ก็อปไปเท่าไหร่ value ก็ไม่หาย แต่ยิ่งเป็นการยืนยันให้คนทั่วไปยอมรับว่านี้คือสิ่งที่คนอยากได้ แล้วใครเป็นเจ้าของ ถ้าอยากเป็น digital ownership จะต้องไปขอซื้อ token ที่แสดงความเป็นเจ้าของที่ผูกกับไฟล์ๆ นี้มา มันจะบอกว่านี่คือของเรา อันนี้น่าจะเป็นเทรนด์การตลาดที่สำคัญมาก อยากให้ทุกคนลองไปศึกษาเพิ่ม เพราะว่ามันเปลี่ยนไปอยู่ตลอด มีอะไรที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา ลองไปหาเคสที่มันเหมาะกับธุรกิจเราให้เจอ

– จริงๆ ถ้าพูดถึงความเป็น digital asset กับแบรนด์หรู ก่อนหน้านี้ Gucci ก็เคยออกกระเป๋าที่อยู่ในเกม Roblox ซึ่งกระเป๋าตัวนี้ราคาประมาณ $4,000 คนซื้อเพื่ออวดในเกม เพราะชีวิตในเกมก็คือสิ่งหนึ่งที่ represent เรา เพราะคนรู้ว่าคาแรคเตอร์นี้คือใคร นี้คือภาพที่เกิดขึ้น มันไม่มีแล้วว่าคุณรวยในไหน แค่มันแสดงความเป็นตัวคุณที่ไหนก็ได้

contexual marketing คือ

4. Contextual Marketing คืออะไร

======================

– ด้วยบริบทตอนนี้ สิ่งนี้น่าจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์ในยุคของ privacy ที่คนกังวลเกี่ยวกับข้อมูลความเป็นส่วนตัวจะรั่วไหล จะถูกแอบนำไปใช้ ทำให้คนไม่ค่อยกล้าให้ข้อมูลตัวเอง แต่มันจะมีอีกข้อมูลนึงก็คือข้อมูลจากบริบทโดยรอบหรือ context data ที่เราสามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ ถ้าเกิดเราขยัน ละเอียด ใส่ใจกับบริบทรอบตัวของลูกค้า

– ถ้า personalize marketing คือการโฟกัสกับตัวลูกค้า ดู customer data เป็นหลักว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไร แต่ contexual marketing คือ การดูว่าถ้าเราเป็นลูกค้าที่อยู่ในช่วงนั้น สถานการณ์นั้น เราน่าจะอยากได้ หรือเราอยากให้คนเอาของเข้ามานำเสนอขายแบบไหน

– ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพระหว่าง contextual marketing กับ content marketing ภายใต้ product เดียวกัน สมมติเช่น​ โค้กขวดหนึ่ง ระหว่างโค้กอยู่ในตู้แช่ที่ขายในห้างสรรพสินค้า กับอยู่ในตู้แช่ที่อยู่กลางทะเลทราย ตู้ที่อยู่กลางทะเลทรายที่ร้อนๆ ก็ย่อมจะขายดีกว่าอยู่แล้ว นั้นแหละคือ definition ของ context คือการพยายามหาบริบทที่ทำให้เราขายได้ง่ายมากที่สุด เราต้องหาบริบทนั้นให้เจอ หรือพยายามคิดว่าถ้าเราเป็นลูกค้าแล้วอยู่ในบริบทแบบนี้ เราน่าจะอยากได้หรืออยากโดนเสนอขายอะไร

– ช่วงเวลาเช้า กลางวัน เย็น เราก็ควรจะทำการตลาดที่แตกต่างกันตามบริบท สมมุติถ้าเป็นร้านกาแฟ ทำโฆษณาตอนเช้าก็ต้องบอกให้คนแวะมากินกาแฟ กาแฟเราจะทำให้คุณตื่น สมองแล่น กลางวันอาจจะเป็นอีกแบบ เรามีอาหารให้กิน เป็นเครื่องดื่มให้คุณเฟรชยามบ่าย ถ้าเป็นตอนเย็นก็ไม่ต้องโปรโมทกาแฟ โปรโมทเครื่องดื่มอื่นที่ทำมันให้รีแล็กซ์ขึ้น เช่น โซดา หรืออื่นๆ ภายใต้ product ร้านเดียวกัน ธุรกิจเดียวกัน ต้องมีทำการตลาดตาม context ที่แตกต่างกัน ยังไม่นับ weekday/weekend ผู้ชาย/ผู้หญิง อายุช่วงต่างๆ มี context เยอะมากให้เราเลือก คำถามคืองานพวกนี้มันเป็นงานที่ต้องละเอียด ต้องอาศัยความใส่ใจ เราพร้อมที่จะทำงานละเอียดเพื่อดูแลลูกค้าให้ดีกว่าคู่แข่งที่ยังขี้เกียจอยู่หรือไหม

Privacy กับลูกค้า

5. Privacy กับข้อมูลของลูกค้า สำคัญอย่างไร

=====================

– ความกังวลเรื่อง privacy เกิดขึ้นเพราะว่าก่อนหน้านี้บรรดานักการตลาดทั้งหลายเอาข้อมูลลูกค้าไปใช้ แล้วไม่ค่อยใช้เพื่อลูกค้า ไม่ดูแลรักษา ปล่อยให้มี data รั่วไหล พอเป็นแบบนี้คิดดูว่าใครอยากจะให้ข้อมูล เพราะรู้ว่าพอให้ไป แล้วคุณไม่ได้แคร์ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้เอาไปทำให้เป็นประโยชน์กับลูกค้ามากขึ้นเลย วันดีคืนดีมี SMS ส่งเข้ามาให้กู้เงิน ส่งมาขายประกัน ข้อมูลพวกนี้มาจากไหน คนก็เริ่มมีความกังวลว่าถ้าให้แล้วเป็นแบบนี้ ไม่ให้ดีกว่า นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเราจะทำยังไงให้ลูกค้าอยากให้ข้อมูลกับเรา

– เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นคือ การที่เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราดูแลและใส่ใจเขามากกว่าคนอื่น ค่อยๆ ซื้อใจ แล้วเขาจะค่อยๆ ปล่อย data มาให้เราทีละส่วน เพื่อที่จะลองดูสิว่าให้ข้อมูลแบบนี้แล้ว เราเอาไปทำอะไร เอาไปทำเพื่อลูกค้าไหม ทำให้ลูกค้าสะดวกสบายขึ้นไหม คนไม่ได้รังเกียจที่จะเห็นโฆษณา แต่คนรังเกียจที่จะเห็นโฆษณาที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาเลย โฆษณาที่มันผิดที่ผิดทาง ผิดจังหวะ โฆษณาแบบ non-skip แน่นอนคนจำได้แม่นเลย แต่จะได้ในแง่บวกหรือแง่ลบอาจจะเป็นอีกเรื่องนึง

– ต้อลองเรียนรู้และลองดู อย่ารอให้คนอื่นทำฝ่ายเดียว เพราะเมื่อคนอื่นทำสำเร็จแล้ว เมื่อนั้นคุณก็จะช้าเกินไปแล้ว

รู้ทันการตลาด

6. ทำอย่างไรให้เราทันตลาดอยู่เสมอ

=====================

– เราควรถามตัวเองก่อนว่าเรารู้จักลูกค้าของเราดีพอหรือยัง ไม่ต้องไปตามเทรนด์ทุกอย่างบนโลก รู้ไว้ให้มีความรู้ จะได้รู้ว่าควรจะต้องทำหรือไม่ควรจะต้องทำ กลับมาโฟกัสกับลูกค้าเดิมก่อน เอาแค่ลูกค้าปัจจุบัน เป็นอะไรที่สำคัญมาก ธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักลูกค้าตัวเองดีพอ ในแต่ละเดือนยอดขายมาจากลูกค้าเก่าหรือลูกค้าใหม่เท่าไหร่ ลูกค้าแบ่งออกเป็นกี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มเขามีพฤติกรรมยังไง สมมุติทำรายการให้คนฟัง คนที่ชอบมาฟังตอนเช้า ชอบมาฟังตอนเย็น ชอบฟังสด ชอบฟังย้อนหลัง เขามีพฤติกรรมต่างกันไหม เขามีลักษณะ persona ยังไง การกลับไปทำความเข้าใจลูกค้า เทคนิค ความลับเดียวง่ายๆ คือจง crazy กับลูกค้าให้มากๆ จงไปจำลองว่าตัวเองเป็นลูกค้าแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นลูกค้าของแบรนด์เราอยู่หรือเปล่า

– หลายครั้งที่นักการตลาดมักจะหลงตัวเองว่าแบรนด์เราดี แบรนด์เราเยี่ยม แต่คุณพูดในฐานะที่เป็นเจ้าของแบรนด์ คุณลองเป็นลูกค้าสิ หลายๆ คนค้นพบว่าจะเจอปัญหาน่าหงุดหงิดเมื่อต้องไปใช้บริการแบรนด์ตัวเอง ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ถูกใจ ลองคิดว่าถ้าเราเป็นลูกค้าแล้วเราจะชอบอะไร อยากได้อะไร

– เอาข้อนั้นแล้วกลับไปอยู่กับลูกค้าเยอะๆ อยู่กับเขา ฟังเขาเยอะๆ วันนี้มีวิธีฟังเขามากมาย เมื่อก่อนคือการทำ focus group การทำ interview, survey ลองฟัง ลองทำ social listening ว่าคนพูดถึงแบรนด์เรายังไง พูดถึงแบรนด์คู่แข่งยังไง เราทำอะไรดี เขาทำอะไรได้ดี เราทำอะไรได้แย่ เขาทำอะไรได้แย่ แล้วเราจะพลิกวิกฤตนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่ทำให้เราดีขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง หลายๆ ครั้งเราอาจจะเจอ insight ที่ไม่น่าเชื่อ

– มีตัวอย่างเช่น เทรนด์ในปีที่แล้ว ลูกค้าของผมรายนึงเขาทำเกี่ยวกับอสังหา อยากขายคอนโด ทำให้เราค้นพบว่าเทรนด์การซื้อคอนโดเปลี่ยนไปแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน มีคนกลุ่มนึงที่หาคอนโดใกล้บ้านทั้งๆ ที่เป็นช่วง work from home คนแบบไหนอยากหาคอนโดใกล้บ้าน หาไปทำไม ตอนหลังเราได้พบ insight ว่าคนกลุ่มนี้คือคนที่เบื่อจะอยู่บ้าน work from home เพราะบ้านหนึ่งหลัง ไม่มีใครคิดว่าบ้านจะต้อง work from home พร้อมกันหมด ไม่มีห้องสำหรับทุกคน เขาอยากได้ห้องง่ายๆ ใกล้บ้าน และไม่กล้าไป co-working space หรือร้านกาแฟ ก็เลยต้องการคอนโดเล็กๆ อยู่ใกล้บ้าน จะได้เป็นห้องทำงาน เดินจากบ้านไปคอนโดเปิดคอมเปิดเน็ต ตอนเย็นเลิกงานปิดคอมกลับบ้าน รู้สึกต้องการห้องแค่นี้ เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการขายคอนโดปีที่แล้วก็เปลี่ยนไป การพยายามเข้าไปดูสิว่าคนที่เราอยากได้ ลูกค้าเรา เขาคิดยังไง รู้สึกยังไง พูดยังไง แล้วเราจะเอาจุดนั้นมาทำให้ดีขึ้นยังไง พอรู้แบบนี้ปุ๊บ ไม่ต้องไปโฆษณา facility ใดๆ มีห้อง มีเน็ต มีแอร์ ขอแค่ง่ายๆ แค่นี้ ดีไม่ดีหาเซอร์วิสเพื่อปล่อยห้องเช่าต่อเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ อันนี้ถือว่า win-win มากๆ ดีไม่ดีอาจจะออกโปรใหม่ให้ปล่อยเช่าชั่วคราวเพื่อทำงานแทนก็เป็นได้ เพราะถ้าเราใช้ห้องเพื่อทำงาน มันไม่ได้โทรมแบบอยู่อาศัย นี้คือสิ่งที่เราได้เห็น insight จาก data จริงๆ เราสามารถ make decision ได้ดีขึ้น เพราะเรารู้แล้วว่าคนที่เราต้องการ target เรา ลูกค้าเรา เขาต้องการอะไรกันแน่

– คีย์สำคัญปัญหาของการตลาดคือ เราไม่ได้เข้าใจลูกค้าจริงๆ เหมือนที่เราคิด เรามักคิดไปเอง เรามักเอา sample size เล็กๆ มาเป็นตัว make decision สำหรับการตัดสินใจที่ใหญ่ เราคุยกับคนสิบคน แต่เอามา make deicison กับการทำการตลาดกับคนเป็นล้านคน นั้นคือสิ่งที่น่าเสียดาย

– เมื่อก่อนเข้าใจได้เพราะว่าเทคโนโลยีหรือความสะดวกในการเข้าถึง data มันอาจจะไม่ได้ง่าย ไม่ได้เร็วอย่างวันนี้ แต่วันนี้ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปเยอะ เรียนรู้การที่จะเข้าใจ customer insight ใหม่ๆ ได้แล้ว

การใช้ social listening

7. การใช้เครื่องมือ Social Listening อย่างไรดี?

=====================

– พื้นฐานหลักของเครื่องมือคือการดึง data ที่มันกระจัดกระจายอยู่บน social ทั้งหลาย เอามารวบรวมให้อยู่ในที่เดียว ให้เราเอาไปใช้งานต่อได้ง่าย เอามาจัดหมวดหมู่ จัดประเภท แล้วค่อยเอามาเริ่มวิเคราะห์ ถ้าอยากรู้เรื่องอะไรก็พิมพ์ใส่ใน social listening ได้เลย สมมุติอยากรู้เกี่ยวกับ Clubhouse ช่วงนี้ยังมีคนพูดถึง Clubhouse เยอะไหม พอใส่คำลงไป ก็จะรู้เลยว่าวันไหนคนพูดถึงเรื่อง Clubhouse เยอะๆ แล้วค่อยไป find out หาคำตอบว่า แล้วในวันนี้คนมาทำอะไรถึงกลับมาพูดถึงเรื่อง Clubhouse กันแยะ แบบนี้เป็นต้น

– เวลาทำ data มันจะกวาดทั้งหมด ไม่ได้มี AI ที่ทำให้ออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายให้เราได้ทุกอย่างเลย เครื่องมือช่วยกวาด data ที่เราอยากรู้ เราต้องมาจัดการกับ data ก่อน อันดับแรกคือการ clean เอาข้อมูลที่ไม่เกี่ยวออก เอาข้อมูลที่เกี่ยวกับด้านที่เราอยากรู้ของสิ่งที่เราค้นหา ถัดมาหลังจากนั้นก็คือการทำ categorize data หรือว่าการทำ label การทำ attribute จัดหมวดหมู่ของข้อมูล ให้เห็นว่าคนพูดถึง Clubhouse ในแง่มุมไหน ด้วย context แบบไหนบ้าง เมื่อนั้นเราจะเริ่มเห็น insight ที่แท้จริง อะไรคือสิ่งที่คนชอบ อะไรคือสิ่งที่คนไม่ชอบ คนพูดถึงแบรนด์ไหนเยอะ พูดถึงแบรนด์ไหนน้อย Channel ไหนที่คนพูดถึงเยอะๆ ทำให้เราได้เห็นภาพมากขึ้น

– ยกตัวอย่างหนึ่งคือการทำเลสิค พึ่งทำ data research เรื่องนี้เสร็จ หนึ่งในปัจจัยที่คนอยากทำ เพราะคนมีอารมณ์รู้สึกว่าทำแล้วเหมือนได้เกิดใหม่ อันนี้คือจุดหนึ่งที่คนอยากทำ แล้วอะไรบ้างที่ทำให้คนไม่กล้าตัดสินใจทำเลสิคในวันนี้ คนใช้อะไรแทน ที่เป็นคู่แข่งกับการทำเลสิค หรือแม้กระทั่งหมอหรือโรงพยาบาลไหนที่ดังในเรื่องนี้ จริงๆ influencer หรือคนที่พูดถึงเรื่องเลสิคแล้วคน engage เยอะจริงๆ ไม่ใช่โรงพยาบาล แต่เป็นคุณหมอท่านนึง

– เมื่อเราเห็นข้อมูลทั้งหมด ส่วนใหญ่คนที่ทำการตลาดหรือเป็นนักธุรกิจเก่งๆ เขาก็จะเห็นภาพทั้งหมด เหมือนได้คลี่คลายความจริง เห็นแผนที่ เราแทบไม่ต้องบอกอะไรต่อเลย เขาจะเลือกจิ้มเอง เพราะตอนนี้เขารู้แล้วว่าเขาอยู่ตรงไหน แล้วเขาจะไปตรงไหน เขาจะทำอันไหนก่อน อันไหนไม่ทำ นั่นแหละคือสิ่งที่เกิดขี้นจากการใช้ social listening ทำให้เราได้เห็นความจริงแบบจริงๆ ทำการตลาดจากการดู data ไม่ต้องมานั่งเดาแบบเดิมอีกต่อไป

– อย่างช่วงล็อกดาวน์รอบแรกตอนปี 2020 คนก็ขายของออนไลน์เยอะขึ้น คีย์เวิร์ดที่มัน cover คือคำว่า “พร้อมส่ง” ทุกคนที่ขายของออนไลน์ต้องมีคำว่า “พร้อมส่ง” คำอย่างเช่น “ส่งฟรี” ไม่ใช่ทุกร้าน แต่ “พร้อมส่ง” กวาด data ค่อนข้างครบ เห็นเส้นเทรนด์ค่อนข้างชัดเจนว่าล็อกดาวน์ปุ๊บ “พร้อมส่ง” นี่เพิ่มขึ้นแบบเทรนด์มาชัด หรืออย่าง “หม้อทอดไร้น้ำมัน” ก็มาตอนช่วงล็อกดาวน์รอบแรกอยู่สักประมาณสามสัปดาห์ก็เริ่มนิ่งหายไป เราเริ่มเห็นว่าอะไรมา อะไรหาย อะไรคือสิ่งที่คนพูดถึงหรือไม่ได้พูดถึงแล้วเลย

Mindset การตลาด

8. องค์กรควรมี mindset ของการตลาดอยู่ในทุกแผนกจริงไหม

=====================

– เป็นเรื่องจริง เพราะจริงๆ ต้องกลับไปมองว่าการตลาดคืออะไร การตลาดคือการทำให้คนอยากได้เรามากขึ้น ถ้า finance คิดเรื่องการตลาด บางที process การจ่ายเงิน การทำสิ่งต่างๆ ที่ยุ่งยากกับลูกค้า อาจจะทำให้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เพราะบางทีทำการตลาดโฆษณาออกไปดี แต่มาติดชะงักขั้นตอนจ่ายเงิน

– อยากให้มองภาพว่าการตลาดคือการทำให้ลูกค้าอยากเป็นลูกค้าเรานานๆ ฝ่าย After Sales Service จะทำยังไงให้ลูกค้ายังอยากเป็นลูกค้าต่อ ไม่ใช่ไปเซอร์วิสที่ลูกค้า นัดเที่ยงมาบ่าย 3 แต่งตัวไม่เรียบร้อย พูดจาไม่ดี ทุกอย่างมันก็คือการตลาด ทุกอย่างที่ลูกค้าได้สัมผัสก็จะสะท้อนกลับไปที่แบรนด์ว่าแบรนด์นี้คืออะไร แบรนด์คือ experience ที่ลูกค้าได้จากเรา เพราะฉะนั้นนิยามคำว่าแบรนด์คือ ลูกค้ารู้สึกกับคุณยังไง อันนี้คือแบรนด์ของคุณที่แท้จริง

การทำ content

9. การทำคอนเทนต์ในโลกออนไลน์ ทำอย่างไร

=====================

– ถ้าเรื่องการทำเพจทุกคนน่าจะเจอปัญหาเดียวกันคือ reach ลดลงอยู่ตลอด เวลา engagement น้อยลง คำที่อยากได้ยินบ่อยมากคือโดน Facebook ปิดกั้นการมองเห็น แต่ผมอยากพูดในอีกมุมนึงเสริมคือเรามีเพื่อนเยอะขึ้นทุกวัน เราแอดเพื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราไม่ค่อยลบใครออกเท่าไหร่ และเพจอื่นๆ ก็มีเพิ่มขึ้นตลอด เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เราแอดเฟรนด์แปลว่าเราจะเห็นคนอื่นๆ น้อยลงด้วย เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่เรามีจำกัดคือเวลา โดยเฉลี่ยเราเห็นได้ประมาณ 100 กว่า feed ต่อหนึ่งนาที เพราะฉะนั้น Facebook ก็ต้องไปเลือกว่า 100 กว่า feed ที่เราจะเห็น ใครบ้างคือคนที่เราควรเห็น ผมเชื่อว่าตอนนี้แต่ละคนน่าจะมีเพื่อนทะลุหลักพันไปแล้ว ภายใต้พื้นที่จำกัด เวลาจำกัด คุณก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าทำไมเขาถึงควรมองเห็นคุณมากกว่าเพื่อนหรือเพจอื่นๆ ที่เขาพึ่งไปซื้อของมา

– สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือไม่อยากให้ฝากชีวิตทั้งหมดไว้บน Facebook เราควรจะสร้าง own asset หรือ hub ของตัวเอง จริงๆ หลักของ media มีสามอันคือ paid, own, earn ในส่วนของ own เราก็ควรจะสร้างเว็บไซต์ของตัวเอง อย่างเวลาผมทำเพจ ผมพยายามไดรฟ์ traffic ทุกอย่างไปยังเว็บไซต์ของผม ผมจะไม่ได้โพสต์ข้อมูลทั้งหมดที่หน้าเพจ จะโพสต์แค่ข้อความและแปะลิงก์ ถ้าอยากอ่านเต็มๆ ต้องมาอ่านที่เว็บไซต์เท่านั้น ผมใจแข็งมาก แรกๆ ตัวเลขต่ำมากๆ แต่ต้องกัดฟันเพราะรู้ว่านี้เป็นทางเดียวในระยะยาว เราจะทำเพื่อไดรฟ์ traffic ออกมาจาก Facebook ให้ได้มากที่สุด

– วันนี้บอกได้เลยว่า traffic ส่วนใหญ่ของผมในเว็บไซต์ ไม่ได้มาจาก Facebook แต่มาจาก organic search อันดับสองคือมาจาก direct นั้นหมายความว่าต่อให้อยู่ดีๆ Facebook ลด reach ของเพจลงอีก ผมก็จะไม่ได้กระทบมากนัก สุดท้ายคนก็เข้ามาที่เว็บของผมด้วยตัวเองเป็นหลัก พยายามอย่าเอาอนาคตไปฝากไว้กับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แม้ระยะแรกอาจจะไม่สะดวกสบายนัก แต่ในระยะยาวมันจะเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด

– จากข้อมูลที่สรุปมาล่าสุด (52 Insight สำคัญจาก Thailand Digital Stat 2022) โพสต์ที่มี engagement ดีที่สุดคือ โพสต์รูปภาพ ซึ่งอยู่ที่ 0.11% แปลว่าสมมุติคุณมี follower หนึ่งล้านคน คุณโพสต์รูปภาพไปคุณจะได้ engagement ประมาณสัก 1,100 ถัดมาคือโพสต์ประเภท video 0.09% ถัดมาที่เท่ากันเลยคือโพสต์ที่เป็นลิงก์และสเตตัสก็อยู่ที่ 0.03%

– แต่ก็ไม่ใช่ทุกเพจที่จะเป็นแบบนี้ อาจจะต้องแล้วแต่เพจ เช่น เพจคุณนิ้วกลม เขาทำการเขียนข้อความยาวๆ จนมันกลายเป็นคาแรคเตอร์ของเขา จนคนเขารู้ว่าคนนี้โพสต์แบบนี้ แต่อีกคนอาจจะไม่ใช่โพสต์แบบนี้ เป็นอีกแบบนึง บางคนก็โพสต์เป็นลิงก์แล้วคน engage มากกว่า เพราะฉะนั้นแต่ละคนมีคาแรคเตอร์มีสูตรสำเร็จของตัวเอง เพราะฉะนั้นเลือกวิธีที่เหมาะกับเรา แล้วคนที่ตามเราเขาชอบ แบบนั้นจะดีกว่า

ฝากส่งท้าย การตลาด

10. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับการตลาด

=====================

– อยากให้ทุกคนกลับมาที่แก่นหลักของการตลาดคือ การเข้าใจลูกค้าเยอะๆ ก่อน โฟกัสที่ลูกค้า อย่าพึ่งไปคิดถึงคู่แข่ง เราชอบหลงไปคิดถึงคู่แข่งจนลืมดูแลลูกค้าตัวจริง อยู่กับลูกค้าเยอะๆ เข้าใจเขาเยอะๆ แล้วค่อยไปดูว่าเราจะใช้วิธีแบบไหน เทคโนโลยี กลยุทธ์อะไรเพื่อให้เขาอยากที่จะอยู่กับเราไปนานๆ ทำให้เขารู้สึกว่าเขาภูมิใจที่ได้เป็นลูกค้าเรา จริงๆ มันง่ายๆ แค่นี้เอง แต่คนส่วนใหญ่คือไม่ได้รู้จักลูกค้าจริงๆ ว่าลูกค้าชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ทำไมถึงเป็นหรือไม่เป็นลูกค้าเรา ทำไมถึงเลิกเป็นลูกค้าเรา ฝากไว้ตรงนี้

– อย่าลืมไปหาภาพยนตร์เรื่อง The Joneses มาดู พอดูเรื่องนี้แล้วคุณจะเข้าใจเรื่อง marketing มากขึ้นเลย

– ช่องทางติดตามก็สามารถไปอ่านเรื่องการตลาดได้ที่เพจ การตลาดวันละตอน ตอนนี้มีหนังสือเล่มล่าสุดก็คือ Contextual Marketing ไปลองเปิดอ่านดูตามร้านหนังสือก่อนก็ได้ว่าชอบไหม ถ้าลองอ่านแล้วชอบก็ค่อยซื้อ ถ้าไม่ชอบก็ลองดูเล่มอื่นก็ได้ เลือกเล่มที่คุณชอบและเป็นประโยชน์กับคุณมากที่สุด สุดท้ายขอให้สนุกกับการทำการตลาด สนุกกับการได้ดูแลลูกค้า ผมเชื่อว่าถ้าเราดูแลลูกค้าดี ยังไงลูกค้าก็ไม่อยากจะเปลี่ยนใจจากเราไปหาคนอื่น เอาใจช่วยให้ทุกคนให้ทำการตลาดได้อย่างสนุกขึ้น ได้ ROI สูงขึ้นในปีนี้

สรุปจาก 📝WIM EP.58: “การตลาด” ทำอย่างไรให้เราทันตลาดอยู่เสมอ 🛍 (ฟังวิดีโอตัวเต็มได้ที่: https://bit.ly/3sqLFBg)
======================
Speaker:
======================
Moderator:
พี พนิต P Panit
======================
Date: 17 Feb 2022 (21:00-22:20)