Cloud Services คืออะไร? มีข้อดีอย่างไรบ้าง?

Why It Matters EP12

สรุปสั้น

  • *1. Cloud services คือ การให้บริการ IT resource ไม่ว่าจะเป็น compute / storage / network ผ่าน อินเตอร์เน็ต แบบ self-service โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายแบบ pay per use
  • *2. ข้อดีของ cloud services คือ มีความยืดหยุ่น สามารถเพิ่ม ลด ขนาดพื้นที่ได้ด้วยตัวเอง ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสถานการณ์ได้ง่าย เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเร็วทำให้สามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเซ็ตอัพฮาร์ดแวร์ใหม่ และมีความปลอดภัยในระดับมาตรฐาน มีคนจัดการดูแลให้
  • *3. หลักการเลือก cloud services provider คือ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ความถนัดในการใช้งาน เรื่อง Community ก็ค่อนข้างสำคัญ การหาข้อมูลได้ง่ายมากน้อยแค่ไหน ดูเสถียรภาพ หรือความน่าเชื่อถือในการให้บริการ และดูเรื่องระบบความปลอดภัยด้วย
  • *4. คนที่อยากจะทำงานด้าน cloud services ต้องมีความรู้พื้นฐานของ Cloud ต้องมี multi-skill ต้องรู้ทั้งด้าน network / database / application ต้องศึกษาให้กว้างขึ้น ศึกษาด้วยตนเอง หรือเรียนรู้ผ่านคอร์สออนไลน์ต่างๆ

1. Cloud Services คืออะไร?

[คุณแป๋ม]

– Cloud Services คือ เป็นการให้บริการ IT resource ไม่ว่าจะเป็น compute / storage / network ผ่าน อินเตอร์เน็ต แบบ self-service โดยจะมีการคิดค่าใช้จ่ายแบบ pay per use ปกติแล้วตอนที่เราใช้งาน Cloud เช่น Google drive หรือ iCloud เราจะไม่ได้สนใจว่ามันจะไปถูกเก็บไว้ที่ไหน data center อยู่ตรงไหน ขอแค่ให้เก็บรูปของเราได้ก็พอ เวลาจะใช้งานก็เรียกใช้ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการ cloud services จะคิดค่าใช้จ่ายเมื่อเราใช้บริการในแต่ละครั้ง หรือเก็บค่าบริการแบบ pay per use นั่นเอง

[คุณเอื้อ]

– Cloud แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

*1. Infrastructure as a service ใช้เป็น storage เอาข้อมูลไปเก็บไว้บน Cloud

*2. Platform as a service มีความสำเร็จรูปมากขึ้น เช่น อยากได้ database แบบนี้มาใช้ เราก็ไปเช่ามาใช้ เป็นแพลตฟอร์มสำเร็จ เช่น AI / machine learning / IoT / data analysis

*3. Software as a service ทำเป็นแพลตฟอร์มมาให้เราใช้ได้เลย เป็นแอปพลิเคชั่น เหมือน Clubhouse หรือ Office 365

2. ข้อดีของ Cloud Services คืออะไร?

[คุณแป๋ม]

– การใช้งาน cloud services มีข้อดีตรงที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน เช่น วันนี้อยากเก็บรูปภาพบน iCloud ขนาด 100GB วันรุ่งขึ้นมีรูปเยอะขึ้น ต้องการพื้นที่เก็บมากขึ้น เราก็สามารถซื้อเพิ่มได้เลย โดยที่ไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างให้วุ่นวาย เราทำเองได้เลย หรือแม้กระทั่งเวลาที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว จะลดขนาดพื้นที่ลงก็ทำได้เลยเช่นกัน

– การที่ startup สั่งซื้อ server มาติดตั้ง ทำ data center จะใช้เวลานาน แต่เทคโนโลยี ไอเดีย ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รอไม่ได้ การใช้ cloud จึงช่วยตอบโจทย์ได้ดียิ่งขึ้น มีไอเดียก็ทำได้เลย ถ้าเฟลก็ลบทำใหม่ รู้ตัวเร็ว มูฟออนได้เร็ว นี่ก็เป็นข้อดีอย่างหนึ่งของการใช้งาน cloud

– ลองนึกภาพถ้าบริษัทเล็กๆ จะต้องซื้อ server ลงทุนเรื่อง security ซึ่งใช้เงินไม่น้อยเลย แต่ถ้าซื้อ cloud มันสามารถใช้ระบบความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานได้เลย หรือไม่ก็จ่ายเงินเพิ่มอีกนิดหน่อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการต่อสู้กับบริษัทใหญ่ๆ ได้มากยิ่งขึ้น

[คุณเอื้อ]

– ถ้าเราลงทุนสร้าง server เอง สร้าง physical data center เอง การลงทุนต้องใช้เงินเยอะมากเป็นหลักสิบล้านร้อยล้าน แต่ถ้าเป็น cloud คนที่ใช้งานไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อระบบใหญ่ๆ เหมาะอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับ startup อยากใช้พื้นที่ขนาดไหนก็เช่า cloud ใช้ได้เลย เช่น บริษัท Netflix หรือ Airbnb พอมีการขยายเติบโต การที่เขาต้องสร้างระบบ IT infrastructure ก็ลำบาก การใช้ cloud จึงช่วยขยาย scale up ได้เรื่อยๆ

– นอกจากนี้การที่เราลงทุนซื้อ resource ระบบมา แต่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยที่ของเดิมใช้ยังไม่คุ้ม บริษัทจึงต้องยอมให้ใช้ของเดิมต่อไปก่อน อาจทำให้บริษัทสูญเสียมูลค่าทางธุรกิจไป แต่ถ้าเป็น cloud หากมีเทคโนโลยีใหม่มา เราก็สามารถยกเลิก แล้วเช่าอันใหม่ได้เลย ทำให้พัฒนาได้ทันสมัย

3. Storage Cloud ที่เอาไปแชร์กับคนอื่น จะปลอดภัยไหม?

[คุณแป๋ม]

– มันเป็นการแชร์แบบ physical layer ในแง่การบริหารจัดการ มีการแบ่งสัดส่วนไว้อยู่แล้ว ไม่ได้เอาไปปะปนกันอยู่แล้ว ลูกค้ารายอื่นๆ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของคนอื่นได้ ถ้าถามว่าข้อมูลของเราจะปลอดภัยไหม มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเก็บข้อมูล การเข้าถึงข้อมูลต้องมี permission สามารถกำหนดระดับการเข้าถึงว่า ใครสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้บ้าง แต่ถ้าอยากให้ทั้ง server มีแค่เรา ก็อาจจะต้องซื้อแบบ private ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น

[คุณเอื้อ]

– Security แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ จากฝั่งผู้ให้บริการ cloud provider ซึ่งจะดูแลระบบ infrastructure ให้ กับส่วนที่เป็น operating system ผู้ใช้บริการเช่าก็ต้องเป็นคนดูแลระบบตัวเอง จะกำหนด security อย่างไร ระดับไหนก็ทำเองได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่เมื่อเช่า cloud ก็จะได้รับมาตรฐานการบริการความปลอดภัยที่เท่าเทียมกัน

– โดยปกติแล้ว security บนระบบ cloud มีอยู่แล้ว ถ้าเราใช้งาน cloud ก็ต้องกำหนด identity and access ให้มีความปลอดภัย

4. ทุกบริษัทเหมาะที่จะใช้ Cloud Services ไหม หรือมีบริษัทไหนที่ไม่ควรใช้ Cloud Services บ้าง?

[คุณเอื้อ]

– สมัยก่อนมีเรื่อง sensitive data policy ว่าห้ามเอาข้อมูลออกนอก center หรือนอกประเทศของตัวเอง แต่ทุกวันนี้ regulator มองเห็นประโยชน์ของการใช้ cloud มาพัฒนา ลดต้นทุนของบริษัท จึงเปิดโอกาสตรงนี้ให้มากขึ้น ทำให้ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจประกัน เริ่มมาใช้ cloud กันมากขึ้น

– แต่ถ้าเป็นแอปพลิเคชั่นบางอย่างที่เอาขึ้น cloud ไม่ได้ เพราะต้องการการประมวลผลแบบเรียลไทม์ ต้องเชื่อมต่อฐานข้อมูลอย่างรวดเร็ว การที่แอปพลิเคชั่นต้องเอาไว้ข้างล่าง แต่ข้อมูลเอาไว้บน cloud เมื่อ data center อยู่คนละที่กัน ก็จะส่งผลต่อเวลาในการวิ่งของข้อมูล เพราะฉะนั้นการประมวลผลก็จะช้ากว่า ดังนั้นการใช้งานแบบ on premise (ใช้ระบบ IT โดยระบบจะตั้งอยู่ในสถานที่ของเจ้าของระบบ) ก็ยังจำเป็นอยู่ในบางกรณี

5. ค่าใช้จ่าย Cloud Services ถูกกว่าไหม?

[คุณเอื้อ]

– ขึ้นอยู่กับการดีไซน์ การใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าช่วง peak workload เดือนหนึ่งมีแค่ 2 วัน แต่ลงทุนแบบ on premise มันก็ไม่คุ้ม ถ้าเราใช้ cloud แบบ pay per use ช่วงพีคก็ขยายได้ ดีไซน์ให้เหมาะกับสถานการณ์ ก็จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้

[คุณแป๋ม]

– หลายองค์กรที่จะ transform ตัวเองจาก on premise ไปเป็น cloud มักจะเปรียบเทียบราคาแบบ apple to apple คือ เดิมใช้พื้นที่ 100 GB บน on premise แล้ว จะใช้ พื้นที่ 100 GB บน cloud คิดเป็นเงินเท่าไหร่ สุดท้ายก็จะพบว่า พื้นที่บน cloud แพงกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจจะเทียบตรงๆ ไม่ได้ อยากให้มองการคิดต้นทุนแบบ total ownership cost การที่เราจะใช้สิ่งนี้ บริษัทจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เช่น การจะสร้าง on premise ก็ต้องใช้คน เสียค่าแรง เสียค่าน้ำไฟ ค่า mantenance พวกนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคิดทั้งหมดเลย แต่พอไปอยู่บน cloud เราจะลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงไปได้

6. การใช้ Cloud Services จะต้องเตรียมตัวอย่างไร และหลักการเลือก Cloud Services Provider มีอะไรบ้าง?

[คุณเอื้อ]

– ต้องมีการคิดหรือวางแผนมาก่อนว่า จะสร้างอะไร ทำระบบอะไร เช่น ทำแอปพลิเคชั่น ทำระบบ e-commerce ส่วนการจะเลือกผู้ให้บริการรายไหน จริงๆ แล้วพื้นฐานแต่ละที่น่าจะคล้ายๆ กัน เพียงแต่จะต่างกันตรงรายละเอียด ซึ่งก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ความถนัดในการใช้งาน user experience

– ทั้งนี้เรื่อง community ก็ค่อนข้างสำคัญ ถ้าเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ จะมีการแชร์เคส เราสามารถหาข้อมูลได้ง่าย เอาไปต่อยอดสร้างระบบง่าย บางรายเน้นราคาถูก แต่หาข้อมูลเคสไม่ค่อยได้ นอกจากนี้ยังต้องเลือกจำนวนของ data center ของ cloud services provider ด้วย สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะเป็นข้อที่ต้องพิจารณาเพิ่มขึ้น

[คุณแป๋ม]

– การเลือก cloud services provider นอกจากเรื่องการใช้งานง่าย ถูกจริตแล้ว ก็ยังต้องดูเสถียรภาพ หรือความน่าเชื่อถือในการให้บริการว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากประวัติที่ผ่านมาว่าระบบของเขาเคยล่มไปกี่ครั้ง บ่อยแค่ไหน ส่วนเรื่อง security ก็สำคัญ ซึ่ง security ก็ต้องอาศัยทั้ง 2 ฝั่งในการดูแล นั่นก็คือจากฝั่งผู้ให้บริการดูแล cloud services และฝั่งผู้ใช้บริการเองก็ต้องดูแล ตั้งค่าเซ็ตระบบความปลอดภัย จะหวังพึ่งแต่ฝั่งผู้ให้บริการอย่างเดียวก็ไม่ได้

7. คนแบบไหนเหมาะกับการทำงานด้าน Cloud Services?

[คุณเอื้อ]

– ในประเทศไทยต้องการคนที่เป็น IT professional ประมาณ 100,000 คน แต่ที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ถึง 50,000 คน บริษัทต่างๆ จึงต้องจ้างชาวต่างชาติมาทำงานแทน เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำด้านนี้ ควรเริ่มจากการรู้พื้นฐานของ cloud ซึ่งสามารถศึกษากับ provider แต่ละรายได้ มีคอร์สให้เรียนและสอบ มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ คนที่ทำด้านนี้ต้องมี multi-skill ต้องรู้ทั้งด้าน network / database / application ต้องศึกษาให้กว้างขึ้น

[คุณแป๋ม]

– การเรียนรู้เรื่อง cloud มีแหล่งเรียนรู้ในอินเตอร์เน็ตมากมาย มีงานสัมมนา มี Facebook group หรือ community ต่างๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากตรงนั้นได้ การเรียนออนไลน์ก็มีเยอะ มีคอร์สที่อธิบายเรื่อง cloud จากผู้สอนเป็นระดับ professional ดังนั้นคนที่อยากเรียนรู้ด้านนี้จึงต้องศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ

8. ฝากส่งท้าย

[คุณเอื้อ]

– เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนไป cloud กลายเป็นเทคโนโลยีคีย์หลักของ IT infrastructure จึงอยากให้คนที่อยู่ในวงการ IT หรือแม้จะไม่ได้อยู่ในวงการ IT ก็ตาม หมั่นศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมันมีประโยชน์ในการทำงาน

[คุณแป๋ม]

– Cloud กลายเป็น norm สำหรับวงการ IT ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการปรับตัว เรียนรู้เรื่อง cloud จึงสำคัญมาก อยากให้เรียนรู้ ทดลอง ลองเล่น ลองศึกษาดู


สรุปโดย Muk Tunchanok

Date: 3 May 2021 (20:00-21:00)

Speaker:

– คุณแป๋ม

Professional Service Manager, True IDC & Amazon Web Services Certified Solution Architect – Professional

– คุณเอื้อ

ผู้คร่ำหวอดในวงการไอทีมามากกว่า 15 ปี


#Clubhouse #ClubhouseTH #ClubhouseThailand #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #Cloud #CloudServices #AWS #TrueIDC #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา