1. Podcast คืออะไร
======================
[คุณบิ๊ก]
– พอดแคสต์คือสื่อเสียงแบบ on demand ถ้าเป็นวิทยุมา 3 ทุ่มเราก็ต้องฟัง 3 ทุ่ม แต่ถ้าเป็นพอดแคสต์คือสามารถจะดาวน์โหลดฟังเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกหัวข้อหรือคน เลือกฟังเฉพาะเจาะจงอย่างที่ชอบได้
– วิทยุคือ mass media สื่อสารกับคนจำนวนมาก ต้องมีสถานี มีเสากระจายสัญญาณในบริเวณที่มันไปถึง จะมีกลุ่มเป้าหมายทาง demographoc ตามที่สัญญาณไปถึง แต่พอดแคสต์ทุกอย่างจะไปอยู่อินเทอร์เน็ต อยู่ประเทศไหน มุมไหนของโลกก็ฟังได้ ถ้าชอบและสนใจเรื่องนี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะ search มาเจอและติตตามเป็นแฟนรายการกันได้
– ถ้าเกิดเปรียบเทียบความหลากหลาย วิทยุอาจจะมีความหลากหลายน้อยกว่าพอดแคสต์เยอะ เพราะมันมีเรื่องของต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเดินเข้าไปแล้วจัดรายการวิทยุได้ แต่ตอนนี้ไม่ว่าใครก็สามารถจัดพอดแคสต์ได้หมด โดยเริ่มจากเงินศูนย์บาทก็ได้ เพราะฉะนั้นมันก็คือความง่ายในการผลิตสื่อ
– พอทุกคนสามารถทำได้ ความหลากหลายของเนื้อหาก็จะมีเยอะขึ้น รายการวิทยุถ้าจะอยู่ได้ จะต้องมีจำนวนคนฟัง ความนิยม สปอนเซอร์ ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้ ต้องเอาคนที่ทำให้แมส ดึงดูดเงินได้ เข้ามาทำ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รายการวิทยุไม่สามารถมีความหลากหลายของเนื้อหาเยอะเท่ากับพอดแคสต์ ซี่งคุณสามารถจัดรายการการเลี้ยงหนูแฮมสเตอร์โดยสาวโสดที่อยู่บนบ้านชั้น 3 สามารถเฉพาะเจาะจงได้มากๆ ถ้าเราจะเอาตรงนี้ไปอยู่บนวิทยุ ก็จะมีคำถามว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ ต้องทำรายการยังไงให้ลูกค้าเข้า ในขณะที่พอดแคสต์ไม่มีข้อจำกัด มันก็จะเปิดโอกาสให้มีการผลิตเนื้อหาที่มันหลากหลายมากขึ้น
[คุณโจ้]
– พอฟังพอดแคสต์ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ มันมีเนื้อหาหลากหลายมากๆ มีท่าทีในการพรีเซนต์ที่เยอะมากๆ พอดแคสต์มันเป็นอะไรที่อิสระกว่า เนื้อหาเปิดกว้างกว่ารายการวิทยุเยอะมาก เช่น บางคนก็ทำ ASMR เป็นเสียงกิน หรือทำเป็นสารคดี
– หนึ่งในจุดเด่นของพอดแคสต์คือ ถ้าเป็นวิทยุพอมันดำเนินการไปเรื่อยๆ มันจะต้องมีรูปแบบรายการประมาณนึงที่มันจะต้องทำในสถานี แต่พอดแคสต์พอมันเป็นก้อนๆ เล็กๆ บางรายการชั่วโมงนึง บางรายการ 20 นาที มันก็สามารถทำรูปแบบได้หลากหลายมากกว่า
[คุณบิ๊ก]
– ทรัพยากรของวิทยุอันนึงมันคือเรื่องของคลื่นความถี่ด้วย เป็นสิ่งที่ต้องแย่งกัน ไม่ใช่อินเทอร์เน็ตที่ทุกคนสามารถมีรายการของตัวเองได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปประมูลแข่งกับใคร ต้องแย่งกันเป็นเจ้าของเวลาตรงไหน คลื่นอะไร พอดแคสต์มันอิสระกว่าเยอะมาก พอข้อจำกัดน้อย ความคิดสร้างสรรค์ก็เลยสามารถจะใส่ลงไปได้อย่างไม่จำกัด ทำให้เห็นรายการรูปแบบแปลกๆ ที่เราไม่เคยคิดว่ารายการแบบนี้ก็มีคนจัดด้วย แต่ที่เซอร์ไพร์กว่าคือมีคนฟังด้วย เลยยิ่งทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมีคนที่สนใจในเรื่องอะไรก็ได้ เต็มไปหมด อย่างที่เราคาดไม่ถึง
[คุณโจ้]
– มีรายการนึงที่ผมเคยเจอที่ niche มาก เป็นรายการที่จะมาแค่สองนาทีเพื่อที่จะช่วยให้ลูกของคุณแปรงฟัน รายการนี้จะมาทุกวันสองเวลาคือตอนแปรงฟันเช้าและตอนเย็น สองนาทีคือเวลาที่เหมาะสมที่จะแปรงฟันให้เสร็จภายในหนึ่งครั้ง เขาก็จะดีไซน์ไว้แบบนี้ มันสามารถดีไซน์รูปแบบได้เยอะมากๆ
2. จุดเริ่มต้นของ Podcast มาจากไหน
======================
[คุณโจ้]
– Podcast มาจากการถือกำเนิดของ iPod พอมี iPod ขึ้นมาก็เลยมีคอนเทนต์เสียง on demand เกิดขึ้นมาด้วย นอกจากมันมีเพลงฟังใน iTune แล้ว ก็มีตัว Apple Podcast ขึ้นมา ทำเป็นคอนเทนต์เสียงที่ไม่ใช่เพลง แต่เรามาฟังคนเล่าให้ฟัง คนพูดกัน ก็เลยนิยามชื่อว่า Podcast มาจากคำว่า iPod + Boardcast
– ผมเริ่มฟังพอดแคสต์จริงๆ ตอนช่วงที่เริ่มทำงานกับพี่บิ๊ก ตอนที่เริ่มฟอร์มทีมพอดแคสต์ของ THE STANDARD ก็เริ่มมาคลุกคลีกับพอดแคสต์มากขึ้น ก่อนหน้านี้ทำงานเสียงที่เกี่ยวข้องจะเป็นงานเพลงมากกว่า หรือบางทีก็ลงเสียงบ้าง พอเริ่มทำพอดแคสต์ก็เลยต้องไปศึกษาว่าพอดแคสต์คืออะไร มันทำอะไรได้บ้าง ตัวเนื้อหาเป็นอะไรได้บ้าง
[คุณบิ๊ก]
– ผมฟังพอดแคสต์มานานแล้ว โดยที่ตอนเริ่มไม่ได้ตั้งใจ ผมเคยได้ยินเรื่องพอดแคสต์มานานมากๆ แล้วตั้งแต่สมัยผมยังทำงานวิทยุ แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนจะอยากเสพสิ่งนี้ แต่พอจะรู้ว่ามันมีอยู่
– ตอนมาเจอจริงๆ คือตอนที่ผมทำงานสำนักพิมพ์ มันมีเหตุบางอย่างที่ทำให้เราต้องไปทำความรู้จักกับ audio book ก็คือหนังสือเสียง และผมก็ฟัง audio book อย่างบ้าคลั่งมากในช่วงนั้น เพราะผมรู้สึกว่าเมื่อก่อนเคยฟัง audio book ของไทยแล้วก็รู้สึกว่ามันประหลาดชอบกล แต่พอไปฟังของฝรั่งที่มีมานานมากแล้ว และมันเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ก็พบว่าโปรดักชั่นมันดีมาก คนที่เล่าก็เล่าเก่งมาก สามารถอ่านหนังสือเสียงทั้ง fiction และ non-fiction แล้วทำให้เราติดได้ รู้สึกว่าสบายดี ไม่ต้องมานั่งอ่านเอง ไม่ต้องปวดตา ผมก็ตะลุยฟังเยอะมาก แล้วที่นี่ใน audio book เมื่อก่อนผมฟังของ Apple แล้วใน iTune ก็จะมีเซคชั่นที่เป็นพอดแคสต์ด้วย ผมก็เลยลองจิ้มเข้าไปดู แล้วลอง search อะไรสักอย่าง แล้วมันก็ขึ้นมาทั้ง audio book ทั้งหนังสือ ทั้งพอดแคสต์ ผมก็เลยลองจิ้มแพดแคสต์ดูแล้วก็พบว่ามันก็เหมือนรายการวิทยุ พอลอง search ไปเรื่อยๆ มันก็พบว่า search อะไรก็เจอ น่านน้ำพอดแคสต์ของต่างประเทศมันเหมือน Youtube แล้ว คือ search อะไรก็เจอ อยากฟังอะไรก็มี ก็เลยสนุกใหญ่ ลองฟังดู
– คิดไปคิดมาก็คิดว่า หรือเราก็ทำอะไรอย่างนี้บ้างดี เพราะว่าช่วงนั้นเราทำหนังสืออยู่ ทำสำนักพิมพ์ ในขณะเดียวกันเราก็มีประสบการณ์เรื่องการจัดรายการ เคยใช้เสียงในการทำรายการ ก็เลยคิดว่าจริงๆ แล้วพอดแคสต์มันเหมือนกับการเป็นดีเจ โดยใช้เนื้อหาแบบหนังสือมาผนวกกัน ด้วยความที่ผมก็มีหนังสือออกมาจำนวนนึง หนังสือทีเขียนมันเกี่ยวกับเรื่องภาษาอังกฤษ แล้ว pain point อันนึงของหนังสือภาษาอังกฤษก็คือต่อให้คุณสะกดเก่งยังไง มันก็จะไม่เหมือนกับพูดให้ฟัง ผมก็เลยคิดว่าหรือจริงๆ คอนเทนต์อย่างของเราซึ่งก็คือภาษาอังกฤษ มันอาจจะเหมาะกับการทำเป็นพอดแคสต์ก็ได้นะ ก็เลยมีไอเดียตั้งแต่ตอนนั้นว่าอยากลองทำเป็นพอดแคสต์ ก็เลยเริ่มลองทำการบ้านตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา แล้วก็ฟังรายการพอดแคสต์เยอะมากจนเลิกฟัง audio book ไปเลย แล้วก็มาฟังพอดแคสต์อย่างเดียว รู้สึกว่าสนุกดี พอมาเปิด THE STANDARD ตอนนั้นก็ยกมือขอ explore เรื่องพอดแคสต์ น่าจะเป็นส่วนเสริมที่ดีถ้าจะพูดถึงเรื่องคอนเทนต์
3. จุดเริ่มต้นของ THE STANDARD Podcast
======================
[คุณบิ๊ก]
– เริ่มทำในปี 2017 ซึ่งก็ถือว่าใหม่มาก แต่ไม่ได้แปลว่าบ้านเราไม่มีพอดแคสต์มาก่อน มีแต่คิดว่า THE STANDARD น่าจะเป็นที่แรกที่ทำพอดแคสต์แบบเป็น network format เหมือนเราทำสถานีวิทยุ เพราะผมเคยทำวิทยุมา ก็จะพอเห็นว่ามันมี format แบบนี้ แล้วเราก็ติดตามรายการของต่างประเทศอย่าง NPR, Gimlet Media ก็มีเครือของตัวเอง แล้วก็มีรายการในบริษัทเดียวกัน เหมือนกับตอนที่เราจัดรายการใน Hotwave, Greenwave ก็จะมีค่ายของมันแล้วก็ผลิตรายการลูกออกมา เลยคิดว่าถ้าจะทำเลยอยากให้ออกมาเป็น THE STANDARD Podcast ที่เป็น station หรือ network ก็คือหนึ่งแบรนด์ แต่ผลิตรายการหลากหลาย ก็น่าจะเป็นที่แรกที่ทำจริงจังแบบนี้
– ช่วงแรกที่ทำก็เงียบๆ เหมือนกัน รุ่นแรกที่ทำเลยมี 5 รายการคือ The Money Case, The Secret Sauce, นักเรียนนอก, We Need To Talk, เทยเท่ ช่วงแรกก็กริบ เพราะคนน่าจะกำลังงงอยู่ว่าสิ่งนี้คืออะไร น่าจะเหมือนยุคแรกของทุกอย่างในโลกนี้ ที่คนยังงงอยู่ว่าคืออะไรและยังไม่คุ้นชิน ยุคแรกๆ ของ Youtube คนก็คงงงเหมือนกันว่าคืออะไร แต่สักพักนึงคนก็เริ่มเก็ท ด้วยความที่เราทำโดย interest base ด้วย เอาความสนใจของคนไว้ก่อน คนย่อมสนใจเรื่องเงิน เรื่องการทำธุรกิจ การเรียนต่อ การท่องเที่ยว การใช้ภาษาอังกฤษ เราก็คิดแบบนี้ว่า demand มันน่าจะมีอะไรบ้างในเชิงคอนเทนต์ที่คนเสพ ถ้ามันมีคนที่ตามเพจจำนวนนี้อยู่เยอะมาก หรือว่า channel ไหนใน Youtube มันมี demand อยู่
– เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะเริ่มจากสิ่งที่คนน่าจะสนใจบวกกับคนที่เรารู้จักด้วย เรารู้จักพี่หนุ่ม The Money Coach แล้วรู้สึกว่าพี่ต้องจัดรายการ ผมอยากฟังพี่พูดเรื่องนี้ทุกวัน เพราะผมจะได้รู้ว่าผมจะดูแลเงินผมยังไง ผมจะแก้หนี้ยังไง ในขณะเดียวกันก็อยากฟังเคนพูดเรื่องธุรกิจทุกวันเลย อะไรประมาณนี้ base on คนที่คิดว่าน่าจะเล่าเรื่องได้ดี เราไม่ค่อยเชื่อในการหาโฆษกที่เก่ง ใช้เสียงเก่ง perform เก่ง แต่ไม่ได้เป็นตัวจริง เขาอาจจะต้องทำเหมือนเล่นตามบท แต่เราเชื่อว่าต้องเอาคนที่อินจริงๆ มา และให้คนๆ นี้ปั้นรายการของตัวเอง คนถึงจะเชื่อ มันถึงจะ convincing อย่างผมฟังพี่หนุ่ม Money Coach พี่หนุ่มแม่งเป็นตัวจริงและก็อยากติดตาม ก็ประกอบกันสามอย่างคือ interest, fanbase, โฮสต์ที่เป็นตัวจริง
4. จุดที่รู้ว่าพอดแคสต์เริ่มเป็นที่นิยมในไทย
======================
[คุณบิ๊ก]
– ตอนที่เห็นชัดเลยว่าพอดแคสต์มันเริ่มใช่ คือเห็นจาก Youtube ซึ่งน่าแปลกมาก เพราะว่าตอนแรกเราก็ไม่คิดว่าคนจะฟังพอดแคสต์จาก Youtube ใครจะมานั่งฟังแล้วก็ดูภาพนิ่งที่แปะไว้เฉยๆ แต่เขาก็ฟังกัน แล้วยอดมันเห็น แต่ที่เราได้ลองวิเคราะห์กันเองอาจจะเป็นเพราะว่าคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าพอดแคสต์มันต้องไปหาฟังที่ไหน แต่มันมีคนเยอะมากอยู่บน Youtube อยู่แล้ว แล้ว Youtube ไม่ว่าคุณจะเป็นฟอร์แมตไหนแต่ขอให้ SEO คุณได้ คุณเอื้อต่อการ search ของคน เดี๋ยวเขาก็จะมาเจอเอง เพราะผมเชื่อว่าต้องมีคน search ว่าแก้หนี้ยังไง หรือภาษาอังกฤษใช้ยังไง ทำยังไงถึงแบรนด์จะแข็งแรง สิ่งเหล่านี้คน search บน Youtube อยู่แล้ว เขาก็มาเจอเรา แล้วสมมุติพอดีเรา deliver สิ่งที่คนอยากได้ เขาก็จะกด subscribe กด like ฟังซ้ำ ดูซ้ำ แล้วก็แนะนำให้เพื่อน Youtube เป็นตัวนึงที่ช่วยให้ THE STANDARD Podcast ชัดเจนมากขึ้น แล้วขณะเดียวกันคนก็ค่อยๆ ทำความรู้แอปม่วงๆ ใน iPhone ที่ไม่เคยสนใจ เพราะปกติพอมันไม่มีคอนเทนต์ไทย เข้าไปก็จะมีแต่รายการอะไรไม่รู้ซึ่งไม่อิน แต่พอมันเริ่มมีคอนเทนต์ไทยลงไป ก็จะเข้าใจว่า อ่อ กดแล้วก็ฟังได้เลยแบบนี้ ง่ายดีเนอะ จากที่มันอยู่หน้าเจ็ดก็มาอยู่หน้าหนึ่ง เริ่มฟังประจำ เริ่ม subscribe มันใช้เวลาพอสมควร
[คุณโจ้]
– การมาของ Youtube Premium ก็ทำให้คนมาฟังพอดแคสต์ใน Youtube เยอะขึ้นมาก มันปิดจอฟังได้ ไม่มี ad พอดแคสต์มันมีทางเข้าเยอะมาก เราจะฟังจากไหน เราจะฟังจาก Spotify หรือ Youtube หรือแอปอื่นๆ ก็มีอีกเยอะมากที่เป็นแอปฟังพอดแคสต์ แล้วกลายเป็นว่าเราไม่รู้จะบอกว่าไปฟังพอดแคสต์เราที่ไหน เราก็บอกรวมๆ ได้ว่าทุกช่องทางที่ฟังอยู่ มันไม่เหมือนกับเวลาเราทำช่อง Youtube ไปดู channel Youtube อันนี้สิ มันก็เลยเป็นข้อนึงของพอดแคสต์ที่คนก็งงๆ เหมือนกันว่า เราจะไปฟังที่ไหนดี แต่พอมันไปอยู่ใน Youtube มี Youtube Premium มันก็ทำให้เข้าถึงคนมากขึ้น เพราะคนก็คุ้นเคยกับ Youtube อยู่แล้ว แล้ว Youtube ก็เป็นโซเชียลที่คนไทยชอบเข้าไปคอมเมนต์อยู่ในนั้น ไปฟังแล้วก็คุยด้วย เลยรู้สึกว่ามันก็เอื้อกันประมาณนึง กับการทำพอดแคสต์ลง Youtube แม้ว่าจะเป็นภาพปกนิ่งๆ
[คุณบิ๊ก]
– ผมว่าสองจังหวะเลย จังหวะระลอกแรกมันคือ Youtube ระลอกสองมันคือ Spotify พอเขาเห็นว่านอกจากฟังเพลงแล้ว พอดแคสต์ก็อยู่ในนั้น มีการจัดชาร์ตที่ชัดเจน หาง่าย กดติดตามได้ง่าย ฟังเพลงเบื่อก็สามารถสลับไปฟังพอดแคสต์ได้เลย ไม่ต้องออกไปเข้าใหม่ที่อื่น พอคนรู้สึกว่าง่ายแล้วอยู่ที่ไหนก็จบ ก็ง่ายขึ้นเยอะ
5. จุดเริ่มต้นของ Salmon Podcast
======================
[คุณโจ้]
– ก่อนหน้านี้ผมทำเอเจนซี่อยู่ที่นึง แล้วทาง Salmon อยากที่จะขึ้นสถานีพอดแคสต์ก็เลยติดต่อเรามาอยากให้ไปช่วยดู สุดท้ายก็ได้มาทำ ตอนนั้นที่คุยกันก็คืออยากทำให้พอดแคสต์ในไทยมันหลากหลายมากขึ้น รู้สึกว่าในช่วงระยะเวลาที่เราเริ่มทำพอดแคสต์ ภาพของคนที่ฟังพอดแคสต์ทั่วไปจะรู้สึกว่าฟังเพื่อจุดประสงค์ของการนำมาใช้งาน ฟังเพื่อเอามาใช้กับชีวิต แต่เราเชื่อว่าจริงๆ แล้วมันสามารถทำให้หลากหลายได้กว่านั้น จริงๆ แล้วมัน niche มาก เราสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นเนื้อหาให้คนฟังได้ ก็เลยเริ่มจากจุดนั้นว่าเราอยากมีเนื้อหาที่เป็นเอนเตอร์เทนเมนท์มากขึ้น ให้เห็นว่าพอดแคสต์ไม่ได้มีแค่เรื่องทื่เราจะฟังเพื่อเอาไปใช้งาน เราฟังเพลินๆ ก็ได้ เลยกลายเป็นรายการเซ็ตแรกของ Salmon Podcast ก็จะมี In-Eat Cinema ที่เป็นเหมือนละครวิทยุ Untitled Case ที่เล่าเรื่องลึกลับ คดี true crime เราฟังเพื่อเอนเตอร์เทน หาอะไรเบาสมองฟัง แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะมีสาระประเด็นบางอย่างที่มันติดปลายนวมเข้าไประหว่างที่ฟังด้วย
– ตอนเริ่มก็ยังไม่มีรายการประมาณนี้มาก ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีพอดแคสต์รายการเล่าเรื่องผี เรื่อง true crime เยอะขึ้น ก่อนหน้านี้ก็มีแต่ไม่ได้เยอะเท่านี้ เราก็รู้สึกว่าเราอยากจะทำรายการประมาณนี้ สถานีก็เริ่มจากศูนย์แหละ แต่ว่าข้อดีก็คือ Salmon มีคาแรคเตอร์ที่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว เราก็อยากที่จะต่อยอดว่าคาแรคเตอร์นี่มันจะสามารถไปพูดเรื่องอะไรได้บ้าง ซึ่งเราก็ขึ้นรายการมาจากการไปดูว่ามันมีแวดวงอะไรบ้างที่จริงๆ แล้วอยากที่จะฟังคนมาแชร์ประสบการณ์ต่างๆ เลยเป็นรายการล็อตแรกของเราออกมาอย่าง The Rookie Mom ก็คิดขึ้นมาจากว่าเราอยากจะมีรายการ parenting แม่และเด็กที่มีท่าทีอื่นๆ บ้าง ในยุคนั้นแม้แต่เพจ parenting เองหรืออะไรก็ตาม มันจะค่อนข้างเป็นแนวที่ว่าเราต้องเลี้ยงลูกให้ดีนะ เราต้องเป็นพ่อแม่ที่ดีนะ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ทำให้คนที่มีลูกหรือเป็นพ่อแม่รู้สึกว่าเครียดเหมือนกันที่ต้องทำทุกสิ่งเป็นแบบนี้ เราก็เลยชวนนิดนกมา ซึ่งนิดนกก็มีความสามารถในการเล่าเรื่องอยู่แล้ว เป็นนักเขียน พูดได้ มีความสามารถในการทำสคริปต์ ทำเนื้อหา แล้วก็มีน้ำเสียงที่โอเค น่าฟัง เลยอยากให้นิดนกมาแชร์ประสบการณ์ในแง่เป็นแม่แล้วก็มีเรื่อง ugly truth เรื่องราวพังๆ มากมายของการเป็นพ่อแม่ เอามาแชร์ให้ฟัง คนที่ฟังจะได้รู้สึกว่าสิ่งนี้มันก็เป็นกันได้ พ่อแม่ไม่ได้มีแต่เรื่องราวที่ดีงามหรือมีแต่ความสวยงาม ในการเรียนรู้มันก็มีความพังๆ อีกที่เราจะมาบอกว่าเราก็เป็นเพื่อนคุณ เราก็พังเหมือนกัน วงการเหล่านี้ เราก็มองว่ามันสามารถที่จะมาแชร์ประสบการณ์กันได้ แต่ก็คัดเลือกมาจากแบบที่พี่บิ๊กบอกคือ คนที่จะมาจัดก็ควรที่จะเป็นตัวจริง เพราะว่าพอมันเป็นแบบเนื้อหาเชิงลึกแล้ว คนฟังจะรู้ว่าคุณท่องจำมาหรือไม่ มันจับได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาคนที่เป็นตัวจริงในวงการนั้นๆ มาจัดรายการ
– คนที่เป็นตัวจริง เขาจะสามารถหาประเด็นที่หลากหลายใน scope ของรายการมาเล่าสู่กันฟังได้เรื่อยๆ นิดนกเป็นคนที่เล่าเรื่องสนุกมาก ทำให้แม้แต่คนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้หรือยังไม่ใกล้ประสบการณ์ด้านการมีลูกก็เข้ามาฟังเหมือนกัน
6. เสน่ห์ของ Podcast คืออะไร
======================
[คุณบิ๊ก]
– ความน้อยของมันคือเสน่ห์ บางทีพอดแคสต์อาจจะเป็นสิ่งที่ low production และก็จริงใจมากๆ บางทีไม่ต้อง edit เลยก็ได้ เกิดเทียบกัน มันเหมือนกับว่าทำไมคนชอบดู Youtube มากกว่าชอบดูรายการทีวีที่ตัดเนี๊ยบๆ ไม่ใช่ทุกคนเสมอไป แต่ทิศทางแบบนี้มันเกิดขึ้นเพราะ คนรู้สึกว่ามัน real และผมรู้สึกว่าพอดแคสต์มันมีความเป็นคนมากๆ โดยสมมุติถ้าเปรียบเทียบกับรายการแบบอื่นที่เอาพิธีกรที่เก่งมาแล้วก็พูดบท อาจจะมีหน้าตาน่าดู น้ำเสียงน่าฟัง แต่เขาก็พูดบทอยู่ดี เป็นคนดำเนินรายการ แต่ไม่ใช่เจ้าของคำพูดเหล่านั้น มีสคริปต์ มีทีมงานเบื้องหลังที่ช่วยเขาอยู่ในการนำเสนอต่างๆ ผมว่ามันคนละเรื่อง อันนั้นอาจจะเป็นศิลปะของการประกอบทุกอย่างขึ้นมาเป็นวิดีโอที่น่าสนใจ น่าติดตาม
– แต่ในทางกลับกันพอดแคสต์มันเหมือนมาฟังคนเล่าเรื่อง คนเล่าก็สนุกกับการได้เล่าและมีความรู้เยอะ เพราะเขาอยู่กับเรื่องนี้มานานมาก อาจจะเป็นเรื่องที่คนโดยทั่วไปไม่ได้รู้และอินขนาดนั้น แน่นอนเพราะตั้งแต่เกิดมาก็สนใจเรื่องนี้และคลุกกับเรื่องนี้มาตลอด พอดแคสต์จุดประสงค์ของมันไม่ใช่การทำยังไงให้มียอดวิวดีที่สุดและสปอนเซอร์เข้า แต่คือการทำยังไงให้เราเจอที่ๆ เราสามารถจะเล่าเรื่องที่เราอยากเล่าได้มากที่สุด แล้วคนที่เข้ามาฟังคือเข้ามาเพราะอยากมาฟังจริงๆ แล้วก็เกิดการแลกเปลี่ยนกัน การคุยกัน แล้วหลังจากนั้นตัว topic ของคุณ รายการคุณจะทำให้รายการมันใหญ่หรือเล็กอยู่แค่นั้น อย่างไรก็ได้แล้วแต่คุณเลย เป็นความอิสระในการเลือกเสพ เลือกผลิตคอนเทนต์ เลือกเล่าเรื่อง ทำได้โดยไม่มีกรอบอะไรมากจนเกินไป
– แล้วพอมันไม่มีกรอบมากเกินไปมันก็จะ real แล้วรู้สึกว่าความ real ในสมัยนี้ก็เป็นสิ่งที่คนให้คุณค่า พอๆ กัน cinematography ที่ดีที่สุด การตัดต่อที่ดี นักแสดงฝีมือดี ก็เป็น value เหมือนกัน แต่ความ real ก็เป็น value อีกแบบ ซึ่งผมว่าพอดแคสต์ส่งมอบเรื่องนี้ให้กับคนได้ดี แล้วในวิธีการที่มันง่ายมากคือแค่ฟัง ฟังไปด้วย ทำอย่างอื่นไปด้วย เปิดทิ้งไว้ แล้วก็ฟังได้เรื่อยๆ ด้วยความที่พอดแคสต์มันสามารถที่จะมาคุยเรื่องนี้ให้คุณฟังได้ทุกวันเลย มันก็จะเกิดการติดตามเหมือนเป็นเพื่อนคนนึง เริ่มติดเสียงคนนี้ไปแล้ว อยากฟังคนนี้เล่าเรื่องทุกวัน ซึ่งมันไม่ใช่ความรู้สึกใหม่ แต่มันเหมือนสมัยก่อนที่เราติดดีเจ มันก็เป็นเรื่องเดียวกัน อยากฟังดีเจคนนี้ อยากโทรเข้าไปคุย มันเป็นความรู้สึกที่มันเป็นปกติของมนุษย์อยู่แล้วในระดับนึง กับการหาความคุ้นเคยจากคนที่รู้ลึกรู้จริงที่มีคลื่นความถี่บางอย่างเหมือนเรา ผมว่าพอดแคสต์ทำเรื่องนี้ได้ดี
[คุณโจ้]
– พอมันเป็นคอนเทนต์เสียงอย่างเดียว เราไม่จำเป็นจะต้องไปทำอะไรมากมายเพื่อให้มันเป็นคอนเทนต์นั้นมา ถ้าวิดีโอเราก็ต้องมีกล้อง บางทีก็อาจจะต้องจัดไฟหน่อย อย่างน้อยก็เพื่อให้มันดูไม่น่าเกลียดเกินไปเวลาที่มันออกมา แต่พอพอดแคสต์มันง่าย มันทำให้เนื้อหาของพอดแคสต์มันหลากหลายมากๆ แล้วจริงๆ เราก็คาดหวังว่าเนื้อหาของพอดแคสต์ภาษาไทยมันก็จะสามารถหลากหลายแบบนั้นได้เหมือนกัน ถ้าไปดูตลาดพอดแคสต์ต่างประเทศเนื้อหาแบบเดียวกัน สมมุติเราพูดถึง true crime ก็จะมี 20 รายการเยอะมาก แล้วแต่สไตล์ที่เราชอบ หรือพอดแคสต์สอนภาษาเสปน ก็จะมี 20 รายการให้เราเข้าไปฟัง เลยรู้สึกกว่าความง่ายมันทำให้หลากหลาย และเราก็อาจจะเจอคอนเทนต์เสียงที่ถูกจริตเรา
– ในขณะเดียวกันคนที่ทำพอดแคสต์ก็เหมือนกัน เราอาจจะมีความชอบอะไรบางอย่างที่เราหลงใหลและมีแพสชั่นกับมันมากๆ พอเราทำรายการพอดแคสต์ออกมา เราอาจจะเห็นหรือพบเจอกับคนที่มี core เดียวกับเรา ที่มาติดตาม มาแสดงให้เห็นว่าเขาก็ชอบแบบนี้ สไตล์แบบนี้เหมือนกัน พอดแคสต์มันช่วยให้แสดงออกมาในแง่นั้น พอเราเปิดเผยความเป็นตัวของเราเองออกมา มันมีคนที่ชอบแบบนั้นเหมือนกันนะ ไม่ว่ามันจะเยอะหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม มันก็ทำให้เราได้ค้นหาคนที่มีความชอบเหมือนเราได้
[คุณบิ๊ก]
– อารมณ์เหมือนกับที่คนสมัยก่อนอยากเป็นนักเขียน แต่มันยากมากกับการออกหนังสือสักเล่ม แต่พอโลกนี้มีการเขียนบล็อกขึ้นมา ก็สามารถเขียนได้ทุกวัน จะวันละสามรอบก็ได้ แล้วสักวันนึงเราก็จะเจอคอมมูนิวตี้ที่เอื้อให้คนมาเจอกัน หรือพวกคนที่เขียนฟิค เขียนนิยายสมัยนี้ เขาก็จะรู้แล้วว่าถ้าจะอ่านอะไรแบบนี้ต้องไปที่นี่ คนเขียนก็รู้ว่าถ้าอยากเขียนอะไรก็ต้องไปที่นี่ เพราะว่ามันมีแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้ทุกอย่างง่ายหมดเลย
– พอดแคสต์ก็เหมือนกัน มันเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้เห็นความเป็นไปได้ของการเล่าเรื่องในแบบของคุณได้ 100% โดยที่ไม่ต้องเสียเงินสักบาท ทำได้ง่ายมากๆ แล้วหลังจากนั้นใครอยากจะไปต่อยอดในเรื่องของคุณภาพเสียง การเล่าเรื่อง การหาแขกรับเชิญ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ ก็แล้วแต่ คุณจะไปทางไหนก็ได้ แต่จุดตั้งต้นของทุกคนเหมือนกัน มันเป็นการเอาข้อจำกัดและความแตกต่างทุกอย่างออก ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็เริ่มต้นจัดรายการได้ง่ายที่สุดและใช้เงินน้อยที่สุดได้เหมือนกัน มันก็เลยทำให้คนรู้สึกว่าฉันก็มีโอกาสเท่ากับอืกคนนึง ซึ่งสมมุติคนนึงอาจจะเป็นนักเขียนที่ออกหนังสือมาแล้ว เป็นนักพูด ดีเจมาแล้ว แต่อีกคนคือโนเนม แต่ถ้าสมมุติเขามาเริ่มต้นใหม่เหมือนกัน เขาก็มีโอกาสที่จะทำรายการได้ดังเท่าหรือดังกว่าคนนี้ก็ได้นะ ในเมื่อ tool ทุกอย่างก็มีเท่ากัน
7. ลักษณะของคนฟัง Podcast เป็นอย่างไร
======================
[คุณบิ๊ก]
– จะมีกลุ่มคนที่เป็นแฟนประจำอยู่บ้าง แต่ถ้าในช่องทาง Youtube จะมีสิ่งนึงที่ช่วยคือทำให้เราได้เจอแฟนขาจรจำนวนเยอะ บางตอนที่เป็นแสนเป็นล้านเพราะขาจรทั้งนั้น แฟนจริงๆ ของเราที่เป็น subscriber มันไม่ถึงล้านวิวหรอก มันเป็นหลักหมื่นหลักแสนเอง Youtube มันทำให้คลิปของเราถูกเข้าถึงได้ด้วยคนที่มีความสนใจ เพราะ Youtube มันรู้จักคนและมีความฉลาดของมัน จะสังเกตเห็นว่าหน้าแรกของเราใน Youtube จะมีแต่สิ่งที่เราชอบ และการที่เรากด like กด subscribe เขียนคอมเมนต์ Youtube มันรู้หมด เลยสามารถจัดคอนเทนต์เสิร์ฟให้เราได้อย่างตรงใจ สิ่งนี้ช่วยพอดแคสเตอร์ได้อย่างดีมาก ช่วยให้ทำสื่อเสียงอย่างเราได้เจอกับแฟนๆ จำนวนเยอะมาก
[คุณโจ้]
– มีแฟนประจำจำนวนนึงที่เป็นคนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วก็ต้องการที่จะฟังคอนเทนต์ภาษาไทย เขาก็จะเป็นแฟนประจำที่มาคุยกันบ่อยๆ คอมเมนต์ว่าฟังจากไหน เป็นกลุ่มผู้ฟังอีกกลุ่มนึง
[คุณบิ๊ก]
– คนฟังและคอมเมนต์แบบที่เราชอบเราจะเรียกว่าเป็น quality comment ในหลายๆ ครั้งที่เราค้นพบว่าถ้ารายการเราชัดจริงๆ แล้วพวกเราเนิร์ดถึงใจคนฟังจริงๆ มันจะมีคนพร้อมที่จะเนิร์ดไปกับเราเยอะมาก หลายครั้งที่สิ่งที่เขาพิมพ์กลับมาเหมือนว่าเขานั่งประพันธ์สิ่งนี้ ยาวมาก เพราะเขาอิน เขารู้สึกโดน เขาอยากแชร์ อยากเล่า เขามีคำถาม และยิ่งถ้าเราทำให้เกิด quality comment แบบนี้เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ เรื่องอัลกอริทึมของ Youtube ก็เรื่องนึง แต่ก็จะยิ่งทำให้คนที่เข้ามาเสพสนุก เราค้นพบว่าบางครั้งเราเอ็นจอยกับการอ่านคอมเมนต์มากกว่าตัวคลิปเองซะอีก เพราะมันคอมเมนต์กันสนุก แซ่บมาก มีคนฉลาดๆ ตลกๆ คอมเมนต์เต็มไปหมดเลย แล้วนี่คือสิ่งที่คิดว่าสนุกที่มีคนเหล่านี้เข้ามา เพราะเขาจะยิ่งทำให้คอนเทนต์ของเราน่าสนใจหรือมีมิติที่ลึกซึ้งและหลากหลายขึ้นไปอีก รู้สึกว่านี้คือสิ่งที่คอนเทนต์แบบพอดแคสต์ทำได้กับคนฟัง ถ้าเราคิดให้ถูกจุดจริงๆ
[คุณโจ้]
– มันสะท้อนไปที่ตัวคอนเทนต์ได้เหมือนกันว่าอันนี้มัน relate กับคนไหม เพราะถ้าทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน เพราะเขาก็มีข้อมูลบางอย่างที่อยากจะเล่า แปลว่ามันก็มีคุณภาพของมัน ถ้าเราทำอะไรบางอย่างแล้วมีคนเข้ามาคอมเมนต์ก็คือเขาก็ put effort กับเรามากเหมือนกัน
8. วิธีการเลือกโฮสต์ของแต่ละรายการ Podcast เลือกอย่างไร
======================
[คุณบิ๊ก]
– ต้องใช้เวลา บางทีก็ขึ้นอยู่กับดวงด้วย บางทีบทจะเจอก็เจอง่ายเลย อย่างพี่หนุ่ม Money Coach พอเราคิดว่าจะทำรายการการเงิน ก็มานึกว่ารู้จักใครบ้าง ทุกคนต่างก็นึกถึงพี่หนุ่ม ทุกคนเคยฟัง เคยเจอ ก็เลยลองไปคุยกับพี่หนุ่ม พี่เขาก็เอาด้วย ก็เลยได้เริ่มทำ หรือตอนที่เราคิดว่าต้องมีรายการเกี่ยวกับหนังสือ เพราะคนชอบเรื่องหนังสือ และมันก็เป็น pain point อย่างนึงว่า เราจะอ่านอะไรดีในบรรดาหนังสือที่มีเยอะแยะมากมายในเวลาที่เรามีอยู่น้อยนิด เราก็รู้สึกว่าเรารู้จักพี่โจ้ พี่เน็ต เพราะว่าเราก็เคยทำงานกับ Readery พี่สองคนนี้ก็เป็นคนขี้เม้าท์ พี่เล่าหนังสือเล่มไหนมาผมก็อยากไปซื้อหมดเลย ทำไมเขาถึงอินกับสิ่งที่เขาขายขนาดนั้น เล่าหนังสือเรื่องไหนก็สนุก เลยคิดว่าถ้าจะมีรายการหนังสือก็ต้องสองคนนี้แหละ ประกอบกันหลายอย่าง อีกอันหนึ่งอาจจะเพราะว่าเราเป็นสื่อด้วย เราอยู่ในวงการมาประมาณนึงก็รู้จักคนเป็นเครือข่ายกันไป เราก็พอจะเห็นตัวละครต่างๆ อยู่เหมือนกัน
– แต่บางรายการก็หาโฮสต์มาจะเป็นปีแล้วยังหาไม่เจอเลย ขึ้นอยู่กับดวงด้วย ถ้าเราเจอคนๆ นั้นแล้วมันจะรู้ได้เอง คือเขาไม่จำเป็นจะต้องเป็นคนที่รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนั้น แต่สิ่งที่เขารู้แล้วเขาเล่ามันพอที่จะจับความสนใจคนได้ ตรงโจทย์กับที่รายการนี้อยากให้เป็นหรือเปล่า
[คุณโจ้]
– ไม่ใช่ว่าคนที่รู้จริงหรือคนทำงานกับเราได้มันน้อย คนรู้จริงมีเยอะมาก แต่การที่เราจะไปเจอคนเหล่านั้นแล้วได้ลองทำงานด้วยกันมันไม่ได้มีบ่อยๆ การที่เราเจอสักคนนึงแล้วลองมาคุย ลองมาทำรายการกัน มันก็มีเหมือนกันที่ลองเอาคนมาทำรายการ คนนี้เขามีความรู้ด้านนี้มากเลย แต่สุดท้ายพอลองทำ demo รายการออกมาแล้วก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ หรือตัวของโฮสต์คนนั้นเองรู้สึกว่าเรายังไม่สบายใจพอสำหรับการทำพอดแคสต์ก็มีเหมือนกัน มันเป็นเรื่องของหลายฝ่ายและหลายปัจจัยมาก โฮสต์โอเคไหม เรามีแพลนที่จะทำรายการแบบนี้หรือเปล่า ถ้าทุกอย่างมันมาประกอบรวมกันแล้วมันโอเค สุดท้ายมันก็จะได้รายการพอดแคสต์ขึ้นมา
9. มีการเลือกโฮสต์ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องนั้นอยู่แล้วไหม
======================
[คุณโจ้]
– ของผมถ้าใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็น Untitled Case โฮสต์สองคนเป็นคนที่สนใจเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีช่องทางที่จะบ่งบอกว่าเขาสองคนเชี่ยวชาญในเรื่องนี้มากๆ มันไม่เหมือนอย่าง Readery ที่เราจะรู้ว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องหนังสือ หรืออย่าง Sneaker on Sight เราก็จะรู้ว่าเขาเชี่ยวชาญเรื่องรองเท้า แต่ว่าสองคนนี้ไม่มี สุดท้ายแล้วมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเรามีตัวตนในโลกออนไลน์ยังไง เราดังแค่ไหน หรือว่าเราเป็นตัวจริงในสายตาคนอื่นแค่ไหน แต่ว่าสองคนนี้ ยชกับธัญเขามีความหลงใหลในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งอาจจะต่างกันนิดหน่อย แต่ก็อยากที่จะมาเล่าเรื่องคดีฆาตกรรม เรื่องลึกลับ เคสแปลกๆ เหล่านี้ และเขาก็จะมีแพสชั่นที่จะไปค้นหาเรื่องเหล่านี้มา เพียงแต่ว่าถามว่าเขาเป็นตัวจริงในสายคนอื่นไหม ตอนที่เริ่มรายการคงไม่ใช่
[คุณบิ๊ก]
– ของผมอย่างเฮียวิทย์ หรือดร. วิทย์ เขาจัด 8 Minute History ซึ่งมันไม่ใช่ job description ของเขาตั้งแต่แรก เพราะของเขาคือจัดรายการ THE STANDARD Morning Wealth ซึ่งเป็นเรื่องของการเงิน แต่ที่นี้พอมานั่งคุยกันส่วนตัวว่าเฮียเขาอินเรื่องอะไร มันก็ออกมากับบทสนทนาว่าเขาชอบเรื่องประวัติศาสตร์มาก เขาจะชอบจีนและยุโรปและเขาสามารถเล่าทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเปิดตำราอะไรเลย สนใจจริง ชอบจริง สามารถเล่าๆ ชื่อคน เอาปีมาเชื่อมโยงกัน เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาเก่งอย่างนี้ มันต้องมาแล้วละหนึ่งรายการ เพราะมันสนุกมาก และเราก็เชื่อว่าจริงๆ แล้วประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่สนุก ถ้าเกิดเจอคนที่ถ่ายทอดแล้วสนุก
– แต่ตรงข้ามกับผม ผมสนใจเรื่องภาษาอังกฤษก็จริง แต่ผมก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ผมเชื่อว่าสักประมาณ 90% ขึ้นไปของทุก episode ที่ผมทำ ก็ research เพิ่มหมดเลย แต่มันเริ่มมาจากสิ่งที่เราสนใจ เราอยากรู้เรื่องนี้จังเลย อยากเล่าเรื่องนี้ในรายการ แต่มันจะเล่าไม่ได้ถ้าเราไม่ทำการบ้านเพิ่มเติม ผมก็ต้องไป research ไปค้นคว้า พอเจอแล้วโอเคถ้าจะอธิบายคำนี้มันต้องแต่งตัวอย่าง แต่งมาเลยสิบตัวอย่าง แต่งมา เขียนออกมา ผมก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน เราก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญถึงระดับที่ไม่ต้องเปิดตำราเหมือนเฮียวิทย์ แต่ผมก็ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมมาเหมือนกัน ผมเลยรู้สึกว่าความสนใจหรือความเต็มใจของเราที่จะลงทุนกับเรื่องอะไรมันสำคัญกว่าความรู้ที่เรามีแต่ดั้งเดิม เพราะจริงๆ มันไม่มีใครที่ใช้แค่ความรู้แต่ดั้งเดิมแล้วพอเลย มันก็ต้องไปศึกษาค้นคว้ากันทั้งนั้น
– เหมือนการที่เราทำงานเรื่องนึง แล้วก็ไปเปิดเพจอีกเรื่องนึง หรือว่าเราไปเปิดร้านขายของใน IG ซึ่งก็ไม่เกี่ยวกับงานหลัก มันคือสิ่งที่เราชอบ แต่เราไม่สามารถเอามาทำเป็นอาชีพหลักได้ งั้นเราเอามาทำเป็นอาชีพรองก็ได้ การจัดรายการพอดแคสต์มันเหมือนเอาตัวเราไปวางไว้เลย เพราะฉะนั้นคุณมีมันมากพอไหมในการที่จะพยายามเล่าเรื่องต่างๆ
10. ที่มาของแต่ละรายการในสถานี
======================
[คุณโจ้]
– ถ้าเป็นทาง Salmon เราดูว่าสิ่งนั้นมีตลาดหรือเปล่า มีแวดวงของคนที่เรียกว่าคลั่งไคลในสิ่งนี้อยู่ไหมเช่น รายการ Sneaker on Sight มันก็มีตลาดของคนที่ชอบรองเท้ามากๆ อยู่ หรือ The Rookie Mom ก็มีตลาดของคนที่เป็น parenting แล้วก็อยากฟังประสบการณ์ที่เราก็พังไปด้วยกันของแม่ๆ พ่อๆ ด้วย หรือ Untitled Case ก็มีตลาด true crime อยู่ จริงๆ ต่างประเทศก็ใหญ่มากจนถึงเป็น category นึงของพอดแคสต์เลย ประเทศไทยมันก็ค่อยๆ ฟอร์มตัวขึ้นมา มันก็มีตลาดเหล่านี้อยู่
– ถ้าเป็น In-ear Cinema จะไม่ได้ดูตลาดก่อน แต่เราอยากเห็นรายการแบบนี้ รายการที่ทำ audio fiction แบบจริงจัง ในท่าทีที่มันอาจจะไม่ได้เหมือนหนังสือเสียงหรือละครวิทยุ พอ Salmon House ทำหนังมาก่อน แล้วยังชอบดูหนังด้วย ถ้าอย่างงั้นจริงๆ สื่อเสียงมันก็เล่าเรื่องแบบนั้นได้เหมือนกัน เราอยากเห็นว่าเป็นยังไงก็คือรายการนี่แหละ
[คุณบิ๊ก]
– The Secret Sauce เราค่อนข้างมั่นใจว่ามันมีตลาดและเคนก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เขาก็เป็นนักเขียน เป็นบก. ทำได้อยู่แล้ว The Money Case พี่หนุ่มทำได้อยู่แล้ว มันพิสูจน์มาจากสิ่งที่เขาทำมาสิบกว่าปี มันมีกลุ่มคนของตลาดนี้อยู่
– นักเรียนนอก, เทยเท่ เป็นสิ่งที่แค่คิดว่าเราอยากลอง เพราะมันมีอะไรบางอย่าง อย่างเทยเท่ เรารู้สึกว่า LGBTQ+ มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นสิ่งที่โลกนี้มันต้อง aware และเราก็คิดว่าแง่มุมที่เราอยากให้รายการนี้บอกก็คือว่าคนที่เป็น LGBTQ+ มันอยู่ในทุกอาชีพการงาน ทุกภาคส่วนของสังคม มันไม่ใช่มีแต่ในวงการ make up artist ไม่ใช่มีแค่ในวงการอะไรสักอย่าง แต่มันมีเทยที่เป็นคนที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่นะ มีเทยที่ทำในเรื่องประวัติศาสตร์อยู่นะ อันนี้มันมาจากความอยากเล่าของเรา อยากบอก อยากเสนอประเด็นอะไรสักอย่าง แล้วเราก็คิดว่ามันมีความ LGBTQ+ ซึ่งเป็นความสนใจของสังคมอยู่ มันก็ประกอบกันสองอย่างนี้ที่ช่วยให้เราตัดสินใจทำ
– รายการ We Need to Talk เกิดมาจากความสนใจของผมเอง รู้สึกว่าส่วนตัวผมชอบฟังคนไทยพูดภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเจอดาราพูดภาษาอังกฤษผมชอบฟัง แล้วก็รายการแบบนี้ยังมีไม่มาก ผมก็คิดเลยคิดว่าอยากทำเป็นทอล์คโชว์ ชวนเซเล็บมาสัมภาษณ์แต่ขอเป็นภาษาอังกฤษ 100% เลย ก็เกิดจากความรู้สึกว่าเราอยากบอกอะไรบางอย่าง เราเชื่อ เราเห็นอะไรบางอย่าง ประกอบกันแล้วเราทำ แล้วดูสิว่าคนฟังเอาไหม ถ้าเอาก็ทำต่อ ถ้ายังไม่เอาก็หยุด ถ้าสมมุติยังไม่แน่ใจก็เอาไว้ก่อน มันสามารถเลือกได้
11. คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มทำ Podcast
======================
[คุณโจ้]
– เป็นคำถามที่โดนถามบ่อยเหมือนกันว่าทำยังไงถึงจะทำพอดแคสต์ได้ ผมรู้สึกว่าไม่ใช่ทุกคนจะต้องมาทำพอดแคสต์ คุณอาจจะเหมาะกับการเขียนก็ได้ หรือบางคนพออยู่หน้ากล้องแล้วอาจจะทำได้ดีกว่า แต่ละมีเดียก็เหมาะกับอุปนิสัยของแต่ละบุคคลที่ต่างกัน ถ้าอยากทำพอดแคสต์ก็ให้ลองอัดเสียงดูเลย แล้วลองดูว่าเป็นสิ่งที่เราทำได้โอเคหรือเปล่า เป็นช่องทางที่เราเล่าแล้วเป็นตัวของตัวเองหรือเปล่า
– ก็เหมือนเราเริ่มอะไรบางอย่างใหม่ที่เราก็คงต้องโปรโมทมันว่ามันคืออะไร หรือเราต้องไปอยู่ในที่ที่คิดว่าสามารถที่จะเพิ่มฐานแฟนเข้าไปได้ สมมุติเราลงเป็นพอดแคสต์ ลงเป็นวิดีโอใน Youtube จริงๆ แล้วรายละเอียดของ SEO ก็สำคัญเหมือนกัน มันมีปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างมากที่จะทำให้คนรู้จัก ซึ่งถามว่าไม่มีฐานมาก่อนเลยจะสามารถเป็นที่รู้จักได้ไหม มันก็ได้ หรือว่ามันอาจจะไปไม่ได้ ก็ได้เหมือนกัน มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างมากเลย แต่ถ้าจะถามว่าเริ่มที่ตัวของคนทำคอนเทนต์ยังไง ก็แบบนี้แหละ ลองทำ ลองโปรโมทดู ลองไปอยู่ในที่ที่มีคนที่พร้อมจะฟังคอนเทนต์ดู
[คุณบิ๊ก]
– สมัยนี้มันมีแพลตฟอร์มอย่าง Anchor ก็ฟรี มี tool ที่โอเคเลย ไม่ใช่แค่เรื่องเสียง แต่ในแง่ของกราฟิคและ visual ของเขาก็มีความดูดีอยู่ ง่ายมาก ทุกวันนี้ Canva ก็ทำให้ทุกคนเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ได้ประมาณนึง ก็ต้องเข้าไปลองเล่นว่ามีอะไรให้เล่นบ้าง ยังไม่พร้อมจะเสียเงินก็ใช้ฟรีไปก่อน แล้วสมมุติรู้สึกว่าอยากจะทำอะไรให้มากขึ้นก็ค่อยหา ค่อยจ่ายเพิ่มขึ้น เติมอะไรลงไป รู้สึกเริ่มเข้าท่า อยากได้เสียงดีกว่านี้ งั้นต้องลงทุนซื้อไมค์แล้ว ค่อยๆ ไปทีละอย่าง แต่ว่าสำคัญที่สุดคือความกระเหี้ยนกระหือรือของคุณที่จะเล่าเรื่องที่คุณชอบ มีไหม ตรงนั้นก่อนเลย ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร หรือว่าอาจจะยังไม่เจอ แต่หลายๆ ครั้งเราพบว่าคนที่เคยลองหลายอย่างมาแล้ว เช่น เคยเขียนหนังสือ เคยลองทำ Youtube มาแล้ว แต่ก็ยังไม่ใช่สักที แต่เรามีของที่เราชอบอยู่ นั้นอาจจะแปลว่าคุณยังไม่เจอแพลตฟอร์มที่เหมาะกับคุณ พอดแคสต์อาจจะใช้ก็ได้ พบว่าหลายคนเป็นแบบนี้ ให้ไปนั่งร้อยเรียงตัวหนังสือ ไม่มีความอดทนมากพอ ให้อยู่หน้ากล้องก็ไม่เอา ประหม่า แต่พอให้เล่าโดยใช้เสียงอย่างเดียว ทำได้เลย พอดแคสต์ก็อาจจะต้องตอบโจทย์คุณก็ได้ ถ้าอยากรู้ก็ต้องทดลองกับมัน
– เรื่องนี้มันจะมี framework อันนึงที่เคยสอนตอนทำพอดแคสต์ว่า คุณสามารถจะพูดเรื่องนี้อย่างน้อยทุกสัปดาห์เป็นเวลาหนึ่งปีได้ไหม ถ้าคิดว่าทำได้ให้พิสูจน์ออกมาโดยเขียนเป็นไลน์อัพ 52 ตอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถเขียนได้ไหม มันจะมีบางตำราที่บอกว่าสัก 10 ตอนก็จะเริ่มเห็นหน้าเห็นหลังแล้ว แต่ผมรู้สึกว่าหนึ่งปีเขียนไปเลยว่าได้ไหม อย่างผมจัดรายภาษาอังกฤษ ผมเขียนได้เป็น 100 ตอนเลย เรื่องที่ผมอยากเล่า
– ทุกคนน่าจะมีความชอบแต่ว่ามันต้องมีความอยากเล่าเรื่องที่เราชอบด้วย ไม่ใช่ทุกคนสามารถที่จะทำได้ ผมว่าพอดแคสต์ไม่ใช่สำหรับทุกคน เหมือนกับการทำ Youtube การเขียนหนังสือ อาจจะไม่ใช่ทางของเราก็ได้ มันต้องเจอบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกอยากใช้เวลากับมัน
– แต่ก็เชียร์ให้ลองทำเพราะด้วยความที่ต้นทุนในการลองต่ำมากสำหรับพอดแคสต์ ทั้งต้นทุนเรื่องเงิน เรื่องเวลา เรื่องความซับซ้อน มันซับซ้อนน้อย ทำง่าย ไม่ต้องเสียตัง ยิ่งถ้าคุณเป็น content creator อยู่แล้ว มันช่วยคุณต่อยอดได้ในมิติอื่น เช่น ถ้าคุณเคยแต่เขียนเพจสื่อสารกับ audience ของคุณด้วยตัวหนังสือ ลองเล่าด้วยเสียงบ้างไหม มันจะคนละฟิลกันเลย อาจจะเจอคนอีกกลุ่มนึงที่อยากเสพเรื่องนี้โดยฟังเราเล่าเหมือนกัน หรือต่อให้ไม่ใช่คนทำสื่อ แต่เปิดร้านขายของอยู่ เช่น ขายสัตว์เลี้ยง ลองมาทำพอดแคสต์เกี่ยวกับเรื่องสัตว์เลี้ยง มันก็เอื้อกันได้นะ เอื้อธุรกิจหรือคอนเทนต์หลักของคุณได้ ก็ต้องลอง เพราะไม่มีใครรับรองได้ว่ามันจะผลหรือเปล่า
– นอกจากลองทำรายการแล้ว ลอง distribute ได้ด้วยนะ ถ้ามีเพจหรืออะไรอยู่แล้วก็แค่โยนลงไป เพื่อนๆ เข้าไปฟัง follower เข้าไปฟัง ทดลองไปก่อนก็ได้ ช่วยให้เราไม่ต้องพยายามเล่นใหญ่หรืออะไรตั้งแต่แรก ค่อยๆ ลองไปก่อน เอาเท้าจุ่มน้ำดูก่อนว่าเราชอบอุณหภูมิแบบนี้ไหม ชอบความลึกแบบนี้ไหม แล้วค่อยไปทีละหน่อย ผมเชื่อว่าคนทำพอดแคสต์ก็ educate ตัวเองหมดแหละ เพราะทุกวันนี้มันก็ยังไม่มีที่ไหนทำพอดแคสต์เป็นหลักสูตรขนาดนั้น ทุกคนก็ต้องศึกษาด้วยตัวเอง ก็ทดลองดูก็ได้
– อย่างผมก็มีทำกรุ๊ปของคำนี้ดี แต่ว่าไม่ได้ตั้งชื่อกรุ๊ปว่าคำนี้ดี ก็มีคนมาโพสต์โปรโมทรายการเต็มเลย แล้วผมรู้สึกว่ามันดีเพราะว่ากรุ๊ปมันคือ community base คนที่มีความสนใจเหมือนกัน เหมือนที่โจ้พูดเลยก็คือไปอยู่ให้ถูกที่ เข้าให้ถูกที่ เหมือนกับเรารู้ว่าถ้าเราอยากขายสิ่งนี้ต้องไปตลาดไหน ต้องไปย่านไหน อยากขายต้นไม้ต้องไปที่ไหน อยากขายกาแฟต้องไปที่ไหน แต่สิ่งนึงที่ช่วยมากจริงๆ ก็คือโซเชียลมีเดีย ปฏิเสธไม่ได้เลย ผมเป็นคนโซเชียลน้อยมาก แต่ก็เห็นความสำคัญว่ามันคือที่ที่จะทำให้รายการเราไปได้ง่ายที่สุด แต่เราก็ต้องมีความสม่ำเสมอและความจริงใจในการสร้าง community หรือ social ของเราเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามาเมื่อต้องการขายของเท่านั้น เราอาจจะต้องค่อยๆ สร้าง community หรือว่าไปเป็นส่วนนึงของ community หรือว่าการสร้างเน็กเวิร์คกับคนที่มีความชอบเหมือนกัน พี่ๆ podcaster ทั้งหลาย ที่เราก็ชอบฟังรายการแนวนี้ อยากทำรายการแนวนี้บ้าง เข้าไปปรึกษา make friend สร้าง relationship มันก็เป็นเรื่องของการเข้าสังคมบวกกับสร้างคอนเทนต์ มันผสมๆ กัน
12. แนะนำวิธีการคิดคอนเทนต์ Podcast
======================
[คุณบิ๊ก]
– ถ้าคุณไม่ได้สังกัดบริษัทที่จะถูกประเมินผล productivity ด้วยยอดวิว ยอดขาย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจตลาดอะไรเลย แต่พอดีพวกเราอยู่ในวงการที่เป็นอุตสาหกรรมการผลิตสื่อ แน่นอนว่าเราจำเป็นต้องคิดถึงตลาด ถ้าคุณยังไม่ได้สังกัดอะไร ยังไม่มีข้อจำกัด ก็ไม่จำเป็นต้องหาข้อจำกัด น่าจะดีที่สุดถ้าเริ่มต้นจากสิ่งที่คุณชอบ แล้วสักวันนึงมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เจอตลาดของมันเองก็ได้ ถ้ามัวแต่ไปคิดว่าจะทำอะไรดี ไม่เถียงว่ามันอาจจะเป็นไปได้ สมมุติว่าคนไม่รู้จะขายอะไรดี งั้นขายสิ่งที่มันขายดีก่อนละกัน มันก็อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ทำได้ แต่ก็ต้องเป็นคนที่มีความสามารถที่จะทำอะไรที่มันตอบสนองตลาดได้ แต่ในขณะที่บางคนอาจจะไม่รู้ว่าตลาดขายอะไรดี แต่ชอบทำก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ มีสูตรเด็ดจากคุณยาย ก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่คุณมี สิ่งที่คุณทำได้ดี และสิ่งที่คุณคิดว่าจะอยู่กับมันได้ทุกวันไปก่อน แล้วเดี๋ยวตลาด เม็ดเงิน และอะไรต่างๆ มันจะมาเอง ถ้าคุณฟาดกับมันเต็มที่ ผมเชื่ออย่างนั้น
[คุณโจ้]
– ซึ่งสิ่งนี้มันไม่ใช่แค่พอดแคสต์ รวมถึงทุกอย่างที่เราทำ เราจะทำเพื่อสนองความต้องการเรา ถ้าเราไม่ได้มีพันธะอะไรที่ต้องทำเพื่อตอบโจทย์ของตลาด ก็ลองทำของตัวเองดูก็ได้ อาจจะไม่ใช่พอดแคสต์ก็ได้ แต่เป็นอย่างอื่นที่คุณอาจจะพบว่าคุณ comfort กับมันมากกว่า เชี่ยวชาญกับมันมากกว่า
[คุณบิ๊ก]
– อีกประเด็นที่เคยเจอและคิดว่าน่าสนใจคือ สิ่งที่อยู่ในรายการหรือ message ของคุณมันเหมาะจริงๆ หรือเปล่ากับการทำเป็นพอดแคสต์ บางทีอาจจะไม่เหมาะก็ได้ เช่น สมมุติรายการของคุณเป็นรายการในเชิง infomation สมมุติเรา search อะไรสักอย่างนึงเพื่อจะเอาข้อมูลบางอย่าง เราต้องการสิ่งนี้ในรูปแบบของ text มากกว่าเพราะเราจะได้แสกนหาเลยว่าที่เราต้องการมันอยู่ตรงไหน สิ่งเดียวกันถ้าไปอยู่ในรูปแบบของพอดแคสต์มันต้องฟังการเกริ่น การคุย แล้วที่เราอยากฟังมันอยู่ตรงไหน มันก็อาจจะไม่ตอบโจทย์คนก็ได้ เพราะบางทีเราเองก็เจอเรื่องนี้เหมือนกัน พอเรา search บางเรื่องแล้วเจอพอดแคสต์วิดีโอ แล้วเราไม่เข้าไปดูเลยเพราะเราไม่มีเวลา ไม่อยากใช้เวลาอยู่กับมันสิบกว่านาทีแล้วไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน อาจจะต้องลองเช็คดีๆ ว่าสิ่งที่เราทำเป็นพอดแคสต์มันเหมาะกับรูปแบบของการเล่าเป็นเสียงหรือวิดีโอแบบนี้จริงหรือเปล่า เราอาจจะอยู่ผิดที่หรือผิดตลาดอยู่ แต่ไม่ได้แปลว่าคอนเทนต์ของคุณไม่ดี แต่ต้องเอาไปขายให้ถูกที่ แล้วทำให้มันเป็นโปรดักที่เหมาะสมกับการเอาไปใช้หรือเสพของคน
– ยกตัวอย่างถ้ามีรายการพอดแคสต์เกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยว แล้วมันเป็นเรื่องของการเล่าเรื่องน่าสนใจแล้วคนตั้งใจจะเสพเพราะมันเล่าสนุก อันนี้อาจจะมีทางไป แต่ถ้าคนเขา search หาข้อมูลการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเขาจะต้องการที่จะอยู่กับเราตรงนี้ก็ได้ ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้ชอบหรือเกลียดเรา แต่สิ่งที่เราทำ ไม่ตรงกับความต้องการของเขา คือเขาต้องการแค่ information แบบนี้ เป็นต้น ก็อาจจะต้องกลับไปคิดดูอีกทีนึง ต้องกลับมา reflex เรื่อยๆ ว่ารายการของเรามันตอบโจทย์จริงๆ หรือเปล่า สิ่งที่เราคิดว่ามันดี คนอื่นเขารู้สึกว่าเขาชอบในรูปแบบกันกับที่เราเสนอด้วยหรือเปล่า
– มี magic number ซึ่งผมไม่รู้ว่ายังเป็นความจริงอยู่ไหม ว่าจำนวน episode ที่คนจะถอดใจอยู่ที่ประมาณ ep.7 ถ้าทำไป 7 ep. แล้วยังกริบอยู่ คนส่วนใหญ่จะถอดใจ เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่คุณต้องผ่านไปให้ได้ เลยเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราไม่ควรจะต้องไปสนใจตลาด เอาแค่คุณอยู่กับอะไรได้นานๆ โดยที่ไม่ต้องมีคนจ้างหรือไม่จำเป็นที่ต้องมีคนมามุงดูคุณเป็นร้อย เราก็จะพูดเรื่องนี้ แต่ในระหว่างที่เราทำสิ่งนี้ เราก็เช็คตลาดไปด้วย เช็คความต้องการคนดูไปด้วย แล้วค่อยๆ ปั้นมัน เราไม่สามารถเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะพูดแต่สิ่งที่เราชอบเท่านั้นไม่สนใจอะไรเลย หรือว่าสนใจแต่ว่าคนจะซื้ออะไรเท่านั้นไม่สนใจความสนใจเราเลยก็ไม่ได้ ผมว่ามันต้องไปด้วยกันอยู่ดีแหละ
13. Podcast ยังเติบโตอยู่ไหม
======================
[คุณโจ้]
– ถ้าในตลาดโลก คนฟังหรือจำนวนคนที่ทำพอดแคสต์ก็โตขึ้นเรื่อยๆ ตลาดก็ดูจะเน้นไปที่ตลาดเสียงมากขึ้น พอดแคสต์ก็ดูเติบโต
– ส่วนในเมืองไทย มาตรวัดที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือฐานคนฟังของทางสถานี ซึ่งจริงๆ มันก็ยังโตขึ้นเรื่อยๆ และอยู่ในระดับที่เราก็ยังพอใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของคนฟังเองหรือว่าคนที่มามีส่วนร่วมในคลิปหรือพอดแคสต์แต่ละตอน เราเลยรู้สึกว่าในอัตรานี้มันก็ยังเติบโตอยู่
[คุณบิ๊ก]
– ผมไม่รู้ว่าตัวเลขมันเป็นยังไงเลย แต่เอาจริงๆ เทรนด์โลกจะโตไม่โตมันมีผลกับเราไหม อาจจะไม่มีผลก็ได้ แต่เอาแค่ในบ้านเรายังมีคนที่มีแบรนด์ มีเจ้าของเงินที่พร้อมจะลงทุนกับพอดแคสต์หรือเปล่า นั้นคือคำถามข้อหนึ่ง ซึ่งผมว่าไม่น่าจะมีใครสามารถหาคำตอบให้กับทั้งวงการได้ เพราะมันไม่ได้แปลว่าถ้ามันยังเติบโตแล้วทุกคนยังจะได้เงินโดยถ้วนหน้า มันอยู่ที่ว่าสิ่งที่คุณทำมันไปตอบโจทย์คนที่เขาจะลงทุนกับคุณ หรือซื้อสปอนเซอร์กับคุณไหม เพราะฉะนั้นการบอกว่ากระแสโลกหรือทั้งหมดภาพใหญ่มันเติบโตหรือเปล่า เอาจริงๆ ผมว่าไม่ได้มีผลต่อ content creator ขนาดนั้น
– แต่ผมเชื่ออยู่อย่างนึงว่าถ้าเกิดเราไม่ได้ดูว่าเม็ดเงินเป็นยังไง แต่เราดูว่าการเติบโตเชิงคอนเทนต์และปริมาณของคนทำและคนฟังพอดแคสต์มันมากขึ้น ผมว่าเดี๋ยวเงินมันจะมาเอง เหมือนช่วงแรกๆ ที่มันยังมีคนทำพอดแคสต์ไม่กี่เจ้า รายการที่ฮิตๆ ก็อาจจะมีไม่กี่ประเภท แต่สักพักนึงมันเริ่มเห็นว่ารายการจาก 20 ประเภทกลายเป็น 200 ประเภท คนทำพอดแคสต์ที่เคยมี 100 คนกลายเป็น 1,000 คน คนฟังพอดแคสต์จาก 1,000 คนกลายเป็นแสนคนแล้ว ผมว่าแบบนี้แหละสักพักเดี๋ยวเจ้าของเงินเขาก็จะหันมาดูเองว่าตรงนี้มันยังมีสิ่งที่ยังจะสามารถใช้เงินได้อีกไหม ซึ่งเราผ่าน stage นั้นมาแล้ว เพราะผมเชื่อว่า THE STANDARD, Salmon หรือว่าอีกหลายเจ้าคนทำเงินได้แล้ว แต่ว่าก็ยังต้องหาต่อไป มันเหมือนกับ Youtuber หรือ influencer สมัยนี้ซึ่งมันมีเยอะมาก แบบถ้าเราจะขายลิปสติกมันจะมีลิสต์คนที่เราควรจะไปจ้างเยอะมาก จนต้องคัดออก พอดแคสต์ในบ้านเรายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะว่าส่วนนึงเราอาจจะมัวแต่ เอ๊ะ เม็ดเงินเป็นยังไงอยู่ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องเม็ดเงิน เอาแค่ว่าอยากทำหรือเปล่าก่อน แล้วคิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันต่อยอดได้ไหม เหมือน Salmon รู้สึกว่าพอดแคสต์มันทำได้ เราทำหนังสือ เราทำวิดีโอ ทำนู่นนี่มาแล้ว มันต่อยอดได้ หลายๆ เจ้าก็มีการต่อยอดในเชิงนี้เหมือนกัน ผมรู้สึกว่าถ้าเราทำออกมาแล้วเน้นไปที่คุณภาพ เราเจ๋งสุด ทำ serve คนดูแบบตรงสุด แล้วถ้าทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมาก่อน ตลาดพอดแคสต์เมืองไทยมันจะน่าสนใจจนอดไม่ได้ที่จะลงเงิน ถ้ามันดีจริงเขาต้องเอาเงินมาแล้ว แต่ว่าตอนนี้มันอาจจะยังไม่ถึงจุดที่มันดีทั้งหมด overall ผมเลยเชื่อว่าการที่สนใจว่าเม็ดเงินเป็นยังไงมันโอเค แต่ว่าไม่ควรจะเป็นสิ่งตัดสินว่าจะทำหรือไม่ทำ
– คนที่ทำพอดแคสต์อยู่ตอนนี้ ถ้ายังทำอยู่อย่างกระตือรือร้นและพัฒนารายการขึ้นเรื่อยๆ จนคนที่ตามดู ตามฟัง คึกคักอยากจะทำตามขึ้นมาบ้าง เพราะผมเชื่อว่าหลายๆ ครั้งมันก็เกิดจากตรงนี้ ที่แบบพวกพี่ๆ ทำไว้เป็นแรงบันดาลใจอยากให้เราทำรายการบ้าง แล้วก็เกิดพอดแคสต์รุ่นหลังๆ อีกมากมาย ก็คือเราสนุกกับสิ่งนี้อยู่ และทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวมันก็จะเกิดแรงกระเพื่อมให้วงการนี้มันแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เอง
14. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับ Podcast
======================
[คุณโจ้]
– ฝากสถานี Salmon Podcast ด้วยละกัน มีรายการหลากหลายลองเข้ามาฟังกันได้
[คุณบิ๊ก]
– จริงๆ ตอนนี้ง่ายสุดก็ลองเข้าไปใน Youtube แล้วก็ search คำว่า Podcast แค่นี้คุณก็จะเจอมากมายแล้ว หรือคำว่า Podcast แล้วตามด้วยเรื่องที่อยากฟัง เดี๋ยวก็จะเจอเอง แล้วถ้าเกิดเจอสิ่งที่คุณชอบก็แค่ตามอุดหนุน ตามฟังเขา แค่นี้ก็จะเป็นแรงให้คนทำพอดแคสต์เขาทำต่อไปและดีขึ้นเรื่อยๆ ผมว่าทุกคนก็สามารถเป็นเจ้าของรายการพอดแคสต์ได้ ลองดูก็ได้
สรุปจาก WIM EP.59: “Podcast” เสน่ห์ของเสียงและความต่างที่น่าสนใจ (ฟังวิดีโอตัวเต็มได้ที่: https://bit.ly/3J2CNaI)
======================
Speaker:
– คุณบิ๊ก ภูมิชาย Podcast Director, THE STANDARD & Host/Producer คำนี้ดี Podcast
– คุณโจ้ นทธัญ Station Director, Salmon Podcast
======================
Moderator:
– พี พนิต P Panit
======================
Date: 24 Feb 2022 (21:00-22:25)
Host: วันนี้สรุปมา
#WhyItMatters #Podcast #พอดแคสต์ #THESTANDARD #คำนี้ดี #SalmonPodcast #วันนี้สรุปมา #todayinoteto