อวกาศคืออะไร? ทำไม “อวกาศ” ถึงสำคัญ

อวกาศ

1. อวกาศคืออะไร

– “อวกาศ” ในภาษาไทยแปลว่า “ที่ที่ไม่มีอากาศ” ถ้าในภาษาอังกฤษคือคำว่า space แปลว่า “ช่องว่างหรือพื้นที่ที่มันว่างเปล่า”

– ตั้งแต่ในอดีตมนุษย์มองท้องฟ้ามานาน และก็สงสัยว่ามีอะไรอยู่บนนั้น พอมนุษย์ตั้งคำถามแบบนี้มันก็นำมาซึ่งการสังเกต ความเชื่อ เกิดเป็นศาสตร์ต่างๆ เริ่มจากการที่มนุษย์เริ่มสังเกตธรรมชาติ เกิดเป็นการศึกษาวัตถุบนท้องฟ้า เป็นรากฐานที่มาของโหราศาสตร์ด้วย

– จริงๆ มนุษย์เราช่างสังเกตมานานแล้ว ถ้าเราดูพวกกลุ่มดาว ชื่อดาว มันจะสอดคล้องกับวัฒนธรรมแทบจะทุกที่ทั่วโลก ในแต่ละประเทศ แต่ละวัฒนธรรม ก็จะมีมุมมองต่อท้องฟ้าต่างกันไป มีตำนานที่เล่าว่าแสงเหนือคือวิญญาณของบรรพชน ในพื้นที่นั้นๆ ก็จะมีเรื่องเล่าของตัวเอง

อวกาศ ไม่ใช่แค่การพูดถึงท้องฟ้าหรือสิ่งที่อยู่นอกโลกในปัจจุบัน แต่คือการพูดถึงตั้งแต่ ณ วันแรกที่มนุษย์เกิดขึ้นมาบนโลกและมองขึ้นไปบนท้องฟ้า เวลาที่เราสำรวจอวกาศ เราจะต้องรวมสิ่งนี้เข้ามาหมดเลย เพราะจริงๆ แล้วถ้าเรานับองค์ความรู้ของมนุษยชาติที่เก่าแก่ที่สุด สิ่งแรกที่มนุษย์ศึกษาและตั้งคำถามคือ ดวงดาวและท้องฟ้า นี่คือนิยามของอวกาศ มันไม่ใช่แค่เรื่องว่ามองขึ้นไปท้องฟ้า มียานอวกาศ มีมนุษย์ต่างดาว แต่ว่าเราต้องการที่จะศึกษาย้อนกลับไปตั้งแต่อดีตของมนุษย์ที่มนุษย์มองขึ้นไปบนท้องฟ้าตั้งแต่ครั้งแรก

2. มีอะไรอยู่ในอวกาศบ้าง

– เมื่อก่อนมนุษย์พยายามนิยามว่าอะไรที่อยู่นอกเหนือไปจากโลกมันคือ อวกาศ คิดโดยเอาตัวเราเองเป็นจุดตั้งต้น หรือถ้าในทางฟิสิกส์จะเรียกว่า ผู้สังเกต (Observer) แต่ถ้าเรามองโลกเรามาจากอวกาศ ก็จะนับว่าเราอยู่ในอวกาศด้วย

– คำว่า space หรืออวกาศคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสามารถรับรู้และสัมผัสได้ หลายๆ คนที่เคยเรียนคณิตศาสตร์ เซ็ตที่ใหญ่ที่สุดจะเรียกว่าเอกภพสัมพัทธ์ หรือ universe แปลว่าจริงๆ แล้วคำว่าอวกาศหรือจักรวาล คือทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น แม้กระทั่งกฎทางฟิสิกส์ แรงโน้มถ่วง เวลา สถานที่ หรือกลศาสตร์ต่างๆ ที่มนุษย์พยายามอธิบายหรือตั้งคำถาม มันคืออวกาศ

3. การเรียนรู้เรื่องอวกาศ เป็นอย่างไร?

– มนุษยชาติในยุคหลังมีวิธีคิดที่มีความหลากหลายที่สูงมากทางวัฒนธรรม ลองนึกถึงเด็กที่เกิดขึ้นมาจะตั้งคำถามมากมายว่าอันนี้อันนั้นคืออะไร กลางคืนพระจันทร์ไปไหน ทำไมไฟถึงร้อน ทะเลไปไกลถึงไหน พอเราตั้งคำถามแบบนี้ เราก็สามารถที่จะอนุมานได้ว่า ถ้าเด็กเกิดขึ้นมาแล้วเราปล่อยให้เขาตั้งถามไปเรื่อยๆ เขาจะเริ่มจากคำถามเล็กๆ ใกล้ตัวยาวไปจนถึงจักรวาล ถ้าทำการทดลองเอามนุษย์คนนึงมา แล้วคนนั้นมีชีวิตที่เป็นอมตะ เป็น infinity มนุษย์คนนั้นจะสามารถเรียนรู้และตั้งคำถามกับทุกอย่างได้ จะมีทฤษฎีที่เรียกว่า Theory of Form ที่เป็นเรื่องของทางปรัญชาที่พูดถึงเรื่องนี้อยู่

– ซึ่งในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศไทย มีความเป็นมตินิยม (dogmatism) สูงมาก ซึ่งสังคมแบบนี้จะไม่ชอบให้เราตั้งคำถามเท่าไหร่ พอมนุษย์ถูกสอนให้หยุดตั้งคำถาม เราก็จะมีมุมมองที่มีต่อโลกแคบลง และอะไรก็ตามที่มันมีผลต่อชีวิตเรา มันก็จะสุดอยู่แค่นั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรายังอยู่ในประเทศที่คนยังต้องหาเช้ากินค่ำอยู่ ยังไม่มีวิธีการที่ทำให้ตัวเองสุขสบาย เราไปบอกให้เขาตั้งคำถามเกี่ยวกับจักรวาล เขาจะไม่สามารถที่จะตั้งคำถามพวกนี้ได้ หรือต่อให้ตั้งได้ก็จะไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเขาอยู่ดี

– ถ้าเรามองย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาของเรา แม้กระทั่งวิชาวิทยาศาสตร์ มันไม่ได้สอนให้ตั้งคำถาม แต่เป็นการให้เราศึกษาสิ่งที่คนอื่นคิดเอาไว้แล้ว หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง ถามเด็กอนุบาลหรือระดับปริญญาก็ตอบได้ แต่จะมีน้อยคนที่สามารถตอบในเชิงลึกปรัญชาได้จริงๆ ว่า อะไรทำให้หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง สิ่งที่เราเรียนกันคือวิธีการ เรียนสิ่งที่คิดเอาไว้แล้ว เพราะฉะนั้นมันยากมากเลยที่จะอนุญาตให้เราคิดที่จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา

– สำหรับสังคมของเราสอนเรื่องอวกาศ ให้มันเป็นเรื่องของแค่มนุษย์คนที่ไปเหยียบดวงจันทร์ชื่อ Neil Armstrong สอนให้ท่องดาวเคราะห์ ท่องแผนที่ดาว หรือใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ สูตรทางฟิสิกส์คำนวณการโคจรรอบโลก มันเป็นการเรียนรู้สิ่งที่คนอื่นคิดมาแล้ว จริงๆ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ Spaceth ที่เราก็คิดตลอดว่าเราจะทำยังไงให้อวกาศมันมีความเกี่ยวข้องกับชีวิต กับสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ มากกว่าเป็นแค่วิชาหรือศาสตร์ๆ นึง เราเองก็รู้ดีว่าการที่คนจะมาสนใจวิทยาศาสตร์หรือตั้งคำถามกับธรรมชาติได้ เขาต้องหลุดพ้นจากแนวคิดบางอย่างที่มันกดทับเขาอยู่ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม Spaceth พูดเรื่องการเมือง ปรัชญา สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมเยอะมาก เพราะสิ่งเหล่านี้แหละ ที่จะเปิดโอกาสให้เราได้ตั้งคำถามกับจักรวาล เพื่อให้เราเรียนรู้ว่าจริงๆ แล้วชีวิตคืออะไร จักรวาลคืออะไร แล้วคุณค่าในการเกิดมาจริงๆ ของเราคืออะไร

4. มุมมองของอวกาศกับประเทศไทย

– ไม่ว่าจะยังไงก็ตามมนุษยชาติมันเดินไปข้างหน้าอยู่ตลอด มนุษย์ไม่อยู่กับที่ตั้งแต่วันแรกที่เดินออกมาจากถ้ำ การไปอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การพยายามที่จะเพาะปลูกเพื่อที่จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเผ่า ไปจนถึงวันที่มนุษย์กล้าที่จะเดินเรือออกไปค้นพบทวีปใหม่ มันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างอธิบายได้อย่างชัดเจนในตัวมันเองว่า ยังไงมนุษย์ก็จะต้องเดินทางไปในอวกาศ และอยู่ในดวงดาวหลายดวง ดังที่ Elon Musk เรียกว่า Multi Planetary Species

– เมื่อก่อนถ้าจะให้เรานิยามเผ่าพันธุ์มนุษย์ มันก็จะมีการแบ่งแยกตามที่อยู่อาศัยในเมืองหรือทวีป เราจะค้นพบว่าทุกเผ่าพันธุ์จะมีความพยายามในการเชื่อมต่อหากันตลอด ซึ่งมันไม่แปลกว่าทำไมในอนาคตมนุษย์ถึงจะต้องเดินทางไปสำรวจอวกาศ ไปตั้งถิ่นฐาน หรือเดินทางไปยังดาวเคราะห์ที่ห่างไกล ซึ่งสุดท้ายแล้วโลกหรือเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ต้องมีความเชื่อมโยงอะไรบางอย่างด้วยกันอยู่ดี เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วต่อให้บอกว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศไม่พัฒนา เรายังมีปัญหาทางการเมือง ทางสังคม ถนนลูกรังยังไม่หมด รถไฟความเร็วสูงยังไม่มี แล้วจะไปสำรวจอวกาศทำไม มันอธิบายแบบนั้นไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้วยังไงเราก็ต้องเดินทางไปหามันอยู่ดี หรือต่อให้เราไม่เดินทางไปหามัน วันนึงอวกาศก็จะเดินทางหาเรา และก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันมีความจำเป็นมาก

– สิ่งที่น่าสนใจคือ มุมมองของผู้ปกครองหรือของรัฐที่มีต่ออวกาศ ถ้ามันเป็นมุมมองในเชิงว่าอวกาศคือปลายทางของมนุษย์ คือสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้จักและสามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้อย่างดีขึ้น มันก็จะดี แต่กลายเป็นว่าผู้ปกครองหรือระบบการปกครองยังมีความเป็นแบบในสมัยสงครามเย็น คิดว่าอวกาศเป็นเรื่องของอำนาจ ทุกวันนี้เราถกเถียงกันหลายเรื่อง เช่น ไทยคม ยังเถียงกันอยู่เลยว่าสัมปทานได้ไหม แล้วสิทธิคืออะไร ในขณะที่ในหลายๆ ประเทศ พอพูดถึงอวกาศ เขากำลังพูดถึงคำศัพท์ที่เรียกว่า democratization access to space หรือว่าการทำยังไงให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถจะเข้าถึงอวกาศได้ ทุกวันนี้เด็กๆ ในต่างประเทศสามารถที่จะส่งการทดลอง ส่งดาวเทียมดวงเล็กๆ เรียกว่า Cubesat หรือส่งจรวดขึ้นไปสำรวจอวกาศได้เอง โดยที่เป็นโครงงานโปรเจคของเด็กมัธยมด้วยซ้ำ

– มันจะเกิดประโยชน์ตรงที่ ยิ่งเราสำรวจอวกาศมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะเข้าใจความเป็นอยู่ของโลกใบนี้ เข้าใจมุมมองของชีวิต ปรัญชา เทคโนโลยีอะไรต่างๆ มากขึ้นเท่านั้น เหมือนกับอินเทอร์เน็ต ถ้าเรามัวแต่มาเถียงกันว่าใครจะสัมปทาน ใครจะได้คลื่นไป ประโยชน์จะไม่ได้เกิดกับคนส่วนใหญ่ขนาดนั้น สัมปทานได้เงินมา แต่สุดท้ายจะอยู่กินกับการสัมปทานตลอดไปโดยไม่ได้ให้การศึกษาให้คนมีความรู้ แล้วจะรู้ได้ไงว่าผู้มาสัมปทานจะสามารถใช้ทรัพยากรนั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ได้จริงๆ

– ถ้าเรามองอวกาศเป็นเหมือนทรัพยากรอย่างนึง เหมือนอย่างอินเทอร์เน็ต อากาศ หรือน้ำ เราจะค้นพบว่ายิ่งเราเปิดโอกาสให้คนสามารถที่จะเข้าใจและไปสำรวจอวกาศได้มากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งมีนโยบายและมีอนาคตของมนุษย์ที่มันชาญฉลาดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นสำหรับประเทศไทยของเรา ทุกวันนี้ประเทศไทยก็มีความเกี่ยวข้องกับอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพอากาศเพิ่งส่งดาวเทียมไป มีโครงการอวกาศที่ ดร. เอนก (ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เพิ่งประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว มีการร่าง พ.ร.บ. อวกาศ มีอะไรต่างๆ เกิดขึ้นเยอะแยะมาก มีการจัดทำปลุกปั้น startup อวกาศ แต่ว่าถ้าประชาชนยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ และมองช่องอวกาศเป็นเหมือนช่องทีวี คลื่นความถี่ วงโคจรที่ต้องสัมปทานกัน ประชาชนจะไม่เข้าใจอวกาศจริงๆ และเราจะไม่สามารถเรียกตัวเองได้เลยว่าเป็นประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากอวกาศได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ อย่างที่มันควรจะเป็น

– เราพยายามต่อสู้ในเรื่องของอะไรหลายๆ อย่างที่ดูไม่สมเหตุสมผล อะไรที่ยังปิดกั้นเราจากมุมมองที่ทำให้เกิดการพัฒนาจริงๆ อย่างของเรา Spaceth เห็นได้ชัดมาก เพราะมันไม่ได้เกิดจากการที่รัฐสั่งให้ทำ เราไม่ได้รับเงินจากหน่วยงานรัฐสักบาทเพื่อมาทำ แต่เราทำขึ้นมา เพราะเรารู้สึกว่ามันสำคัญ มันให้มุมมองอะไรบางอย่างต่อเรา มันทำให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ว่าถ้าเรามองจากมุมมองของรัฐ การสื่อสารก็จะเป็นไปในอีกทางนึง มันคือการบาลานซ์และการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันว่า การสำรวจอวกาศโดยรัฐก็จะยังมีอยู่ แต่ก็ต้องอย่าลืมมองว่าเป็นมุมมองโดยรัฐ การสำรวจอวกาศโดยประชาชน บริษัทเอกชนในประเทศไทยก็มี แต่ถ้าเราโฟกัสในเรื่องของการพัฒนาจริงๆ แล้ว โมเดลของการสัมปทาน วิธีการคิดแบบรัฐก็ยังมีอยู่และอวกาศก็จะไม่ถูก democratize จริงๆ

– ทุกคนไม่ชอบหรอก กับการที่มีหน่วยงานใดหน่วยงานนึงหรือรัฐคอยมากำกับดูแลอะไรทุกอย่าง มันเหมือนยุคสงครามเย็นมาก ถ้าคิดแบบนั้น ทุกวันนี้เรากำลังก้าวเข้ามาสู่ยุคที่ทุกอย่างมันถูก decentralize หมดแล้ว Blockchain, Bitcoin อะไรต่างๆ ไม่มีอะไรที่เป็นศูนย์กลางที่คอยควบคุมอะไรพวกนี้ ทุกอย่างมันไป organic มาก ถ้าเราไม่สามารถให้ awareness ที่ถูกต้องกับประชาชนได้ เราจะกลายเป็นแค่ follower ตลอดกาล และเราจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร

– ทุกวันนี้การที่อินเทอร์เน็ตเข้ามาในประเทศไทยได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เป็นสิ่งที่ช่วยให้ประเทศไทย พัฒนาขึ้นมาได้เยอะเลย โดยประเทศไทยถ้าไปดูกราฟที่เป็นสปีดความเร็ว ประชาชนเข้าถึงสปีดความเร็วได้เยอะมาก แต่ถ้าเราไปดูคอนเทนต์ที่คนไทยดูจะเป็นเอ็นเตอร์เทนซะส่วนใหญ่ เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศที่อัตราอินเทอร์เน็ต adoption เขาช้ากว่าเรา แต่คอนเทนต์ที่เขาเสพ การใช้งานอินเทอร์เน็ต มันไปเป็นเพื่อประโยชน์ เพื่องานวิทยาศาสตร์ เป็นการที่เด็กๆ มาทำโปรเจคร่วมกัน เห็นเลยว่าการที่เรามีสิ่งนี้ในประเทศ แต่เราไม่ได้ใช้มันได้อย่างถูกต้องเต็มที่จริงๆ มันอาจจะมีประโยชน์ส่วนนึง แต่มันไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนของเราไป

– สมมุติอยู่ดีๆ ประเทศเราประกาศว่าเราจะแจกซิมอินเทอร์เน็ตให้แก่เด็กๆ ฟรี มีคนแย่งแน่นอนว่าเด็กจะเอาไปเล่นเกม ดู Youtube การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็เรื่องนึง แต่การที่จะทำให้คนเห็นคุณค่าของทรัพยากรได้ มันคือตัวที่จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมหรือสิ่งดีๆ กับประเทศนั้น แล้วเราจะไม่ได้เป็นแค่ user เราจะเป็น creator ได้จริงๆ

– ยกตัวอย่างตอนช่องทีวี เราเถียงกับแทบตายตอนดิจิทัลทีวีมา สัมปทานช่องอะไรต่างๆ แทนที่เราจะเอาเวลาไปโฟกัสว่าพอเราเปลี่ยนเป็นดิจิทัลทีวี เราจะสามารถทำได้หลายช่องมากๆ มีได้เป็นร้อยๆ ค่าสัมปทานที่เราเก็บได้เยอะจะเอามาผลักดันให้มีคอนเทนต์ดีๆ คอนเทนต์ที่มีประโยชน์ มีสื่อดีๆ แต่สุดท้ายทุกวันนี้คอนเทนต์ที่คนดูมากที่สุดก็ยังเป็นละครอยู่ และก็เป็นละครที่ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรด้วย เราพลาดกันตรงนี้มาหลายรอบมากจริงๆ ทั้งเรื่องอินเทอร์เน็ต ทีวี การ utilize ทรัพยากรต่างๆ แล้วเราจะมาพลาดเรื่องอวกาศกันอีกเหรอ เราคิดว่าไม่ควรแล้ว เราน่าจะมาปรับปรุงความคิดตรงนี้ว่า ประเทศไทย ถ้าเราอยากจะเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีจริงๆ เราต้องสอนให้คนเข้าใจอวกาศจริงๆ ไม่ใช่แค่เป็น user

5. คำแนะนำในการผลักดันเรื่องอวกาศในประเทศไทย

– ทำได้หลายแง่ อย่างแรกเลยคือ คนที่จะทำอะไรได้ดี จะต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นจริงๆ ถ้าเราอยากเข้าใจ เข้ามาช่วยในเรื่องนโยบาย การกำหนดอะไรต่างๆ ตอนนี้การทำร่าง พ.ร.บ. อวกาศ เรามีความรู้ เราก็มาช่วยเหลือตรงนี้ อาจจะไม่ได้ในมุมของอวกาศทั้ง 100% แต่ถ้าเราศึกษาในเรื่องประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้ ที่มาของกฎหมาย สิทธิ เราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนเยอะมาก แต่มีน้อยคนที่จะรู้ว่า Universal Declaration of Human Rights ที่ร่างตอนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาเขียนว่าอย่างไรบ้าง ที่ไปที่มาทุกอย่างมีความหมายหมดเลย จะเอามาช่วยในเรื่องของอวกาศ การเมือง การออกกฎหมายอย่างไร อะไรคือการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ตรงนี้เราต้องเข้าใจเชิงลึกแล้วเราถึงจะช่วยเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาได้

– การสำรวจอวกาศเป็นอะไรที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าคุณจะเก่งด้านฟิสิกส์ ด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการ เราก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ พอเราศึกษาเรื่องอวกาศ เราจะค้นพบว่าทุกอย่างไม่มีอะไรสมบูรณ์ แม้กระทั่งชีวิตของคนเรา แต่ถ้าเรายังเชื่อในความเป็นมนุษย์ เราจะพบว่ายิ่งเราหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้อื่นมากเท่าไหร่ มนุษยชาติมันจะไปได้ไกลมากขึ้นเท่านั้น เราน่าจะต้องใช้สิ่งที่เรามีให้เกิดประโยชน์กับตัวเองและคนอื่นให้ได้มากที่สุด

– ในงานวิทยาศาสตร์ จะมีคำพูดของ Isaac Newton ที่ว่า “ที่ฉันมองเห็นได้ไกล เพราะฉันยืนอยู่บนบ่าของยักษ์ใหญ่” เขาต้องการเปรียบเทียบว่าการที่วิทยาศาสตร์ วิทยาการ มันเจริญมาถึงทุกวันนี้ได้ ไม่ได้มีแค่ตัวเขาคนเดียว แต่มีคนอีกนับร้อยนับพันที่ทำงานมาก่อนหน้าเขา และวันนึงที่เราเติบโตขึ้นมา เราก็จะเป็นยักษ์ใหญ่อีกตนนึง เพื่อให้คนในยุคถัดไปได้มายืนอยู่บนบ่าของเรา และเติบโตขึ้นไปตามลำดับ

– สิ่งที่จะช่วยได้ดีที่สุดคือ อยากให้เรามีความรู้ความเข้าใจ และมองอะไรหลายๆ อย่างเป็นการตั้งคำถาม อยากให้เข้าใจโลก เข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจจักรวาล ซึ่งจักรวาลของแต่ละคนขอบเขตไม่เท่ากัน เราชอบศิลปะ ชอบดนตรี งานทุกอย่างที่เราทำ ถ้าเรามองว่าการศึกษาอวกาศคือ การศึกษาทุกอย่างบนโลกใบนี้ การที่คุณเป็นศิลปินแล้วคุณวาดภาพ ช่วยให้มนุษย์เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ก็เป็นหนึ่งในการสำรวจอวกาศเหมือนกัน ถ้าจะคิดแบบนี้

6. ถ้าอยากทำงานเกี่ยวกับด้านอวกาศ ควรเรียนคณะอะไร

– ถ้าพูดถึงฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในไทย ก็น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาจะมีความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานรัฐต่างๆ ค่อนข้างเยอะ ถ้าเป็นสายฟิสิกส์โดยเฉพาะเลยก็ทั่วไป จุฬาฯ มศว มหิดล เช่น ทีมที่มหิดลก็มีทำเรื่อง Astrophysics เหมือนกัน จริงๆ เราก็ศึกษาดาราศาสตร์จากเพื่อนที่อยู่ในคณะพวกนี้ส่วนมากจะเป็นฟิสิกส์

– แต่อาจจะคิดได้ว่าจริงๆ แล้วการสำรวจอวกาศไม่ได้เป็นแค่เรื่องของฟิสิกส์ ถ้าคุณเรียนด้าน Computer Science แล้วมีความชอบด้านอวกาศ คุณก็สามารถเขียนโปรแกรมทำ algorithm หรือ coding ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศได้ คุณเรียนปรัชญา คุณก็สามารถตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วจักรวาลของเราคืออะไร พยายามที่จะตั้งข้อสังเกต ข้อสงสัย พยายามที่จะหักล้างทฤษฎีต่างๆ ด้วยปรัญชา หรือเรียนนิเทศ ก็จะสามารถใช้ความรู้มาทำสื่ออวกาศ แม้กระทั่งคุณเรียนกฎหมาย ก็สามารถศึกษาเรื่องของอวกาศได้เหมือนกัน ศิลปะ ดนตรีก็สามารถทำงานต่างๆ เกี่ยวกับอวกาศได้ พวกนี้ยิ่งได้เปรียบเพราะ สามารถจะถ่ายทอดวิธีคิด กระบวนการต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

– ดังนั้น จริงๆ มันไม่ได้มีข้อจำกัดว่าถ้าชอบอวกาศ จะต้องไปเรียนคณะไหน เพราะว่าจริงๆ อวกาศมันอยู่ในทุกที่เลย และมันอยู่รอบตัวเราจริงๆ

7. เรื่องที่ทำให้เรารู้สึกประหลาดใจเกี่ยวกับอวกาศ

– เรื่องที่เราศึกษาเจอ แล้วทำให้เรารู้สึกว้าว และก็เป็นการเปิดโลกของเรา ทำให้เรามองอวกาศในมุมที่มันเป็นเรื่องของปรัชญามากขึ้น ตอนเด็กๆ เราก็ศึกษาอวกาศแบบทั่วๆ ไป ยานอวกาศไปดวงจันทร์ ดาวเป็นยังไง เป็นวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน เป็นการตั้งคำถาม แต่เราได้มาเห็นมุมมองที่น่าประหลาดใจตอนที่เราได้เห็นการอยู่ร่วมกันของศาสนา วิทยาศาสตร์ และความเชื่อ จะมีภาพภาพนึงเป็นภาพของบาทหลวงคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ รัสเซีย หลวงพ่อกำลังพรมน้ำมนต์ให้กับจรวด แล้วก็มีการทำพิธีต่างๆ แน่นอนว่าการทำจรวดมันต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ ต้องศึกษากฎของนิวตัน หลักฟิสิกส์ต่างๆ หลักการโคจร การทำเครื่องยนต์ วิศวกรรมต่างๆ มากมาย ในขณะที่ศาสนา มันเป็นเรื่องของความเชื่อ เรื่องของจิตวิญญาณ (spirit) การที่สองสิ่งนี้มาอยู่ในภาพเดียวกันได้ เราคิดว่ามัน powerful มาก และชวนให้เราคิดว่า บางทีคนจะชอบคิดว่าทำไมจะต้องมีพิธีกรรมต่างๆ พวกนี้ด้วย ทำไมเราไม่เชื่อในวิทยาศาสตร์ เราคิดว่ามันเป็นการที่เราพยายามละทิ้งความเป็นมนุษย์

– สุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามนุษย์เป็นส่วนประกอบกันของความกล้าและความกลัว ความรู้สึก (emotional) แรกที่เกิดขึ้นของมนุษย์คือความกลัว เด็กเกิดมาร้องไห้ก่อนเลย เจออะไรก็กลัวไปหมด อีกอันก็คือความกล้า และความโกรธซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนอะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงทำให้มนุษย์อยากที่จะเอาตัวรอด พอการเดินทางในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มันเดินทางมาเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็นอารมณ์ที่มันซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ความรัก ความเข้าอกเข้าใจ ความสงสาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สมัยใหม่มากๆ การเกิดขึ้นของศาสนาถือว่าเป็นสิ่งที่น่าซับซ้อนและน่าสนใจมากอย่างหนึ่งของมนุษย์

– ภาพบาทหลวงพรมน้ำมนต์ให้ยานอวกาศ มันสะท้อนให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว แม้ว่าเราจะเป็นมนุษย์ เราไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธความเชื่อ เราสามารถที่จะหาที่อยู่ใหัมันได้ ตราบใดที่มันไม่ถูกนำมาใช้เพื่อลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องทิ้งความสวยงามของความเป็นมนุษย์เพื่อศึกษาวิทยาศาสตร์ การที่เรารู้ว่าความรักมันเกิดจากสารเคมีบางอย่างในร่างกาย เราไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิเสธความสวยงามของความรัก ถ้าเรารู้ว่าดอกไม้ต้นไม้ ธรรมชาติ จักรวาล มันสวยงามแบบไหน เรารู้หลักฟิสิกส์ รู้ที่มาที่ไป มันไม่ได้ทำให้ความสวยงามของธรรมชาติหรือจักรวาลมันลดลง

8. คำศัพท์เกี่ยวกับอวกาศ/จักรวาล

– คำว่า​ “อวกาศ” จะตรงกับคำว่า space หรือช่องว่าง ส่วน universe คำว่า uni แปลว่าหนึ่ง universe ก็คืออะไรที่มันเป็นหนึ่งเดียวกัน จริงๆ มีหลายคำอีก เช่น cosmos ก็แปลว่าอวกาศได้เหมือนกัน แต่ภาษาไทยแปลคำว่าจักรวาลว่า universe ซึ่งจริงๆ แล้วคำว่า จักร มันหมายถึงอะไรกลมๆ ซึ่งมันเป็นการนิยามในเชิงความเชื่อหรือโหราศาสตร์ในยุคโบราณมากกว่า

– คำว่าดาว ดารา คือ star จริงๆ อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าทำไมเขานิยามหรือเกิดขึ้นได้ยังไง แต่ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่ามันเป็นคำที่มีในทุกวัฒนธรรม ทุกภาษา อย่างภาษาละตินก็มีคำว่า astra ก็เหมือนคำว่า star ดารา ซึ่งออกเสียงคล้ายกัน

– จริงๆ ถ้าให้เรานิยาม เราอยากจะแก้คำว่าเอกภพให้เป็น universe

9. เนื้อหาของ พ.ร.บ. อวกาศในไทย ที่กำลังร่างอยู่

– ปกติแล้วอวกาศ จะมีข้อตกลงสากลอยู่ในเรื่องของการครอบครองวัตถุบนท้องฟ้า หรือการที่มีขยะอวกาศมาตกลงในประเทศ เราจะได้รับการคุ้มครองไหม หรือถ้ามีนักบินอวกาศตกลงมาในประเทศ เราจะต้องทำยังไง อะไรแบบนี้ ประเด็นนี้ก็มีอยู่ใน พ.ร.บ. อวกาศ แต่ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยไม่เคยมี พ.ร.บ. อวกาศมาก่อน ดังนั้นพอมีฉบับแรกเราก็ต้องเอาข้อกฎหมายพวกนี้ซึ่งเป็นข้อสากลมาใส่เอาไว้

– สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับ พ.ร.บ. ตัวนี้คือ มันจะมีคณะกรรมการกิจการอวกาศแห่งชาติขึ้นมาเพื่อดูแล อธิบายง่ายๆ คือ กสทช. ฉบับอวกาศ ซึ่งจากผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลนี้และองค์กรอิสระต่างๆ มันเป็นไปในเชิงกำกับดูแล แล้วก็การกำชับ การเก็บค่าบริการ การสัมปทานอะไรพวกนี้มากกว่า ดังนั้นถ้าเราจะโฟกัสในเรื่องของการทำให้เกิด space economy หรือการเกิดไอเดียใหม่ๆ การที่เด็กและเยาวชนจะได้ทำงานอวกาศ การมีอยู่ของหน่วยงานนี้ เราต้องมาช่วยกันดูว่าจะต้องทำยังไงให้มันเกิดประโยชน์แก่สาธารณะจริงๆ คิดว่าอันนี้คือประเด็นสำคัญ

– ถ้าเราไปศึกษาโครงสร้างการดูแลนโยบายด้านอวกาศ มีหน่วยงานชื่อ STAC (Space Traffic Arbitration Commission) ที่มี ดร.วเรศ (ดร.วเรศ จันทร์เจริญ) ก็เป็นหนึ่งในสมาชิก เวลาที่มีการออกกฎหมายอวกาศในภูมิภาคหรือในประเทศต่างๆ หน่วยงานนี้ก็จะมาช่วยกันดู หรืออย่างในสหรัฐอเมริกาก็มีหลายหน่วยงานมาก ตั้งแต่สภา มี สส. สว. ที่มาจากการเลือกตั้ง มีการถ่วงดุลอำนาจกันเต็มไปหมด ก็ต้องมาดูว่าตัว พ.ร.บ. อวกาศตัวนี้ว่ามันควบรวมอำนาจเกินไปหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาตั้งคำถามกัน

10. การเดินทางไปยังอวกาศ ทำอย่างไร

– คิดว่าเหมือนธุรกิจการบินสมัยก่อน เมื่อก่อนพอนึกถึงเครื่องบิน มันเป็นเรื่องของการผจญภัย มนุษย์คนแรกที่บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเป็นฮีโร่ เป็นนักผจญภัย มีความกล้าหาญมาก พอมาถึงจุดนึงเครื่องบินก็กลายเป็นเรื่องของสงคราม เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1, 2 มีการใช้เครื่องบินเพื่อการรบ แต่สุดท้ายแล้วทุกวันนี้มันเป็นเรื่องทางการค้า เป็นเรื่อง commercial ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นเราก็ต้องมีความรู้ว่านั่งเครื่องบิน นั่งยังไง จองตั๋วยังไง เครื่องบินขึ้นไปแล้วทำไมหูอื้อ อื้อแล้วจะต้องทำยังไง

– อวกาศก็เหมือนกัน เมื่อก่อนเรามองเรื่องของอวกาศในแง่ที่เป็นเรื่องผจญภัย ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นคนรวยๆ มีเงินก็สามารถขึ้นไปบนอวกาศได้ เช่น Jeff Bezos, Richard Branson, Elon Musk ยังเป็นเรื่องของคนรวยก็จริง แต่เมื่อก่อนธุรกิจการบินก็เป็นเรื่องของคนรวยเช่นกัน วันนึงเราอาจจะได้ไปนั่งยานวนรอบดวงจันทร์เล่นๆ ก็ได้ มันใกล้ตัวเรามาก

– SpaceX มีโครงการที่น่าสนใจอันนึง เขาตั้งชื่อภารกิจว่า Inspiration4 คือ เขาจะเอาบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจสี่คน เป็นคนธรรมดาที่ช่วยเหลือสังคม เช่น เป็นหมอ เป็นนักกีฬา ขึ้นไปทำภารกิจสำรวจอวกาศที่เป็น first civilian space exploration เป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักบินอวกาศ ไม่ได้เป็นทหาร ภารกิจนี้ทำขึ้นมาเพื่อระดมทุนเพื่อบริจาคให้โรงพยาบาล และตอนนี้ Netflix ก็เตรียมที่จะทำสารคดีของภารกิจนี้ด้วย น่าจะได้ดูกันในช่วงไม่เกินสองสามเดือนนี้

– สำหรับอีกโครงการที่ชื่อว่า dearMoon คนญี่ปุ่นที่จะขึ้นไปด้วยกับ Elon Musk คือคุณ Yusaku Maezawa โครงการนี้จะใช้ยานอวกาศชื่อ Starship ซึ่งตอนนี้ SpaceX ก็กำลังพัฒนาอยู่ คุณ Yusaku Maezawa เป็นคนที่เห็นคุณค่าของศิลปะ เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เลือกเอาศิลปินขึ้นไปบนยานก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากอย่างนึง

11. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับอวกาศ

– ไม่มีคนบนฟ้า ไม่มีความศรัทธา มีแค่เราใต้ฟ้า ใต้อวกาศเดียวกัน

– ติดตาม Spaceth ได้ทุกช่องทางเหมือนเดิม ผมกับทีม SPACE ZAB กำลังพยายามที่จะจัดงานแข่งอันนึงชื่อ AI Space Challenge เป็นการสอนให้เราเอาศาสตร์เรื่อง Computer Science มารวมกัน อะไรก็ได้ อวกาศไม่ได้มีแค่เรื่องดาราศาสตร์หรือฟิสิกส์ มันคือทุกอย่าง อยากให้ทุกคนเห็นว่ากิจกรรมอวกาศหรือความร่วมมือมันช่วยให้เราสามารถที่จะดำเนินอะไรต่างๆ แล้วก็ทำให้ประเทศนี้มันพัฒนาขึ้นมาได้ ไม่จำเป็นต้องนักบินอวกาศอย่างเดียว คุณจะเป็นใครก็ได้


รายละเอียด

Date: 1 Sep 2021 (21:00-22:30)

Speaker:
คุณเติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน
– Co-founder & Editor-in-chief at https://spaceth.co/

Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #อวกาศ #Space #Spaceth #Spacethco #SpaceThailand #Universe #Cosmos #เติ้ลณัฐนนท์ #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา