Abstract Artist คืออะไร? มีกี่ประเภท และทำไมถึงสำคัญ

Abstract artist

 

1. ประวัติของคุณป่าน

– ชื่อ Panyavee เป็น trademark ของเรา ทำงาน abstract มาแล้ว 6 ปี ช่วง 3 ปีแรกมีทำควบคู่กับงานอื่นด้วย แต่พอ 3 ปีหลังเรามาทำเต็มตัวเพื่อหาเลี้ยงชีพ ได้ทำงาน international มากขึ้น ได้วาด live painting เปิดโชว์ให้กับ FKJ, Iron & Wine ได้ไปเพนท์ตอนงานเปิดตัว Michelin Star ที่ประเทศไทย เราจะไม่ค่อยได้แสดงในแกลเลอรี่เพราะเวลาไม่ค่อยพอ มีรับงาน commercial, private commission ด้วย

– ช่วงนี้เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ไม่ค่อยได้รับงานส่วนตัวในประเทศแล้ว ทำงาน collab มากขึ้น ขยายจากงาน painting บน canvas มาทำ motion visual, mapping, interactive 3D โดยเอาภาพ abstract ไปทำ
– จริงๆ พวกอุปกรณ์วาดรูปก็ราคาสูงเหมือนกัน แต่เราจะเป็นคนที่วาดเสียน้อยมาก ตลอด 6 ปีไม่เกิน 20 รูป

2. Abstract Artist คืออะไร

Abstract คือภาพที่ไม่ได้ชัดเจนว่าจะเป็นอะไร ไม่ได้มีรูปชัดว่าเป็นคนหรือสิ่งของ มันค่อนข้างจะส่งไม้ต่อให้คนดูไปคิดต่อว่าเราพูดอะไร กระบวนการคิดจะเยอะมาก จะไม่ใช่รูปเหมือนที่จะเห็นชัด มันจะไม่เหมือนอะไร จะเป็นเรื่องของมวลพลังงาน ความรู้สึก

– แล้วแต่สกิลของศิลปินด้วย ถ้าไม่เก่งพอก็จะไม่สามารถเอาพลังงานออกมาได้ พลังงานก็จะน้อย คนอาจจะไม่เก็ท ถ้าเก่งจะต้องอาศัยความแยบยล เราจะสื่อยังไงให้เขาเข้าใจโดยที่ไม่ต้องพูดตรงๆ ตอนแรกๆ เราก็ไม่สามารถทำได้ ก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆ

– ในประเทศไทยมี abstract artist น้อยมาก ตอนที่เริ่มทำก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะมาทำอาชีพนี้ เริ่มมาจากเราได้โอกาสจากรุ่นพี่ ตอนแรกเราก็เริ่มจากวาดรูปเหมือน แต่พอดีงานที่ได้ทำเป็นผนังที่เอสพลานาดใหญ่มากประมาณ 40 เมตร เราทำแล้วก็ร้องไห้ เราวาดไม่ได้ พอได้ลองใช้สี เราเลยรู้ว่าเราชอบมวลของสี เลยลองทำมาเรื่อยๆ จนเข้าใจว่าเนี่ยคือ abstract ตอนแรกเริ่มจากอารมณ์ ความรู้สึก บรรยากาศที่เราอยากทำ ยังไม่ได้มีข้อมูลอะไรมาก จนมาเจอพี่ๆ เวลาไปแสดงงานหรือสัมภาษณ์ แต่ส่วนใหญ่จะอายุมากกว่าเราหมดเลย และเป็นผู้ชายด้วย ศิลปินผู้หญิงที่เป็น abstract มีน้อยมากไม่เกินสิบคนในประเทศไทย

งาน abstract ส่วนใหญ่จะมีลูกค้าตัวเอง ไม่ค่อยชนกัน ลูกค้าซื้อคนไหนก็จะชอบซื้อคนนั้นต่อซ้ำๆ

– บางคนเขาก็ซื้อภาพ abstract เพราะเรื่องส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์เรื่อง Daredevil มีตอนหนึ่งมีตัวละครชื่อ Kingpin ซื้อรูป abstract ที่เป็นสีขาว มีรอยข่วน แล้วเขาก็เล่าเรื่องย้อนไปว่าตอนเด็กๆ ตัวละครตัวนี้โดนพ่อแม่ทรมาน เฆี่ยนตีหลังเป็นรอยไปหมด ภาพนี้ทำให้เขานึกถึงตอนที่เขาโดนทำร้ายตอนเด็กๆ เลยซื้อมาเตือนตัวเองว่าฉันผ่านตรงนั้นมาแล้ว ฉันเข้มแข็งขึ้น มันจะมีเรื่องที่มันเชื่อมโยงกันข้างใน จะคนละแบบกับรูปเหมือน

3. ประเภทของ Abstract Artist

– ทุกคนจะมีเบสิคพื้นฐานเหมือนกัน มีพู่กัน มี canvas แต่การเอาออกมาจะไม่เหมือน จะอยู่ที่นิสัย คาแรคเตอร์ ถ้าเป็นสายทฤษฎี สมมุติเทียบเป็นเพลงอย่างสาย Jazz ก็จะมีทฤษฎี มีการศึกษางานเก่าๆ เยอะ จะมีกลิ่นของศิลปินโบราณ สาย free form สายที่คิดขึ้นมาใหม่ของตัวเอง กว่าจะหาสไตล์ของตัวเองได้ก็นานอยู่เหมือนกัน แรกๆ เราก็จะโดนคนบอกว่าเราวาดรูปเหมือนพอลล็อก (Paul Jackson Pollock) เราก็ใช้เวลาอยู่สามปี คนถึงจะเลิกบอกว่าเหมือน เพราะเราก็เปลี่ยนสไตล์เราไปเรื่อยๆ เหมือนกัน ปรับไปเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีความเป็นเราอยู่

– อย่างเยอรมัน ยุโรป ภาพจะเหมือนวาดรูปเล่น ถ้าเป็นเอเชียอาจจะสีแปรงเยอะๆ ก็จะมีสไตล์ที่ชอบไม่เหมือนกัน อย่างของเรา ถ้าเทียบกับลูกค้าด้วยจะไปเชิงยุโรปซะเยอะ กึ่งๆ culture, emotional ไม่ใช่ฟิลแบบ commercial มาก แต่ก็ไม่ใช่ art สุด ค่อนข้างอิ่มในเรื่องของความรู้สึกเยอะ ถ้า base จากลูกค้าหรือแฟนคลับที่ชอบจะเป็นพวกสาย modern หน่อยๆ เป็นงาน contemporary ซะส่วนใหญ่ เป็นงานร่วมสมัย จริงๆ เราไม่ได้มองว่าเราเป็นแค่ painter แต่ตอนมองว่าเป็น artist พอเราทำ live painting ปกติศิลปินจะไม่ชอบให้คนดูมาดูตอนวาด แต่เราเป็น action painting คนจะอยากดูตอนเราวาดว่าเรามีการขยับตัวไปมา พอช่วงปีที่ 5-6 ทำกับ scupture, visual motion ได้ไม่ได้จบแค่ผ้าใบ ผนังก็ได้ จะไม่มีกรอบมาจะต้องวาดแบบเดิม สาดสีแบบเดิม ถ้าเราอยากวาดเหมือนเดิมอาจจะดูชุ่ยไปหน่อยถ้าไม่มีการพัฒนา

4. ทำไม Abstract Artist ถึงสำคัญ

– ในแง่อาชีพจริงๆ ไม่ต้องมีก็ได้ แต่ว่าการที่เราทำงาน abstract ที่ไม่ใช่การไปซื้องานตามจัตุจักรหรือก็อปมาจาก Pinterest การที่มี abstract artist จริงๆ มันจะมีพลังงานบางอย่างที่มันจะไม่เหมือนคนอื่น มีคนซื้องานเราไปแล้วจะรู้สึกเหมือนเจอเราทุกวัน มันจะไม่เหมือนรูปเหมือน ในแต่ละวันรูปที่เราเห็นก็จะรู้สึกต่างกัน abstract จะเป็นปลายเปิด เหลือพื้นที่ให้ตีความเยอะ อารมณ์ดีก็จะเป็นแบบนึง อารมณ์หงุดหงิดก็จะเป็นอีกแบบนึง

– ส่วนใหญ่ลูกค้าจะต้องมีกำลังซื้อนิดนึง บางคนจะไม่เข้าใจว่าแค่ป้ายๆ สี ทำไมถึงราคาเท่านี้ แต่ถ้าในเชิงอาชีพจริงๆ แล้ว กว่าเราจะป้ายสีได้แบบนี้ คือเราคิดเยอะมาก เราจะเล่าเรื่องอะไร ใช้ความรู้สึกแค่ไหน อาจจะทำไม่นานแต่ต้องคิดเยอะ มีเรื่อง composition, colour, texture แต่ละคนก็จะมีลายมือที่ไม่เหมือนกัน เปรียบเสมือนนักดนตรีที่เล่นเพลงเดียวกัน แต่ความรู้สึกแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่คนจะซื้อเพราะความรู้สึก เห็นแล้วนึกถึงตอนเด็กๆ บางคนก็ตามงานมาสักระยะแล้วถึงจะซื้อ

5. คุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเป็น Abstract Artist

– ก่อนอื่นเลยต้องไม่กลัวเลอะ และไม่กลัวในการทดลองอะไรใหม่ๆ บางทีเราวาดรูปเราไม่ได้ใช้แค่มือหรือการเคลื่อนไหว เรามีเอา medium อื่นไปใส่เช่น ทราย หรืออย่างล่าสุดลูกค้าอยากได้งานเรา แต่อยากมี memory ของคุณพ่ออยู่ในภาพ เขาก็เอาอัฐิกระดูกของคุณพ่อให้เราใส่ลงไปในภาพด้วย มันเล่นได้หมดเลย

– การทำ abstract จะต้องเปิดกว้างมาก ต้องคิดสิ่งใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ กล้าลอง แรกๆ จะเป็นความรู้เก่าๆ ความรู้สึก การใช้ชีวิต ช่วงยุคหลังเราก็จะเริ่มอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น เพราะเราก็อยากเล่าเรื่องที่มันเปลี่ยนไป ต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา จริงๆ ไม่ใช่แค่อาชีพนี้ แต่ทุกๆ อาชีพมันต้องนำคนอื่นไปก่อนอีกขั้นนึงเรื่อยๆ ตลอดเวลา เราจะมานั่งพูดเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่งั้นเราก็จะจับกลุ่มได้แค่ลูกค้าเดิมๆ แล้วพอเขาไม่อินเรื่องนี้แล้วเขาก็จะหลุดไป แต่ถ้าเรามีความใหม่อยู่ตลอดเวลา มันก็จะมีเรื่องอื่น

– อย่างเราค่อนข้างอินเรื่องสังคม การเมือง สิทธิ เราก็เริ่มพูดเรื่องอื่น ชอบวิทยาศาสตร์ ชอบจิตวิทยา เราก็จะเอาสิ่งพวกนี้มาพูด แต่มันจะกลายเป็น conceptual art ก็เป็นกระบวนการที่สนุก

– ศิลปินต้องไม่อายในการที่จะบอกว่าตัวเองทำอะไรอยู่ สามารถเล่าได้ว่าเราทำงานนี้ เรากำลังทดลองอยู่ มันจะทำให้เรามีกำลังใจ อยากแนะนำทุกคนว่าอย่ารอให้มันเป็นงานดีที่สุด เพราะมันไม่มีวันนั้น บางคนอยากทำงานศิลปะ พูดมาสามปี ออกมาชิ้นเดียว แล้วไม่ออกมาอีกเลย มันไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ให้คนติดตาม สู้ออกชิ้นละเดือนสองเดือน แต่มีการเติบโตอย่างเรื่อยๆ ดีกว่า เราไปดูงานตัวเองเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วยังเสียดายบางอันว่า ตอนนี้เราคิดเยอะเกินไปแล้วไม่สามารถทำแบบนั้นได้แล้ว ตอนนั้นคือไม่ได้คิดอะไรเลย บางอย่างมันย้อนกลับไปไม่ได้ คนที่ซื้องานเราเซ็ตแรกๆ เรายังบอกเลยว่าไม่มีอีกแล้ว เพราะเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกแล้ว

– อีกนึงอย่างที่สำคัญคือ connection คนที่เราเจอเวลาไปบาร์ ไปร้านไวน์ การออกงานสังคม ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น และอย่าเกี่ยงงานฟรี ให้ทำไปเถอะ ถ้าเราชอบ อย่าอายที่จะเป็นคนที่จะไขว้คว้าหาโอกาส เราไม่ควรจะทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว บางทีก็ควรทำด้วยแพสชั่น งานแรกๆ ก็ฟรีหมด

6. คำแนะนำสำหรับคนอยากเริ่มต้น เป็น Abstract Artist

– ซื้อเฟรมกับสีมาเลย เราเคยทำเวิร์คช็อปแล้วหลายคนจะมีปัญหากับการวาดรูป abstract ตรงที่ว่ามันไม่มีแบบให้ดู มันไม่มีถูกมีผิด เคยมีคนมาเข้าเวิร์คช๊อปแล้วเขาร้องไห้คิดไม่ออก เขาบอกว่าเขาเป็นครีเอทีฟมาก เป็นดีไซเนอร์เสื้อผ้า แต่พอมาวาดรูปเขาคิดไม่ออก นั่งร้องไห้อยู่หน้าเฟรมเปล่าๆ ไม่รู้จะทำอะไร เราเลยแนะนำให้เขาลองคุยกับผ้าใบดู ลองคิดว่ารู้สึกอะไร อยากใช้สีอะไรป้ายไปเลย ผิดก็เปลี่ยนเฟรมใหม่ ไม่มีถูกผิด ถ้าอยากจะเริ่ม ก็ทำเลย ลองทำดู ขีดๆ เขียนๆ เล่นไปก็ได้ แล้วเดี๋ยวเราจะรู้ว่าน้ำหนักอันไหนมันถูก อันไหนคือเด็ดขาด อันไหนคือคิดมาแล้ว ถ้าอยากเริ่มทำก็ทำเลย

– ไม่ต้องมีพื้นฐานการวาดรูปก็ได้ แล้วแต่คนด้วย อย่างเราเรียนวิทย์คณิตมา ตอนปริญญาตรีก็จบท่องเที่ยวอินเตอร์ ไม่ได้วาดรูปเลย แต่ตอนเด็กๆ เราชอบวาดรูป เราจะชอบเซนส์ของการดีไซน์ ชอบแฟชั่น ชอบสี ชอบท้องฟ้า รูปแรกๆ ที่วาดก็จะเป็นสีท้องฟ้า ก็จะมาจากที่เราเห็น บางทีพื้นฐานมันก็เป็นกรอบของเราเหมือนกันนะ แต่พอเราไม่ได้เรียนมาแล้วมันอิสระมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่จะไม่ชินกับการมีอิสระ มันมีบางคนที่พอได้รับอิสระแล้วอาจจะงงว่าควรทำยังไงต่อ มันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ไม่มีถูกผิด เราไม่ชอบเราก็วาดใหม่ มันจะเริ่มมีสกิลตอนที่เราวาดไปสัก 10-20 รูป เราจะเริ่มรู้ว่าสีมันแห้งในเวลาเท่านี้ เราต้องทิ้งไว้เท่านี้ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หรือเราผสมสีบนผ้าใบเลยก็ได้ มีหลายอย่างที่เราจะเรียนรู้ไปในระหว่างวาด แต่เราไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนวาด

– Abstract เราก็เคยสอน เราก็มี private class ที่ก็รับอยู่เรื่อยๆ แบบสอนตัวต่อตัว แต่เราจะสอนเรื่องวิธีคิดงาน วิธีเลือกสี สอนเทคนิค แต่ว่าตอนที่ทำ เราก็จะอยู่ด้วย แต่ว่าไม่ได้บอกว่าจะให้ทำอะไร ไม่งั้นเขาก็จะวาดมาเป็นแบบเรา เราไม่ได้ต้องการสอนเขา เพื่อให้เขามาเป็นเราคนที่สอง เราสอนให้เขารู้ว่าเขามีอะไร แล้วเขาเอาอะไรออกมาได้ เราก็แค่แนะนำ เช่น เขาสามารถใช้แปรงสีฟัน ใช้ฟองน้ำ ใช้กระดาษทิชชู่ได้ ก็จะได้อีก texture นึง อะไรแบบนี้ แต่ว่าที่เหลือให้เขาไปจัดการต่อเอง หรือเช่นการผสมสี พอไม่รู้ว่าสีมันต้องแห้งเมื่อไหร่ มันก็กลายเป็นสีผสมกันมั่ว เราก็แนะนำทุกคนว่าถ้าเป็นคนดูดบุหรี่ หมดตัวนึงก็คือสีหมาดๆ พอดี ประมาณ 5 นาที

– บางทีเราที่เราจะวาดรูป เราใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง นั่งดู เอาสีมาเรียงๆ นั่งดูดบุหรี่ กินเบียร์ พอเริ่มวาดใช้เวลาแค่ประมาณ 15 นาทีเอง แต่ก่อนหน้านั้นก็คือคิดอยู่ในหัวว่าเราจะเอาอะไรไว้ตรงไหน พอวาดเสร็จก็ต้องถอยออกมาดู และรอให้มันแห้ง แล้วก็ค่อยกลับไปใหม่ มันจะมีจังหวะของมัน และเราก็เรียนรู้ไปเอง

– ถ้าอยากโตเร็วควรทำให้เป็น professional ควรทำเว็บไซต์ อย่างเราได้ตอนที่ได้งานให้ไปวาดตอนเปิดตัวของ Michelin Star ที่ไทย เพราะเขาไปดูงาน abstract คนอื่น แล้วมีเราคนเดียวที่เคยทำงาน international และมีเว็บไซต์ เราอัพทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษและอัพทุกอย่างสม่ำเสมอ เขาก็เลยเลือก นอกจากที่เราทำได้ อีกอย่างคือเราดูน่าเชื่อถือ เว็บไซต์ไม่แพงโดเมนประมาณ 500 บาทเอง เว็บสำเร็จรูปก็มีเยอะแยะสมัยนี้

– การไม่ได้แยกเพจส่วนตัวกับเพจงานก็ไม่ค่อยดี เราจะแยกออกจากกันเลยทั้ง Facebook และ Instagram ระหว่างของส่วนตัวกับงานของเรา ทำให้เป็นทางการจริงจังไปเลยดีกว่า คนอาจจะไม่ค่อยชอบทำอะไรแบบนี้ จะคิดว่าทำไปทำไม มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจริงจังแค่ไหน ถ้าทำคละๆ ไปมันก็แค่จะเหมือนงานอดิเรก เราตั้งใจทำเป็นอาชีพ จดโดเมนตั้งแต่วันแรกที่ตั้งใจจะทำศิลปะ และใช้ชื่อไหนก็ควรจะใช้ชื่อเดียวกันให้เหมือนกันหมด ในทุกช่องทาง

7. เวลาขายงาน Abstract เรามีการบอกเล่าเรื่องราวก่อนไหม

– ส่วนใหญ่เราจะไม่ได้บอก จะเขียนชื่องาน ขนาด แต่ไม่ค่อยเล่าเท่าไหร่ ยกเว้นงานที่เป็น conceptual มากๆ บางอันเราจะเล่า หรือบางทีเวลามีลูกค้ามาถามเราถึงจะเล่า

– เราอยากให้ลูกค้าตีความเองมากกว่า เราก็ไม่ได้มีเรื่องในใจ 100% ขนาดนั้น ยกเว้นบางชิ้น อย่างบางชิ้นที่เราได้ inspiration มาจากเพลงของ Pink Floyd เราก็จะเขียนมาเลยว่ามัน inspire มาจาก Pink Floyd

– บางรูปเป็นสีแดงเรียบๆ ทุกคนบอกว่าเหมือนวาดเล่น แต่มีคนซื้อ เขาดีใจมากที่ได้ซื้อเพราะเหมือนปกอัลบั้มวงที่เขาชอบมากตอนเด็กๆ แต่ละคนจะมีเรื่องราวของเขาเองว่าทำไมเขาถึงซื้องานแต่ละชิ้น ไม่ใช่ซื้อแค่เพราะเราอย่างเดียว เขาซื้อเพราะมันเป็นความทรงจำของเขาด้วย คนซื้องาน abstract จะซื้อเพื่อตัวเอง เป็นตัวสะท้อนชีวิตของเขาเองซะเป็นส่วนใหญ่ บางทีก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเราด้วยซ้ำ ปล่อยให้เขาคิดเอาเอง

8. Conceptual Art คืออะไร

– เหมือนเราค้นคว้าเรื่องใดเรื่องนึงมาว่าเราจะเล่าเรื่องแบบนี้ เราสร้างทฤษฎีขึ้นมาใหม่โดยที่เราคิดของเราเอง เช่น ที่เราเคยทำคือ เราเคยใช้น้ำแข็งวาดรูป ซึ่งมันไม่เคยมีใครทำ ใช้น้ำแข็งในการวาดรูป abstract ซึ่งมันควบคุมอะไรไม่ได้เลย คอนเซ็ปต์ของงานคือ every pain is temporary ทุกความเจ็บปวดเป็นเรื่องชั่วคราว ใช้น้ำแข็งที่มีการสลายไปตามกาลเวลา ตามอุณหภูมิ สีราดลงไปบนน้ำแข็ง แล้วน้ำแข็งก็หยดลงไปบนเฟรมภาพ ทุกๆ ครั้งที่คนมาถ่ายรูปก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะมีเสียงน้ำแข็งแตก เสียงน้ำหยด คนไม่ต้องอ่านคอนเซ็ปต์เลย แค่เห็นชื่อว่า ความเจ็บปวดเป็นเรื่องชั่วคราว แล้วพอเขาดูงานก็จะเข้าใจเลย แต่กว่าจะไปถึงในขั้นตอนที่เราสามารถทำออกมาได้แบบนั้น เราคิดเยอะมาก เราไปอ่านเรื่องจิตวิทยา เรื่องการจดจำของคน อุณหภูมิน้ำแข็ง การรักษาเรื่องอุณหภูมิ โครงสร้าง ต้องทำการบ้านเยอะและต้องแยบยล เนียนมาก ไม่ได้บอกตรงๆ ว่าให้ปลงหรือว่าอยู่กับปัจจุบัน ทำให้ดูว่ามันแว่บเดียว แล้วคนก็เข้าใจแบบที่เราอยากจะเล่า อันนี้คือการประสบความสำเร็จของการทำ conceptual art ซึ่งก่อนจะทำงานนี้เรามีการทำข้อมูลเยอะมาก แม้แต่โครงสร้างที่ทำเราก็เป็นคนออกแบบเองว่าทำยังไงให้มันรบกวนงานน้อยที่สุด

– บางคนก็ชอบทำ conceptual art ที่มันบังคับให้คนคิดแบบนั้น ถ้าไปดูงานในบางแกลลอรี่ตั้งแต่รูปแรกจนรูปสุดท้าย เราจะได้คำตอบแบบที่เขาอยากให้เราตอบแบบนั้น ซึ่งเราไม่ค่อยชอบงานประเภทนี้ รู้สึกทำให้อึดอัด แต่ถ้าเป็นของเราถึงจะกลับบ้านไปแล้ว มันก็ยังจะคิดต่อว่า ตอนนั้นเป็นยังไงอะไรงี้ ให้คนได้ไปคิดต่อ

9. เทคนิคในการทำงาน Abstract

– สิ่งที่อยากจะฝากไว้อีกอันสำหรับคนที่จะทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี ครีเอทีฟ หรือกราฟฟิคก็ตาม เรากำลังทำงานสร้างสรรค์ ถ้าเราเสพทุกอย่างเท่าคนอื่น เราจะเป็นเท่าคนอื่น เพราะฉะนั้นคุณต้องไปอีกขั้นนึง ถ้าเราฟังเพลงเหมือนคนอื่น อ่านหนังสือที่เขาแปลมา คุณก็ไม่มีสิทธิทำงานนั้นแล้ว เพราะมันออกมาเป็นศิลปะไปแล้ว คุณต้องไปหาอย่างอื่นที่มันไกลกว่านั้น ภาษานี้สำคัญมาก เพราะภาษาอังกฤษเป็นเหมือนการแหกออกไปสู่ความรู้ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน

– ทางลัดของเราคือเวลาเราชอบงานศิลปิน เราจะพยายามไม่ไปดูงานเขา เราจะดูผ่านๆ เพราะเรากลัวเราจะจำแล้วเอามาใช้ แต่เราจะชอบที่จะไปอ่านประวัติเขาว่าสามารถเป็นมาแบบนี้ได้ไง กินอะไร ชีวิตทำอะไร อ่านอะไร ไปเที่ยวไหน คุยอะไรกับเพื่อนบ้าง ชอบไปสืบอะไรแบบนี้ แล้วเราก็ลองทำดูบ้าง แล้วก็หยิบจากบางคนมา apply กับตัวเอง เคยอ่านเจอคนนึงเป็นศิลปิน เขาเลี้ยงนกไว้เป็นกรง พอตอนหกโมงเช้าจะตื่นเพราะนกในกรงจะร้อง เป็นการบังคับให้ตัวเองตื่นขึ้นมาทำงาน แต่อันนี้อาจจะไม่ใช่แนวทางเรา

– เราไม่ได้วาดรูปทุกวัน แต่ในหัวเราวาดอยู่ตลอด คิดอยู่ตลอดเวลา หาเทคนิคใหม่ตลอด เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แสง ทะเลทราย ต้นไม้ เพลงที่เราฟัง เราจะเห็นเป็นสีที่เป็นบรรยากาศ เป็นความชื้น นึกภาพออก ส่วนใหญ่เราจะ inpire จากเพลง แต่เราก็จะไม่ได้ฟังเพลงเหมือนคนอื่น

– เรามีไอเดียอะไร เราก็จะจดๆ เก็บเอาไว้ จะมีช่วงที่ตอนที่เรื่องนี้เราเริ่มเต็ม เราก็จะวาดรูปนี้ บางทีวันนึงเรากินกาแฟช่วงเช้า เรานั่งดูดบุหรี่แล้วก็เห็นควันบุหรี่ เห็นควันกระทบแสงไฟที่เป็นหลายๆ สี เสียงที่ออกจากลำโพงทำให้ควันบุหรี่มันวิ่งไปซ้ายขวาตามการสั่นสะเทือนของเสียง ตอนที่เราชิวอยู่ เราก็ได้ไอเดียในการทำงาน การคุยกับคนที่น่าสนใจก็เช่นกัน มันสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน

10. เทคนิคในการแบ่งเวลาทำงาน Abstract

– บางทีคนก็จะชอบมองว่าคนทำงานเป็นศิลปินหรือฟรีแลนซ์จะค่อนข้างไม่มีระบบ เมื่อก่อนเราก็ไม่มีระบบ เราทำงานตามแพสชั่นเยอะ บางที 3 วัน 7 วันเราไม่นอนเลยนะ ทำติดๆ กัน เคยนั่งทำงานจนแพนิคมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเดินไม่ได้ ขาบวม เพราะไม่ได้ขยับ หรือวาดจนปวดตัวทั้งตัว เพราะกล้ามเนื้อมันใช้เยอะ เราไม่เคยมีลีมิตเลย จนมาตอนหลังเราได้ไปคุยกับพี่เจ มณฑล ซึ่งเกิดจากการที่เราทักเขาไปเองว่าอยากชวนเขามาร่วมงาน ระหว่างทำงานเราก็เรียนรู้เขาเยอะ พี่เจเป็นคนทำงานมีระบบมาก เขาจะตื่นหกโมงเช้า นอนสี่ทุ่ม แล้วทุกชั่วโมงเขาจะมีเลยว่าเขาจะต้องหยุดตอนกี่โมง แล้วเขาบอกว่าเราว่าการที่เราอดนอนหรือว่าการที่เราฝืน เราจะเริ่มอารมณ์ไม่ดี และทำงานออกมาได้ไม่ดี

– ซึ่งพอเรามาคิดดูมันก็จริง การที่เราฝืนตอนท้ายมันจะแผ่ว แล้วมันจะเสียเปล่า เราก็เลยมาตั้งระบบของตัวเองว่าแต่ละวันจะทำอะไร เราจะตื่น 8 โมงถึงเที่ยง คือเวลาส่วนตัว อ่านหนังสือ คิดว่าจะทำอะไรบ้าง บ่ายโมงบ่ายสอง เริ่มทำงานที่ต้องติดต่องานคนอื่น คุยกับลูกค้า ประชุม วาดรูปหรืออะไรก็ตามที่เราต้องทำ แล้วพอช่วงค่ำๆ สามสี่ทุ่มเราจะเริ่มกลับมาหาตัวเอง เริ่มอ่านหนังสือ เริ่มคิดคอนเซ็ปต์งาน เริ่มหาความรู้เพิ่ม เรียนคลาสอะไรที่เราอยากรู้ พอตี 1 ตี 2 ก็จะเริ่มผ่อนสมอง ดูอะไรที่มันคิดไม่เยอะ แล้วก็เข้านอนตี 3 และตื่น 8 โมงในอีกวัน จะเป็นแบบนี้ทุกวัน พอมันมีระบบแบบนี้มันกลายเป็นว่าเราทำงานได้ดีขึ้นมากๆ เหมือนเราได้รีเซ็ต ซึ่งนี่ก็เป็นการเรียนรู้จากศิลปินคนอื่น เรียนรู้วิธีการทำงานแล้วนำมาปรับใช้กับเรา

11. การทำงาน Private Commission

– เราจะมีงานประปรายเป็นงาน private commission คืองานจ้างให้วาด ศิลปินแต่ละคนก็จะมีกฎไม่เหมือนกัน บางคนก็ไม่อยากทำ เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง อย่างของเราจะมีกฎเลยว่าเราจะไม่ทำตาม Pinterest ให้ไปดูในเว็บไซต์ของเรา แล้วให้ลองเลือกว่าชอบงานของเราประมาณไหน เราจะทำแบบนั้น เราจะช่วยคิดคอนเซ็ปต์งาน แต่ถ้าเราจะทำงานชิ้นนี้ได้ เราจะต้องรู้จักคนจ้างว่าเป็นคนยังไง จ้างเราวาดรูปเพราะอะไร

– Private commision เป็นงานที่สร้างรายได้ ลูกค้าเหมือนซื้ออากาศ ซื้อเฟรมเปล่าๆ ลูกค้าจะเป็นคนที่เสพงานเรามาสักระยะหรือเป็นคนที่กำลังแต่งบ้านอยู่ interior สถาปนิก ก็จะมีคอนเซ็ปต์มาให้ ถ้าเป็น interior ก็จะมีความรีบ เราชอบแอบส่อง Instagram ลูกค้า ไปดูว่าเขาอัพรูปแบบไหน แต่งรูปโทนยังไง ถ้าดู Instagram ก็พอจะรู้เลย

– บางทีการที่เขาบรีฟมา ถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเขาเป็นยังไง จะคุยกันไม่จบ ถ้าเขายืนยันบอกว่าอยากได้แบบที่เขาอยากได้ เราก็จะตัดอีโก้ตัวเอง ทำแบบที่เขาอยากได้เลย แต่ถ้าเขาบอกว่าอยากเก็บงานเราในฐานะศิลปินคนนึง เขาก็ต้องฟังว่าเราคิดอะไรมา ทำงาน abstract ที่เป็น private commision บางครั้งก็ต้องแนะนำเรื่องไฟที่ติดสำหรับส่องงาน ใช้วัตต์เท่าไหร่ แนะนำขนาดของภาพด้วย ถ้าใหญ่ไปบางทีก็แขวนไม่ได้

– ที่เราได้งานสถาปนิกหรือบ้านคนเยอะๆ อาจจะเพราะว่าเราให้บริการเขาในเรื่องอื่นได้ด้วย เราดูเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ดูคนในครอบครัว ดูว่าใครเป็นคนตัดสินใจ รูปที่เขาจะซื้อไปติด เขาต้องการเอาใจใคร บางทีแม่เป็นคนจ่ายเงิน แต่ว่าจะเอาใจพ่อ ก็ต้องเป็นรูปนกอินทรี แต่แม่ก็เปรียบเสมือนนกที่ดูแลรัง เราต้องตีความออกมา

– สมมุติว่าถ้าจะซื้อรูปไปติดผนัง ให้ลองดูว่าที่ที่เรานั่งหรือยืนดู ถ้ารูปล้มลงมาแล้ว มันจะโดนตัวเราไหม ถ้าล้มแล้วโดนแปลว่าขนาดมันใหญ่เกินไป เราจะอึดอัด

12. แนะนำวิธีการตั้งราคางานศิลปะ

– เรทของราคางานขึ้นอยู่กับประสบการณ์และฝีมือ ปัญหาของคนทำงาน abstract คือเขาไม่รู้ว่าเขาจะต้องหยุดตอนไหน บางทีเหมือนจะดีแล้ว แต่เหมือนลั่น เติมเกินลงไป มันก็ไม่สามารถแก้ได้ แต่พอเราทำไปเรื่อยๆ เราจะรู้ว่ารูปนี้มันเสร็จแล้ว เราจะเล่าประมาณนี้

– 2-3 ปีแรกของเราก็ขายเรท standard 3,000 – 5,000 บาท ตอนนี้พอมันเริ่มไป international เราพอเริ่มรู้ตอนที่มีคนมาซื้องานเราไป 7,000 บาท แล้วเอาไปขาย 30,000 บาท ศิลปินไม่ควรตั้งราคาแพงตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่จะตายตรงราคามันขึ้นสูงเร็วเกินไป แล้วฝีมือไม่ถึง เราต้องเทียบคุณภาพงานเรากับราคา อย่างตอนนี้ราคางานของเราจะเริ่มอยู่ที่ 20,000 บาททุกชิ้น ยกเว้นชิ้นที่เป็นชิ้นเล็กๆ งานเก่าๆ หรือชิ้นที่เราอยากให้คนทั่วไปซื้อ กว่าจะตั้งได้ขนาดนี้ก็คิดเยอะเหมือนกัน บางทีเราก็ไม่กล้าพูด ก็พูดกลางๆ ถ้าลูกค้าอยากได้งานจริงๆ แล้วมันไม่ได้เบียดเบียนต้นทุนมาก เราก็โอเคนะ

– สีหลอดไซส์ประมาณขวดน้ำขนาดเล็กสุดหลอดละ 900 บาท รูปเมตรนึงต้นทุนสีกับ canvas ก็ประมาณเกือบหมื่นนึงแล้ว มันก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วย อย่างเมื่อก่อนอาจจะใช้สียี่ห้อธรรมดาหรือผ้าใบเฉยๆ แต่พอเริ่มทำงานมา เราจะเริ่มรู้ว่าอันไหนสีคุณภาพมันดี มันอยู่ได้นาน canvas ต้องใช้แบบไหน คุณภาพของงานก็คืออุปกรณ์ที่เราซื้อคูณด้วยเวลาการทำงานของเรา

– ก็มีคิดจากต้นทุนด้วยประมาณนึง แต่ก็คิดด้วยว่างานนี้เราอยากสื่อสารกับใคร เราอยากให้ใครเก็บ ก็จะตั้งราคาไม่เหมือนกัน พอถึงจุดนึงอย่างตอนนี้ยังมีงานราคา 5,000 – 6,000 บาทอยู่ แต่หลังจากนี้จะไม่ได้แล้ว เพราะมันหมดเซ็ตแล้ว กำลังจะไปเซ็ตใหม่ เราก็จะไม่ได้กลับมาทำงานราคานี้แล้ว เราก็จะมีการตั้งราคา standard ของตัวเอง สมมุติเราขายให้ลูกค้าคนนึง 20,000 อีกสัก 2-3 สัปดาห์เราไปขายอีกคน 3,000 ก็จะไม่แฟร์กับคนแรก ราคาพอมันขึ้นแล้วมันจะลงไม่ได้ อันนี้คือความอันตรายของศิลปิน เราไม่ต้องรีบขึ้นราคา อย่างของเราจะขึ้นปีละ 20-30% แต่ก็จะขึ้นอยู่กับฝีมือของเราด้วยว่ามันดีขึ้นหรือเปล่า international ขึ้นไหม มีพอร์ตที่ดีขึ้นหรือเปล่า ถ้ายังไม่มีก็อาจจะเท่าเดิม แต่ถ้ามีมันก็จะขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ทำมา 4 ปีล่าสุดก็ขึ้นมา 20-30% ทุกปี

13. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับ Abstract Artist

– สามารถติดตามทาง Panyavee ได้ทุกช่องทาง เว็บไซต์, FB Page, Instagram, Twitter

– อยากฝากสำหรับคนที่ทำงานไม่ว่าจะทำแล้วประสบความสำเร็จหรือไม่ เราสามารถมีอัตตาหรือมีอีโก้ในตัวได้ ว่าแบบไหนต่ำกว่ามาตรฐานเราไม่ทำได้ แต่เราควรจะต้อนรับทุกคนที่เข้ามาในชีวิตเรา และให้กำลังใจคนที่ทำให้เรารู้สึกดี อย่ารอให้มันสายเกินไป ถ้าเรารู้สึกดีกับใคร ชอบงานเขาก็บอกเขาไปเลย เพราะเราไม่รู้ว่าอีกคนตอนนั้นเขาอยู่ในสภาวะแบบไหน

– ไม่ว่าเราจะมีชื่อเสียงหรือไม่ เราควรจะแบ่งเวลาให้กับคนที่ชื่นชมงานของเราด้วยในระดับที่มันเท่ากัน ไม่ว่าเขาจะเป็นคนธรรมดา เป็นซุปเปอร์สตาร์ หรือว่าเป็นเด็กวัยรุ่น เราควรปฏิบัติต่อทุกคนให้เท่ากัน เขาถามอะไรมาก็ตอบ คุยอะไรมาก็คุย ไม่ต้องหยิ่ง แล้วมันจะได้มีมิตรภาพ เราจะได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง จากรอบๆ ตัว เราอาจจะดูเป็นคนแรงๆ แต่จริงๆ เราตอบทุกคนเหมือนกัน อย่าลืมว่าเรามาจากไหน แล้วใครเป็นอะไรยังไง


รายละเอียด

Date: 25 Aug 2021 (21:00-22:40)

Speaker:
คุณป่าน ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย Panyavee
– ศิลปิน Action Painting โดยไม่ใช้พู่กัน
– ผู้ก่อตั้ง Spiritual Supply และพอดแคสต์ Locomotion

https://www.facebook.com/veepanyavee/

https://www.instagram.com/panyavee/

Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #AbstractArtist #AbstractArt #ThaiAbstract #ActionPainting #SpiritualSupply #Locomotion #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา