วิทยาศาสตร์ คืออะไร? ทำไม “วิทยาศาสตร์” ถึงสำคัญ?

วิทยาศาสตร์ ความสําคัญ

 

1. วิทยาศาสตร์คืออะไร

  • คำว่า Science มาจากภาษาลาตินคำว่า Scientia ที่แปลว่าความรู้ ในมุมที่เราพูดกันจะเป็น natural science กันซะเยอะ วิทยาศาสตร์ของธรรมชาติฟิสิกส์ (พูดถึงเกี่ยวกับกายภาพ การเคลื่อนที่), เคมี (สารต่างๆ ธาตุ การรวมตัวกัน ปฏิกิริยา), ชีววิทยา (สิ่งมีชีวิต), Earth Science (โลก ธรณีวิทยา), Space Sceince (อวกาศ ดาราศาสตร์) เป็นสาขาหลักๆ ที่เป็น basic science
  • ถ้าเป็นสาย applied science คือเอาความรู้ที่มีไปทำให้เกิดขึ้นจริง จะมีเช่น วิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ วัสดุศาสตร์ หรือ Computer Science
  • เป็นการแบ่งแบบพื้นฐาน แต่จริงๆ แล้วแต่ละสาขาก็จะมีการไขว้กัน เช่น ฟิสิกส์การแพทย์ มีเรื่องการใช้รังสี ก็ต้อง apply ทั้งสองเรื่อง ก็เป็นไปได้ แต่ละศาสตร์ที่แบ่งก็จะมีการไขว้กัน

2. ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์

  • ถ้าย้อนกลับไปสมัยกรีก อียิปต์ เมโสโปเตเมีย ที่เราเริ่มเกิดกระบวนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การใช้ชีวิตประจำวัน มันคือการเริ่มต้นเกิดขึ้นของวิทยาศาสตร์แล้ว แค่วันนั้นมันยังไม่ได้ใช้คำว่า Science เกิดจากการที่เรามีความสงสัย อยากจะรู้ เช่น ดาราศาสตร์ มองไปบนท้องฟ้า ทำไมมีดาว ทำไมมีกลางวันกลางคืน ทำไมมีฤดูกาลร้อนหนาว แล้วเราก็สัมพันธ์เองว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติพวกนี้มันนำมาสู่ชีวิตประจำวันของเรา เช่น การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การทำปฏิทินเพื่อมาใช้กำหนด มีการศึกษาไปเรื่อยๆ ซึ่งในอดีตมันก็จะมีประกอบกับความเชื่อทางศาสนา จะเป็นความเชื่อแรกๆ ที่เกิดขึ้นคือศาสนาผี การบูชาสิ่งต่างๆ ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร เป็นเทพเจ้า
  • ที่นี้วิทยาศาสตร์เริ่มเกิดจากการคิดว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้มันจำเป็นไหมที่จะต้องเกิดโดยเทพเจ้า หรือจริงๆ มันเกิดขึ้นเองได้ ก็เลยเริ่มมีนักคิดมาตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่ง ณ วันนั้นเอง การตั้งและตอบคำถามมันเป็นในทุกสาขา ปรากฏการณ์ธรรมชาติ จริยธรรม การปกครองทุกสรรพสิ่ง วิทยาศาสตร์ตอนแรกเกิดมาขึ้นในรูปแบบของปรัชญามาก่อน
  • มีแนวคิดอยู่สองกลุ่ม กลุ่มแรกเชื่อว่าความรู้ที่เราได้มา ได้มาจากการที่เราขบคิด ไตร่ตรอง ตกตะกอนให้มันได้มาเท่านั้น กลุ่มที่สองเชื่อว่าต้องผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 (การสัมผัส กลิ่น รสชาติ การมองเห็น และการได้ยิน) เลยแตกเป็นสองกลุ่ม ซึ่งกลุ่มหลังเป็นกลุ่มสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์ในยุคแรกๆ เพราะมันจะนำมาสู่กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) ที่มันก็เกิดจากการตั้งคำถาม สมมุติฐาน จากเหตุการณ์ต่างๆ ว่าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร มีการทดลอง มีการสังเกตการณ์ที่มันแยบยลยิ่งขึ้น เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ บทสรุป
  • หลักการนี้ก็ใช้มาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว แต่ด้วยเครื่องมือที่มี เราโดนจำกัดไว้แค่นั้น ทำให้การศึกษายุคแรกๆ อาจจะมีความคลาดเคลื่อน แต่ก็เป็นรากฐานให้ยุคต่อๆ มา เราพัฒนาเครื่องมือ ทุกอย่างที่สำคัญ เช่น สมัยอริสโตเติล ที่แบ่งสิ่งมีชีวิตออกจากการเกิด ออกจากชนชั้นเป็น hierarchy ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า scala naturae ที่แปลว่าสเกลแห่งธรรมชาติ ไล่มาตั้งแต่สิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ มีกระดูกสันหลัง จนมนุษย์อยู่สูงสุด แล้วศาสนาก็รับความเชื่อนี้ไปต่อ สร้างเป็นพระเจ้า แล้วเกิดการตั้งคำถามและจัดลำดับ ยุคต่อมาก็เกิดตามสรีระโครงสร้าง อย่างปัจจุบันเราก็จะมาจัดศึกษาตามพันธุศาสตร์ เรื่องยีน DNA ของมัน ว่ามีความตรงกันไหม พัฒนาไปตามยุคสมัย
  • อย่างกรณีโลกกลม โลกแบน จริงๆ มีคนพิสูจน์ตั้งแต่สมัยกรีกแล้ว มีคนเสนอหลายๆ แบบ คนแรกที่เสนอว่าโลกแบนก็คือ ธาลีสแห่งเมเลตุส (Thales of Miletus) เสนอว่าโลกแบน โลกลอยอยู่บนน้ำ ทุกอย่างเกิดจากน้ำ ที่นี่ก็มีการทดสอบโดยใช้ scientific method หรือหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษา อริสโตเติลเป็นคนพิสูจน์ด้วยซ้ำว่าโลกไม่ได้แบน ผ่านการศึกษาเงาของการเกิดจันทรุปราคา สังเกตเวลาเกิดเงา เงาจะเป็นกลมๆ เลยตั้งข้อสังเกตว่าแล้วโลกเป็นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยมได้ไหม เป็นสมมุติฐาน แต่ก็มีความเชื่ออื่นมาซัพพอร์ตและหักล้าง แต่พอความเชื่อเหล่านี้ถูกศาสนารับไปใช้ มันก็ต้องมีความเชื่อมากขึ้นว่าผิดไม่ได้
  • อย่างกรณีเรื่องโลกเป็นศูนย์กลางหรือเปล่าของกาลิเลโอ ก็เป็นประเด็นที่ค่อนข้างเป็นการเมือง ที่สมัยนั้นศาสนาเองก็พยายามปกป้อง เพราะมันเพิ่งผ่านยุคกลางมา ศาสนาจะมีปัญหาไม่ได้ ความเชื่อที่เห็นต่างทางการเมืองก็ต้องถูกจำกัดสิทธิ หลายๆ ครั้งด้วยในโลกวิทยาศาสตร์ เมื่อคนตื่นรู้ รัฐหรือศาสนจักรจะเข้ามาควบคุม ไม่ว่าทั้งแบบส่งเสริมให้ไปได้ไกลขึ้นหรือแบบกดลง ส่งเสริมให้ไกลขึ้น ส่งเสริมให้คนมีเทคโนโลยีใช้ แต่คุมคนไม่ให้ใช้มากเกินไป หรือจะกดไม่ให้มีบทบาททางสังคมเลย แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐและศาสนจักรก็มีบทบาทต่อวิทยาศาสตร์มาก ทั้งสนับสนุนและกดลง มันสอดแทรกอยู่ในประวัติศาสตร์
  • ในอดีตความรู้จะเป็นหย่อมๆ แต่ละที่ กรีกคิดแบบนึง ตะวันออกกลางคิดแบบนึง ยุโรปคิดแบบนึง สงครามคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้วิทยาศาสตร์รุ่งเรือง เพราะมีสงครามเวลาไปตีเมืองอื่น ก็จะรับความรู้เข้ามา หลายๆ คนจะรู้จักนักวิทยาศาสตร์ทางด้านตะวันตก แต่จริงๆ โลกอาหรับก็เคยมียุคทองของวิทยาศาสตร์เหมือนกัน การแพทย์ ดาราศาสตร์ เลขาคณิต พีชคณิต (Algebra) ที่เราเรียนแก้สมการก็มาจากโลกอาหรับ การผ่าตัด การรับถ่ายความรู้ จีนก็มีเหมือนกัน มีทั่วโลก

3. อริสโตเติลและเพลโตคือใคร ทำไมถึงสำคัญ

  • อริสโตเติลถูกยกย่องให้เป็นบิดาแห่งนักวิทยาศาสตร์ในยุคแรกๆ อริสโตเติลมีอาจารย์ชื่อเพลโต ทั้งสองมีแนวคิดค่อนข้างต่างกัน อริสโตเติลมองว่ามันต้องผ่านประสาทสัมผัสเรา เราจะมาคิดในสมอง ติตต่างเองไปได้ยังไง ต้องมีการทดลองและสังเกตการณ์ ในขณะที่เพลโตบอกว่าไม่ใช่ เพราะประสาทสัมผัสเราถูกหลอกได้ เช่น สมมุติเอามือไปจับน้ำร้อนแล้วมาจับน้ำเย็น คุณจะไม่รู้สึกเย็น ถ้าตาสายตาไม่ดีก็เห็นสีเพี้ยนได้ ตาเรายังไม่แข็งแกร่งพอ อย่าเชื่อสายตา ทำให้สองคนนี้ก็มีแนวคิดที่ต่างกัน
  • แต่อย่างที่บอกวิทยาศาสตร์มันใช้ประสาทสัมผัสและเครื่องมือในการตรวจจับวัดได้ จึงพูดได้อริสโตเติลเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์ก็ได้ แต่จริงๆ มีอีกหลายท่านมากที่ถูกยกย่องเป็นบิดาแห่งนักวิทยาศาสตร์

4. ปรัชญากับวิทยาศาสตร์

  • สมัยก่อนปรัชญากับวิทยาศาสตร์เคยเป็นโลกเดียวกันมาก่อน ซ้อนกันอยู่ ปรัชญา ภาษากรีกคือคำว่า Philosophia ซึ่ง Philo แปลว่ารัก Sophia แปลว่าความรู้ คำว่าปรัชญาหมายถึงความรู้ทั้งหมด แต่นักปราชญ์ส่วนใหญ่จะคิดเยอะ แต่ทดลองไม่ได้ เพราะคำถามบางอย่างมันสุดทางและเครื่องมือก็ยังไม่มี เช่น กลางวันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันเลยเป็นปรัชญา แต่พอเราใช้เครื่องมือต่างๆ มันเลยยิ่งแยกให้วิทยาศาสตร์ออกมาจากปรัชญาเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นวิทยาศาสตร์
  • ทั้งสองฝั่งมีเครื่องมือที่ต่างกัน ฝั่งวิทยาศาสตร์จะมีเครื่องมือที่จับต้องได้ ฝั่งปรัชญาก็มีเครื่องมือของเขา มีตรรกะ การทบทวน logic มีบางอย่างที่อาจจะไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ แต่ว่าทั้งสองมันนำมาซึ่งความรู้ได้ แต่ถามว่าความรู้นั้นมันคือ truth ความจริงหรือเปล่า ความจริงไม่ใช่ ทฤษฎีต่างๆ ไม่ใช่ความจริง แต่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งวันนึงอาจจะผิดก็ได้ บางเรื่องเราอ่านวันนี้แล้วนอน พรุ่งนี้อาจจะมีการประกาศค้นพบอะไรใหม่ขึ้นมาก็ได้ ไม่มีใครรู้ ยิ่งทุกวันนี้มันยิ่งเปลี่ยนเร็วขึ้น เพราะทุกคนมุ่งทำ ทุกคนมุ่งศึกษา แล้วเทคโนโลยที่เรามีมา มันสะสมความรู้มา เวลาในการค้นพบเรื่องใหม่ๆ มันสั้นลงเรื่อยๆ อนาคตอาจจะอัพเดทเป็นรายวินาทีก็เป็นไปได้

5. ทำไมวิทยาศาสตร์ถึงสำคัญ

  • วิทยาศาสตร์เป็นองค์ความรู้ เราเอาองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดเป็นเทคโนโลยี อุปกรณ์ เครื่องมืออะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้นถ้าเราขาดองค์ความรู้ไป เราก็พัฒนาต่อยอดไม่ได้ ประเทศที่พัฒนาหรืออารยธรรมที่มีองค์ความรู้สะสม ก็เกิดจากการพัฒนาอะไรแบบนี้ เช่น กรีก อาจจะล้มสลาย แต่ก็มีการถ่ายทอดความรู้ไปให้โลกตะวันตกและโลกต่างๆ และคนที่รับองค์ความรู้เอาไปต่อยอดก็จะเกิดแนวคิด กระบวนการต่างๆ
  • หลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ใช้วิทยาศาสตร์เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศเป็นหลัก ในขณะที่บางประเทศ เช่น ประเทศไทย ยังไม่ได้ใช้วิทยาศาสตร์นำ เลยมองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำวิทยาศาสตร์มานำประเทศ ต้องให้การศึกษาวิทยาศาสตร์ในเมืองไทยไม่ใช่แค่การศึกษาเพื่อการทำข้อสอบหรือการเข้ามหาวิทยาลัย ควรจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เข้าใจ สนุกกับมัน แบบที่เอาไปประยุกต์ใช้ต่อ สร้างเทคโนโลยี เกิดไอเดียใหม่ๆ ได้ และเกิดการเถียงกันได้
  • วิทยาศาสตร์มันคือการเถียงกัน ไม่มีถูก ไม่มีผิด ตำราที่เราเรียนวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะมีข้อมูลใหม่ที่หักล้างอันเก่าก็เป็นได้ วิทยาศาสตร์จริงๆ ต้องการคนที่จะมาหักล้างเรื่องเดิมๆ หาข้อมูลใหม่ๆ หาแย้งของเก่า มีไอเดียใหม่และหาหลักฐานมาซัพพอร์ต

6. แนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย

  • ทุกวันนี้เปิดไปในโทรทัศน์ไม่มีรายการแข่งขันวิทยาศาสตร์ รายการตอบปัญหา หรือข่าววิทยาศาสตร์แทบจะไม่มี ต่างประเทศสัปดาห์วิทยาศาสตร์คือ สัปดาห์ประกาศโนเบล จะต้องทำให้มันเป็น norm ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์เท่านั้น เราก็เรียนวิทยาศาสตร์ได้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์​ ซึ่งคิดว่าเมืองไทยยังขาดอยู่ หนังสือ ก็ต้องยอมรับว่าหนังสือวิทยาศาตร์อาจจะดูเป็นหนังสืออ่านยาก หนังสือบางเล่มไม่มีการแปลเป็นภาษาไทย ควรจะมีหอสมุดหรืออะไรที่เราสามารถไปหา เข้าถึงได้ง่าย และประชาสัมพันธ์ให้คนรู้ว่าถ้าอยากรู้ข้อมูลนี้ต้องไปหาที่ไหน
  • ควรจะมีแหล่งข้อมูลเป็นแพลตฟอร์ตว่า ถ้าอยากจะรู้ว่าประวัติศาสตร์ของสิ่งนี้เริ่มยังไง เช่น จรวด ใครคิดค้น ยุคไหนว่ายังไง น่าจะควรมีสื่อแบบนี้มากขึ้น เหมือนแนวแฟนพันธุ์แท้แต่ให้เด็กตอบคำถาม คิดว่ามันจะเอ็นเตอร์เท็นและได้คิดวิเคราะห์มากกว่า
  • วิทยาศาสตร์ในเมืองไทย ไม่ค่อยได้เน้นให้คนเข้าใจมันจริงๆ ต้องปรับวิธีคิด กระบวนการต่างๆ การเข้าถึง วิสัยทัศน์ของนักการเมืองและผู้นำที่จะต้องเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์ ต้องเอาวิทยาศาสตร์เป็นตัวนำประเทศ ต้องส่งเสริมวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่การปั๊มเด็กไปสอบ แล้วสุดท้ายไม่ได้คนที่เก่งจริงๆ หรือว่าอาจจะมีเด็กที่เก่งจริงๆ แต่ด้วยระบบสภาพแวดล้อมเมืองไทยที่มันไม่ได้รองรับ ทำให้เด็กเก่งเหล่านั้นไปอยู่เมืองนอก แล้วเราก็สูญเสียบุคคลากร หรือบุคคลากรที่อยู่เมืองไทยเองก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่
  • อันนี้เป็นปัญหาหลัก เพราะเวลาในต่างประเทศ นักวิทยาศาสตร์เขาก็มีซัพพอร์ตทุกด้าน สามารถมีที่จะโชว์ figure บุคคลต่างๆ ที่เป็นด้านนั้นๆ ให้เด็กเป็นกำลังใจ เป็นไอดอล ให้เด็กอยากเดินตาม แต่เมืองไทยหายาก ไม่ค่อยมี ต้องสร้าง figure ขึ้นมาว่าแบบถ้าอยากเรียนวิทย์ฉันต้องเป็นเหมือนคนนี้ให้ได้ ในแต่ละสาขาของตัวเองควรจะมีแบบนั้น
  • บางประเทศเขามาแข่งกันเลย มีความเป็นชาตินิยมกับเรื่องการเป็นนักวิทยาศาสตร์ เด็กก็จะมีไอดอลที่อยากเดินตาม สามารถไปอ่านประวัติได้ว่าเขาทำแบบนี้ เขาคิดแบบนี้ ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ก็สำคัญ ทำให้เขารู้ว่าขั้นตอนต้องเป็นยังไง เราจะได้หาวิธีการไอเดียใหม่ๆ ได้ บางอย่างมันไม่ได้จากแค่หนังสือเรียน ท่องจำ แล้วไม่รู้ว่าใช้เพราะอะไร หรือนำไปใช้อะไรต่อในชีวิต
  • เมืองไทยเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ แต่เราบูชาวิทยาศาสตร์ คือจับต้องไม่ได้ แตะไม่ได้ เราอาจจะต้องปรับเรื่องนี้ เราควรจะต้องเคารพเฉยๆ แปลว่าเล่นได้ หยอกได้ เหมือนพ่อแม่ เราเคารพท่าน เราก็หยอกล้อคุยกับท่านได้ปกติ แต่เราก็ไม่ได้ด่าท่าน ว่าท่าน วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าบูชาสูงส่งทำอะไรไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้

7. คำแนะนำในการศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์

  • เลิกเรียนแบบท่องเพื่อสอบ สิ่งนึงที่ขาดไปในการเรียนของไทยคือเราไม่ได้มีการวิเคราะห์ ให้ท่องจำอย่างเดียว ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ไม่รู้ว่าองค์ความรู้ที่ได้มามันมีค่าแค่ไหน สำคัญยังไง ต้องฝึกกระบวนการคิดให้โต้ตอบ ได้เถียงกันว่าทฤษฎีมันถูก มันจริงหรือเปล่า เป็นการเรียนที่สามารถจะแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ใช่แค่สอนๆ แล้วจด ไม่งั้นสุดท้ายมันจะเหมือนโรงงานที่เราได้แต่ตัวปั๊มเดิมๆ เซ็ตข้อมูลเดิมๆ
  • คำถามไม่ควรจะถามแค่ว่าใครคิด แบบนั้นก็เปิดหนังสือตอบได้ แต่ให้วิเคราะห์เรื่องราวแล้วดูว่าคนนี้กำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ต่อไป ให้ฝึกเรื่องแบบนี้
  • อยากให้ลองอ่านเรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ด้วย เข้าใจว่าคนในอดีตเขาคิดยังไง และคอนเซ็ปต์ว่ามันเปลี่ยนไปยังไง เช่น เรื่องของอะตอม ยุคเก่าคิดยังไง ยุคใหม่คิดยังไง

8. เรื่องที่น่าประหลาดใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

  • เรื่องที่คนชอบคุยกันเรื่องกาลิเลโอ ที่บอกว่ากาลิเลโอขึ้นไปบนหอเอนปิซ่าแล้วปล่อยขนนกกับลูกเหล็กลงมา ในความเป็นจริงมันไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่แค่ว่ากาลิเลโอเกิดที่เมืองปิซ่า จริงๆ มันก็มีคนทำการทดลองแต่ไม่ใช่กาลิเลโอ มีคนเอาลูกเหล็กไปทดลองที่หอเอนปิซ่า ส่วนตัวกาลิเลโอก็ทำการทดลอง แต่เป็นในรูปแบบของรางเหล็ก slope เพราะเขามองว่าถ้าปล่อยจะมีแรงต้านอากาศ ผลมันจะคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง อย่างขนนกกับลูกเหล็ก ขนนกพื้นที่มันเยอะ มันก็จะตกช้า ถ้าทำแบบนั้น ก็จะสรุปว่ามีมวลน้อยก็ต้องตกช้ากว่า แต่ความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ไม่ว่าจะมวลเท่าไหร่ก็ตกถึงพื้นพร้อมกัน
  • อันนี้จริงๆ ก็จะมีการทดลองเหมือนกัน ถ้าไปเปิดดูในอินเทอร์เน็ตจะมีห้องที่เป็นสูญญากาศ ปล่อยให้เห็นแล้วมันก็ตกพร้อมกันจริงๆ มีคนขึ้นไปปล่อยบนดวงจันทร์ว่าให้มันลงมาพร้อมกัน คนจะไม่ค่อยรู้ เขาจะให้เป็นเหมือนตำนานหรือเรื่องเล่า เหมือนเรื่องที่อาร์คิมิดีสแก้ผ้าวิ่ง แล้วพูดคำว่ายูเรก้า ก็ไม่มีใครรู้ว่าเกิดขึ้นจริงไหม แต่มีบันทึกเขียนไว้ว่าเขาพูดแบบนั้น นักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าๆ จะไม่ค่อยมีประวัติเขียน จะเป็นการเขียนโดยฟังคนอื่นเล่ามาอีกที
  • เรื่องนิวตันที่แอปเปิ้ลตกใส่หัว ก็ไม่มีหลักฐานตัวไหนที่ชี้ว่าแอปเปิ้ลตกใส่หัว อาจจะมีแค่อันที่จะทำให้คนสมมุติได้ว่าเป็นแบบนั้น คือพูดประมาณว่านิวตันไปงานเลี้ยงแล้วก็มองไปนอกบ้านเห็นแอปเปิ้ล นึกถึงโมเมนต์ที่ฉันนึกถึงทฤษฎีแรงโน้มถ่วงได้เลย แต่คนก็ไปติต่างว่าเขาไปนั่งใต้ต้นแอปเปิ้ล ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นแฟนคลับนิวตันที่ชื่อว่า วอลแตร์ (Voltaire) แต่งขึ้นมา หรือก็มีที่บอกว่ามาจากคำพูดของหลานสาวเขา เรื่องแอปเปิ้ล ก็มีแล้วแต่ตำนานว่าไป
  • ที่คิดทฤษฎี จริงๆ มีเยอะมากเลย นอกจากนี้ยังมีเรื่องดราม่า ด้านมืดของนักวิทยาศาสตร์ หลายคนที่เรารู้จัก จะทำให้เห็นเขาในด้านต่างๆ มากขึ้น มีเรื่องของสังคมที่หล่อหลอม อย่างนิวตันก็เป็นคนค่อนข้างเก็บตัวในช่วงต้นชีวิต เพราะมีปมตอนเด็กๆ เรื่องที่เขามีปัญหากับไลบ์นิทซ์เรื่องแคลคูลัส เพราะนิวตันมีความหวง จะไม่ตีพิมพ์ผลงาน ถ้าตีพิมพ์ก็จะไม่บอกชื่อ จะมีเรื่องแบบนี้เล็กๆ น้อยๆ พอเราเรียนถึงความรู้ยุคก่อน เราก็จะกลับมานั่งตั้งคำถามว่าอันนี้คิดยังไง เจอได้ยังไง ทั้งๆ ที่ในยุคนั้นมันคำนวณไม่ได้ เช่น ค่า G ในสมการแรงโน้มถ่วง เรียกว่า ค่าคงที่จักรวาล จะวัดมวลโลกยังไง ปรากฏค่านี้มันมีคนหาค่าให้ได้ ในการทดลองแบบง่ายๆ และเกิดขึ้นได้จริง การอ่านอันนี้มันทำให้น่าประหลาดใจ ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยมีสื่อที่มาเล่า พอเราไม่ได้เป็นชาวตะวันตกก็อาจจะไม่อิน

9. จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาสนใจด้านวิทยาศาสตร์

  • ตอนเด็กๆ ก็เหมือนเด็กทั่วไปที่ชอบวิทยาศาสตร์ ไปร้านหนังสือเปิดอ่านแล้วน่าสนใจ นักวิทยาศาสตร์คนนั้นคนนี้ทำอะไร แล้วพอยิ่งอ่านเหมือนเรายิ่งรู้เยอะ รู้สึกว่าเจ๋ง แล้วก็มาคิดว่าที่เรารู้ไปแล้วสุดท้ายมันยังไงต่อ เอาไปใช้อะไรได้ เลยเริ่มศึกษาว่าเราจะนำไปใช้อะไรต่อ ที่นี้มันเกิดคำถามช่องระหว่างบางเรื่องราว มันเจอยังไง เราเกิดคำถามตลอดว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง มันเกิดกลไกยังไง สุดท้ายเราก็ต้องไปอ่านประวัติศาสตร์ว่า ยุคเก่าเขาคิดแบบนี้นะ ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่ make sense แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจ
  • อาจจะดูตลกแต่จริงๆ ผมชอบศาสนามากกว่า ความเชื่อล้วนๆ อาจจะดูย้อนแย้ง แต่สองอย่างนี้จริงๆ มันบาลานซ์ไปด้วยกันได้ เป็นประโยชน์ด้วย เพราะพอเราเข้าใจบริบททางศาสนา แล้วทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมทางวิทยาศาสตร์ถึงคิดแบบนี้ และทำไมศาสนาถึงคิดแบบนั้น มากกว่าในการที่เรามองแต่ด้านมุมวิทยาศาสตร์ เพราะผมมองว่าการมองมุมๆ เดียว มันก็จะได้แค่มุมๆ เดียว กรอบของวิทยาศาสตร์มุมเดียวไม่ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกเรื่อง มันต้องมีด้านอื่นมาประกอบ ด้านสังคมศาสตร์ ว่ายุคสมัยนั้นเขาใช้ชีวิตกันยังไง ด้านประวัติศาสตร์ สงคราม ว่าความรู้มันถ่ายทอดไปได้ยังไง ด้านศาสนา ว่าเขาคิดยังไง เพราะต้องยอมรับว่าศาสนามีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์มาก ด้านศิลปะ จริงๆ มันใช้ทุกด้านเลย ภาษาศาสตร์ด้วยนะ คำเหล่านี้มาได้ไง ใช้ทุกเรื่อง แรกๆ ก็มีวิทยาศาสตร์ หลังๆ เริ่มมีศาสตร์อื่นเข้ามา ก็ต้องไปอ่านเพิ่มเพื่อมาเติมเต็มให้การอ่านของเรามันสมบูรณ์แบบ สนุกมากขึ้น
  • อันนึงที่รู้สึกว่าเจ๋งคือ ชื่อหนังสือของนิวตัน เราอ่านมาตลอดว่า “ปรินซิเปีย” แต่ชื่อเล่มเต็มๆ ว่า Philosophiæ Naturalis Principia Mathematica แต่จริงๆ มันต้องอ่านว่า “ปรินคิเปีย” และหนังสือมีการใช้ตัว long s ถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์และภาษาศาสตร์ ยุคนั้น ตัว s ที่ใช้เป็นตัวอยู่ในคำ ต้องใช้เป็น long s คล้ายๆ ตัวอินทิเกรต แบบนี้มันมีแง่มุมหลายๆ อย่างที่เราไม่สามารถมองข้ามได้ ตอนเด็กๆ ก็อ่านหลายเรื่องทำให้เรามองจากหลายๆ กรอบ อันนี้เรามองกรอบวิทยาศาสตร์ อันนี้กรอบปรัชญา อันนี้กรอบภาษา กรอบสังคม กรอบจริยาศาสตร์
  • อย่างจริงๆ แล้วนิวตันก็ศึกษาวิทยาศาสตร์แค่ช่วงต้นชีวิต ยุคทองตอนนั้นเกิดกาฬโรคระบาดทศวรรษที่ 1660 หลังจากนั้นเป็นงานด้านชีววิทยา เล่นแร่แปรธาตุ ไสยศาสตร์ มนต์ดำหมดเลยที่เหลือทั้งชีวิต เพราะฉะนั้นนักวิทยาศาสตร์จริงๆ เขาก็ศึกษาด้านอื่น หรือถ้าไปอ่านประวัติศาสตร์ก็อาจจะพบว่านักดาราศาสตร์หลายๆ คน ก็เป็นแพทย์มาก่อน เรียนหลายด้านมาก บางคนไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย เป็นนักบวชก็มี และแทนที่จะอ่านแค่วิทยาศาสตร์มันไม่พอแล้ว มันเหมือนเป็นจิกซอว์ยิ่งอ่านยิ่งสนุก ถ้าเอาแบบวิทยาศาสตร์จริงๆ ถ้าจะให้สนุกควรให้ครบทุกสาขาไม่โฟกัสไปจุดใดจุดหนึ่ง จะสนุกมาก

10. เรื่องที่คนชอบเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

  • เรื่องของ pseudoscience หรือวิทยาศาสตร์เทียม คือสิ่งที่มองเผินๆ อาจจะดูเหมือนวิทยาศาสตร์ ด้วยการใช้คำที่หวือหวา อ้างอิงสรรพคุณที่เกินจริง แต่ไม่ได้มีงานวิจัยมารองรับ เช่น พวกคำว่า Quantum หรือ Nano คำศัพท์ที่มันดูหรูหรา เวลาเราเห็นครั้งแรกให้เราคิดไว้ก่อนเลยว่ามันจริงหรือเปล่า ซึ่งบางเรื่องก็จริง อย่างเรื่อง Quantum Computing ค่อนข้างจริง เป็นไปได้ ถ้าอย่างพลังจิต Quantum รักษาโรค มันควรจะมีการเอ๊ะ ว่าใช่หรือเปล่า หรือกินนู้นนี้แลัวรักษาโรคได้ ควรจะต้องมีงานวิจัยมารับรอง ไม่ใช่ว่าใครก็ไม่รู้มาพูด โดยเฉพาะที่ชอบเขียนว่านักวิทย์เผย นักวิทย์ว่า อะไรแบบนี้ ให้ตีไปก่อนว่าใช่หรือเปล่า ให้ต่อมเอ๊ะ ทำงาน ที่แชร์กันตามไลน์ ยิ่งต้องตระหนักมาก เพราะหลายๆ บ้าน คนก็ชอบเชื่ออะไรแบบนี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับการยึดโยงวิทยาศาสตร์ไปกับเรื่องอื่น เช่น พลังจิตกับวิทยาศาสตร์ ควรจะเป็นการศึกษาในแบบที่มันเป็น อาจจะมีวิทยาศาสตร์ neuroscience มาเป็นตัวศึกษา ไม่ใช่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ควรมีการวิจัยกันจริงจัง มีหลักฐาน
  • อยากให้ฝึกเรื่องการ sciencetific thinking ให้กับคนไทย มีต่อมเอ๊ะ เราจะไม่เชื่อ เวลามีข่าวมา จริงหรือเปล่า ไปหาข้อมูลเพิ่ม ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวยา อาหาร สุขภาพมันน่ากลัว

11. สรุป ฝากส่งท้ายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์

  • อยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะเรียนสายอะไรมา ไม่ว่าจะสาขาอาชีพอะไร อยากให้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่า วิทยาศาสตร์มีความสนุก เอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และมันเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ ยุคนี้ต้องเอาวิทยาศาสตร์นำ ถึงจะทำให้ประเทศพัฒนา อยากฝากให้ทุกคนเก็บเอาไปคิด ถ้ามีลูกหรือน้องๆ ก็อยากให้เขาได้ศึกษาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน ลองเปลี่ยนมุมมองในการเรียน
  • ตอนนี้ทำพอดแคสต์ชื่อช่อง The Projectile จะมีคอนเทนต์วิทยาศาสตร์หลายเรื่อง หลายๆ ประเด็นที่อาจจะยังไม่ค่อยมีใครทำเท่าไหร่ อยากให้ลองไปติดตามกันได้ มีทั้งทาง Youtube, Spotify, Apple Podcasts, Google Podcasts


รายละเอียด

Date: 10 Nov 2021 (21:00-22:10)

Speaker:
คุณภูริ
– เจ้าของพอดแคสต์ The Projectile
– สาระความรู้ด้านฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #วิทยาศาสตร์ #Science #ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ #historyofscience #TheProjectile #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา