เทคนิคการเลี้ยงลูกอย่างไร ให้โตเป็นสิ่งที่เค้าชอบ

การเลี้ยงลูก

การเลี้ยงลูก คือ

1. การเลี้ยงลูก คืออะไร ?

======================

– การเลี้ยงลูก คือ การเฝ้าฟูมฟักดูแลเพื่อที่จะทำให้คนๆ นึงฟังก์ชั่นได้ ทั้งในแง่ร่างกาย ความคิด สติปัญญา ทั้งหมดทั้งมวลต้องผ่านการดูแลจากใครสักคน ซึ่งมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่เมื่อทารกออกมาจากท้องแม่แล้วจะยังดูแลตัวเองไม่ได้ ถ้าเป็นลูกช้าง ลูกวัว พอคลอดออกมาสัก 2 ชั่วโมงก็เดินได้แล้ว อาจจะต้องฝึกอะไรนิดหน่อยหรือให้ช่วยตัวเองได้ก็อาจจะ 2-3 วัน แต่ลูกคนมันต้องใช้เวลา 1 ปีกว่าจะเดินได้ 2 ปีกว่าจะพูดได้ ต้องใช้เวลาและพลังงานเยอะมาก เลยต้องมีการเลี้ยง

ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก

2. ปัญหาที่คนชอบถามเกี่ยวการเลี้ยงลูก

=====================

– หลากหลายมาก ไล่มาตั้งแต่ตอนท้อง แม่กังวลเรื่องการอ้วก การที่ลูกดิ้นไม่ดิ้น พอคลอดออกมาก็จะเรื่องนม นมมาไม่มา นมเยอะเกินไปน้อยเกินไป เคยไปสัมภาษณ์อาจารย์ที่ทำงานในวงการแม่และเด็กมานานกว่า 30 ปี ว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เขาบอกว่าปัญหาที่พ่อแม่ถามในสมัยก่อนส่วนใหญ่จะสนใจเรื่องเชิงความเป็นอยู่ เช่น ทำไมลูกไม่กินอาหาร ลูกกินนมน้อยจะโตไหม จะผอมจะสูงจะอ้วน แต่พอเป็นสมัยนี้จะถามเกี่ยวกับปัญหาเชิงพฤติกรรมเยอะขึ้น เช่น ทำยังไงให้ลูกมีความกล้าหาญ ช่วงนี้ลูกพูดจาไม่เพราะเลยจะทำยังไงดี พ่อแม่เริ่มสนใจกับพฤติกรรมมากขึ้น

– พอมาคิดกับตัวเอง เราก็อาจจะสงสัยแบบนั้นเหมือนกัน เพราะในเรื่องเชิงกายภาพ อ้วนผอม หรืออะไรที่มันเป็นวิทยาศาสตร์ เรารู้สึกว่าเราหาข้อมูลได้ไม่ยาก พอจะเห็นคำตอบที่ชัดเจน แต่พอมันเป็นเรื่องเชิงพฤติกรรมมันออกได้หลายทาง คนก็เลยอาจจะกังวลในเรื่องนี้ แต่ก่อนคนรุ่นเรา พ่อแม่จะคิดว่าอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จ แต่พ่อแม่ยุคนี้อาจจะไม่ได้มองความเก่งแบบนั้นแล้ว แต่อยากให้ลูกมีความสุข เอาตัวรอดได้ในโลกที่มันผันผวน โฟกัสของเราเลยจะไม่ได้อยู่ที่เรื่องความเก่งกาจฉลาดแล้ว แต่เป็นเรื่องพฤติกรรม เรื่องที่ว่าเขาจะไปอยู่กับคนอื่นได้ไหม เขาจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครหรือเปล่า แนวโน้มมันมาทางนี้

ทำไมคนสนใจลูกมากขึ้น

3. สาเหตุที่ทำให้คนมาสนใจเรื่องพฤติกรรมของลูกมากขึ้น

======================

– สมัยก่อนพ่อแม่พอเลี้ยงลูกมาถึงจุดหนึ่ง พอลูกเข้าโรงเรียนก็เหมือนส่งต่อให้คุณครูเลย เพราะฉะนั้นปัญหาพวกเชิงพฤติกรรม ความประพฤติ พ่อแม่ก็จะรอฟังจากคุณครู แต่สมัยนี้พ่อแม่อ่านเยอะ รู้เยอะ มีโซเชียลมีเดีย มี Opinion Leader มี Influencer ทั้งหลายมาให้ความรู้ ความรู้มันมากมายไปหมด พอมันมีอะไรนิดหน่อย เราก็จะรู้สึกว่าอยากถาม อยากรู้ อยากจะทำให้มันดีที่สุด อาจจะเป็นที่เจเนอเรชั่นเราด้วย เราอาจจะเคยได้อะไรมาแล้วเราไม่อยากโตไปเป็นแบบนั้นแล้ว เราก็อยากจะทำให้ที่รุ่นลูกเรามันดีกว่า

– สมัยก่อนวิธีหาความรู้คือฟังจากคนที่เรารู้จัก ฟังจากแม่ ยาย ป้า เป็นชุมชน เป็นครอบครัว แต่สมัยนี้เราสามารถฟังคนที่อยู่ในอีกมุมนึงของโลกก็ยังได้ เรารับข้อมูลไม่ใช่แค่ในวัฒนธรรมเดียวแล้ว แต่เรารับข้อมูลจากคนที่อยู่วัฒนธรรมอื่นด้วยว่าเขาเลี้ยงแบบไหน แล้วมันก็จะยิ่งทำให้เราต้องเอามาชั่งใจว่า เราควรทำแบบนั้นไหม มันเลยทำให้เราคิดเยอะ เพราะทางเลือกมันเยอะ เราเห็นวิธีการที่มันหลากหลาย

การเลือกวิธีการเลี้ยงลูก

4. การเลือกสรรวิธีการเลี้ยงลูก

======================

– เราก็ไม่ใช่คนที่เลี้ยงลูกดีประเสริฐอะไรขนาดนั้น อย่างเวลาเราทำเพจหรือในรายการของเรา เราจะไม่พยายามสอน เพราะเรารู้สึกว่าเราสอนใครไม่ได้ เราไม่สามารถบอกได้ว่าแบบนี้มันดีหรือไม่ดี สิ่งที่เราทำได้คือแค่เล่าประสบการณ์ที่เราทำเฉยๆ แล้วสามารถบอกให้ได้ว่าอันนี้สำหรับเราเวิร์คนะ ไปลองได้ แต่ถ้าเป็นบ้านของคุณก็ไม่แน่ใจว่าจะเวิร์คเหมือนกันไหมนะ

– สำหรับการรับข้อมูล เราจะค่อนข้างเชื่อหนังสือ อาจจะเพราะเราเขียนหนังสือและเราก็เรียนสื่อมาด้วย เรารู้สึกว่าหนังสือมันผ่านการกลั่นกรอง ผ่านบรรณาธิการ ผ่านการตกผลึกบางอย่างจนพิมพ์ออกมาได้ ดังนั้นมันจะไม่ฉาบฉวยมาก มันถูกเขียนโดยคนที่เขาวิจัย เขาคิดอะไรมาเยอะแล้ว ดังนั้นเราจะค่อนข้างเชื่อหนังสือ

– กับคนที่เป็น opinion leader ในใจที่เราเคารพนับถือคือ คุณหมอประเสริฐ (นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์), คุณหมอโอ๋ (เลี้ยงลูกนอกบ้าน), หมอแพม (หมอแพมชวนอ่าน) สามคนนี้ที่เรารู้สึกว่าเราฟัง เรายอมรับในแนวทางของ influencer เหล่านี้ แต่ถ้าเป็นคุณแม่ที่เป็น influnecer ทั่วไปก็คือเปิดดู แต่รู้สึกว่าไม่อยากรับอะไรที่มันเยอะมากเกินไป

– เรารู้สึกว่าวิธีการเลี้ยงลูก เราสามารถเปิดรับได้หลากหลาย แต่สุดท้ายแล้วเราต้องมีกระดูกสันหลัง ต้องมีแก่นของตัวเองก่อนว่าแนวทางของเราคืออะไร แนวทางที่เราต้องการให้ลูกเราเป็น เป้าหมาย ความสุข หรือความเป็นแม่แบบตัวเรา ความเป็นครอบครัวเราเป็นยังไง แล้วพอเราไปเจอเทคนิค วิธีการต่างๆ ก็ต้องย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นเส้นตรงกลางนี้ก่อนว่า มันไปกับเราได้ไหม ถ้ามันไม่ใช่ ก็สามารถลองได้ แต่ถ้าลองแล้วเฟลจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าทำไมเราผิดพลาด เพราะมันไม่ใช่แนวเรา ไม่ใช่ทางของเราแค่นั้นเอง

– เราคิดว่าพ่อแม่ต้องเป็นน้ำนิ่งนิดนึง เวลาที่เจอข้อมูลอะไรเยอะๆ ต้องตัดสินใจให้ได้ก่อนว่าสุดท้ายเรายึดถือแบบไหน ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการนอนของลูก เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะคลอดเลยว่า เราจะเป็นแม่ที่ต้องได้นอน เพราะเราได้ยินมาว่าคุณแม่จะไม่ได้นอน ซึ่งเราไม่โอเค เราไม่พร้อมที่จะตื่นขึ้นมาทุกสามชั่วโมงเพื่อมาฟังลูกร้อง เราต้องการคุณภาพการนอนของตัวเอง ก็เลยทำให้ไปศึกษาว่าเราสามารถที่จะฝึกให้ลูกนอนยาวได้ไหม แล้วพอถึงเวลาหน้างานตอนที่เราฝึกลูกตอน 2-3 เดือน มันก็จะมีข้อมูลบางอย่างที่เข้ามาตีกันว่ามันใจร้ายหรือเปล่า ทำให้ลูกร้องไห้ ตอนนั้นก็มีความไขว้เขว้ว่าเราเป็นแม่ใจร้ายไหม แต่สุดท้ายมันก็จะกลับมาที่เป้าหมายของเราคือ เราจะต้องได้นอน เพราะเราต้องการจะตื่นมาเลี้ยงลูก ถ้าเราไม่ได้นอน เราจะเลี้ยงลูกไม่ได้ตอนกลางวัน ก็เลยทำให้แน่วแน่ว่าจะต้องฝึกลูกนอนยาวให้ได้ เท่านั้นเลย เราคิดว่ามันอาจจะไม่ถูกใจบางคน แต่ว่าไม่เป็นไร เพราะมันถูกใจเรา เราเลี้ยงลูกไม่ได้ไปเพื่อสนองความต้องการของใคร

– เราเข้าใจเลยว่าเวลาเรามีลูก ทุกอย่างเราจะทุ่มเทไปให้ลูก แต่ว่าสุดท้ายแล้วถ้าเราที่คนเลี้ยงไม่ไหว มันก็ไปไม่ได้เหมือนกัน ลูกก็จะไม่โอเค ถ้าอย่างคุณหมอประเสริฐจะชอบพูดว่า มันคือสามเหลี่ยมความสัมพันธ์ พ่อ แม่ ลูก พ่อแม่ต้องเต็มก่อน ถึงจะมีโอกาสส่งมาให้ลูกได้ เหมือนเวลาเราขึ้นเครื่องบินที่เขาบอกว่าถ้าตกหลุมอากาศ ให้ดึงสายหน้ากากมาใส่ตัวเองก่อน แล้วค่อยใส่ให้ลูก คือเราต้องรอดก่อน ถ้าเราไม่รอด ลูกก็ไม่รอด ดังนั้นเราต้องมีความสุข ต้องโอเคในตัวเราก่อน ถึงจะส่งพลังอันนั้นไปให้ลูกได้

คำแนะนำในการเลี้ยงลูก

5. คำแนะนำในการเลี้ยงลูก

======================

– เราต้องฟัง ต้องเชื่อใจในตัวลูก อันนี้เป็นสิ่งที่คุณครูที่โรงเรียนของลูกเราย้ำมากๆ ครูใหญ่ที่โรงเรียนจะพูดเสมอว่า ยิ่งเชื่อยิ่งได้เห็น ถ้ายิ่งเราเชื่อว่าลูกน่าจะทำสิ่งนี้ได้ เราก็จะได้เห็น เรื่องการเชื่อมันนำไปสู่การมอบโอกาสให้เขาทำ ในสมัยนี้เราว่าพ่อแม่ทำเป็นปกติแหละ เช่น เด็กๆ จะชอบเล่นสมมุติทำอาหาร ซึ่งคนรุ่นเราก็ยังเล่นสมมุติอยู่ เอาใบไม้อะไรมาผัด แต่พ่อแม่สมัยนี้จะรู้สึกว่าจริงๆ ลูกก็เล่นทำของจริงเลยก็ได้นิ ไม่ต้องมานั่งหั่นดินน้ำมันแล้ว ไปหั่นไส้กรอกกินเองเลยก็ได้ เลยปล่อยให้ลูกไป เราก็เลยเข้าใจคอนเซ็ปต์นี้ที่ว่ายิ่งเชื่อยิ่งได้เห็น

– สมมุติเราเชื่อใจเขาว่าเขาน่าจะทำได้ ปล่อยให้เขาอยู่กับไส้กรอกและมีดหนึ่งเล่ม เขาก็จะหาทางวิธีการจนทำได้ ถึงแม้ว่ามันจะเป็นมีดจริงแต่มันไม่เป็นไร เขาก็จะจัดการของเขาเอง มันเคยบาดนิ้วเขา แล้วเขาก็ร้องไห้ หน้าที่ของเราก็คือการทำแผล ทำให้เขารู้สึกว่าการใช้มีดมันก็เจ็บ แล้วถ้ามันมีแผลก็รักษา มันไม่ได้ใหญ่ไปกว่านั้น โลกไม่ได้ถล่มลงมา ทำให้เขารู้สึกว่ามันก็คือชีวิต

– อีกตัวอย่างคือที่โรงเรียนของลูกเรา ตอนอนุบาล 3 ก่อนจะจบ เขาจะให้เด็กๆ ไปขี่จักรยานวิบากเป็นโปรเจคจบ ลุยโคลน ลุยหญ้า เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกก่อนที่จะเรียนจบไปว่า ไม่ว่าจะยากแค่ไหนเขาก็ทำได้ โดยที่ผู้ใหญ่จะไม่เข้าไปช่วยอะไร เต็มที่คือให้กำลังใจ คอยมอนิเตอร์อยู่ว่าถ้ามันไม่ได้บาดเจ็บถึงขนาดขั้นล้มตาย เราถึงจะเข้าไปช่วย แล้วพอเราเฝ้ามอง เราแค่สังเกต เราจะเห็นว่าจริงๆ เขาทำได้ บางทีเขาล้ม เขาก็ลุกขึ้นมา เรากำลังแบบเป็นห่วงว่าจะเป็นอะไรมากไหม แต่สุดท้ายเขาก็ลุกขึ้นมาปัดๆ แล้วเขาก็วิ่งต่อ เราต้องใจแข็งและเชื่อว่าเขาจะไปได้ แล้วเดี๋ยวเขาจะไปได้เอง เพราะว่าลูกเขาจะมองเราอยู่เสมอ ถ้าหน้าเราไม่ดี หน้าเราหวั่นใจ เขาก็จะรู้สึกไม่ดีแล้ว จะรู้สึกว่าอันนี้มันน่ากลัวเหรอ แต่ถ้าเราทำนิ่งๆ ทำท่าเท่ๆ เขาก็จะรู้สึกว่าโอเค แม่ไม่ได้อะไรนิ พ่อแม่ไม่ได้เตือนอะไร เขาก็จะไปต่อได้

– เด็กๆ นี่จริงๆ แล้วเขาละเอียดอ่อนกว่าผู้ใหญ่อีก เซนส์เขาดีมาก เขารับอารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่มันเล็กมากๆ ได้ บางทีบางวันที่เราโกรธ ที่รู้สึกว่าเราก็ไม่ได้แสดงออกอะไร แต่เราหงุดหงิด เขาก็จะเดินมาเซ้าซี้มาอ้อนๆ เพราะเขารู้ว่าเรามีอารมณ์บางอย่างอยู่ เด็กๆ เขาดูผู้ใหญ่ออกหมดแหละ

– บางทีเราก็มีกำหนดกรอบบ้าง แต่อาจจะเป็นกรอบที่มองไม่เห็น เช่น มันจะมีวัยนึงที่ลูกเป็นวัยซุกซน เดินสำรวจนู่นนี่ จริงๆ เรามีกรอบให้เขาได้ แต่เหมือนเรากำหนดพื้นที่ว่า พื้นที่นี้ถ้าอยากทำอะไรทำเลย จะหยิบอะไรมาเล่นก็ได้ เรามั่นใจว่าตรงนี้มันจะไม่อันตราย เหมือนสมัยนี้เขาจะใช้คอกกั้นกัน จะไม่ไปโดนอะไรที่อันตราย อะไรที่ทำร้ายเขาได้ หรือต่อให้มันจะเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมาก็ไม่ถึงตาย เต็มที่ก็แค่มีรอยขีดข่วนนิดหน่อย รับได้ แบบนี้ก็ปล่อยให้เขาทำ เราจะได้ไม่ต้องคอยระวังลูกมาก หาพื้นที่ที่เราไว้ใจว่ามันโอเค ไม่ตาย แค่นั้น ทำไปเลย

ความเป็นแม่

6. ความเป็นแม่และความเป็นตัวเรา ควรเป็นอย่างไร?

======================

– มันเป็นความตั้งใจของเราตั้งแต่ตอนเขียนหนังสือเล่มแรก เราอาจจะไม่ใช่ผู้หญิงทั่วไปที่จะมีภาพฝันของการเป็นเจ้าสาว การเป็นภรรยา การเป็นแม่ วันที่เราเป็นเจ้าสาวเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ขนาดนั้นหรือเปล่า ไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะต้องสวยที่สุดในชีวิต อยากจะเล่าให้ฟังว่าจริงๆ แล้วมันมีอีกมุมนึงที่มันก็ตลกได้ หรือด้นๆ ไปกับมันก็ได้ ไม่งั้นมันจะเครียดถ้าเราไปกดดันกับมันมากเกินไป เราเคยไปเจอเพื่อนที่พอเป็นเจ้าสาวแล้วเขาไม่ใช่เพื่อนเราอีกต่อไปแล้ว มันจะศัพท์ที่เรียกว่า Bridezilla กลายเป็นสัตว์ประหลาดที่ต้องมาคุยกับเพื่อน เพื่อให้ตัวเองเป็นเจ้าสาวที่สวย แต่ทิ้งความสัมพันธ์ทุกอย่างไปหมด ตีกับเพื่อนเพื่อให้ตัวเองดีเด่นในวันแต่ง เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องเสียอะไรทุกอย่างไปหมด มันก็แค่วันๆ เดียวเองนะ

– ชีวิตคู่ก็เหมือนกันก็คือหนังสือเล่มที่สอง บางทีมันก็ไม่ได้โรแมนติกตลอดเวลาขนาดนั้นหรอก พอเรามาเป็นแม่ เราก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน มันก็ไม่ได้อิ่มอุ่นค่าน้ำนมขนาดนั้น เราอาจจะโตมาด้วยการถูก romanticize ความเป็นแม่ แต่เราไม่ได้บอกว่าความเป็นแม่มันไม่ดี มันยิ่งใหญ่ กว่าจะคลอด กว่าจะเลี้ยงออกมา แต่ว่าแม่ก็คือมนุษย์คนนึงที่เปลี่ยนสถานะ มีอีกชีวิตนึงที่เราต้องดูแล ดังนั้นนี่มันคือเรื่องใหญ่นะ เพราะฉะนั้นเราสามารถสติแตกได้นะ เพราะคนทั่วไปเขาไม่มีแบบนี้ นี่เรามีอีกคนที่ต้องดูแล คนทั่วไปเขาใช้ชีวิตตัวลอยๆ ดังนั้นแม่จะเป็นอะไรก็ได้ จะเห็นแก่ตัวบ้างก็ได้ ไม่เป็นไร จะบอกลูกก็ได้ว่าเราก็โกรธ เมื่อวานเราทะเลาะกับลูกก็บอกว่าลูกเสียใจใช่ไหม แม่ก็เสียใจ แม่ก็โกรธ แต่แม่ยังไม่พร้อมจะคุย ก็บอกไปเลยว่าแม่ไม่พร้อม อาจจะรู้สึกว่าแม่ดูควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แต่แม่ก็ทำไม่ได้จริงๆ แม่ขอเวลา ก็บอกกันตรงๆ ไปเลย เพื่อให้เขารู้สึกว่าแม่ก็คือคน แล้วมันเป็นเรื่องปกติมากๆ ที่แม่เป็นผีบ้าก็ได้ แต่ยังพอจะมีสติอยู่นะ คือไม่ได้ไปตีรันฟันแทงใคร แต่แค่เราบอกเขาว่าตอนนี้เรามีอารมณ์แล้วเรายังไม่พร้อมจะคุยด้วย แค่นั้นเอง

– สุดท้ายเราไม่ต้องให้มันถูกต้องเป๊ะ ดีเด่นดีงามไปทั้งหมด ด้วยยุคสมัยความโซเชียลมันเป็นไปได้ ที่คนจะชอบกลัวว่าเดี๋ยวมันจะผิดตำรา เดี๋ยวอัพแล้วมันจะไม่ถูกต้อง ต้องออกตัวไว้ก่อน ที่ฉันทำแบบนี้เพราะว่ามีข้อจำกัดแบบนี้ จริงๆ ไม่เป็นไรหรอก อยากทำอะไรก็ทำ มันเป็นชีวิตของเรา อันนี้เราว่าในมุมความเป็นคุณแม่อยากให้ผ่อนคลายพวกนี้ลง เพราะการเลี้ยงลูกมันยากขึ้นทุกปีจริงๆ ยากในที่นี้คือยากในคนละเรื่อง สิ่งที่เคยยากมันจะหายไป แล้วมันจะมีเรื่องใหม่มาให้ยาก ดังนั้นรักษาตัวเองไม่ให้เป็นบ้าไปซะก่อนจะดีกว่า เพราะเส้นทางมันยังอีกยาวไกล

ความสำคัญช่วงปฐมวัย

7. ความสำคัญของช่วงปฐมวัยของลูก

======================

– 3 ปีแรกของชีวิตสำคัญที่สุด มันคือช่วงที่เด็กฟอร์มความเป็นตัวตน แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสายสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงเขา เลยทำให้เราเห็นพ่อแม่หรืออย่างน้อยเพื่อนเราหลายๆ คนที่เปลี่ยนชีวิตไปเลย อย่างเราก็ลาออกจากงาน หลายๆ คนสามปีแรกคือขอออกมา ซึ่งจริงๆ แล้วในประเทศอื่นๆ มันมีสวัสดิการ มีนโยบายซัพพอร์ตให้พ่อแม่สามารถหยุดงานมาเพื่อเลี้ยงลูกได้โดยที่ยังได้รับเงินเดือนอยู่ ถึงอาจจะไม่ได้เต็มจำนวน แต่ก็แล้วแต่ว่าแต่ละประเทศเป็นยังไง ไม่ใช่แค่แม่ แต่อาจจะเป็นพ่อก็ได้ที่ใช้สวัสดิการแล้วแม่ไปทำงานก็มี

– แต่ในประเทศเรา ทุกคนก็ต้องเสียสละรายได้ของตัวเอง เสียสละความก้าวหน้าในชีวิตตัวเองเพื่อมาเลี้ยงลูก อันนี้เราคิดว่าทุกๆ คนเข้าใจว่า 0-3 ปี มันสำคัญจริงๆ เราเคยไปถามครูคนที่เชี่ยวชาญด้านเด็ก เขาก็บอกว่าอันนี้คือวิทยาศาสตร์ สามารถเขียนลงไปในตำราได้ มันคือความจริง ช่วง 0-3 ปีสำคัญมากจริงๆ และ 0-8 ปี ก็เป็นช่วงที่สำคัญที่เรียกว่าปฐมวัยหรือว่า Early Years เราจะโตมาเป็นแบบไหน คือช่วงนี้ที่ฟอร์มตัวตนของเราในวันนี้ ดังนั้นคนที่พอที่จะให้เวลาได้ พอที่จะเข้าถึงทุกๆ สิ่งที่มันจะซัพพอร์ตให้เราสร้างลูกในช่วงเวลาสำคัญนี้ได้ ทุกคนก็จะทำหมด เช่น คุณแม่มีเวลามากขึ้น ให้เด็กเข้าโรงเรียนที่มีความเข้าใจ ให้เด็กได้เล่น ได้เป็นตัวเอง อะไรแบบนี้ แต่ถ้าเราไม่สามารถเข้าถึงอะไรพวกนี้ได้ มันก็ suffer เหมือนกัน เพราะว่าประเทศเราไม่ได้ซัพพอร์ตอะไรแบบนี้เลย อาจจะมีบ้างแต่ว่าก็ยังไม่ได้ 100%

มีลูกดีไหม

8. จะมีลูกหรือไม่มีลูกดี

======================

– ก่อนอื่นต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าอยากมีลูกเพื่ออะไร มันมีหลายเหตุผลมาก บางคนก็มีลูกเพื่อสืบสกุล อันนี้คือเหตุผลพื้นฐานตั้งแต่ดั้งเดิมคือมีเพื่อสืบเชื้อสาย DNA ของเราไป บางคนก็ต้องมีลูกเพราะว่ามันต้องมีกิจการที่ต้องสืบทอด หรืออย่างของเรา เราแค่คิดว่าชีวิตนี้เกิดมาก็ต้องอยากรู้ว่ามีลูกเป็นยังไง ไม่งั้นมันก็จะตายไปโดยที่ไม่รู้ว่าการเลี้ยงลูกเป็นยังไง ไหนๆ ก็มีโอกาสแล้วเอาซะหน่อย รู้สึกว่าอยากเห็นการเติบโตของคน อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงหลังๆ ก่อนที่จะมีลูก เรามาสนใจประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา เรื่องคน เรื่องเด็ก พอเราอ่านเยอะๆ เราก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างที่เขาเขียนหรือเปล่า ก็เลยมี เหมือนเป็นโปรเจคทดลองของตัวเอง ดังนั้นถ้าถามว่าจะมีอีกคนไหม ก็ไม่ เพราะว่าได้ลองมีแล้ว

– เรื่องเงิน มันต้องตอบตัวเองให้ได้ เพราะในประเทศเรา เราจะได้ในสิ่งที่ดีเมื่อเรามีเงินจริงๆ ทุกอย่างต้องใช้เงิน เริ่มตั้งแต่ท้อง ฝากครรภ์ คลอด คนในเมืองส่วนใหญ่ก็ต้องไปโรงพยาบาลเอกชนเพื่อความสบายใจ มันใช้เงินทั้งหมดเลย แล้วยิ่งใช้เงินเยอะก็จะยิ่งสบายใจว่ามันจะดี จะได้บริการที่ดี พอมีลูกขึ้นมามันก็จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย อุปกรณ์ต่างๆ เราพร้อมหรือเปล่าที่จะเสียเงินตรงนี้ไปเป็นจำนวนเยอะ โรงเรียนที่เรารู้สึกว่าเราไว้ใจได้ว่าครูจะไม่ตบตีลูก กับค่าใช้จ่าย ค่าเทอม โรงเรียนอินเตอร์เทอมละแสนสองแสน ไหวไหม

– เรื่องเวลา เราพร้อมที่อาจจะต้องเสียสละชีวิตบางด้านไปหรือเปล่า อย่างเช่น ก่อนหน้านี้ตอนค่ำๆ เราอาจจะไปดินเนอร์ล่องเรือสวยๆ อะไรก็ได้ แต่ตอนนี้คือเราต้องเอาลูกเข้านอน หรือว่าหนังตอนนี้อยากดูในโรงก็ไม่ได้ไปดูสักที มันจะมีเวลาอะไรของมันอยู่ที่ชีวิตส่วนตัวเราจะหายไป เราจะไม่สามารถไปเที่ยวเชิดฉายอยู่ริมทะเล ใส่บิกินี่ คือยังทำได้อยู่แหละ แต่ก็ต้องมีลูกนั่งอยู่ด้วยริมชายหาด ต้องเดินไปดูลูกไปด้วย มันมีรายละเอียดอะไรพวกนี้อยู่ พร้อมหรือเปล่าที่จะสูญเสียเวลาเหล่านี้ไป

– เรื่องความห่วงลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่จะรู้สึกว่า แล้วอีกห้าปีมันจะเป็นยังไง โลกข้างหน้าที่ลูกจะไป อย่างตอนนี้อยู่ดีๆ ก็มีสงครามเกิดขึ้น แล้วจะยังไงต่อ โลกตอนนี้มันมีความผันผวนเยอะมาก เรามองภาพเอาไว้ยังไง แล้วบวกกับบ้านเมืองที่ไม่ซัพพอร์ตอะไรเราเลยสักอย่างเดียว เราจะเครียดหรือเปล่า บางทีเราเห็นเพื่อนบางคนถ้าจะมีลูกก็คือขอไปมีที่ประเทศอื่น ซึ่งเราก็เห็นด้วยนะ คือถ้าไปที่อื่นเหมือนเขาซัพพอร์ตทุกอย่างหมด ค่าเรียน ค่าใช้จ่าย มีนู่นนี่ให้ มันก็มีที่ๆ เหมาะกว่าในการที่จะมีลูก

– มันจะชอบมีคำพูดของคนที่มีลูกแล้วว่า เพียงหันไปมองรอยยิ้มของลูกก็หายเหนื่อยเลย อยากจะบอกว่ามันก็ไม่ได้จริงขนาดนั้น เหนื่อยก็คือเหนื่อย ลูกยิ้มก็คือลูกยิ้ม ลูกยิ้ม ใช่มีความสุข แต่พอหันกลับมาเราก็ยังเหนื่อยเหมือนเดิมนั้นแหละ อย่าไป romanticize กับอะไรมาก ส่วนที่มีความสุขก็มีความสุข ส่วนที่เหนื่อยก็คือเหนื่อยจริงๆ

วิธีการเลี้ยงลูก

9. วิธีการเลี้ยงลูกให้รับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

======================

– แต่ก่อนเราก็พยายามจะตามให้ทันทุกเรื่อง แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มปล่อยแล้วเพราะตามหมดไม่ทัน เรารู้สึกว่าในความไม่แน่นอน สุดท้ายต้องกลับมาหาอะไรที่มันเป็นพื้นฐานที่คิดว่าเราทำได้

– ข้อแรกคือสายสัมพันธ์ สายสัมพันธ์ที่มีกับพ่อแม่ต้องดีที่สุด เพราะว่าไม่ว่าลูกจะเจออะไร ไม่ว่าจะดีหรือจะร้าย วันที่เขามีความสุขที่สุดเขาก็จะอยากเดินมาบอกเรา วันที่เขาเสียใจที่สุดเขาก็อยากจะเดินมาบอกเรา เรารู้สึกว่าอันนี้สำคัญที่สุด สองคือตัวตนของลูก และสามคือ EF (Executive Functions) ความสามารถที่จะกำกับความคิด การยืดหยุ่นตัวเอง

– สามสิ่งนี้สำคัญมาก พวกสกิลอื่นๆ ทั้งหลาย มันสามารถไปเรียนเพิ่มเติมเองได้ ถ้าเขารู้ตัวว่าเขาขาด หรือเมื่อไปเจอกับปัญหาที่หน้างาน สมมุติโลกข้างหน้ากำลังโดน AI ยึดครองอำนาจจากมนุษย์ไป เมื่อถึงจุดนั้นแล้วเขาคิดว่าทางแก้ปัญหาของเขาคืออะไร เขาต้องคิดให้ออก เรารู้สึกว่าเราอยากเห็นลูกเป็นคนแบบนั้น ซึ่งเราถามเขาตอนนี้เขาไม่รู้หรอก เราก็ไม่รู้ตอบให้เขาไม่ได้ แต่ว่าเมื่อถึง ณ หน้างานตอนนั้น เมื่อโลกจะโดนหุ่นยนต์ยึดครองแล้ว ถ้าเขาสามารถตั้งรับมือหาทางออกกับมันและยืดหยุ่นตัวเองได้ สุดท้ายคือสมมุติไปออกรบกับ AI แล้วแพ้ ก็คือเดินมาบอกว่าแม่ หนูแพ้ เราโอเค เรารู้สึกว่าอะไรที่เป็นพื้นฐาน รากฐานเหล่านี้ ไม่ว่าเขาจะเจออะไร มันจะไปได้ แล้วเดี๋ยวถ้าเขารู้สึกว่าตัวเองขาดอะไร เดี๋ยวก็จะไปเรียนเพิ่มได้ มันมีความรู้อยู่มากมาย สมัยนี้เราเรียนทุกอย่างได้ในอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาความรู้

– คนเราจะโตได้มันต้องมีใครสักคนให้นึกถึง อาจจะไม่ใช่แม่ก็ได้ อาจจะเป็นใครก็ได้จริงๆ ไม่งั้นมันจะเหงามาก เวลาเราเจอเรื่องอะไรดีๆ มาแล้วจะบอกใครดี มันต้องมีหนึ่งคนที่เราอยากจะเล่าอะไรพวกนี้

เลือกโรงเรียนให้ลูก

10. แนวทางในการเลือกโรงเรียนให้ลูก

======================

– โรงเรียนเล็กๆ กลายเป็นสิ่งที่พ่อแม่ในช่วงปีสองปีนี่ให้ความสำคัญมากเพราะโควิด พอมีโควิดโรงเรียนใหญ่ๆ พังหมดเลย ไม่สามารถเปิดโรงเรียนได้ ต้องเรียนออนไลน์ ต้องสลับวันเรียน มันบริหารจัดการยากมาก แต่อย่างโรงเรียนลูกเรามันเล็กมาก ห้องนึงจะมีประมาณ 24 คน แล้วก็แบ่งเป็นสามบับเบิ้ล บับเบิ้ลละ 8 คน ก็คือเปิดเทอมได้ปกติตั้งแต่เขาเริ่มปล่อยให้ไปโรงเรียนได้จนถึงตอนนี้ อาจจะมีเคสเกิดขึ้นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ก็คือปิดบับเบิ้ลไป ไม่ได้รู้สึกว่าเดือดร้อนอะไร

– พอเป็นโรงเรียนเล็กแล้วมันง่ายจริงๆ เราได้คุยกับผู้ปกครองเร็วๆ นี้ว่าเขาจะไปต่อ ป.1 ที่ไหน เรื่องความเป็นโรงเรียนเล็กมีผลต่อการเลือกมาก เหมือนคุณแม่ก็บอกว่าที่เลือกที่นี้เพราะมันเล็กดี มีเด็ก 30 คนทั้งรุ่น มันง่าย เขารู้สึกว่าสบายใจถ้ามันมีโรคระบาดหรืออะไรอีก มันจะไม่ได้เป็นอะไร เพราะเรารู้สึกว่าสมัยก่อนเราเรียนโรงเรียนใหญ่ๆ เพราะอาจจะได้ connection ต้องไปเรียนโรงเรียนนี้เท่านั้นนู่นนี่ แต่สมัยนี้ connection อาจจะไม่ได้ต้องเกิดในโรงเรียนแล้ว เราเจอ connection ได้มากมายตามโซเชียล เปิด Tinder ก็ได้ connection แล้ว มันมีช่องทางที่เราจะได้รู้จักผู้คนอยู่ อาจจะไม่ได้มาจากแค่โรงเรียน

– ถ้าเป็นในแง่หลักสูตร เด็กเล็ก เด็กอนุบาล เดี๋ยวนี้เขาจะฮิต home school กัน ซึ่งเราว่าจริงๆ เด็กเล็กก็ไม่ต้องการอะไรหรอก เขาต้องการแค่พ่อแม่เล่นกับเขาแค่นั้นแหละ ถ้าเราทำได้ ถ้าเรามีเวลาให้เขาแล้วเราจะไม่เครียด ไม่ได้อึดอัดที่จะต้องอยู่กับลูกทั้งวัน ก็ทำก็ได้ ยิ่งถ้ามีโควิดแล้วเราจะต้องมานอยด์ว่าเดี๋ยวลูกจะไปติดหรือเปล่า ก็ทำ home school ก็ได้ แต่เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ต้องทำงาน มีติดธุระ ก็รู้สึกว่าพอแล้ว อยากจะเอาลูกออกไปจากตัวบ้าง อย่างเราที่เลือกโรงเรียนทางเลือก เพราะเราก็ไม่พร้อมจะที่ไว้ใจโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนทางเลือก ดังนั้นเราก็ต้องเลือกโรงเรียนที่เราส่งลูกไปแล้วเราไม่ต้องถามอะไรคุณครูอีก แต่ว่าในอนาคตอาจจะกลับไป mainstream ก็ได้นะ เพราะว่าอาจจะไม่มีเงินแล้ว แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดในช่วง 8 ปีแรกของเขาที่เป็นช่วงสำคัญจริงๆ เรารู้สึกว่าเราจะทะนุถนอม จะทำให้มันดีที่สุด ถ้าเรายังมีกำลังอยู่ ก็อยากให้เขาได้รับประสบการณ์ที่มันจะสร้างตัวตนเขาได้ดีที่สุดอยู่ แล้วหลังจากนั้นเราเชื่อว่าไม่ว่าเขาจะเข้าไปในระบบหรืออะไรก็ตาม เขาน่าจะต่อสู้ได้ เพราะถ้าฐานเขาไม่ดีแล้วเขายังต้องไปเจอระบบที่มันมากดทับ มาแย่กับเขาอีก เรากลัวว่าเขาจะเป๋

– ส่วนถ้าโรงเรียนทางเลือกก็มีหลายแบบ จะมีทางเลือกที่เขาใช้ในการเรียนการสอนแตกต่างกัน เช่น มีโรงเรียนแนว Montessor, Reggio Emilia, วิถีพุทธ, Project Approach อันนี้ก็ต้องแล้วแต่จริตของพ่อแม่ว่าเราโอเคกับแบบไหน อย่างเพื่อนเราบางคนก็เคยไปลองโรงเรียนบางสาย พอเข้าไปแล้วก็รู้สึกไม่ใช่ ไม่ไหว แล้วก็ออกก็เป็นไปได้ อย่างของเรา เราแค่เชื่อในคุณครู เพราะเราได้เคยไปคุย เคยสัมภาษณ์กับคุณครูจริงๆ เขาก็ไม่ได้ใช้หลักการอะไรซับซ้อนวุ่นวายเลย แค่ว่าเขารักเด็ก เขารู้ว่าเด็กๆ ควรจะโตแบบไหน แล้วให้โอกาสเด็กเติบโตแค่นั้นเอง พวกหลักการ วิธีการคำสวยหรูทั้งหลายมันเป็นเรื่องรอง แต่พอเห็นหัวใจของการจัดการศึกษาให้เด็กแล้ว เราเชื่อ เราก็เลือกที่นี่

– แต่พวกวิถีใดๆ ก็มีผลที่จะทำให้เราต้องตัดช้อยส์อะไรบางอย่างออกไปได้ อย่างโรงเรียนลูกเราเขาจะไม่ได้สอนวิชาการอะไรเลย จริงๆ ไม่มีการเขียนอะไรทั้งสิ้น นี่กำลังจะเรียนจบอนุบาลหนึ่งเขาพึ่งรู้จักเลข 1 ถึง 10 อาจจะดูช้ามาก แต่เรารู้สึกว่าเราเห็นคอนเซ็ปต์บางอย่าง เช่น ตอนนี้เขาเริ่มเห็นตัวเลขแล้วจะรู้ว่าอันนี้ 1 อันนี้ 2 อันนี้ 3 แล้ววันก่อนไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวกันข้างนอกแล้วเขาก็บอกว่าโต๊ะนั้นมี 4 คน ตอนนี้นางเห่อนับก็นับ โต๊ะเรามี 3 คน แล้วเขาก็บอกว่าถ้านั่งด้วยกันก็จะเป็น 7 คน เราก็รู้สึกว่าการบวก เออมันแค่นี้เลย เขาเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการบวกแล้ว จบ ไม่ต้องเอาการบ้าน ไม่ต้องเอาสัญลักษณ์บวกอะไรมาเขียน เขารู้แล้วว่านี่คือการบวก ไปประถมแล้วเดี๋ยวก็ค่อยเรียน เราคิดว่าอันนี้คือผลสัมฤทธิ์ที่เรามองเห็นว่า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนเขียนกระดานเหมือนสมัยตอนเราเรียนมา แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์มันรู้ มันโตได้ เขาไม่รู้ตัวหรอกว่านี่เขากำลังบวกเลขอยู่ แต่เรารู้แล้วเราก็แบบ อุ้ยลูกเราอนาคตไกล แค่นั้นเอง เราว่ามันง่ายๆ

โรงเรียนอนุบาลในไทยกับต่างประเทศ

11. โรงเรียนอนุบาลในไทย VS ต่างประเทศ ต่างกันอย่างไร?

======================

– ถ้าในต่างประเทศโรงเรียนอนุบาลจะเป็นโรงเรียนที่ให้เด็กมาเป็นเด็ก มาใช้ชีวิต มาเล่น มาฝึกระเบียบวินัย อันนี้คือพื้นฐานเลย ถ้าไปดูญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ประเทศที่เรามองเขาเป็นไอดอลด้านการศึกษา โรงเรียนอนุบาลจะมาในรูปแบบนี้ เหมือนเป็นหมู่บ้านเด็ก ให้เด็กมาใช้ชีวิตร่วมกัน อันนี้คือโรงเรียนของรัฐที่เรียนได้ฟรีเลย แล้วจะมีโรงเรียนทางเลือกเฉพาะทางคือแนว Waldorf, Montessori หรือ Forest school ไปเลย เป็นโรงเรียนทางเลือกที่พ่อแม่ชอบแบบนี้ เชื่อในแนวทางแบบนี้จึงส่งลูกไปเรียน

– แต่ว่าในประเทศเราจะไม่เหมือนกัน เอาแค่อนุบาล โรงเรียนทางหลักคือโรงเรียนที่สอนวิชาการ ให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เตรียมความพร้อมเพื่อขึ้น ป.1 มีการสอบตอนอนุบาล 3 เพื่อขึ้นป.1 ที่เขาเถียงๆ กันช่วงนี้คือการสอบ RT (Reading Test) ที่เป็นการวัดเรื่องทักษะในการอ่านของเด็กป.1 ซึ่งก็จะมีความขัดแย้งนิดหน่อยว่าจริงๆ แล้วเด็ก ป.1 ก็คือเด็กที่ยังเป็นปฐมวัยอยู่ ทำไมเราจะต้องมาทดสอบการอ่าน เลยทำให้โรงเรียนทางเลือกในประเทศเรามันแบ่งออกเป็นสองทาง

– แบบที่หนึ่งคือ โรงเรียนทางเลือกที่มีแนวทางชัดเจน เช่น แนว Waldorf (โรงเรียนอนุบาลบ้านรัก, โรงเรียนปัญโญทัย) แนว Montessori (โรงเรียนอนุบาลกรแก้ว) แนววิถีพุทธ (โรงเรียนทอสี, โรงเรียนรุ่งอรุณ) หรืออื่นๆ ที่เชื่อในแนวทางของตัวเอง

– แบบที่สองคือโรงเรียนที่เชื่อในการได้ปล่อยให้เด็กได้เล่น ได้ explore ตัวเอง กลายเป็นว่าโรงเรียนทางเลือกของประเทศเรา คือโรงเรียนที่ไม่ต้องเรียนวิชาการ อย่างโรงเรียนลูกเรา แนวทางของเขาคือให้ความสำคัญกับพัฒนาการสี่ด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา สติปัญญาไม่ได้เท่ากับวิชาการ สติปัญญาคือความสามารถในการคิด แก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่บวกลบคูณหาร อันถัดมาคือ ตัวตน (Self) และอันสุดท้ายคือ EF (Executive Functions) คือทักษะสมองส่วนหน้าที่ทำงานเรื่องการควบคุม ยืดหยุ่นความคิดอะไรก็ตาม อันนี้คือหกสิ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญเท่านั้นและคิดว่ามันคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเติบโตขึ้นไป

– ส่วนคำว่าวิชาการ คำว่าไม่มีเรียนอะไรพวกนี้เลย เราว่ามันคือเมื่อกี้อย่างที่เราเล่า เช่น การบวกลบคูณหาร มันคือวิชาการใช่ไหม แต่มันไม่ได้ถูกเรียนแบบตั้งขึ้นมาบนกระดาน แล้วให้เด็กๆ มาเรียนกัน แต่มันเป็นการเรียนเนียนๆ ไป ผ่านเพลงหรือกิจกรรมบางอย่างที่ถูกออกแบบมาให้เด็กได้ซึมซับ เอาคอนเซ็ปต์ของหลักการเหล่านั้นเข้าไปในตัวเอง อันนี้มันคือวิชาการหรือเปล่า ที่เราถามหากัน เขาอ่านได้ไหม ไม่ได้ แต่เขารู้ชื่อ เขาจำทุกอย่างเป็นภาพได้ เขาสามารถจำสัญลักษณ์บางอย่างที่ให้เอาชีวิตรอดได้ เช่น ถ้าไปเข้าห้องน้ำเขาจะรู้แล้วอันนี้ห้องผู้หญิง อันนี้ห้องผู้ชาย อันนี้สัญลักษณ์ตัวเลข สัญลักษณชื่อเพื่อนของเขา ให้เดินไปหยิบของเพื่อนคนนี้ เขาเดินไปหยิบได้ มันจะถูกเนียนๆ ซีมๆ เข้าไป เพราะโรงเรียนเหล่านี้จะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญในวัยนี้ ยังไม่ใช่การบวกลบคูณหาร หรือแม้กระทั่งการเขียน การเขียนของเด็กวัยนี้ที่โรงเรียนจะมีมุม free writing คือเขาได้เขียน แต่ว่าเด็กวัยนี้กล้ามเนื้อเขายังไม่พร้อมที่จะเขียน กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง ดังนั้นถ้าเราให้เขาเขียนในวัยนี้เขาจะเมื่อย เหมือนเราเล่นกีฬาแล้วเราไม่ได้วอร์ม กล้ามเนื้อเรามันไม่พร้อม มันก็ทำไม่ได้ เขาก็จะเบื่อและไม่อยากเขียน แล้วก็เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาเขียนมันคืออะไร ทำไมต้องเขียนประโยคแบบนี้ด้วย อย่างที่โรงเรียนลูกเราถ้าอยากจะเขียนอะไรเขียนไปเลย แล้วคุณครูจะมีหน้าที่จดบันทึกให้ว่าสิ่งที่เขาคิดมันเป็นยังไง มันค่อยๆ สเต็ปแต่พออยู่อนุบาล 3 ปุ๊บ ก็เห็นเขียนกันได้นะ บางคนอ่านก็คืออ่านได้เลย เขาอ่านได้ แต่ถึงเวลาเขาก็จะอยากหยิบมาให้เราอ่านอยู่ดี เพราะเราอ่านได้เร็วกว่า แล้วมันจะสอดคล้องไปกับการที่เราอยากให้ลูกเป็นเด็กรักการอ่าน แต่ว่าถ้าเราเร่งให้เขาอ่านตั้งแต่เขายังเล็กมากๆ การอ่านมันไม่ใช่ทักษะที่ง่าย กว่าที่เราจะผสมคำได้สักคำนึงอ่าน อ่านได้ย่อหน้านึงก็คือเหนื่อยแล้ว ดังนั้นสำหรับเด็กเราอ่านให้เขาฟังดีที่สุด เพราะมันสนุก เขาฟังเรื่องราวต่อเนื่องได้ แต่อย่าโยนหนังสือไปให้เขาอ่าน เพราะมันจะทำให้เขารู้สึกว่ากว่าจะอ่านจบเหนื่อยมาก งั้นไม่อ่านแล้วละกัน แล้วทัศนคติของเขาต่อหนังสือมันจะเปลี่ยนไปเลย

– วัยเด็กมันจึงไม่ใช่การที่เขาทำได้ทุกอย่างแล้วเท่ากับคนเก่ง แต่มันคือการเติมอะไรเข้าไปในตัวเขาเพื่อให้เขาพร้อมสำหรับอนาคต ในที่นี้หมายถึงเด็กอนุบาลนะ แต่เท่าที่เคยถามเด็กวัยประถมที่เขาไปต่อกัน ช่วงประมาณสองเทอมแรกเขาจะ suffer มาก ยังเขียนไม่ได้ แต่พอเทอมสุดท้ายก็คือเขียนได้เป็นพารากราฟเหมือนกัน มันจะพรั่งพรูออกมาเมื่อเขาพร้อม เพราะเขามีวัตถุดิบเยอะมาก เขาคือเด็กที่มีของ แต่ยังไม่รู้ว่าจะปล่อยยังไง ระบบการศึกษาบ้านเรามันอาจจะสร้างเด็กที่ไม่มีของ แต่ว่าปล่อยได้ เขียนได้ สื่อได้ แต่ว่าไม่มีอะไรจะออก ไม่มีอะไรเอาออก ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มนึงเหมือนโซดาที่ถูกเขย่าสุดๆ แล้วถึงวันที่เขียนได้ อ่านได้ แล้วเขาก็จะไปได้

– เรามีรุ่นน้องเราหลายๆ คนที่จบมาจากโรงเรียนทางเลือกก็สอบเข้ามหาลัยได้นะ สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่ว่าไม่เรียนวิชาการ แต่มันเริ่มต้นมายังไงมากกว่า แล้วโลกตอนนี้มันมีวิธีการเรียนที่เปลี่ยนไปแล้วในหลายๆ วิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ จะมีการเรียนแบบ open approach คือการเรียนคณิตศาสตร์ที่หาวิธีการที่หลากหลาย ไม่ได้เน้นที่คำตอบ มาช่วยกันหาว่าโจทย์แบบนี้แก้ปัญหาแบบไหนได้บ้าง เพื่อให้เด็กเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลาย แต่ไม่ใช่แบบสมัยเราที่จะมีวิธีการเดียวเท่านั้น อันนี้เท่ากับอันนี้ โลกมันเปลี่ยนไปประมาณนึง โรงเรียนทางเลือกจึงไม่ได้หมายความว่าไม่เรียนเลย ในความรู้สึกของเด็กมันอาจจะไม่ใช่การเรียน มันคือการไปใช้ชีวิต แต่สุดท้ายเขาถูกติดอาวุธมาแล้ว แต่เราจะไม่เห็นจนกว่าจะถึงเวลา เราถึงจะเห็น

– คิดว่ามันยังไม่ใช่เรื่องที่สำคัญในวัยนี้ มันมีเรื่องที่สำคัญกว่าการอ่านออกเขียนได้ เราว่าให้เขาเป็นมนุษย์ที่ฟังก์ชั่นก่อน แล้ววิทยาการ ศาสตร์ทั้งหลายมันจะมาได้เอง แต่ยังไม่ต้องเป็นตอนนี้ก็ได้

ฝากส่งท้าย การเลี้ยงลูก

12. ฝากส่งท้ายเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก

======================

– เราชอบมากเวลาคนที่ไม่มีลูกมาฟังรายการของเรา มีคนที่ไม่มีลูกเยอะมากเลยนะที่ฟังแล้ว inbox มาถามคำถาม เพราะว่านี่คือความตั้งใจของเราเลย อยากให้คนที่ไม่มีลูกได้ฟัง เพราะเรื่องของแม่ เรื่องของเด็กคือเรื่องของทุกคน มันคือเรื่องที่คนทั้งสังคมต้องช่วยกันเลี้ยงเด็ก ดังนั้นถ้าแค่แม่ฟังอย่างเดียวมันมีประโยชน์ แต่มันไม่ครบ เคยมีอันนึงที่ประทับใจมากเป็นน้องคนนึง inbox มาว่าพี่ที่ทำงานท้อง แล้วหนูควรจะทำยังไงดีเพื่อที่จะดูแลเขา หนูจะซัพพอร์ตพี่เขายังไงได้บ้าง เรารู้สึกว่ามันน่ารักมากเลย เราจะเข้าใจคนที่ทำงานของเราที่เขาท้องยังไง เราว่าอันนี้มันคือความน่ารักของคน ที่พอเราอยากจะเข้าใจคนอีกคนที่เขามีภาวะใหม่คือการเป็นแม่เกิดท้องขึ้นมา แล้วเดี๋ยวองค์ความรู้เหล่านี้มันจะไปเอง

– ถ้าคุณเป็นคุณแม่ก็ขอให้เอ็นจอยกับความเป็นแม่ แต่อย่าลืมความเป็นตัวเองด้วย อย่าให้ตัวเองหายไป อย่าให้ความเป็นแม่มาทำให้ตัวตนของเราหายไป คุณพ่อด้วย

– ฝากรายการ The Rookie Mom คุณแม่มือสมัครเลี้ยง ทางช่อง Salmon Podcast มีตอนใหม่ทุกวันจันทร์ ฟังได้ทุกช่องทางของพอดแคสต์ และร้านหนังสือตราเด็กส่งกระต่าย BooksBunny ก็เข้าไปดูได้ เราค่อนข้างเชื่อในการซื้อของขวัญให้พ่อแม่และเด็ก ซื้อหนังสือดีที่สุดเพราะว่ามันอยู่ได้นาน และเป็นหนังสือที่เราเลือกแล้วว่าเป็นหนังสือที่เราชอบจริงๆ เลยเลือกเอามาขายก็เลยคิดว่ามันก็โอเคประมาณนึง ตอนนี้มีหน้าร้านอยู่แถวตลิ่งชัน ซอยอัศวพิเชษฐ์16 อยู่รั้วเดียวกันโรงแรมมหัศจรรย์ CREAM Bangkok ซึ่งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมของเด็กๆ อยากชวนให้ลองมาเหมือนกัน แล้วก็มีเพจที่เขียนชื่อ Nidnok ก็ฝากติดตามกันได้

สรุปจาก 📝WIM EP.60: “การเลี้ยงลูก” เลี้ยงอย่างไรให้โตเป็นสิ่งที่เขาชอบ 👶🏻

(ฟังวิดีโอตัวเต็มได้ที่: https://bit.ly/350Bpqm)
======================
Speaker: คุณนิดนก Phanidchanok Damnoentam
– นักเขียนและเจ้าของเพจ NidNok
– โฮสต์รายการ The Rookie Mom พอดแคสต์
– เจ้าของ BooksBunny ร้านหนังสือตราเด็กส่งกระต่าย
– Creative at M.O.M
======================
Moderator: พี พนิต P Panit
======================
Date: 3 March 2022 (21:00-22:45)
Host: วันนี้สรุปมา
#การเลี้ยงลูก #Kids #Nidnok #TheRookieMom #SalmonPodcast #BooksBunny #MOM #WhyItMatters #วันนี้สรุปมา #todayinoteto