แชร์ประสบการณ์นักวาดการ์ตูน ทำไม “นักวาดการ์ตูน” ถึงสำคัญ

นักวาดการ์ตูน

 

สารบัญ

1. นักวาดการ์ตูนคืออะไร

  • – การ์ตูนคือภาพวาดลายเส้น 2 มิติที่มีการตัดทอนรายละเอียดเพื่อนำมาใช้ในการเล่าเรื่อง นักวาดการ์ตูนก็คือผู้ที่เชี่ยวชาญในการวาดภาพพวกนี้ สามารถเล่าเรื่อง สื่อสารสิ่งใดสิ่งหนึ่งออกมา
  • – การ์ตูนสมัยก่อนเริ่มต้นจากการวางบนฝาผนังหรือกระดาษ ในแรกเริ่มก็จะเป็น 2 มิติ แต่พอสมัยนี้ก็จะเริ่มเป็น 3 มิติ เช่นการ์ตูน Pixar ของ Disney

2. จุดเริ่มต้นของการ์ตูน

  • – ถ้าย้อนกลับไปมาจากยุคโบราณสมัยเก่าจะเริ่มจากภาพโบราณฝาผนัง เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น การมีอยู่ของจิตรกร
  • – ถ้าเป็นการ์ตูนเลยมีกำเนิดมาจากช่วงศตวรรษที่ 13 ยุคสมัย Renaissance คำว่า “cartoon” มีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลี คำว่า “cartone” แปลว่ากระดาษพื้นใหญ่ ซึ่งในยุค Renaissance จะมีศิลปินทั้งราฟาเอล, ไมเคิล แองเจโล, เลโอนาร์โด ดา วินชี ที่วาดภาพศิลปะแนว Fresco เป็นจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งคำว่า cartone ก็มาจากคำว่าภาพแผ่นใหญ่ๆ จากยุคนั้น เป็นรากศัพท์ของคำว่า cartoon
  • – ถ้าในญี่ปุ่นยุคเฮอัน จะมีคัมภีร์ม้วนที่เป็นรูปสัตว์ที่อากัปกิริยาเหมือนคน ซึ่งพบในช่วงศตวรรษที่ 12-13 ช่วงเดียวกับยุค Renaissance ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นจุดเริ่มต้นของมังงะญี่ปุ่น เพราะมีการเล่าที่ค่อนข้างแฟนตาซีและตลกโปกฮา ไม่ได้เป็นสัตว์ที่สมจริง แต่เป็นลายเส้น เดินสองขา นั่งทำท่าเหมือนเป็นมนุษย์ในยุคนั้น
  • – พอมายุคเอโดะ คุณโฮคุไซที่วาดภาพคลื่นญี่ปุ่น มีหนังสือที่เรียกว่าโฮคุไซมังงะขึ้นมา ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นภาพที่เล่าเรื่องและวาดภาพเกี่ยวกับคน พืช สัตว์ หรืออุปกรณ์ในการดำเนินชีวตประจำวันของผู้คนในสมัยนั้น มีภาพวาดเชิงล้อเลียน ภาพวาดภูติผีญี่ปุ่น กัปปะ แต่จะไม่ได้มีคำพูดเยอะ ดังนั้นหนังสือสมัยก่อนจะเป็นภาพวาดที่เล่าโดยที่ไม่ต้องใช้ตัวหนังสือมาก
  • – จะเริ่มมีคำพูดมากขึ้นในยุคสงครามในศตวรรษที่ 18 ช่วงที่มีสงครามหรือหลังสงคราม บ้านเมืองระส่ำระส่าย จะมีการวาดภาพล้อเลียนการเมือง ช่วงชีวิตของคนในยุคนั้น ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น หรือไทยเองก็มีเหมือนกัน

3. จุดเริ่มต้นของนักวาดการ์ตูน

  • – ถ้าในยุคเก่าๆ จะไม่ได้มีบันทึกขนาดนั้น แต่ถ้าในญี่ปุ่นจะมีประวัติเรื่องนี้เยอะ ยุคเมจิ จะมีคุณคิตาซาว่า ราคุเทน เป็นนักวาดการ์ตูนแนวล้อเลียน โดยได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนฝรั่ง จะมีการวางช่อง 4-6 ช่อง และมีการล้อเลียน ในยุคนั้นที่ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลตะวันตกมา เขียนว่าบ้านเมืองมีอะไรที่เป็นตะวันตกเข้ามา หรือไม่ชอบความเป็นฝรั่งตรงไหน เป็นการ์ตูนที่ค่อนข้างจิกกัด ค่อนข้างจะต่างจากคุณโฮคุไซ ที่วาดภาพสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันหรือที่สิ่งสนใจ เช่น พืช คน คลื่น วิวทิวทัศน์ในสมัยนั้น ที่มันดูจรรโลงใจ แต่พอมาเป็นคุณราคุเทน จะมีการเขียนที่ต่างไป สะท้อนสังคม จิกกัดบ้านเมือง หรือวิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุคนั้น อัพเดทความเป็นไปของโลกใบนี้ ซึ่งมีความแตกต่างกันในสองคนนี้
  • – การ์ตูนก็มีการพัฒนา เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างเหมือนก่อนจะเป็นอะไรที่จรรโลงใจ แต่พอมีเหตุการณ์บ้านเมืองระส่ำระส่าย มีการขัดแย้ง ก็จะมีการ์ตูนที่มันเป็นแนววิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น หรือว่าทำเพื่อโลกใบนี้มากขึ้น มีบันทึกว่าคุณราคุเทนก็มีการเขียนตัวหนังสือไว้เหมือนกัน หลังจากนั้นก็จะเป็นยุคทองของญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีอาจารย์เท็ตสึกะ โอซามุ ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น เป็นคนที่พลิกโฉมวงการมังงะญี่ปุ่นให้พัฒนาจนปัจจุบัน
  • – อาจารย์เท็ตสึกะ ก็จะมีวิธีการเล่าที่น่าสนใจมากขึ้นกว่ายุคเก่า จะมีพลังและเล่าการ์ตูนออกมาเหมือนภาพยนตร์ เวลาอ่านแล้วรู้สึกน่าสนใจ ตื่นเต้น น่าติดตามไปจนจบเรื่อง สมัยก่อนอาจจะไม่ได้มีวิธีเล่าที่พลิกแพลงขนาดนี้ อาจารย์เลยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พลิกโฉมวงการมังงะ

4. ประเภทของนักวาดการ์ตูน

4.1 แบ่งตามลักษณะงานหรือการนำเสนอ

*1. นักวาด Comic
– เป็นการ์ตูนที่เป็นช่องๆ แบ่งไปอีกว่าเป็นแบบ 4 ช่องจบ จบในหนึ่งตอน หรือจะเป็นซีรีส์ยาวที่ออกมาทีละตอนเหมือนเรื่อง One Piece, Naruto

*2. นักวาด Graphic Novel
– เป็นการ์ตูนเล่าเรื่องจบในเล่มเดียวเหมือนการอ่านนิยาย เล่มจะหนาๆ จะใช้เวลาในการอ่านเยอะกว่า

*3. นักวาดภาพประกอบ
– เล่าแค่ภาพหรือเป็นการ์ตูนใบ้ วาดแต่รูปที่ไม่มีตัวหนังสือ แต่สามารถสื่อสารได้

4.2 แบ่งตามภาษาที่เรียก

*1. Comic – อเมริกากับยุโรป
*2. มังงะ – ญี่ปุ่น
*3. มังฮวา – เกาหลี

– คำว่ามังงะกับมังฮวา จริงๆ แล้วตัวจีนของญี่ปุ่นกับเกาหลี เขียนเหมือนกัน แต่แค่อ่านคนละแบบ
– ซึ่งจริงๆ ทั้งหมดแล้วเหมือนกัน แค่เรียกคนละแบบ ไม่ได้มีลายเส้นกำหนดตายตัวของแต่ละประเทศ แต่ก็จะมีแนวๆ ที่เขาชอบกัน

4.3 แบ่งตามประเภทเหมือนภาพยนตร์หรือซีรีส์

– วาดการ์ตูนแนวโรแมนติก แนวดราม่า แนวสืบสวน แนวกีฬา ส่วนใหญ่นักวาดการ์ตูนก็จะมีความถนัดในเรื่องๆ นั้น

4.4 แบ่งตามกลุ่มคนอ่าน

– ในญี่ปุ่นจะมีการแบ่งว่าเนื้อหาการ์ตูนเหมาะกับคนแบบไหน เช่น การ์ตูนโชเน็นมังงะ จะเป็นแนวเด็กผู้ชาย (One Piece, Naruto) การ์ตูนโชโจมังงะจะเป็นแนวเด็กผู้หญิง (Sailor Moon) เซเน็งมังจะเป็นการ์ตูนผู้ใหญ่ สู้กัน มีความรุนแรง มีการแบ่งค่อนข้างเยอะ

5. ทำไมนักวาดการ์ตูนถึงสำคัญ

*1. สามารถเล่าประวัติศาสตร์ได้

– การ์ตูนมันค่อนข้างที่จะให้อะไรมากกว่าที่เราคิด เป็นสื่อที่สามารถเล่าประวัติศาสตร์ได้ คล้ายๆ กับหนังสือประวัติศาสตร์ เล่าถึงคนยุคนั้นๆ ว่ามีความเป็นอยู่ยังไง ถ้าในยุคโบราณ ไม่ได้มีสงคราม ไม่ได้มีชีวิตที่เดือดร้อน งานศิลปะหรือการ์ตูนในยุคนั้นก็จะเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน วิวทิวทัศน์ที่สวยงาม พอมาเป็นยุคสงคราม ทุกคนจะโหยหา มีความปรารถนาอะไรบางอย่าง การ์ตูนในยุคนั้นก็จะเป็นอีกแบบนึง ซึ่งพอเรากลับไปอ่าน ก็จะได้ความรู้สึกของยุคนั้นๆ ออกมาจาการ์ตูนเรื่องนั้น จะได้อารมณ์คนละแบบกับการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์โดยตรงซึ่งจะมีข้อเท็จจริงที่ดูค่อนข้างซีเรียสจริงจัง แต่พอเป็นการ์ตูน อย่างการ์ตูนล้อเลียน จิกกัดสังคม ก็จะมีอารมณ์ฮาๆ ดึงดูดให้เราเข้าไปอ่าน หรือมีเรื่อง unseen ที่หนังสือประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกเรา ก็มีเหมือนกัน

*2. ช่วยดึงดูดคนที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือเยอะๆ

– อย่างตอนเด็กๆ มายด์ก็เคยไปเจอหนังสือการ์ตูนอัตชีวประวัติของแม่ชีเทเรซา ทำให้เราอยากรู้จัก นักวาดการ์ตูนมันสำคัญตรงนี้ อาจจะช่วยดึงดูดในเรื่องที่เด็กอาจจะไม่สนใจเลย ให้เด็กหรือผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือเยอะๆ หรือไม่ได้สนใจอะไรพวกนี้ แต่พอเห็นภาพหรือการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจของนักวาดการ์ตูนก็สามารถดึงดูดให้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ดีแบบนึง ทำให้เราจำได้ เวลาเล่าเป็นการ์ตูน จะทำให้เราจำเป็นสี เป็นภาพ เป็นคาแรคเตอร์ สามารถทำให้เราเรียนรู้เรื่องๆ นั้นได้ง่ายขึ้น

*3. การ์ตูนเป็น soft power ที่ทรงพลัง

– อย่างที่ผ่านมาล่าสุดก็คือ Tokyo Olympics ของญี่ปุ่น เอาการ์ตูนในมังงะ ในเอนิเมะญี่ปุ่นมาเป็นส่วนประกอบของโอลิมปิก

– การ์ตูนสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้อาชีพอื่นๆ ได้ด้วย อย่างเรื่อง High Q เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับกีฬาวอลเล่ย์บอล ทีมวอลเล่ย์บอลโอลิมปิกของญี่ปุ่นเคยรุ่งเรืองมากๆ ในยุค 60-70 เคยได้เหรียญทองทั้งชายและหญิง แต่พอผ่านมายุคปลาย 70 พวกผู้เล่นจะลดน้อยลง จนถึงช่วงปี 2000 แทบจะไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่ของวอลเล่ย์บอลญี่ปุ่น แล้วช่วงนั้นมีการ์ตูนเรื่อง Slamdunk ทำให้คนไปเห่อบาสเก็ตบอล แต่พอการ์ตูน High Q ตีพิมพ์ในปี 2012 มีคนไปเก็บสถิติเลยว่าหลังจากการ์ตูนเล่มนี้ตีพิมพ์ ก็มีนักวอลเล่ย์บอลสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีสำนักข่าวญี่ปุ่นไปทำข่าวและสัมภาษณ์นักวอลเล่ย์บอล ก็บอกว่าอยากมาเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอลเป็นเพราะอ่านการ์ตูนเรื่อง High Q จนตั้งแต่ตอนนั้นวอลเล่ย์บอลก็เฟื่องฟูมาเรื่อยๆ จนเป็นท๊อปฟอร์มจนถึงทุกวันนี้

– พวกของกิน พอตอนเด็กๆ อ่านเรื่องโดราเอม่อนแล้วก็อยากกินโดรายากิมาก หรืออ่านนินจาฮาโตริ แล้วอยากกินดังโงะ อยากเห็นดอกซากุระ เป็น soft power ที่แทรกอยู่ในการ์ตูนญี่ปุ่นทุกเรื่อง

*4. เป็นสิ่งที่มอบความสุข ให้กำลังใจ

– เคยอ่านบทสัมภาษณ์ของอาจารย์มิยาซากิ ฮายาโอะ ที่เป็นผู้กำกับ นักวาดการ์ตูนที่ Studio Ghibli เคยพูดว่า อาจารย์เกิดมาในยุคสงครามแล้วเจอเรื่องโหดร้ายแย่ๆ ตัวเขาก็ร่างกายอ่อนแอ คุณแม่ป่วย เมื่อเขาได้เข้ามาโลกการ์ตูนเหมือนเป็นที่พักพิง ที่ปลอบโยนจิตใจ ทำให้เขาเป็นคนรักการอ่านและสนใจที่จะวาดการ์ตูน เขาก็ได้ดูแอนิเมชั่นเรื่องนางพญางูขาว และรู้สึกว่าอยากจะทำแอนิเมชั่น การ์ตูนสามารถมอบพลังใจให้คนๆ นึงและเป็นแรงบันดาลใจให้คนคนนึงลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง ถ้าอาจารย์ไม่ได้มาสัมผัสการ์ตูน เราก็อาจจะไม่ได้มีค่าย Studio Ghibli แบบนี้ก็ได้ คงจะไม่มี Totoro และเรื่องอื่นๆ เป็นแรงขับเคลื่อนให้คนทั้งในและนอกวงการ หรือคาแรคเตอร์ในการ์ตูนอย่างลูฟี่หรือนารูโตะ ก็ช่วยให้เราหึกเฮิม มีกำลังใจ

6. คุณสมบัติที่ดีของนักวาดการ์ตูน

*1. มีความซื่อสัตย์ต่อผลงานตัวเอง

– มีการคงความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ไม่จำเป็นที่ต้องเลียนแบบใคร การเลียนแบบเพื่อการศึกษา สามารถทำได้เพื่อฝึกฝนให้ตัวเองเก่งขึ้น บางช่วงก็จะมีเทรนด์มา พอเราเปลี่ยนไปวาดแบบนั้น เราก็จะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ ถ้าต่อไปเทรนด์นี้หายไป เราก็จะเปลี่ยนตัวเองอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราก็พยายามที่จะเป็นตัวเองอยู่ตลอดเพื่อที่จะได้ไม่ต้องวิ่งตามตลอดไป แต่บางอย่างก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เพื่อพัฒนาผลงานตัวเองให้ดีขึ้น

*2. มีใจรักและแพสชั่นในสิ่งที่ทำ

– เพราะการวาดการ์ตูนต้องอาศัยการฝึกฝนและใช้เวลา

*3. รู้จักสังเกต ใส่ใจ ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

– อย่างตัวมายด์เองจะค่อนข้างใส่ใจในคาแรคเตอร์ เพราะเราเป็นคนชอบออกแบบคาแรคเตอร์ โฟกัสเรื่องคาแรคเตอร์มากๆ เช่น การสร้างคาแรคเตอร์หนึ่งตัวของเราจะนึกไปเลยว่า เขาเกิดวันที่เท่าไหร่ ราศีอะไร ชอบสีอะไร มีปมในใจอะไร สายตาสั้นไหม ถนัดมือไหน การใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ค่อนข้างจะสร้างเซอร์ไพร์ให้กับคนอ่านได้ ถึงส่วนใหญ่คนอ่านจะไม่ได้โฟกัส แต่มายด์ว่าการใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดที่คนอาจจะไม่ได้สนใจ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างดีในการใส่ลงไปในผลงาน

*4. มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากไปสายไหน

– ถ้าบอกว่าเป็นนักวาดการ์ตูน ก็สามารถจำแนกได้หลายแบบอีก ทั้งวาดภาพ 4 ช่อง วาดแนวแก๊ก หรืออยากจะวาดรูปให้เก่งมากๆ แนวเพ้นท์ฉากหลัง หรือคอนเซ็ปต์อาร์ท ลองถามตัวเองดีๆ ว่าเราชอบแบบไหน อย่างมายด์ตอนเด็กๆ เห็นภาพจาก Studio Ghibli หรือ​ Disney ก็รู้สึกว่าอยากวาดให้ได้แบบนั้นมาก ฉากหลังสวยๆ แต่พอลองวาดเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ใช่ สุดท้ายพออยู่มาในวงการนี้เรื่อยๆ การอยากวาดรูปสวยมันก็น้อยลง ปัจจุบันเราอยากนำเสนอเรื่องราวของเราให้ดีที่สุด เท่านั้นเอง ไม่ได้อยากวาดรูปสวย ฉากหลังโหดๆ แบบตอนเด็กๆ แล้ว เลยอยากให้ถามตัวเองดีๆ ว่าจริงๆ อยากทำแบบไหน ค่อยๆ หาและก็จะได้โฟกัสในการเดินทางไปจุดนั้น

7. คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มเป็นนักวาดการ์ตูน

  • – เริ่มจากการฝึกฝน ถ้าอยากเริ่มจริงๆ ก็เริ่มได้เลยเพราะสมัยนี้ค่อนข้างจะเปิดกว้างมากๆ มีแพลตฟอร์มให้ทุกคนสามารถลงงานได้ ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ช่องทางน้อยมาก ถ้าชอบก็ทำเลย
  • – หมั่นฝึกฝน ลงงาน ถ้ามีโอกาสก็ลงประกวด หรือว่าขอทุนไปเรียนเมืองนอก สนับสนุนให้ไปต่างประเทศเลยถ้ามีโอกาส ที่เมืองนอกค่อนข้างสนับสนุนพวกงานศิลปะมากกว่า ที่สังเกตได้คือที่เมืองนอกอย่างฝั่งยุโรปจะมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะเยอะมาก มีแกลลอรี่เล็กๆ ใหญ่ๆ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่าประเทศเขาจะใส่ใจในเรื่องศิลปะพอสมควร
  • – ของมายด์เริ่มต้นจากวาดภาพตามเกม ตอนเด็กๆ ติดเกม Playstation 1 มาก ติดเกม Chocobo Racing เล่นทุกวัน อีกเกมคือเกม Harvest Moon เราเห็นแล้วภาพน่ารัก เลยเริ่มวาดตาม จากที่เราชอบวาดอยู่แล้ว ก็เป็นทริคให้เราช่างสังเกตด้วย เพราะในเกมก็จะมีคาแรคเตอร์หลายแบบ หลายตัว การ์ตูนก็เหมือนกัน เราก็จะสังเกตแล้วเอามาวาดตาม ทั้งเกม การ์ตูน แอนิเมชั่น ก็วาดมาเรื่อยๆ แล้วก็เริ่มอยากคิดของตัวเอง เอาคาแรคเตอร์ในการ์ตูนที่เราชอบมาดำเนินเรื่องในอีกแบบนึง หลังจากนั้นก็คิดเองหมดเลยทั้งคาแรคเตอร์และเนื้อเรื่อง ก็จะเป็นขั้นตอนๆ ไปมาแบบนี้ คล้ายๆ กับการวาดภาพอิงจาก reference อาจจะเริ่มจากอย่างนี้ก่อนก็ได้ การวาดตามหรือคัดลอกงานเพื่อการศึกษา เราสามารถจะรู้ได้เลยว่าอันนี้เขาทำแบบไหน เวลาเราอยากเข้าใจหรือทำอะไรเป็น ต้องลงมือทำเองเลย

8. ต้นกำเนิดของตัวละครจู้จี้

  • – คาแรคเตอร์จู้จี้มาจากวิชานึงที่เรียนตอนมหาวิทยาลัยปีสาม เป็นวิชาออกแบบ packaging design แล้ววันนั้นอาจารย์ให้ออกแบบ packing เกี่ยวกับสินค้าเด็ก ซึ่งมายด์ก็เลือกถุงเท้า แล้วเราก็ออกแบบเป็นรูปสัตว์ 7 ตัว ซึ่งในนั้นก็จะมีกระต่ายด้วย พอเราส่งสเก็ตไปก็โดนวิจารณ์แบบแรงมาก มีโดนว่าวาดรูปแบบนี้มันน่ารักเหรอ เด็กที่ไหนจะชอบ ทำให้เราจุกมากกับคำนี้ รู้สึกท้อแท้ ร้องไห้เสียใจมาก
  • – หลังจากนั้นพอเรามานั่งคิดอีกที เราก็คิดว่ามันจริงแบบที่อาจารย์บอก เราก็ไม่ได้ทำดีมาก ไม่ได้ใช้พลังอะไรขนาดนั้น มันก็เลยดูไม่ค่อยสมบูรณ์แบบ เราก็เลยเอาคาแรคเตอร์พวกนี้มาแก้ไข ซึ่งเราก็เลือกคาแรคเตอร์กระต่าย เพราะมันมีความคล้ายตัวเอง เพราะเราเป็นคนขี้ตกใจ เลยเลือกกระต่ายมา และเอามาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำจู้จี้ขึ้นมา โดยตั้งเป้าที่จะต้องทำให้มันน่ารัก ต้องทำให้คนชอบให้ได้ ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนเราก็คิดจู้จี้ขึ้นมาได้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2012 ซึ่งเราก็ให้เป็นวันเกิดของจู้จี้ไปเลย
  • – ตอนแรกจู้จี้ก็ยังไม่ได้มีชื่อ เราก็เอาลงเพจไปก่อน เรียกว่ายายกระต่าย แล้วก็จัดกิจกรรมให้คนในเพจตั้งชื่อ เป็นกิจกรรมแรกในเพจเลย เลยได้มาเป็นชื่อจู้จี้ ซึ่งคนที่คิดก็เป็นแฟนเพจคนนึง
  • – รู้สึกขอบคุณอาจารย์คนนั้นมากๆ ถ้าเราไม่โดนว่าวันนั้น เราก็จะไม่เห็นจุดบกพร่องของตัวเองและจะไม่มีจู้จี้ในวันนี้อย่างแน่นอน

9. เรื่องที่คนชอบเข้าใจผิดเกี่ยวกับนักวาดการ์ตูน

*1 นักวาดการ์ตูนสามารถวาดได้ทุกอย่าง

– จะมีคนที่เหนือมนุษย์สามารถวาดได้ทุกอย่างจริงๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ อย่างมายด์จะถนัดวาดภาพคาแรคเตอร์ วาดคน สัตว์ สิ่งของน่ารักๆ แต่มายด์ไม่ถนัดวาดภาพ landscape หรือทิวทัศน์เลย เคยมีคนจ้างให้วาดเราก็ทำไม่ได้ บางคนก็จะเข้าใจผิดว่าเราวาดภาพสวย วาดภาพเป็นอาชีพ น่าจะวาดได้ทุกอย่างก็เลยทักมาจ้าง แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่

*2. การวาดการ์ตูนเป็นงานที่ไม่ต้องลงทุน

– ซึ่งไม่ใช่เลยค่าอุปกรณ์ทุกอย่าง ทั้ง iPad, Cintiq, เม้าท์ปากกา, คอมพิวเตอร์, กระดาษสีน้ำ, สีน้ำ ทุกอย่างต้องใช้เงินและก็แพงด้วย

-อีกสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้เลยคือประสบการณ์ เวลาที่เราเสียไปในการฝึกฝนและวาดภาพ หลายคนชอบคิดว่าแค่วาดรูปลงกระดาษทำไมคิดแพงจัง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ทุกอย่างก็มีต้นทุนของมัน

10. เรื่องที่ประทับใจเกี่ยวกับการเป็นนักวาดการ์ตูน

  • – มายด์ค่อนข้างที่จะเครียดง่ายกับชีวิตประจำวัน การวาดการ์ตูนเหมือนการที่มายด์เข้าไปดูหนังหรือซีรีส์เรื่องนึง มายด์สร้างคาแรคเตอร์แล้วมันก็มีเรื่องราว ดังนั้นเวลามายด์ได้เข้าไปทำงานจู้จี้หรือวาดการ์ตูนของมายด์ เหมือนการได้พักเข้าไปอยู่ในโลกอีกโลกนึง เหมือนย้ายตัวเองเข้าไปใน metaverse เป็นการผ่อนคลายความเศร้าหรือความเครียดก็จะหายไปช่วงระหว่างที่วาด รู้สึกดีกับตัวเองที่ได้มาทำงานตรงนี้
  • – มายด์ได้เจอผู้คนดีๆ มากมายผ่านตัวละครจู้จี้ รุ่นพี่หรือแฟนคลับหลายๆ คน ก็อยู่กันมา 8-9 ปีแล้ว ถ้าไม่มีคาแรคเตอร์จู้จี้ตัวนี้ เราก็คงจะไม่ได้มีมิตรภาพดีๆ ตรงนี้ คาแรคเตอร์จู้จี้ก็เหมือนสะพานเชื่อมมิตรภาพระหว่างเรา
  • – เราทำจู้จี้มาหลายปีแล้ว มีช่วงนึงเราหายไป ไม่ได้อัพเพจ 2-3 ปี พอเรากลับมาอัพก็ยังมีคนจำได้ว่าคาแรคเตอร์ของมายด์ชื่ออะไรและมีนิสัยยังไง ทั้งๆ ที่เราหายไปนานมาก จากที่มีช่วงนึงที่เรารู้สึกเฟล อันนี้มันทำให้เรารู้สึกประทับใจในตัวแฟนคลับและรู้สึกดีกับงานตัวเองมากๆ รู้สึกว่างานของเราค่อนข้างที่จะแข็งแรงและเข้าไปอยู่ในหัวใจของแฟนๆ ที่เขามาติดตาม ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานสร้างสรรค์ผลงานได้ต่อไป

11. สรุปฝากส่งท้าย เกี่ยวกับนักวาดการ์ตูน

– อยากให้กำลังใจคนที่สนใจในการวาดการ์ตูน ตอนนี้โลกของเราค่อนข้างจะเปลี่ยนไปแล้ว มีช่องทางในการนำเสนอผลงานเยอะ คนที่สนใจก็ไม่ต้องกลัว อยากทำอะไรก็ทำเลย ลงมือทำ ฝึกฝนตัวเอง ทำไปเรื่อยๆ วันนึงจะต้องเห็นผลแน่นอน เราอาจจะวาดรูปเก่งขึ้น อาจจะมีโอกาสดีๆ เข้ามาหาเรา ไม่ได้บอกว่าทุกคนจะสำเร็จ หรือไปถึงจุดที่ยิ่งใหญ่ทุกคน แต่อยากให้ทุกคนลงมือทำไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราไม่ได้ทำ สุดท้ายมันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเราลงมือทำไปแล้ว มันจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เช่น เราอาจจะวาดเก่งขึ้น มีผลงานออกมา ได้รู้จักใครมากขึ้น หรือได้รับโอกาสดีๆ ต่างๆ มากมาย อยากให้กำลังใจทุกคนที่อยู่ในวงการให้สู้และพัฒนาตนเองต่อไป มีโอกาสอะไรก็คว้าและลุยกันมันให้หมด

– ฝากติดตามผลงานได้ทางเพจ Joojee World จะเป็นการ์ตูนที่ดำเนินเรื่องด้วยสัตว์ต่างๆ หลายชนิด เป็นการ์ตูน feel good อ่านแล้วจะอมยิ้ม สนุกสนาน ส่วนอีกเพจคือ Mindmelodyworld จะลงวาดภาพทั่วไป แฟนอาร์ทบ้าง งานสีน้ำบ้าง มีสองเพจให้ติดตาม และตอนนี้จู้จี้มีเป็นเกมออกมาแล้วชื่อว่า Joojee’s Journey ลงขายบน Nintendo Switch สนุกและก็ feel good เหมือนกัน


รายละเอียด

Date: 17 Nov 2021 (21:00-22:20)

Speaker:
คุณมายด์ Mindmelody
– ผู้ให้กำเนิดตัวละครสุดน่ารัก Joojee & Friends
– นักวาดการ์ตูนเจ้าของเพจ Mindmelodyworld และ Joojee World

Moderator:
พี พนิต – เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #นักวาดการ์ตูน #Illustrator #Cartoonist #MindMelody #Mindmemoldyworld #JoojeeAndFriends #JoojeeWorld #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา