*เซสชั่นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์เรื่อง Remember You
1. ปมในใจและผลกระทบของมัน
1.1 เรื่องย่อของซีรีส์ Remember You
Remember You เป็นเรื่องราวของ ธันวา (เพชร เผ่าเพชร) อาจารย์ และนักจิตวิทยาฆาตกร ที่ตั้งใจกลับจากอเมริกาเพื่อมาช่วยคลี่คลายคดีฆาตกรต่อเนื่อง และตามหาน้องชายที่หายสาบสูญ โดยมี เพทาย (เต ตะวัน) ทนายอิสระ ที่น่าจะเป็นน้องชายที่หายสาบสูญของธันวา พร้อมทั้งหมวดอัยญ์ (เบลล์ เขมิศรา) ตำรวจสาวที่ติดตามธันวามาตั้งแต่เด็กๆ พร้อมทั้งแก็งค์สอบสวน สารวัตรธนัช หมวดแฟ้บ นาคร อนันต์ และปฐมกาล หนึ่งในผู้ร้ายผู้อยู่เบื้องหลังหลัก เรื่องราวของซีรีย์จะดำเนินไปโดยมีปมหลักคือเรื่องระหว่างพี่น้องและครอบครัว และก็จะมีคดีย่อยๆ ที่แสดงให้เห็นถึงปมต่างๆ ของชีวิตแต่ละคนให้ติดตามกันด้วย
1.2 พูดถึงตัวละครธันวา (รับบทโดย เพชร เผ่าเพชร)
[คุณเพชร]
– เป็นตัวละครที่มีปมตั้งแต่เด็ก ถ้าเล่าย้อนไปตั้งแต่เด็กๆ เขาเห็นเหตุการณ์ที่พ่อตัวเองถูกฆาตกรรม มีน้องชายที่ผูกพันธ์กันมา หายสาบสูญไปพร้อมกับฆาตกรที่ฆ่าพ่อเขา ทำให้เป็นเด็กที่มีปัญหาและค่อนข้างเก็บกด แบกรับทุกอย่างเอาไว้ในตัวเอง แถมเขายังสูญเสียความทรงจำในวันที่พ่อเขาถูกฆ่า อาการนี้สามารถเกิดได้ในชีวิตจริง เวลาที่คนเราเจอเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมากๆ สมองบางส่วนอาจจะลบความทรงจำไปได้ชั่วคราวหรืออาจจะถาวร ทำให้เกิดมาเป็นเรื่องราวต่างๆ ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
– ตอนเด็กๆ ธันวาจะถูกพ่อเรียกว่าเป็นปีศาจ ซึ่งเขาก็จำไม่ได้เรื่องราวที่แน่ชัดไม่ได้ ระหว่างทางในเรื่อง ตัวละครก็จะมีความสงสัยตลอดว่าจริงๆ แล้วเขาเป็นปีศาจหรือฆาตกรหรือเปล่า
1.3 พูดถึงตัวละครเพทาย (รับบทโดย เต ตะวัน)
[คุณเต]
– เพทายเป็นน้องของธันวา ปมของเพทายก็เกิดจากเหตุการณ์หลักเหตุการณ์แรกเหมือนกันคือ เหตุการณ์ที่พ่อถูกฆาตกรรม และตัวเพทายก็ถูกปฐมกาลจับตัวไปในวันนั้น ตั้งแต่วันนั้นเรารู้สึกว่าทำไมพี่ (ธันวา) ไม่ช่วยเรา และพอเวลาผ่านไปพี่ก็ใช้ชีวิตปกติโดยที่ไม่พยายามที่จะตามหาเราเลย ตอนเด็กๆ เราก็สนิทกับพี่มาก อีกปมนึงก็ตอนที่เรารู้ว่าปฐมกาลรู้ความลับของเราที่เราบอกแค่พี่ชาย ทำให้เรารู้สึกเหมือนโดนหักหลังโดยพี่ชายที่เอาความลับไปบอกคนอื่น จนเราเติบโตโดยถูกเลี้ยงดูมาโดยปฐมกาลเรื่อยๆ ก็เป็นการเติบโตขึ้นมาแบบมีแผลในใจของการถูกทอดทิ้ง ไม่เป็นที่รัก ทำให้เติบโตมาในทางนี้ มีความเกลียดพี่ชายของตัวเอง เป็นความยิ่งรักยิ่งเกลียด จนสามารถอาจอยากฆ่าเขาได้เลย
– ตั้งแต่เด็กเราผูกพันธ์กับพี่มาโดยตลอด เราทำผิดเขาก็คอยช่วยเหลือเรา ตอนที่เราฆ่าสัตว์ เขาก็เป็นคนออกรับแทน
1.4 ปมในใจและผลกระทบของมัน
[คุณหมอท๊อป]
– ปม คือสิ่งนึงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาชีวิตของเราที่มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจเรามากๆ ณ ตอนนั้น ไม่ใช่เฉพาะวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดปมได้
– ในเรื่องเราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นปมที่รุนแรงมากคือ เด็กสองคน พ่อถูกฆาตกรรมตั้งแต่ตอนเด็กๆ เกิดบาดแผลทางใจที่รุนแรง แต่หลังจากที่เกิดปมในใจแล้วจะเป็นยังไงต่ออันนี้ขึ้นอยู่กับบุคคล ในเหตุการณ์เดียวกัน อาจจะมีความแตกต่างหลากหลายมาก เช่น ธันวาในเรื่องความจำหายไปเลย อันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็ก เด็กที่เจอเรื่องสะเทือนใจที่รุนแรง อาจจะเป็นกลไกทางจิตอย่างนึงที่ทำให้เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อได้ คือต้องลืมเรื่องที่สะเทือนใจหนักๆ ออกไป สามารถพบได้บ่อยในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นบางคนอาจจะกลับมาจำได้ หรืออาจจะลืมไปทั้งชีวิตก็มี หรือเด็กบางคน (อย่างเพทาย) เขาก็ไม่ได้ลืม แต่อาจจะมีทางเลือกมุมมองรู้สึกว่าพี่หักหลัง เด็กแต่ละคนก็จะมีมุมมองต่างกันไป อาจจะไม่ได้โกรธ แต่อาจจะเฝ้ารอพี่ไปเรื่อยๆ ด้วยความหวังก็ได้ แล้วแต่คน
– ถ้าพูดถึงกรณีทั่วไป ที่สามารถเกิดขึ้นได้ในครอบครัวอื่นๆ ปัญหาที่จะเกิดกับพ่อแม่ลูก พี่น้อง อาจจะเป็นปมทั่วไปที่ไม่ได้รุนแรงเท่าในเรื่อง แต่เป็นปมที่รายละเอียดจับต้องยากขึ้น เช่น แม่รักลูกเท่ากันหรือเปล่า การเชื่อถือไว้ใจกัน อย่างในเรื่องถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่พ่อเสียชีวิต จริงๆ ธันวาก็อาจจะมีปมตั้งแต่การที่พ่อไม่เชื่อในตัวเขาแล้วก็ได้
2. วิธีการรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบจิตใจ
2.1 วิธีการรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงที่กระทบจิตใจ
[คุณหมอท๊อป]
– ถ้าเป็นเด็กที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการรับมือมาก่อน ผู้ใหญ่ควรสื่อสารกับเด็กบ่อยๆ ต้องรับฟังเขาด้วย ไม่ใช่สอนทางเดียว อาจจะลองถามเขาว่าเวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้แล้วรู้สึกยังไง มีอะไรค้างคาหรือไม่สบายใจไหม พูดให้มันเป็นเรื่องปกติในครอบครัว เด็กก็จะกล้าพูดกับผู้ใหญ่มากขึ้น ปมบางปมจะสามารถเข้าไปแก้ได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ อย่าไปคิดว่าเป็นเด็กอาจจะยังไม่ได้คิดหรือรู้สึก เด็กคิดและรู้สึกเป็น แถมเยอะด้วย อย่าประมาท ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและอารมณ์ตั้งแต่เล็กๆ และมีการพูดคุยเป็นระยะ แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่เคยพูดคุยกันเลย มันอาจจะเกิดการเขิน ประหม่าได้ อาจจะเริ่มจากการพูดคุยเรื่องทั่วไป ถามสารทุกข์สุกดิบก่อน บางทีต้องใช้เวลาในการที่จะเปิดใจ
– การไปพบจิตแพทย์ก็สามารถช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องป่วย แค่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ความเครียด ก็ไปปรึกษาได้ จริงๆ ในเด็ก มีจิตแพทย์สำหรับเด็กโดยเฉพาะเลยด้วย ซึ่งบางครั้งเราอาจจะค้นพบว่าเด็กอาจจะไม่ได้ป่วย คนที่มีปัญหาอาจจะเป็นพ่อแม่เองก็ได้ เกิดจากความไม่แน่ใจว่าจะรับมือหรือเลี้ยงดูเด็กยังไง เลี้ยงถูกทางไหม บางทีการไปปรึกษาจะได้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำมันเหมาะสมกับเด็กคนนั้น เพราะวิธีการเลี้ยงลูกมีเป็นพันตำรา และก็ไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด ดีที่สุดคือต้องออกแบบให้เหมาะสมที่สุดกับเด็กคนนั้น พี่น้องกัน บางครั้งใช้ยังวิธีเดียวกันไม่ได้เลย ต้องเลือกให้เหมาะกับแต่ละคน
2.2 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณเพชร
[คุณเพชร]
– เรื่องการไปพบจิตแพทย์นี้คือตรงกับชีวิตของผมเลย ผมเคยมีตอนช่วงวัยรุ่นปลายๆ ที่กำลังอารมณ์รุนแรงฉุนเฉียว จนถึงจุดที่ว่าเราก็อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็เลยอยากให้คุณพ่อคุณแม่พาไปรักษากับคุณหมอที่เป็นจิตแพทย์ดู พอลองไปคุยดูแล้ว คุณหมอบอกว่าตัวผมปกติมาก แต่ให้เอาคุณพ่อมาลองคุย คุณพ่อน่าจะมาบังคับผมมากเกินไปและทำให้รู้สึกกดดันขนาดนี้ ผมก็รู้สึกตกใจไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้คำตอบแบบนั้นจากคุณหมอ
– อะไรหลายๆ อย่าง ด้วยสภาพแวดล้อมทางสังคม คุณพ่อคุณแม่อาจจะแนะนำลูกได้ไม่ถูกต้อง หรือไม่รู้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องๆ นั้นหรือเด็กในวัยนั้น บางทีก็อาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาเป็นตัวปัญหา ทั้งๆ ที่เขาอาจจะไม่ได้เป็นจริงๆ อย่างที่คุณหมอท๊อปพูดไว้ว่า การสื่อสารกันระหว่างครอบครัวกับพ่อแม่พี่น้อง หรือแม้แต่เพื่อนสนิท ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ ที่เราทุกคนควรสื่อสารกัน เพราะการสื่อสารมันมักจะก่อให้เกิดความเข้าใจ เปิดใจเพื่อที่จะฟังบุคคลที่เขามีปัญหาให้ได้มากที่สุด อย่าเอาความคิดของเราเป็นที่ตั้งอย่างเดียว ถ้าเรามีจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือใครสักคน เราอาจจะต้องเข้าใจคนอื่นมากกว่าที่เข้าใจตัวเองด้วยซ้ำ คุณถึงจะช่วยเขาได้
3. เรื่องของเหตุผลและความรู้สึก
3.1 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณเต
[คุณเต]
– ในวัยเด็กเราก็มีปมที่เรารู้สึกว่าตัวเราเองไม่ได้เป็นที่รัก ด้วยคาแรคเตอร์ของเราอาจจะไม่เหมือนพี่น้องคนอื่น เราเป็นลูกคนกลางที่เงียบๆ ในขณะที่คนอื่นก็พูดเก่งกว่า เราก็มักจะไม่ค่อยได้ของ เพราะเราไม่ค่อยพูด ทั้งๆ ที่เราก็ตั้งใจเรียน ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่เป็นที่รัก ไม่ค่อยได้รับความรักจากพ่อแม่หรือปู่ย่า ในปมคล้ายๆ กัน แต่เราจะแสดงออกอีกแบบ เราจะกลัวการถูกคนไม่ชอบ เราเลยพยายามดีกับคนอื่นด้วยมากๆ จนเขาโอเค เพราะเรารู้สึกว่าที่บ้านไม่รักเรา แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เลย พอเราโตมาแล้วเราก็เรียนรู้เอง เข้าใจมากขึ้น
[คุณหมอท๊อป]
– ในเด็กบางทีอาจจะมีความรู้สึกฝังใจ แต่เมื่อเราโตขึ้นมา มีประสบการณ์มากขึ้น เราจะเข้าใจสิ่งที่เราคิดตอนเด็ก เหตุผลอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราเคยคิด แต่ถึงแม้ว่าจะเข้าใจเหตุผลและเรื่องราวมากขึ้นแล้ว แต่ความรู้สึกมันไม่ได้หายไปเลยเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ปม” หลายๆ คนที่อยากแก้ปมคือ อยากให้ความรู้สึกตอนนั้นมันหาย ถ้าเกิดความรู้สึกตรงนั้นมันหลุดได้จากที่เป็นปม มันจะเรียกว่าประสบการณ์ที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น
[คุณเต]
– เราจะสร้างกำแพงขึ้นมาด้วย ตอนเด็กๆเราร้องไห้จนวันนึงเรารู้สึกว่า เราจะไม่ร้องอีก ถึงจะไม่มีใครรักเราแต่เราก็จะไม่สนใจ เราปิดกั้นตัวเอง ตั้งแต่นั้นมาเราร้องไห้ยากมาก ยังเป็นสิ่งที่เป็นอยู่จนถึงตอนนี้
3.2 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณภัทร
[คุณภัทร]
– ผมก็เป็นคล้ายๆ เต ด้วยความที่เราโตมากับการที่แม่เลี้ยงมาคนเดียว เราก็จะรู้สึกว่าแม่เราเก่ง เราไม่อยากอ่อนแอไปกว่าแม่ พอเจอเรื่องที่รู้สึกแย่ เราก็บอกตัวเองว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็หาย จะไม่ร้องไห้ แต่จริงๆ คือมันเป็น
[คุณหมอท๊อป]
– อารมณ์ที่มันเหลืออยู่ บางคนเลือกที่จะเอาสิ่งนี้มาเป็นแรงผลักดันก็จะทำให้เรามั่นใจขึ้น พอถึงจุดนึงอาจจะทำให้เราประสบความสำเร็จจากประสบการณ์นั้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการเลือก อยากให้ทุกคนลองปลอบตัวเองว่า ตัวเราในวัยนั้นสามารถผ่านสิ่งนั้นมาได้ เราเก่งมากแล้วที่ผ่านมาได้ อย่าลืมชมตัวเอง ขอบคุณตัวเอง ก็จะเป็นส่วนนึงที่ทำให้เราผ่านความรู้สึกในวัยนั้นได้ง่ายขึ้น
[คุณภัทร]
– ที่บ้านผมจริงๆ ก็สนิทกัน เติบโตมาด้วยกัน แต่อย่างผมกับเฮียบอย ด้วยความที่อายุค่อนข้างห่างกันหลายปี ทำให้ช่วงนึงมีปัญหากันง่าย ในแง่ของการทะเลาะกัน อย่างหน่องเป็นคนกลางจะเหมือนคนที่อยู่ได้สองขั้ว เป็นจุดเชื่อมที่เข้าใจทั้งสองฝ่าย ทำให้เราโตมากับความรู้สึกที่ว่าเราขัดแย้งกับเขามาโดยตลอด พอโตมาความเป็นผู้ใหญ่ก็ค่อยๆ เชื่อมเข้าหากัน แต่สุดท้ายมันยังมีช่องว่างบางอย่างที่เรารู้สึกว่า เรากับเขายังมีอะไรบางอย่างที่กันไว้อยู่นิดนึง ซึ่งต่อให้เรารู้สึกว่าเราโตแล้ว ทุกคนเข้าใจกันแล้ว มันเป็นเรื่องทะเลาะกันตอนเด็กๆ แต่สำหรับผมยังมีนิดนึงว่าเรากลัวการที่เราทำแบบนี้แล้วเราจะโดนเขาว่าไหม ความรู้สึกมันเกิดไปแล้วตอนเด็กๆ อย่างเข้มข้น แล้วพอโตมามันก็ยังเหลืออยู่ ตอนนี้ก็จะเป็นความรู้สึกเหมือนว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ถ้าเราทำอะไรที่ไม่ดี เขาก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ว่าเราได้ ก็จะรู้สึกเป็นลักษณะแบบนี้มากกว่า
4. การถูกคนล้อหรือบูลลี่
4.1 พูดถึงตัวละครอัยญ์ (รับบทโดยเบลล์ เขมิศรา)
[คุณเบลล์]
– เป็นครั้งแรกที่เล่นบทบาทค่อนข้างไกลตัวและไกลอายุพอสมควร เล่นเป็นตำรวจสืบสวน หมวดอัยญ์จะมีปมเส้นเรื่องที่ขนานกับธันวาและเพทาย มีตราบาปอยู่ในใจ เพราะถูกตราหน้าว่าพ่อเป็นคนช่วยฆาตกรแหกคุก ตั้งแต่เด็กจนโต ไม่ว่าไปไหนก็จะถูกบูลลี่ เพราะเป็นข่าวดัง นามสกุลขึ้น ทุกคนรู้ ไปไหนก็โดนมองว่าพ่อเราเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นเรื่องจริงคงเป็นสิ่งที่หนักมากๆ สำหรับเด็กคนหนึ่ง เพราะเด็กเป็นคนที่ innocent ไม่รู้เรื่อง แล้วอัยญ์ก็ยังคิดว่าพ่อไม่มีทางทำแบบนั้น เลยเข้าโรงเรียนตำรวจเพื่อที่จะมาสืบหาความจริงและถามหาความถูกต้องให้สิ่งนี้ด้วย อยากให้เรื่องบางเรื่องที่ถูกกล่าวหาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่เรื่องพ่อเขา แต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ทั่วไปด้วย
4.2 การถูกคนล้อหรือบูลลี่
[คุณหมอท๊อป]
– ปมที่ถูกบูลลี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ซีเรียสและรุนแรงมาก โดยเฉพาะในสมัยนี้ที่มี cyberbully มีการบูลลี่กันผ่านทางโซเชียลมีเดีย ถ้าเรื่องของพ่ออัยญ์เกิดในยุคนี้ จะหนักกว่าอีกหลายเท่า การบูลลี่หรือการล้อ ไม่ใช่เกิดครั้งเดียวแล้วจบ มักจะเกิดอีกหลายๆ ครั้ง และโดยหลายๆ คนบุคคลด้วย ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบ และหลอกหลอนอยู่หลายปี ภาพบางคนที่กำลังจะผ่าน จะลืม มันถูกขุดให้มานึกอีก เจ็บอีก ถือว่ารุนแรงมาก
– ไม่ใช่แค่เรื่องล้อพ่อแม่ ยังมีเรื่องของการล้อรูปร่างหน้าตา แล้วครูอาจารย์อาจจะไม่ได้ให้ความสนใจ คิดว่าเป็นเรื่องของเด็กแค่ล้อเล่นกัน ซึ่งต้องบอกเลยว่าไม่ใช่ เมื่อไหร่ก็ตามที่อีกฝั่งไม่ได้รู้สึกดีด้วย มันไม่ใช่การล้อเล่นอีกต่อไป ต้องฝากผู้ใหญ่ไว้เลยว่า ถ้ามีเด็กมาพูดว่าเขาไม่สบายใจ หยุดพูดว่าเขาแค่ล้อเล่นกันได้แล้ว ถ้าเด็กมาขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่แปลว่ามันต้องถึงระดับหนึ่งที่เขาทนไม่ไหวแล้ว ต้องเข้าไปช่วยเหลือและรับฟังว่าเกิดอะไรขึ้น
4.3 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณเบลล์
[คุณเบลล์]
– ตอนเด็กๆ เราก็เคยโดนบูลลี่ เพราะหน้าตาเราดูเป็นคนใจดี เราจะโดนพูดว่าคนนี้ไม่ฉลาด โง่ ค่อนข้างเป็นปมในใจเรามานานเหมือนกัน เราก็พยายามไม่คิดซีเรียสกับมัน แต่ในใจคิดว่าคำว่าโง่ นี่มันรุนแรงมากเลยนะ ทำไมมันใช้ได้ง่ายจังเลยกับคนอื่น แต่พอเราโตขึ้นตามวัย self esteem เราก็ดีขึ้น ไม่ได้ไหลไปตามคนอื่น แต่เราก็ค่อนข้างจะ sensitive กับคำนี้ ใครมากล่าวหาหรือพูดในเชิงลบกับเรา เราก็จะไม่ชอบ
– วิธีการรับมือก็คือเราจะยิ้มใส่ จนเพื่อนแกล้งต่อ เรากลัวเพื่อนไม่รัก ก็พยายามจะทำเป็นเหมือนเรื่องเล่นๆ ทำเป็นขำ แต่จริงๆ แล้วเราคิดมาก พอมันสะสมมาเรื่อยๆ มันก็เริ่มรู้สึก
4.4 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณตี๋
[คุณตี๋]
– ผมอาจจะดูเฮฮา แต่จริงๆ แล้วผมค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องการบูลลี่ ตั้งแต่เด็กผมไม่ชอบเรื่องการบูลลี่ เพราะอะไรที่ผมไม่ชอบให้ใครมาทำกับผม ผมก็จะไม่ทำกับคนอื่น
– ปมตอนวัยเด็ก ผมก็เป็นน้องคนเล็ก มี่พี่อีกคน ด้วยความที่เป็นคนเล็กทุกคนในครอบครัวก็ค่อนข้างที่จะคาดหวังว่าเราจะต้องเรียนให้ดี ต้องขยัน เพราะทุกคนจะมองว่าผมเป็นคนขี้เกียจมาโดยตลอด ชอบหลับ ชอบนอนบ่อยๆ ไปเรียนก็ไปสาย จนเราก็โดนกดดัน จริงๆ เราก็รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร จนจะมีช่วงวัยรุ่นที่เราไม่อยากอยู่บ้าน เราชอบความอิสระ ตอนขึ้น ม. 4 ป๊าก็เลยให้ย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ เหมือนอยากดัดสันดานให้เรามีระเบียบวินัยมากขึ้น ตอนนั้นเราก็อยากไป เพราะตอนนั้นไม่อยากอยู่บ้าน อยากมีอิสระ อยู่แล้วเหมือนโดนกดดัน โดนว่าตลอด พี่ชายผมก็เป็นคนที่เลือดร้อน ก็จะมีปัญหากันค่อนข้างบ่อย เลยตัดสินใจย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำ
– สุดท้ายไปอยู่ได้ปีเดียวก็อยากกลับบ้าน เพราะไปอยู่จริงๆ แล้วออกไปไหนไม่ได้เลย มีตารางเวลาประจำที่ต้องทำตาม กดดันกว่าเดิม มีเด็กมาจากหลากหลายที่ มีการลงโทษหมู่ โดนกักบริเวณ สถาบันครอบครัวก็เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว ฝากไว้กับน้องๆ ตอนนั้นอาจจะวัยรุ่น ครอบครัวรักเราแหละ แต่ด้วยการแสดงออกอาจจะเป็นอีกแบบ พอเราโตขึ้นมาเราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ถ้าใครมีปัญหากับครอบครัวให้ลองค่อยๆ คุยปรับความเข้าใจกันดูจะดีกว่า
4.5 วิธีการรับมือกับการบูลลี่
[คุณหมอท๊อป]
การบูลลี่จะมีหลักๆ จากสองแบบคือ
*1. แบบที่คนทำจงใจบูลลี่
– คือตั้งใจต้องการให้อีกคนนึงรู้สึกเจ็บ รู้สึกแย่ กลุ่มนี้ถ้าเรายิ่งไปตอบโต้ ด่าทอ ร้องไห้ คนนั้นจะยิ่งถูกใจแล้วเขาก็จะยิ่งทำเพิ่ม สิ่งที่เราควรโต้ตอบคือ อย่าใช้อารมณ์ ต้องนิ่ง อย่าทำในสิ่งที่เขาคาดหวัง ถ้าเราเป็นเด็กให้บอกกับครู บอกกับผู้ใหญ่ ให้เขาช่วยเหลือ หรือถ้าเกิดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถโดนได้ทุกวัย สิ่งที่แนะนำคืออย่าโต้ตอบ เก็บหลักฐาน ปล่อยให้เขาพูดไป อย่าไปหาค่าเขา ถ้าเป็นอะไรที่เสี่ยงผิดกฎหมาย หมิ่นประมาท ให้เก็บไว้ แล้วใช้หลักทางสังคมเอาแทน กด report ให้แอปพลิเคชั่นจัดการไป ถ้ามันคุกคามเราก็อาจจะต้องใช้ข้อกฎหมายซึ่งอาจจะดีกว่า
*2. แบบที่คนทำไม่รู้ตัวว่าเป็นการบูลลี่
– เช่น การที่คนสูง ถูกล้อว่าไอโย่ง ทำให้เขารู้สึกแตกต่าง รู้สึกไม่มั่นใจ ก็จะเกิดความรู้สึกว่านี่คือการบูลลี่ เกิดความไม่สบายใจ คนที่พูดอาจจะคิดแค่ว่าคือการล้อเล่น อันนี้อยากแนะนำสำหรับคนที่โดน ถ้ามีเพื่อนพูดสิ่งนี้มาแล้วเราไม่แน่ใจว่าเขาล้อเล่นหรือเขาตั้งใจจริง ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นเพื่อนเรา ให้พูดกับเขาตรงๆ ว่าให้พูดคำอื่นได้ไหม คำนี้เราไม่สบายใจ เราเจอมาเยอะ หลายเคสที่เราสนับสนุนให้คนโดนไปพูดตรงๆ แล้วปรากฏว่าอีกฝ่ายคือไม่รู้ตัวมากก่อนว่าเขากำลังบูลลี่เพื่อน เขาก็ขอโทษและก็ดีขึ้นได้จากการที่เราแนะนำ
[คุณตี๋]
– ส่วนใหญ่คิดว่าเด็กๆ บางทีอาจจะไม่รู้ตัว ก็ต้องฝากคุณพ่อคุณแม่ช่วยบอกเด็กๆ ว่าอย่าไปล้อเพื่อน คนเราเกิดมาก็ไม่เหมือนกัน ดูกันที่จิตใจดีกว่า
5. การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆ
5.1 พูดถึงตัวละครปฐมกาล (รับบทโดยรอน ภัทรภณ)
[คุณรอน]
– ตัวละครปฐมกาล ในเรื่องทุกคนจะได้เห็นเรื่องราวสิ่งที่เขาต้องเจอมาตั้งแต่เด็ก เป็นตัวละครที่ต้องใช้สมาธิในการเข้าไปเป็นตัวละครค่อนข้างเยอะ เพราะว่าสิ่งที่ตัวปฐมกาลเข้าใจและตีความมาตลอดคือ เรื่องที่คนอื่นมองว่าเป็นสิ่งที่เหี้ยมโหด แต่เขากลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา และสิ่งที่เขาทำก็เป็นการช่วยเหลือเด็กที่เหมือนกับตัวเองตอนเด็กๆ ในจังหวะที่เขาเจอธันวา เขาจะรู้สึกว่าเด็กคนนี้ฉลาดและมีอะไรหลายๆ อย่างที่เหมือนกับเขา ยิ่งธันวามาเล่าเรื่องน้องให้ฟัง ยิ่งรู้สึกว่าการกระทำของคุณพ่อของเด็กทั้งสอง ทำให้เขานึกถึงตัวเองในตอนเด็กๆ ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกขังเอาไว้ โดนตี โดนทำร้าย และไม่ได้รับความรักมาตลอดทั้งชีวิต เป็นตัวละครที่น่าสงสาร ผมเห็นใจตัวละครตัวนี้มาก เรื่องของครอบครัวส่งผลให้เขากลายเป็นแบบนั้น ในทางกลับกันเขาก็จะมีความคิดและความฉลาดที่ไม่เหมือนคนอื่น ผมจะตีความเป็นเรื่องของโครโมโซมความคิด หรือการที่เขาอยู่แต่ในห้อง อ่านหนังสือ มีอะไรหลายๆ อย่างที่มันกลายพันธุ์ทางด้านโครโมโซมและสภาพสิ่งแวดล้อม ค่อนข้างจะที่ต้องเหนื่อยอยู่เหมือนกันในการที่จะต้องคิดเป็นตัวละครนี้ ต้องทำการบ้านค่อนข้างเยอะ
– จุดพีคที่ผมใช้เป็นเกณฑ์ของผมคือ อะไรคือเหตุผลที่เด็กคนนึงที่โตขึ้นมา วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องคือการฆ่าคนทุกคนในครอบครัว เราก็ทำการบ้านว่ามันต้องเจอเรื่องราวอะไรมาบ้างที่ทำให้ตัวละครไปจุดนั้นได้ อะไรทำให้เราสะดุดกับตัวธันวา และสิ่งที่ธันวาได้พูดกับเราเกี่ยวกับมีนา พอเราเข้าไปเป็นตัวละคร ทำให้เราเจอหลายจุดเลยว่าคำพูดของคนเป็นพ่อ มีผลต่อคนลูกมากขนาดไหน อาจจะส่งผลไปทั้งชีวิต แล้วมาเทียบเคียงกับตัวเองที่เราได้ยินพ่อมาพูดกับตัวเองในตอนเด็ก เลยรู้ว่ามันสำคัญกับคนคนนึงที่มีความหมายกับเรามากๆ
5.2 การสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองจากเหตุการณ์ต่างๆ
[คุณรอน]
– อยากจะฝากไว้ว่า ในฐานะที่เราต้องเป็นผู้รับสารและผู้ส่งสารในชีวิตประจำวัน ยิ่งในโลกโซเชียลมีเดียที่มีความไวและรุนแรงมากขึ้น คนที่ส่งสารหรือพูดอะไรออกไป การรับผิดชอบหรือการคิดถึงผู้รับ อันนี้สำคัญมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าแต่ละคนมีจุด sensitive แบบไหน อาจจะต้องคิดเยอะมากขึ้น
– ในทางกลับกันผมก็นึกและมุ่งหวังถึงคนที่ผมรักรอบๆ ตัวว่า ถ้าเรามีภูมิต้านทานมากพอ เหมือนเรามีฟิลเตอร์ที่สามารถกรองเวลาคนพูดมากระทบจิตใจ เช่น เรื่องรูปร่างหน้าตา ผมก็หวังว่าในวันนึงผู้รับเองจะมีภูมิต้านทานมากพอ ที่จะทำให้สิ่งต่างๆ ไม่ต้องมากระทบจิตใจเขา ผมเข้าใจว่ามันยาก แต่ถ้าวันนึงเราทำได้ เหมือนเราเมตตาเขา เมตตาไปเลยว่าสิ่งที่เขาทำ เขาอาจจะไม่รู้จริงๆ หรือต่อให้ตั้งใจ แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเราไม่ต้องไปใส่ใจเขา คำพูดที่พูดมาไม่ได้มาจากคนที่มีวุฒิภาวะมากพอ ในโซเชียลเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเขาเป็นใครหรือเติบโตมาจากไหน ถ้าเราไปเอาคำพูดพวกนั้นมาสู่หัวใจของเรา เราก็จะรู้สึกเสียใจเองอยู่อย่างนั้น ผมรู้สึกว่าผู้ส่งสารเองต้องรับผิดชอบมากกว่า แต่ในทางกลับกันถ้าผู้รับสารสามารถมีฟิลเตอร์สามารถกรองอะไรได้ วันนึงในการใช้ชีวิตเราจะไม่ต้องมานั่งรู้สึกเจ็บหรือเสียใจกับคำพูดอะไรบางอย่างที่มันไม่ได้มีคุณค่ากับเราเลย
– เป็นสิ่งที่เราอยากจะแชร์จากตัวละครนี้ เพราะตัวละครตัวนี้รับการกระทำ คำพูดของคนที่ตัวเองรู้สึกว่าเขามีคุณค่ากับเรา แต่เขากลับด้อยค่าเรา ไม่รักเรา ทุกอย่างเป็นศิลปะในการสื่อสาร ในการส่งและรับสาร ต้องลองปรับ ลองจูนกันดู ผมจะหวังให้คนที่ผมรักหรือตัวเราแข็งแกร่งขึ้น มีภูมิมากยิ่งขึ้น ให้เรานึกถึงคนที่รักเราดีกว่า วันไหนที่เราจมลงไป ให้เรารีบดึงตัวเองกลับมา พอเรามองหันกลับไปจริงๆ แล้วยังมีคนที่รักเรา และเห็นคุณค่าในชีวิตของเราอีกเยอะ เพราะฉะนั้นเราไปให้คุณค่าและความหมายกับคนเหล่านั้นดีกว่า ถ้าคนไหนที่ติเพื่อก่อ เชื่อว่าหลายๆ คนมีวุฒิภาวะมากพอ จะมีวิธีสื่อสารอย่างไร ไม่ให้เรารู้สึกเจ็บ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีสติ เราจะสามารถแบ่งแยกและแยกแยะได้เอง แต่แน่นอนเมื่อเราเป็นมนุษย์บางทีมันมาตกกระทบ ยังมีการตาดู หูฟัง ก็ยังจะรู้สึกอยู่ แต่ก็อยากให้พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ พยายามเปลี่ยนที่ตัวเอง ถ้าเราจัดการคนอื่นไม่ได้
6. การถ่ายทอดของพฤติกรรมผ่านทาง DNA
6.1 พูดถึงคดีของชรัสในซีรีส์
[คุณนัททิว]
– คดีนี้แก๊งค์สืบสวนได้เจอและใช้เวลาในการงมอยู่สักพัก เพราะมีการเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นในคดีเยอะไปหมด มันเป็นเรื่องของเด็กคนนึงที่มีพ่อมีประวัติอาชญากรรมเป็นฆาตกรฆ่าคน แล้วน้องคนนี้ก็ได้มีโอกาสเรียนหนังสือกับอาจารย์ธันวา ซึ่งบทความที่เรียนมันเกี่ยวกับว่าการเป็นฆาตกร มีเปอร์เซนต์ที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรม เลยทำให้น้องคนนี้มีความกังวลเกิดขึ้นว่าถ้าพ่อเป็นฆาตกร แล้วเขาได้รับยีนพ่อมา เขาจะมีแนวโน้มที่จะเป็นฆาตกรไหม แล้วในตอนนั้นก็เกิดการฆาตกรรมเกิดขึ้นจริงๆ แล้วแก็งค์สืบสวนก็ต้องไปหาความจริง แต่ในตัวเรื่องของปม ตัวของชรัสถูกเรื่องพ่อของเขาฝังเข้ามาในหัว แต่ชรัสอาจจะมารู้สึกตอนโตมากกว่าตอนเด็ก ตอนเด็กอาจจะยังคิดไม่ได้ แต่พอโตแล้วเขารู้สึกว่าเขาไม่อยากเป็นคนไม่ดี ข้างในอยากเป็นคนดี แต่เขาคิดว่าเขามีสิทธิที่จะเป็นคนเลว ซึ่งจุดที่ผิดพลาดคือในคดีมันมีผู้ร้ายตัวจริงที่เป็นเพื่อนของเขา แทนที่เขาจะพูดคุยหรือปรับความเข้าใจ เขากลับคิดว่าเขาจะต้องช่วยเพื่อน ทุกๆ คดีมันมีปมของคนร้าย ทุกอันไม่ใช่ฆาตกรมีอารมณ์สนุกหรืออยากฆ่า ทุกอันมีที่มาที่ไปทั้งหมดว่าทำไมฆาตกรถึงลงมือ
6.2 เรื่องเล่าจากชีวิตจริงของคุณเบส
[คุณเบส]
– การที่ลูกจะเหมือนพ่อก็มีความเป็นไปได้สูง อย่างตัวผมก็รู้สึกว่ามีหลายๆ อย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อ มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องดี เช่น เรื่องพูดตรง มีอะไรก็คุยกันเลย ไม่ต้องอ้อมค้อม พ่อเลี้ยงเราขึ้นมาเหมือนเป็นเพื่อน มีอะไรก็คุยกันได้ทุกเรื่อง เรื่องที่ค่อนข้างไม่ดีหน่อย ก็อาจจะเป็นเรื่องอารมณ์ ที่อาจจะเป็นคนขี้หงุดหงิดนิดนึง คุณพ่อจะเป็นคนที่ sensitive เรื่องอารมณ์ หงุดหงิดง่าย แต่หายเร็ว เราก็ได้รับอิทธิพลตรงนี้มากเหมือนกัน บางทีมีอะไร ได้ยินแล้วไม่ถูกหู เราก็จะหงุดหงิดแล้ว แต่เราก็จะจูนกลับมาไว พอเรารู้ว่าเราหงุดหงิดเกินไป เราก็จะขอโทษ
– ถ้าเรื่องปมอย่างพี่ตี๋จะเป็นเรื่องน้องคนเล็ก ของผมจะเป็นพี่ ก็จะรู้สึกมีความกดดันในแบบของพี่เหมือนกัน เรารู้สึกว่าพ่อแม่จะต้องคาดหวังว่าเราจะต้องดูแลครอบครัว ดูแลน้อง ดูแลคุณยาย เราก็รู้สึกว่าเราต้องเรียนให้เก่ง ต้องจบให้สูง การเป็นหมอ เป็นวิศวะ เป็นอะไรที่ทุกบ้านอยากให้เป็น เราก็จะเป็นเด็กเรียนดีมาก ได้ 4.0 มาตลอด จนมีปีนึงเราได้ 3.95 โทรไปนั่งร้องไห้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นชั่วโมง เป็นเรื่องที่เรา push ตัวเองมากเกินไป เรื่องพวกนี้จริงๆ สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการที่เราเข้าไปคุยกับเขาไม่ถึงสิบนาทีด้วยซ้ำ เพราะมาถึงจุดนึงที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากเป็นหมอหรือวิศวะจริงๆ มีสิ่งที่เราอยากทำอย่างอื่นมากกว่า มานั่งคุยกันจริงๆ ไม่ถึงสิบนาที เขาก็แค่บอกว่าจริงๆ แล้วเขาไม่ได้ต้องการให้เราเป็นหมอหรือวิศวะเลย แค่อยากเป็นอะไรก็เป็น อยากทำอะไรก็ทำ เป็นคนดีก็พอแล้ว
– บางทีการที่เราคิดไปเอง หรือ push ตัวเองมาเกินไปโดยที่จริงๆ พ่อแม่เราอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้นก็ได้ แล้วก็พูดคุยกัยเยอะๆ ในครอบครัว พยายามหาเวลาว่าง เสาร์ อาทิตย์ นั่งกินข้าวคุยกัน แชร์กัน
– ถ้าเรื่องพี่น้อง น้องเราจะเป็นคนเฮี้ยวๆ นิดนึง มีเกเรบ้าง เข้าฝ่ายปกครอง ไม่ตั้งใจเรียน การเรียนอาจจะไม่ได้ดีเหมือนเรา เราก็จะไป push น้อง ว่าทำไมเราทำได้ แล้วน้องทำไม่ได้ พอเราโตมา เราก็เข้าใจว่าแต่ละคนมีความถนัดไม่เหมือนกัน ความคิดก็ไม่เหมือนกัน ก็จะมีจุดนึงที่เราผิดหวังกับตัวน้องแล้วไปพูดแรงกับเขา เหมือนเป็นวันที่เขาพลาดอะไรสักอย่าง คำที่ผมใช้ว่าเขาว่าทำไมถึงทำตัวเหลวไหล หรืออะไรแบบนี้ด้วยคำที่รุนแรง น้องก็รู้สึกเฟลว่าทำไมเราถึงไปดูถูกเขา ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเขาก็พยายามเต็มที่ที่สุดของเขาแล้ว แต่เขาทำได้แค่นี้จริงๆ หลังจากนั้นเราก็ดีขึ้น เราก็รู้แล้วว่าเราทำไม่ดี เราก็ขอโทษแล้วก็ทำความเข้าใจ คุยกันมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้น เหมือนมันมีระยะห่างกัน มีปีนึงคุยกันน้อยมาก พี่น้องกัน นอนบ้านเดียวกัน แต่แทบไม่คุยกันเลย หลังจากนั้นก็ดีขึ้น และทุกวันนี้เราก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นคนช่วยเจรจาของบ้าน ใครมีปัญหาอะไรก็เป็นตัวเชื่อมให้ อยากให้ทุกคนพูดคุยกันเยอะๆ
6.3 การถ่ายทอดของพฤติกรรมผ่านทาง DNA
[คุณหมอท๊อป]
– จริงๆ แล้วมันไม่มียีนหรือพันธุกรรมตัวไหนเลยที่บอกว่ามีแล้วต้องกลายเป็นฆาตกร สิ่งที่เราถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นรูปร่าง หน้าตา พวกนี้เราเห็นชัดเจน จะมีเรื่องของอารมณ์ อุปนิสัยบางอย่าง ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ด้วยกัน ไม่ได้เลี้ยงดู แต่ก็ยังจะมีที่พี่น้องกันคล้ายๆ กัน พ่อลูกคล้ายๆ กัน มีได้ โดยเฉพาะเรื่องของอารมณ์ เรื่องความใจดี ความหงุดหงิด แต่ไม่ได้มีพันธุกรรมไหนที่บอกว่าต้องกลายเป็นคนดีหรือไม่ดี
– การจะเป็นคนดีหรือไม่ดีมันจะอยู่ที่การดูแลเลี้ยงดู ประสบการณ์ ของเด็กแต่ละคนมากกว่า ไม่ใช่ว่าพอมีคุณพ่อทำผิดแล้ว คุณลูกก็จะชอบทำผิดตามด้วย บางคนพ่อแม่ดี ลูกไม่ดีก็มี ขึ้นอยู่กับบุคคล เรื่องที่เกิดกับบุคคล ก็อย่าไปเหมารวมกับครอบครัวหรือลูกหลาน
7. ฝากส่งท้าย
[คุณหมอท๊อป]
– ทุกคนที่ผ่านประสบการณ์ เจอปมหรืออะไรก็ตาม ถ้าเรามีคนที่อยู่เป็นกำลังใจให้ มีเพื่อน มีครอบครัวที่คอยประคับประคอง คอยให้กำลังใจ รอคอยที่จะเข้มแข็ง แข็งแรงไปพร้อมกัน ก็จะช่วยให้ปัญหาทุกอย่างมันดีขึ้นได้ จากคนที่อาจจะมีพฤติกรรมที่หงุดหงิดง่าย อาจจะกลายเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดีมากๆ ก็ได้ เมื่อเขาโตขึ้น ถ้าเขามีการดูแล มีสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือเรื่องการสื่อสาร ปมหลายๆ อย่างก็หายไปได้ ถ้ามีการสื่อสารที่ดี อาจจะเปลี่ยนจากคำว่าปมเป็นประสบการณ์หรือจุดเปลี่ยนที่ดีก็ได้ ถ้าเราสื่อสารกันดีพอ รับฟังให้มาก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ฟังเด็กให้มาก ฟังตัวเองให้มาก ฟังคนอื่นให้มาก อันนี้ก็จะช่วยได้
[คุณนัททิว]
– ฝากติดตามละครของพวกเรา จะมีปมหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น หลายๆ ตัวละครที่ปมจะค่อยๆ ถูกเปิดเผยขึ้นมาช่วงท้ายๆ มาฟังวันนี้แล้วไปเจอปมของตัวละครใหม่ๆ เหล่านี้ เราอาจจะอินและเข้าใจอะไรมากขึ้น
– อยากฝากเรื่องของกำลังใจ ด้วยประสบการณ์ของตัวเองก็ผ่านมาได้ด้วยกำลังใจเหมือนกัน ในชีวิตของผมก็มีช่วงที่ถูกแบนออกไปจากเพื่อนทั้งกลุ่ม และสิ่งที่ทำให้ผมผ่านช่วงเวลานั้นมาได้คือกำลังใจจากเพื่อนดีๆ แค่คนสองคนที่เขาอยู่เคียงข้างเรา กุญแจนึงที่ทำให้ผ่านพ้นเรื่องเหล่านี้ไปได้คือ กำลังใจจากคนรอบข้าง ถ้าวันนี้เรายังไม่รู้ว่าคนๆ นั้นคือใคร เราเริ่มจากตัวเราเองเป็นเพื่อนที่ดีหรือเป็นกำลังใจให้ใครสักคน ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้วันนึงมันจะสะท้อนกลับมาหาเรา ถ้าเราปรารถนาดีกับคนคนนึงด้วยจิตใจที่ดี แล้ววันนึงเราจะผ่านไปได้ และเราจะช่วยไปคนอื่นให้ผ่านไปได้เช่นกัน
[คุณเบส]
– ฝากเรื่อง Remember You ด้วย รับรองว่าสนุกและเข้มข้น ขอให้ทุกคนสามารถผ่านเรื่องอะไรก็ตามที่มันไม่ดีไปได้ ยังไงเราต้องเจอกับมันอีกเยอะ อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคน
[คุณภัทร]
– บางครั้งจุดเริ่มต้นที่เป็นปมในใจ เริ่มจากการบูลลี่เล็กๆ ที่มันสร้างเป็นบุคลิกที่ทำให้ใครหลายๆ คนต้อง suffer กับเรื่องนี้ไปจนโต ในฝั่งของผู้ที่ถูกกระทำ เห็นใจและอยากให้สามารถรับมือกับมันได้ เราต้องแข็งแรงในตัวเรา อย่าไปให้คุณค่ากับสิ่งที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับเรา รักตัวเอง อย่าให้คำพูดของคนอื่นมาทำร้ายเรา ส่วนฝั่งของผู้กระทำ ก็ขอให้อย่าสร้างบาดแผลให้ผู้อื่นเลย ทุกคนควรจะได้เติบโตในชีวิตที่สวยงาม มีเพื่อนที่ดี พูดคุยกันได้ และไม่ต้องทำร้ายกัน
[คุณตี๋]
– เป็นกำลังใจให้เพื่อนๆ พี่น้องทุกคน สถานการณ์ตอนนี้ทุกคนคงลำบากกันหมด แต่ก็อยากให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติและไม่ประมาท พยายามมองโลกในแง่ดี เลือกคิดในสิ่งที่มันดีที่สุดต่อตัวเราและคนรอบข้าง เราต้องรักตัวเอง รักครอบครัว ดูแลและให้ความสำคัญกับคนที่เขารักเรา ใช้ชีวิตให้มีความสุข ถ้าทำเพื่อผู้อื่นได้ก็จะดีมาก แต่ถ้ายังทำไม่ได้ก็อย่าไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ชีวิตยังมีอะไรที่ต้องเจออีกเยอะ สู้ๆ ทำในสิ่งดีๆ คิดดี ทำดี เชื่อว่าสิ่งดีๆ ก็จะเข้ามาหาเรา
[คุณรอน]
– ช่วงนี้ทุกคนน่าจะเครียดด้วยสถานการณ์ ขอให้ทุกคนมีความสุข และขอให้หัวใจของทุกคนแข็งแรง ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวอะไรต่างๆ ก็จัดการได้ ขอให้มีความสุขได้กับเรื่องง่ายๆ ในชีวิต จะได้ไม่ต้องทุกข์และคิดมาก ความทุกข์อยู่กับเราไม่นาน และฝากติดตามซัพพอร์ตซีรีส์ของเรากันต่อไปด้วย
[คุณเบลล์]
– เป็นกำลังใจให้ทุกคน ด้วยสถานการณ์ต่างๆ อาจจะทำให้ไม่ค่อยได้เจอผู้คน ขอเป็นกำลังใจให้และทุกอย่างก็จะดีขึ้นด้วยระยะเวลาของมัน จะต้องเรียนรู้และเติบโตกันไป
– ฝากเรื่อง Remember You ไว้ด้วย สามารถรับชมได้ผ่านทาง True ID และ Netflix ขอบคุณทุกคนที่ติดตามกันด้วย
[คุณเต]
– ใครที่ยังไม่เคยดู อยากจะลองให้ได้ดูกัน เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่แนะนำมากๆ ส่วนใหญ่ปัญหาในช่วงอายุวัยเรียนจะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ เป็นหนึ่งในเรื่องที่พูดยาก แต่อยากบอกให้ทุกคนเข้าใจว่าโลกนี้มันเหมือนจะอยู่ยาก แต่การที่จะอยู่ในโลกนี้แบบมีความสุข มันต้องเข้าใจโลก แต่ก่อนที่เราจะเข้าใจโลก เราต้องเข้าใจตัวเอง ต้องรักและเคารพตัวเองก่อน ทำใจตัวเองให้แข็งแรง สุดท้ายมันถึงจะเผื่อแผ่ไปถึงคนอื่นได้ ฝาก ให้ทุกคนดูแลรักษาจิตใจตัวเองให้แข็งแรงและมีความสุข
[คุณเพชร]
– เป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนที่กำลังเรียนอยู่ ปัญหาแต่ละเรื่องก็ขอให้ผ่านไปได้ด้วยดี เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิเลือกและมีคุณค่าในตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดใครที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเรา ต่อว่าเรา เราก็แค่เลือกที่จะไม่ใส่ใจหรือบอกเขาว่าเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ทำให้เขาเข้าใจเราก็ได้ หรือถ้าเขาไม่เข้าใจเราก็ไม่ต้องไปสนใจเขา ชีวิตเรายังมีคนอีกเยอะแยะมากมาย ที่เราจะไปเจอหรือหาใหม่ก็ตาม เชื่อว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดมาเป็นเพื่อนเราได้ทุกคน เพื่อนก็ต้องเลือก ต้องหา เหมือนหาแฟน หาชีวิตคู่เหมือนกัน เดี๋ยวมันจะใช่มันก็ใช่เอง บางทีเหมือนจะใช่แต่ไม่ใช่ เราก็ต้องหาใหม่เหมือนกัน เลยอยากจะบอกว่าทุกคนมีสิทธิเลือก และอย่าลดคุณค่าของตัวเอง เพื่อไม่ให้เราเศร้าและจมอยู่กับความคิดที่ไม่ดี
– ขอฝากซีรีส์ “Remember You คือเธอ” ไว้ด้วย ใครดูแล้วสนุกก็ฝากบอกต่อกันด้วย อยากให้ความสนุกที่เราตั้งใจทำกันมาทุกๆ คน ส่งต่อผ่านไปยังวงที่กว้างขึ้น ไม่ได้หยุดแค่นี้
รายละเอียด
Date: 22 Sep 2021 (20:00-22:15)
Speaker:
– เพชร เผ่าเพชร เจริญสุข (รับบท ธันวา)
– เต ตะวัน วิหครัตน์ (รับบท เพทาย)
– เบลล์ เขมิศรา พลเดช (รับบท อัยญ์)
– รอน ภัทรภณ โตอุ่น (รับบท ปฐมกาล)
– นัททิว ณัฏฐ์ทิว ไผ่งาม (รับบท ธนัช)
– ภัทร ฉัตรบริรักษ์ (รับบท นาคร)
– ตี๋ วิวิศน์ บวรกีรติขจร (รับบท แฟ้บ)
– เบสท์ วิชยุตม์ ลิ่มรัตนะมงคล (รับบท อนันต์)
Special Guest:
– หมอท๊อป นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ (จิตแพทย์ และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข)
Moderator: พี พนิต
คือเธอClubhouse #คือเธอ #RememberYou #RememberYouTH #ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #ปมในใจ #วันนี้สรุปมา #todayinoteto #todayinotetoevent #Tawan_V #paopetch #kemisarabelle #TrueCJ #TrueCJCreations