สรุปสั้น
1. Creative Technologist คือ นักเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ เป็นอาชีพที่นำเอาเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกันตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ นำไอเดียเหล่านั้นมาประเมินดูว่าสิ่งลูกค้าอยากได้ สามารถนำมาสร้างและทำได้จริงหรือไม่
2. Creative Technologist สำคัญ เพราะชีวิตผู้คนสมัยนี้ผูกพันกับเทคโนโลยี Creative Technologist เป็นคนที่นำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้น ไปทำให้อยู่ในฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับบริบทของงาน ต้องคอยจับไอเดียของลูกค้า นำมาปรับกับเทคโนโลยีให้เหมาะสม ตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ
3. หากสนใจด้าน Creative Technologist ต้องเริ่มต้นจากการมีความรู้ด้านการเขียนโค้ด มีความชอบ ความตั้งใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ และต้องมีความรู้ทางด้านครีเอทีฟอาร์ตและรู้เรื่องเทคโนโลยี นำศาสตร์ทั้งสองอย่างมาผสมผสานกัน
1. Creative Technologist คืออะไร?
– คำว่า Creative Technologist มาจากคำว่า Creative ที่แปลว่าสร้างสรรค์ และคำว่า Technology ที่แปลว่า เทคโนโลยี ดังนั้นถ้าแปลตรงๆ จึงแปลว่า นักเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ หรือบุคคลที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี รู้ทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ แล้วนำความรู้มาสร้างสรรค์เป็นงานครีเอทีฟ ซึ่งเป็นส่วนที่ทับซ้อนกันระหว่างครีเอทีฟอาร์ตและเทคโนโลยี
– อาชีพ Creative Technologist จึงเป็นอาชีพที่นำเอาเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาผสมผสานกันตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ เช่น มีคอนเสิร์ตที่ต้องใช้ special effect แบบที่ยังไม่เคยมีมาก่อน Creative Technologist ก็ต้องมาประเมินดูว่า ไอเดียที่ลูกค้าอยากได้ สามารถนำมาสร้างและทำได้จริงหรือไม่ หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นสะพานเชื่อมระหว่างไอเดียกับความเป็นจริง เป็นคนที่คอยช่วยแมทช์ความคิดสร้างสรรค์ที่ลูกค้าต้องการเข้ากับเทคโนโลยีนั่นเอง
2. Creative Technologist มีกี่ประเภท?
– งานหลักๆ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ในส่วนของฮาร์ดแวร์ มีแบ่งย่อยได้อีก 2 อย่างคือ งานฮาร์ดแวร์ที่ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน (แบบ explore) และงานฮาร์ดแวร์ที่เคยมีคนทำมาแล้ว ในส่วนของซอฟต์แวร์ ส่วนใหญ่เป็นงาน service ทำระบบ ทำแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในงานอีเว้นท์ ทำตามโจทย์ที่ลูกค้าอยากได้ ครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
3. ทำไม Creative Technologist จึงสำคัญ?
– ชีวิตผู้คนสมัยนี้ผูกพันกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นมือถือ โน๊ตบุ๊ก สมาร์ทวอช รองเท้า เป็นเหมือนอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ ซึ่งมนุษย์มีการเอาเทคโนโลยีมาใช้ในบริบทต่างๆ Creative Technologist เป็นคนที่นำเอาเทคโนโลยีเหล่านั้นไปทำให้อยู่ในฟังก์ชั่นที่เหมาะสมกับบริบทของงานที่ต้องการแสดง เช่น ลูกค้าต้องการสายรัดข้อมือสำหรับงานคอนเสิร์ต (wristband) โจทย์คือริสแบนด์นั้นต้องคุมแสงได้ในระยะไกล เปลี่ยนสีได้ตลอดเวลาอย่างรวดเร็วทันตามเสียงเพลง Creative Technologist ก็ต้องมาวิเคราะห์ดูว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องพลิกแพลง เขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ ดังนั้น Creative Technologist จึงสำคัญเพราะต้องคอยจับไอเดียของลูกค้า นำมาปรับกับเทคโนโลยีให้เหมาะสม ตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ
4. เริ่มต้นอาชีพ Creative Technologist ได้อย่างไร?
– ส่วนตัวเรียนจบด้าน Computer Science หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มา ก็เลยสนใจด้านนี้อยู่แล้ว บวกกับส่วนตัวชอบดู Youtube สนใจด้านครีเอทีฟอาร์ต เคยเห็นผลงานของคนต่างประเทศ ชอบศึกษา จึงลองทำดูบ้าง แล้วค่อยๆ ต่อยอดเรียนเพิ่มเติม พอทำงานประจำได้สักระยะ ภายหลังจึงออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง ที่ชื่อว่า H-Lab ซึ่งเป็นเหมือนแล็ป สำหรับเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
5. ถ้าคนที่สนใจด้าน Creative Technologist ต้องเริ่มต้นอย่างไร?
– ก่อนอื่นต้องพอมีความรู้เรื่องการเขียนโค้ดในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเก่งมาก็ได้ เพราะงานสายนี้อาศัยความชอบ ความตั้งใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ หมั่นศึกษาจาก Youtube ต้องใช้กูเกิ้ลเก่ง เพราะงานค่อนข้างท้าทาย ต้องหา solution ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บวกกับงานสายนี้เป็นการรวมตัวคนจากหลายแขนง จึงสามารถช่วยๆ กันได้ ที่สำคัญคือต้องมีความรู้ทางด้านครีเอทีฟอาร์ต และรู้เรื่องเทคโนโลยี นำศาสตร์ทั้งสองอย่างมาผสมผสานกัน
– ปัจจุบันมีในมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่อง Media Technology โดยเฉพาะ คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (มกท.)
6. แนวโน้มเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง AR และ VR ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
– AR ไปได้ในระดับหนึ่ง แต่เรื่องฮาร์ดแวร์อาจจะต้องใช้เวลาที่จะทำให้ AR เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งก็ต้องพยายามพัฒนาตามเทคโนโลยีให้ทัน
– ส่วนของ VR เทคโนโลยียังไปไม่ถึงกับสิ่งที่เราจะเอามาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีการนำมาใช้ในงานต่างๆ ใช้ในการทำ virtual production แต่ถ้าจะทำเป็น comercial ให้มีทุกบ้านก็ยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่ อย่างไรก็ตามคิดว่าในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ คงอีกไม่ไกล
– ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบมากต่องาน Creative Technologist เพราะจัดอีเว้นท์ไม่ได้ เราก็เลยต้องเปลี่ยนตัวเอง หันมาให้ความสำคัญกับ virtual event / event online มากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีแอพพลิเคชั่นที่เราทำออกมา เช่น เล่นกีฬาสีแบบเรียลไทม์ ยิงข้อมูลไปที่มือถือ แล้วใช้ Zoom ถ่ายทอดสด ก็เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์
ฝากทิ้งท้าย
– อยากให้คนที่สนใจด้าน Creative Technologist ลองศึกษาดูว่าชอบทางไหน เพราะมีหลายสาขา เช่น Mobile Application ตู้ Kios ฮาร์ดแวร์ ดูว่าตัวเองชอบอะไร อยากไปทางไหนก็ศึกษาเพิ่มเติมดู
รายละเอียด
สรุปโดย Muk Tunchanok
Date: 30 APR 2021 (20:00-21:05)
Speaker: คุณหมี CTO & Co-founder of H-Lab
Moderator: P Panit (วันนี้สรุป..มา)
#ClubhouseTH #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #CreativeTechnologist #HLab #pxpanit #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา