1. การแยกขยะคืออะไร
– ขยะคือสิ่งที่ไม่มีค่ากับเรา ใช้เปรียบเทียบความรู้สึกกับสิ่งที่เราไม่ต้องการ ส่วนตัวคิดว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ควรจะมีคำว่าขยะ
– ถ้าเกิดมีคำว่าขยะจริงๆ เราไม่จำเป็นต้องแยก เพราะมันไม่มีค่า แต่ถ้าเราแยกเมื่อไหร่แปลว่ามันต้องมีอะไรบางอย่าง มันไม่ใช่ขยะ
– ผมโตมาในธุรกิจรับซื้อของเก่าตั้งแต่เด็กๆ เวลาผมมองของพวกนั้น ผมจะไม่ได้มองเป็นขยะ แต่มองเป็นวัสดุ กระดาษ พลาสติก โลหะ หรือเหล็ก และเวลาผมเห็นถังขยะที่ทิ้งกันไม่ดี จะรู้สึกเสียดาย หงุดหงิด ว่าบางอันยังมีค่าอยู่ทำไมไม่แยกออกมา
– ถ้าอยากเริ่มแยกขยะต้องเปลี่ยนมุมมองก่อนว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีขยะ
– ของทุกอย่างในโลกทำมาจากแร่ธาตุ ตั้งแต่เมื่อสามล้านปีก่อนมันไม่เคยมีขยะ ทุกอย่างก็หมุนเวียนไปเรื่อยๆ ขยะเริ่มมีเมื่อมนุษย์เกิดขึ้น เมื่อเราเริ่มรู้จักการผลิต การเล่นแร่แปรธาตุตั้งแต่ยุคโลหะ เริ่มมีการหลอม ยุคเหล็ก เริ่มขุดเจอน้ำมันแล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เริ่มผลิตพลาสติก เป็นวิวัฒนการมาเรื่อยๆ แต่เราไม่ได้คิดว่าพอเราสร้างมาแล้วเราจะจัดการมันยังไง เรามองแค่เป็นเชิงเส้นตรง (linear economy) แค่ใช้แล้วทิ้ง ก็เลยเกิดเป็นขยะขึ้นมา
2. ทำไมการแยกขยะถึงสำคัญ
– ของทั้งหมดมีความสำคัญในตัวของมัน มีโมเลกุล มีธาตุ หมุนเวียนอยู่ในโลกนี้ ทรัพยากรที่เราเอามาใช้แล้ว ถ้าเราไม่หมุนเวียนมัน ทุกอย่างมันมีจุดสิ้นสุดเสมอ เช่น การเจาะน้ำมัน ยังไงสักวันก็ต้องหมด เพราะฉะนั้นมีอยู่สองทางเลือกเท่านั้นว่าเราจะทำยังไง อันดับแรกคือไปหาดาวดวงอื่นอยู่ หรือทำให้ทรัพยากรสามารถนำมาหมุนเวียนได้ มันก็จะกลายเป็นเหมือนโลกที่ผ่านมาคือ มีการหมุนเวียนไปเรื่อยๆ
– ถ้าเราไม่แยกขยะ ทรัพยากรก็จะหมดไป และขยะที่เกิดขึ้นก็จะกลายเป็นมลพิษ เป็นสิ่งที่โลกเราไม่รู้จัก เช่น พลาสติก มันจะค้างอยู่แบบนั้น และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าอนาคตจะส่งผลอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปี 1900 ต้นๆ เรารู้จักการผลิตเครื่องปรับอากาศ โดยการใช้สาร CFC ที่เอามาใช้ทำสเปย์ด้วย ในสมัยนั้นเป็นที่ฮือฮามาก หลังจากนั้นจึงมาค้นพบช่วงประมาณปี 1980 ว่า CFC มันเป็นคลอรีน พอมันลอยขึ้นไปอยู่ในอากาศแล้วหนึ่งโมเลกุลสามารถทำลายโอโซนได้เป็นแสนโมเลกุล ซึ่งเยอะมาก จึงเกิดการแบน กว่าจะแบนเสร็จ เพิ่งมีปีนี้ที่โอโซนเพิ่งเริ่มฟื้นฟูกลับมา
– สารตะกั่วเมื่อก่อนเติมไปใส่ในน้ำมันเป็นเรื่องปกติ จนมีนักวิทยาศาสตร์มาบอกว่ามันสามารถทำให้คนมีสภาวะหลอนได้ ก็เลยต้องแบน มนุษย์เรามักจะสร้างปัญหาก่อนแล้วค่อยมาแบน
– ตอนนี้ก็มีปัญหาว่าไมโครพลาสติกเยอะมากเลย เต็มทะเล กำลังจะเริ่มแบน แต่โชคดีที่ไมโครพลาสติกไม่ได้เป็นอะไรที่เลวร้ายขนาดสารพิษ กินแล้วตาย แต่มันส่งผลต่อสัตว์และระบบนิเวศเป็นหลัก ข้อดีคือเราอาจจะปรับตัวทัน ข้อเสียคือมันอาจจะสายเกินแก้ เพราะมันไม่ได้มีผลกระทบกับเราโดยตรง
3. แนะนำวิธีการเริ่มต้นแยกขยะ
– คนชอบนึกว่าการแยกขยะเริ่มจากการซื้อถังสีต่างๆ มาก่อน แต่จริงๆ มันผิด ตามหลักการแล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกคือ
*1. ทำ Waste Profile
– ดูว่าในพื้นที่ของเรามีขยะอะไรบ้าง ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น อบต. ต้องไปเอารถขยะมาเท แล้วแยกเป็นชิ้น พลาสติกกี่ชิ้น เกรดไหนบ้าง ทำสักหนึ่งสัปดาห์ ก็จะได้ waste profile มาหนึ่งตัว ว่าในตำบลนี้มีขยะอะไรบ้าง กี่กิโลกรัม ถ้าเป็นออฟฟิศ ถ้าทำได้คือ เริ่มจากให้ทุกคนมาทิ้งขยะรวมกันในถังเดียวกันหมดเลย แล้วเอามาแยกดู ว่าในถังว่ามีอะไรบ้าง ออฟฟิศส่วนใหญ่จะมีพวกกระดาษ แก้วกาแฟเยอะ
*2. ดูว่าขยะประเภทไหนเยอะ และสามารถหาคนมารับได้
– อันไหนที่ถ้าเราลดแล้วทำให้ขยะที่จะต้องทิ้งมันน้อยลง แล้วก็ไปหาคนที่จะมารับขยะตัวนั้น ซึ่งคนรับก็เป็นไปได้ตั้งแต่ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า โครงการต่างๆ หรือแม้กระทั่งแม่บ้านของออฟฟิศเอง ลองไปถามดูว่าเขาเอาไหมถ้าแยกมา
*3. ออกแบบภาชนะที่ไว้ใช้แยก
– ตามประเภทของขยะที่เราจะแยก ไม่จำเป็นต้องเป็นถังสีกลมๆ สมมุติว่าแยกกระดาษ ใส่เป็นกล่องก็ได้ ถ้าแยกขวดน้ำ ก็ทำเป็นถังแล้วติดป้ายให้คนบี๋ก่อนทิ้ง ออกแบบตาม waste profile ที่มี และลองถามคนรับก็ได้ว่า เขาอยากรับในรูปแบบไหน
*4. เก็บ Feedback และนำมาปรับปรุง
– หลังจากทำแล้วก็ได้จะ feedback กลับมา สมมุติพอตั้งถังไว้ในออฟฟิศสักระยะ เราก็มาดูผลลัพธ์ สมมุติคนแยกอันนี้ไม่ค่อยเป็น เพราะอะไรนะ เก็บมาปรับปรุงไปเรื่อยๆ
4. ถ้าเป็นขยะที่ไม่มีคนมารับ ต้องแยกไหม
– ไม่ต้องแยก เพราะแยกไปก็ไม่มีคนรับ ไม่มีประโยชน์ ต้องให้มีคนเอาก่อน
– มีหลายโครงการที่เปิดขึ้นมารับขยะกำพร้า ผมมีทำแอพพลิเคชั่นตัวนึงที่ทำมาเพื่อตอบโจทย์นี้ชื่อ Green2Get เป็นแอพพลิเคชั่นที่ให้เราสามารถดูได้ว่าบริเวณที่เราอยู่ มีใครรับขยะอะไรอยู่บ้าง มีรายละเอียดการติดต่อให้ ให้ลองไปถามและคอนเฟิร์มว่าอันไหนที่แยกแล้วมีคนเอา
– ขยะมันมีหลายประเภทมาก บางที่ตรงนี้มีคนรับ บางที่ไม่มี ผมเลยทำเครื่องมือตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนสามารถลองไปหาดูได้
5. ระบบการแยกขยะในเมืองนอก
– เมืองนอกจะมีผู้รับที่เป็นส่วนกลาง
– ระบบของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันเลยคือการแยกขยะมันไม่เคยฟรี อย่างบ้านเราจะรู้สึกเหมือนว่ามันฟรีหรือเสียเงินไม่เยอะ ระบบที่ดีของเมืองนอก เช่น สหรัฐอเมริกา เขาจะใช้ระบบที่เรียกว่า MRF (Material Recovery Facility) เป็นระบบที่แยกจากส่วนกลาง แล้วขึ้นสายพานเป็นโรงงาน บางที่ก็จะมี AI มีคนงานช่วยคัดแยกให้เป็นก้อน แต่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ที่นึงลงทุนเป็นพันล้าน ซึ่งคนจ่ายก็คือประชาชน ต้องจ่ายเดือนละประมาณ 2,000-3,000 บาท เป็นของภาครัฐที่บังคับทำ แล้วต้องแยกขยะด้วย ถ้าไม่แยกเขาก็จะไม่เก็บ
– ถ้าเป็นที่ไต้หวันจะใช้ระบบถุง ถ้าไม่แยกก็ได้แต่ถุงนึงจะแพงมาก ถุงเล็กๆ ถุงนึง 30-40 บาท ถ้าประเทศไทยอยากจะเอาระบบดีๆ อย่างญี่ปุ่นหรือยุโรป ก็ต้องมาถามว่ามีเงินจ่ายกันไหม มันก็มีข้อดีและข้อเสียของระบบ เมืองไทยไม่แยกก็ไม่ดี แต่แยกแล้วได้เงิน ข้อเสียก็คือบางคนก็ไม่ได้เห็นคุณค่าของการแยกขยะ เพราะแยกแล้วได้เดือนละ 10-20 บาท แต่ถ้าในเมืองนอกก็ต้องเสียเงินแพง
6. ระบบการแยกขยะในเมืองไทย
– มีแค่สองระบบคือ รถเก็บขยะ ซึ่งปลายทางคือบ่อเก็บขยะ (ฝังกลบ) กับธุรกิจรีไซเคิล (รับซื้อขยะ)
– อาจจะมีการคัดแยกระหว่างทางอยู่สามขั้น ก่อนจะไปถึงปลายทางที่บ่อขยะ เนื่องจากบ้านเรามีระบบรับซื้อของเก่าที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่
*1. คัดแยกหลังรถขยะ
– คือพนักงานคัดแยกกันเอง ส่วนนี้ก็จะเป็นรายได้เสริมของเขา
*2. คัดแยกที่จุดพักหรือรวมขยะ
– ถ้ากรุงเทพฯ ก็คือที่อ่อนนุชและหนองแขม ก็จะมีโรงคัดแยกอีกอันนึง จะขึ้นสายพานแล้วเลือกบางชนิดออกมาที่เก็บง่ายและชัดเจน เช่น ขวดน้ำหรือกระป๋องอลูมิเนียม เพราะไปถึงตรงนั้นแล้วมันเละมาก เขาต้องแยกให้เร็วที่สุดและมันไม่สามารถคัดได้ละเอียด จะได้คัดได้แค่ของใหญ่ๆ ของที่มันเห็นชัด รายได้ก็จะเป็นของบริษัทที่ประมูลงานของ กทม. ไป
*3. คัดแยกที่บ่อฝังกลบ
– พอหลุดออกจากจุดพัก มันก็จะถูกส่งไปที่บ่อฝังกลบ ซึ่งจะมีคนคุ้ยขยะอีกรอบนึง แล้วแต่ที่นั้นๆ ว่าจะเปิดให้เข้าหรือไม่ อย่างของ กทม. จะถูกส่งไปที่นครปฐม ซึ่งไม่ได้เปิดให้เข้า แต่ถ้าเป็นที่อื่นๆ บางที่จะเปิดให้เข้า ใครอยากจะเข้าไปคุ้ยก็คุ้ยได้
– แล้วถ้าเราอยากจะเปลี่ยนระบบนี้จะทำยังไงได้บ้าง มีอยู่หลายไอเดีย ถ้าให้ง่ายสุดคือรวมวัสดุที่ขายได้ อย่าให้มันเลอะเทอะ เวลามันไม่เลอะแล้วคนแยกขยะเห็นง่าย แยกง่าย ก็จะมีโอกาสรอดมากขึ้น งานหลักของเขาคือเก็บขยะไปฝังกลบ ถ้าขยะเยอะมาก เขาไม่มีเวลา ก็ต้องทำงานหลักให้เสร็จคือเก็บอย่างเดียว อาจจะไม่มีเวลามานั่งแยกขยะ เพราะฉะนั้นมันก็มีสิทธิที่เขาจะไม่แยกเหมือนกัน แต่ถ้าเราแยกขยะให้เขาดี อาจจะมีโอกาสรอดจากการฝังกลบมากขึ้น
– เมืองไทย ไม่ได้มีการแยกขยะอันตรายทุกอย่างฝังกลบหมด ถ้าแยกก็คือเอาของที่ยังพอมีค่าออกอย่างเดียว อย่างช่วงโควิดขยะทุกอย่างก็รวมกัน
7. การจัดการขยะติดเชื้อในเมืองไทย
– เป็นอะไรที่น่าเป็นห่วง ต้องบอกว่าการจัดการขยะติดเชื้อของบ้านเรามีแค่ 10 โรงเท่านั้นที่สามารถกำจัดขยะติดเชื้อได้ด้วยการเผาด้วยอุณหภูมิ 700 องศาและเผาควันขึ้นไปอีกทีนึง เป็นสองระบบ และสิบโรงนี้มีกำลังการกำจัดอยู่ที่ 300 ตันต่อวัน แต่ตอนนี้ขยะน่าจะขึ้นเป็น 500 ตันต่อวัน คือเกินไปเยอะมาก ยังเป็นห่วงอยู่ว่าตอนนี้ไปอยู่ไหน ต้องมีหลุดไปเข้าระบบปกติซึ่งเป็นมือคนแน่นอน มีความน่ากลัวอยู่ ไม่อยากให้เกิดคลัสเตอร์คนเก็บขยะ
– โรงงานพวกนี้จะรับขยะจากโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ เพราะระบบนี้ต้องจ่ายเงินกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท พวกโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ต้องจ้างคนมาเก็บขยะติดเชื้อเพื่อนำไปเผาไปตามกฎระเบียบ ขยะทั่วไปที่ตั้งหน้าบ้านไม่มีสิทธิที่จะเข้าระบบขยะติดเชื้อ ยกเว้นอาจจะเอาไปใส่ถังแดงที่เขากำหนดไว้ ก็อาจจะมีโอกาส
– อะไรที่อันตรายอาจจะแยกให้เห็นชัดๆ คนเก็บขยะอาจจะได้ระวัง
8. แนะนำสิ่งที่พอจะแยกไปขายได้
*1. กระดาษ
– คืออะไรก็ได้ที่ทำจากเยื่อไม้แล้วฉีกได้ รวมแล้วพับเป็นแผ่นแบนๆ ใส่ในกล่องกระดาษที่เรามีไว้ ตอนนี้ราคาดี ถ้าเป็นกระดาษลัง ราคาโรงงานพุ่งไป 9 บาท supply มัน shortage ทั้งโลก นำเข้า-ส่งออกไม่ได้ คนบริโภคน้อยลง ขยะน้อยลง แต่โรงงานต้องผลิตมากขึ้น ดูง่าย แยกง่าย วิธีทดสอบคือ ของทุกอย่างที่มันฉีกได้ก็คือเป็นกระดาษ แต่ถ้าฉีกแล้วไม่ขาดก็เป็นพลาสติก
*2. พลาสติก
– ให้เก็บที่เป็นขวด จะได้เกือบทั้งหมดประมาณ 90% จะมีการนำไปรีไซเคิลต่อ แบ่งเป็นหลายเกรด ถ้าเป็นขวดใส่เครื่องดื่มเรียกว่าเป็นขวด PET หรือขวดสบู่แชมพูก็จะเป็นอีกเกรด แต่พลาสติกตอนนี้มีปัญหาอยู่ เพราะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคาลงช่วงนี้ พลาสติกมันจัดการยาก มีค่าใช้จ่ายในการจัดการสูง เลยถูกผลักออกมาจากต่างประเทศ เอามาขายให้บ้านเราถูกๆ หรือบางทีอาจจะฟรีเพื่อเอามาจัดการในประเทศเรา
– การกำจัดที่ถูกต้องมีต้นทุนที่สูง อย่างถ้าจะเอาไปเผาที่อเมริกาก็ต้องเสียอย่างน้อยกิโลกรัมละ 6 บาทเพื่อการฝังกลบที่ถูกต้อง เพราะมันต้องมีการปูพลาสติกหนึ่งชั้น เอาขยะลงไป ซ้อนด้วยดิน เอาขยะซ้อนลงไป ซ้อนด้วยดิน แล้วก็ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย เผามีเทน มันยุ่งยากมาก เขาจึงส่งมาประเทศไทยอาจจะขายกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่า คนที่รับซื้อสมมุติคัดแล้วมีของดีอยู่ 50% ต้นทุนก็จะเพิ่มเป็น 2 บาทซึ่งก็ยังถูกกว่า แล้วส่วนที่เสียก็เอาไปทิ้งแถวบ่อนครปฐม ซึ่งค่าทิ้งถูกมาก ต้นทุนอาจจะเพิ่มสูงขึ้นก็ไม่เกิน 4 บาท แต่ถ้าซื้อจากซาเล้งจะประมาณ 8 บาท เขาเลยนำเข้ามาถูกกว่า
– อย่างระบบ MRF ของอเมริกา เขาจ่ายเงินเพื่อแยก การแยกเลยได้คุณภาพที่ดีกว่า เพราะมันมีเครื่องมือ จะอัดก้อนมาเป็นพลาสติกก้อนสวยๆ ดีกว่าของเมืองไทย ทำให้โรงงานใช้เหตุผลนี้ในการนำเข้าขยะ ก็เลยกลายเป็นปัญหา
*3. ขวดแก้ว
– ได้เกือบทั้งหมด ถ้าเป็นเมืองนอกจะมีปัญหาเพราะน้ำหนักเยอะ และการขนส่งมันไม่คุ้ม ขวดแก้วทำจากทรายซึ่งหาง่าย บางครั้งการเอาทรายมาผลิตเป็นขวดแก้ว ยังง่ายกว่าการเอาขวดแก้วเก่ามาทำใหม่ มันประหยัดกว่า เช่น การตั้งโรงหลอมแก้วที่บ่อทราย ทำให้เมืองนอกหลายประเทศจะไม่รีไซเคิลขวดแก้ว จะมีโครงการเอาขวดแก้วไปทำทราย แต่เมืองไทยการขนส่งยังคุ้ม ก็เลยยังมีการรีไซเคิลขวดแก้วอยู่ ถ้าเป็นกล่องที่เป็นลังก็จะมีการ resuse เอาไปล้างแล้วเอามาใช้ใหม่ได้ ขวดแก้วค่อนข้างดีสำหรับประเทศไทยคือมีการ reuse ก็จะมีกระบวนการซื้อรองรับ
*4. โลหะทุกชนิด
– ถ้าในชีวิตประจำของคนทั่วไปก็จะมีแค่กระป๋อง มีสองแบบคือ เหล็กกับอลูมิเนียม ซึ่งขายได้ทั้งคู่
9. จุดรับซื้อขยะในเมืองไทย
– มีอยู่ทั่วทุกจังหวัด ร้านรับซื้อของเก่ามีอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าร้าน หรือเทียบเท่ากับจำนวนสาขาของเซเว่น เพียงแต่ว่าเราไม่ค่อยสังเกต ถ้าเป็นรถซาเล้งขั้นต่ำน่าจะประมาณ 50,000
– รถซาเล้งพวกนี้จะไปตระเวนเก็บขยะ แล้วไปส่งที่ร้านรับซื้อของเก่า ก็จะมีหลายไซส์ ตั้งแต่เล็กๆ จนใหญ่ขึ้นมาหน่อยที่เริ่มมีเครื่องจักร จากซาเล้งก็จะไปร้านเล็ก ร้านเล็กไปร้านใหญ่ ร้านใหญ่ก็เอาไปโรงงานรีไซเคิล
– ตอนนี้มีร้านรับซื้อของเก่าอยู่ประมาณ 600 ร้านในระบบ Green2Get และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และยังมีอีกหลายฟังก์ชั่นที่จะทำเพิ่มเติม อยากให้รอติดตาม
10. การแยกขยะที่เป็นเศษอาหาร ทำอย่างไร
– ขยะที่เป็นเศษอาหารมีอัตราส่วนที่มากที่สุด ประมาณ 60% ของบรรดาขยะทั้งหมด ถ้ากำจัดได้ขยะอื่นจะง่ายมาก มีหลายวิธีที่จะกำจัด เราจะหมักปุ๋ยจากเศษอาหารเองที่บ้านก็ได้ แต่ก็จะลำบากสำหรับคนที่อยู่คอนโด ถ้ามีเงินหน่อยอาจจะซื้อเครื่องย่อยเศษอาหาร ย่อยออกมาเป็นดิน หรือถ้ามีพื้นที่หน่อยก็จะแนะนำให้หมักเอง มีทั้งระบบปิดถังกลิ้งหรือจะขุดหลุมฝังเองก็ได้ ขยะเศษอาหารเป็น natural มันไม่ได้ถูกดัดแปลงอะไรโดยมนุษย์ ถ้าวางไว้เฉยๆ เดี๋ยวมันก็ละลายหายไปตามธรรมชาติ
– มันกำจัดง่ายก็จริง เพียงแต่ถ้าเราไม่กำจัดมันจะส่งผลที่เราไม่ชอบ เช่น มีกลิ่น มีมด มีหนู ที่ต่างประเทศจะมีการรณรงค์ให้หมักปุ๋ยเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าค่าทิ้งแพง เขาจึงเลือกที่จะกำจัดเอง มีหลายเมืองในอเมริกาก็จะมีเครื่องบดเศษอาหารลงไปในซิงค์เลย แต่เมืองไทยเราไม่มี เพราะว่ามันต้องเป็นระบบบำบัดน้ำเสียกลางซึ่งของไทยไม่มี ของเมืองไทยจะลงคลองไปเลย
– หลักการของเครื่องหมักปุ๋ยคือ เอาจุลินทรีย์ที่มันย่อยอาหารเก่งและทำอุณหภูมิให้เหมาะสม พอเราใส่เศษอาหารลงไปมันก็จะย่อย เหมือนกับกระเพาะของเรา จุลินทรีย์ก็จะกินไปเรื่อยๆ เปลี่ยนพวกเศษอาหารให้กลายเป็นดิน
11. เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแยกขยะ
– จริงๆ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง อย่างถ้าที่เพิ่งผ่านมา โอลิมปิกมีการเอาวัสดุมารีไซเคิล เช่น เหรียญรางวัลเอามาจากโทรศัพท์มือถือ แสตนเอามาจากพลาสติกที่รับบริจาค ถ้าเราคิดดีๆ ทุกอย่างมีประโยชน์ มันเอามาทำอย่างอื่นได้หมด เพียงแต่ว่าตอนนี้เรายังติดกับแนวคิดเดิมๆ ที่เป็น linear มันยังไม่กลายเป็น circular
– ในอนาคต ทั้ง UN (United Nations) และหลายๆ หน่วยงานพยายามผลักดันให้แนวคิดของ circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้มันสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อความอยู่รอด ที่เราจะได้อยู่บนโลกนี้่ต่อไป อย่างโอลิปิกทุกคนก็ตื่นเต้นว่ามันทำได้ด้วยเหรอ แต่จริงๆ มันทำได้นานแล้ว ทุกอย่างมันมีประโยชน์ของมันอยู่แล้ว
12. ที่มาของการทำเพจ คุณลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
– จริงๆ แล้วผมเริ่มที่การทำแอพก่อนสัก 5 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ startup กำลังดัง Grab เพิ่งเข้ามาใหม่ๆ รู้สึกว่าธุรกิจตัวเองก็จะถูก disrupt ได้เหมือนกัน เลยคิดอยากทำแอพเหมือน Grab ซาเล้ง ให้คนไปรับของตามบ้าน ก็เลยลองทำกับเพื่อน ซึ่งตอนนั้นก็ใช้ชื่อ Green2Get เนี่ยแหละ แต่พอทำไปแล้วมันล้มเหลว เพราะ co-founder ก็ไม่ค่อยอิน ทีมแตก ตอนนั้นก็รู้สึกเฟล แล้วก็คิดมาว่าเหลือตัวคนเดียวเราทำอะไรได้บ้าง เลยคิดมาทำเพจสอนคนแยกขยะ เพื่อดูด้วยว่าจริงๆ แล้วมีคนสนใจอยากแยกขยะจริงๆ ไหม
– ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะมีคนสนใจไหม เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้วตอนเปิดเพจ เรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่มีคนพูดถึงเลย เพจสิ่งแวดล้อมสูงสุดคือ ReReef มีอยู่ 30,000 ไลค์ แล้วเราจะทำเรื่องขยะซึ่งยิ่งแคบไปอีก ก็ไม่มั่นใจแต่คิดว่าลองทำดูสักปีนึง คอนเซ็ปต์แรกคือเอาของอะไรก็ได้มาแยก แล้วทำยังไงต่อได้บ้าง ขายได้ไหม ปรากฏว่าก็มีกระแสตอบรับดีประมาณนึง แล้วมันก็เริ่มมีรายได้เข้ามา
13. ที่มาของการทำแอพ Green2Get
– ผมเปิดเพจปีเดียวกับที่เกรตา ธันเบิร์ก ไปนั่งประท้วงที่รัฐสภาของสวีเดน เรื่องโลกร้อนก็บูมขึ้นมา แล้วมันก็มาเป็นกระแสพอดี เราก็เลยวนกลับมาทำ startup ตัวแอพเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าตอนนี้เราเปลี่ยนไอเดียไปแล้ว เพราะรู้สึกว่า Grab ซาเล้งมันไม่เวิร์คอย่างรุนแรง เหมือนการรีดเลือดจากปู ซาเล้งซื้อรอบนึง 20 บาท ก็น้อยอยู่แล้ว แล้วเราจะเอารายได้จากตรงไหน เราก็เลยจะทำแอพให้เป็นเกี่ยวกับ circular economy ผมรู้สึกว่าถ้าเรามีแพลตฟอร์มสำหรับ linear economy คือการซื้อขายปัจจุบัน เช่น Lazada, Shopee, LINE MAN มันส่งเสริมการบริโภคแบบ linear แล้วทำไมเราถึงจะไม่มีแพลตฟอร์มสำหรับ circular บ้าง เราเลยอยากทำขึ้นมา
– Circular Economy คือต้องครบลูป มีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และคนรีไซเคิลอยู่ด้วยกัน จึงเป็นที่มาของ Green2Get ซึ่งตอนนี้ยังเป็นแอพสำหรับผู้บริโภค ที่จะเห็นว่าของที่ใช้อยู่คืออะไร ผ่านการสแกนบาร์โค้ดสินค้าอะไรก็ได้ ถ้ามันมีอยู่ในระบบก็จะโชว์ว่าของสิ่งนั้นแยกเป็นอะไรได้บ้าง และเมื่อแยกแล้วมีใครรับอยู่บ้าง จะเป็นการ circular ในแอพเลย กำลังอยู่ในช่วงพัฒนา ตอนนี้ยังขาดผู้ผลิต ซึ่งจะยากนิดนึงเพราะมันเป็นองค์กรใหญ่หมดเลย ถ้าเขาไม่ได้ผลประโยชน์ก็อาจจะไม่ได้มาเข้าร่วม เป็น challenge อย่างนึงที่กำลังจะทำ
– เร็วๆ นี้กำลังจะทำเป็นถังขยะอัจฉริยะ คือพอมี data ระดับนึง ในไทยตอนนี้มีแค่ตู้คืนขวดซึ่งแพงมาก ราคาตู้ละประมาณสามแสนบาท และรับได้แค่ขวดน้ำพลาสติก จะมีแค่แบรนด์ใหญ่ๆ เอามาตั้งเพื่อเป็น CSR ซึ่งมันไม่ได้แก้ปัญหาได้จริงๆ ผมอยากทำให้ถังขยะทุกอันเป็นเหมือนตู้คืนขวด คือสามารถเลือกแยกได้ ตอนแรกก็จะใช้แอพพลิเคชั่นก่อน พอสแกนของปุ๊บก็จะบอกเลยว่าอันนี้ทิ้งที่ไหน ถ้ามีคนเซ็ตเอาไว้
14. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับการแยกขยะ
– การแยกขยะเริ่มได้ง่ายๆ ด้วยขยะชนิดเดียว เพื่อสร้างกำลังใจเราก่อน ถ้าแยกทุกอย่างก่อนจะเยอะแล้วหมดกำลังใจ เช่น เริ่มจากเก็บแก้วกาแฟทุกวัน แล้วจะรู้ว่าเดือนนึงมันเยอะขนาดไหน แล้วถ้าเราเอาไปส่งต่อได้ ก็จะรู้สึกว่ามีกำลังใจขึ้นมา
– หรือจะเป็นสายลดขยะ ลองพกของสักอย่างหนึ่ง เช่น พกแก้ว พกขวดน้ำ ก็ได้ ลองสักอย่าง แล้วอย่างอื่นก็จะตามมาเอง
รายละเอียด
Date: 4 Aug 2021 (21:00-22:00)
Speaker:
คุณเปรม
– เจ้าของเพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป
– Founder of Green2Get
Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา
ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #การแยกขยะ #ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป #Green2Get #CircularEconomy #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา