กายภาพบำบัดคืออะไร? พูดคุยกับคุณอ้อม(ดวงกมลคลินิก)

กายภาพบำบัด

สรุปสั้น

กายภาพบำบัด คือ การดูแลระบบทุกส่วนในร่างกาย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ มีหลากหลาย ไม่ได้เฉพาะผู้ป่วย สำหรับบุคคลทั่วไป หรือสายด้านความงามก็มี

– เป็นตัวช่วยป้องกันและส่งเสริมให้เราไม่เจ็บปวด บางครั้งเราใช้ชีวิตประจำวัน โครงสร้างอาจจะเปลี่ยนหรือผิดไปจากแนวเดิม ถ้าเข้าไปให้นักกายภาพบำบัดดู ก็อาจจะช่วยให้เราสามารถช่วยปรับโครงสร้างได้ก่อนที่มันจะผิดเพี้ยน

– ปกติการเสื่อมของร่างกายเราเกิดได้จากสองส่วนคือตามวัยและตามการใช้งาน เช่น การออกกำลังกายที่ผิดท่า นั่งผิดท่า

– วิธีการจัดท่านั่งในการทำงาน วางหน้าจอคอมห่างจากตัว 20-30 ซม. อยู่ในระดับสายตา คอตรง ช่วงแขนควรมีตัวซัพพอร์ต นั่งให้เต็มก้น หลับแนบกับพนักพิง หากไม่แนบให้หาผ้าหรือหมอนมารอง เท้าแตะพื้น

– วิธีการจัดท่านอน หมอนควรจะรองรับกับสรีระของคอ นอนแล้วสบาย ช่วงซัพพอร์ตให้หมอนชนกับบ่า หรือเกยขึ้นไปได้ ถ้านอนหงายขึ้นควรมีหมอนอีกอันรองตรงข้อเข่า ถ้านอนตะแคงควรมีหมอนข้างไว้กอดและรองใต้ขา

– การนวดสามารถทำได้ แต่อย่าลืมเช็คก่อนว่าเรามีโรคประจำตัวหรือเป็นความดันสูงไหม การนวดเป็นแค่การคลายกล้ามเนื้อ จริงๆ ยังอยู่มีเรื่องของข้อหรือเส้นเอ็นที่ทำให้เกิดอาการปวดได้เช่นกัน


1. กายภาพบำบัด คืออะไร

กายภาพบำบัด คือ การที่นักกายภาพช่วยในการบำบัด ป้องกัน ฟื้นฟู และส่งเสริม ช่วยให้เราใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงมากที่สุด ทั้งระบบหัวใจ ทรวงอก กระดูก กล้ามเนื้อ รวมไปถึงประสาทและสมอง

– ช่วงหลังกายภาพเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ส่วนคนที่ได้รับบาดเจ็บก็จะเป็นอีกส่วนนึงที่กายภาพจะช่วยฟื้นฟู ช่วยในการฝึกเดิน การลงน้ำหนัก หรืออย่างกรณีที่ใส่เฝือกไปแล้วร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเดิม เช่น ข้อติด ไหล่ติด ก็จะมาพบนักกายภาพเหมือนกัน ในเด็กพิเศษก็มีการทำกายภาพเพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็ก หรือแม้กระทั่งสายความงามในปัจจุบันก็มี

– ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็มีช่วยในเรื่องของการบาลานซ์การทรงตัว การเคลื่อนไหวทำยังไงไม่ให้เสี่ยงล้ม การเสริมกำลังกล้ามเนื้อ

– ถ้าเป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน ไหล่ติด ยกไหล่ไม่ได้ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ชาลงที่ก้นที่ขา

2. ถ้าเป็นคนทั่วไปที่ไม่ได้มีอาการ ควรจะต้องทำกายภาพบำบัดด้วยไหม

– จริงๆ กายภาพจะช่วยในการป้องกันและส่งเสริมไม่ให้มีอาการปวดมากขึ้น คนทั่วไปจะเข้าใจว่าเมื่อเรามีอาการปวดถึงจะคอยไปพบแพทย์เท่านั้น แต่จริงๆ แล้วกายภาพบำบัด ไม่จำเป็นต้องมีอาการปวดหรือบาดเจ็บมากมาย ก็สามารถมาพบแพทย์ได้ เพราะบางครั้งอาจจะมีอาการแฝงเกี่ยวกับโครงสร้างของเราที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากแนวเดิม ทำให้เราทำกิจกรรมได้ไม่เต็มที่เหมือนเดิม เช่น มีน้องคนนึงไม่ได้มีอาการมาก แต่แค่ปวดเมื่อยๆ ที่เอว แต่เขาสังเกตตัวเองว่าตัวเองใส่กระโปรงแล้วไม่สวย เนื่องจากสะโพกมีลักษณะเบี้ยว ก็มาหาเราเพื่อปรับโครงสร้าง

– ถ้าเรารู้โครงสร้างของตัวเอง ก็จะรู้ว่าควรออกกำลังกายแบบไหน เพื่อให้โครงสร้างเราอยู่ในบุคลิกที่ดีและส่งเสริมให้เราไม่ปวดเมื่อยได้ง่าย เพราะฉะนั้นคนทั่วไปก็สามารถมาพบนักกายภาพได้

– ให้ลองคอยสังเกตตัวเอง เช่น ทำไมบ่าสองข้างเราไม่เท่ากัน บางคนถนัดขวา แต่บ่าซ้ายสูงกว่า หรือทำไมเราเดินตัวเอียง ก็ควรจะต้องมาดูเรื่องของการปรับโครงสร้าง เพราะถ้าโครงสร้างไม่อยู่ในที่ที่ควรจะเป็น ก็สามารถทำให้เราเกิดอาการได้

3. วิธีสังเกตตัวเองว่า ควรไปพบแพทย์หรือทำกายภาพบำบัด

– สังเกตตัวเองว่าบุคลิกหรือโครงสร้างเราเปลี่ยนไหม เช่น คอเอียง คอยื่นไปข้างหน้า เริ่มมีอาการเมื่อยๆ ที่บ่าคอ หลังงุ้ม ไหล่ห่อขึ้นมากกว่าเดิม มีอาการปวดเมื่อยตามมาช่วงสะบักหรือบ่าคอ พวกนี้เราสามารถมาพบนักกายภาพได้โดยที่ยังไม่ต้องมีอาการปวด เพราะพวกนี้ถ้าปล่อยเอาไว้จะทำให้ร่างกายเสื่อม และทำให้กล้ามเนื้อมันเปลี่ยนไปด้วยตามโครงสร้างที่ยึดเกาะ ควรจะให้ไปพบนักกายภาพก่อนที่จะมีอาการปวด ไม่งั้นจะทรมาน

4. เวลาเกิดอาการปวด โดยปกติธรรมชาติมนุษย์ต้องเกิดสิ่งพวกนี้อยู่แล้ว หรือเป็นเพราะท่าที่เรานั่งหรือทำงาน

– โดยธรรมชาติ ร่างกายจะมีการเสื่อมไปตามกาลเวลาอยู่แล้วเมื่ออายุมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมื่อก่อนเราสูงแล้วค่อยๆ เตี้ยลง แรงน้อยลง ผิวพรรณ ความหย่อนคล้อย แต่อีกอันก็คือ เสื่อมจากพฤติกรรมที่เราทำเป็นประจำ หรือความเคยชินจากที่เราใช้งานกล้ามเนื้อหรือโครงสร้างแบบไม่ได้เหมาะสม นั่ง ยืน เดิน อาจจะเกิดจากความเคยชิน ทำให้สมองหรือการเรียนรู้ของกล้ามเนื้อก็จะเปลี่ยนไปตามนั้น

– ซึ่งส่วนใหญ่สมัยนี้การเสื่อมจะเกิดจากการใช้งาน เช่น คนที่นั่งทำงานหน้าจอคอมนานๆ คนที่ชอบออกกำลังกายมากๆ แต่ความหยืดหยุ่นไม่ดี ขยับข้อต่อไม่ได้ หรือคนที่พยายามสร้างกล้ามเนื้อ ก็จะมีเคสที่ออกแล้วบาดเจ็บมากขึ้นด้วย

5. อาการจากการออกกำลังกายที่ต้องทำกายภาพบำบัด

– การออกกำลังกายต้องรู้ก่อนว่าโครงสร้างเราเป็นแบบไหน สมมุติจะออกกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าตาม YouTube แต่พอออกแล้วรู้สึกเจ็บ พอพักสัก 1 เซ็ตแล้วอาการยังคงอยู่ แปลว่าท่านั้นอาจจะไม่ได้เหมาะกับเรา หรืออาจจะมีมุมองศาที่ทำให้เราเจ็บมากขึ้น

– ถ้าเป็นการปวดเมื่อยจากการเล่นกล้าม มันจะล้า 3-4 วัน แต่ถ้าอาการนานกว่านั้นแปลว่าอาจจะเกิดการกล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กๆ และทำให้รู้สึกปวดแปลบๆ เป็นบางจังหวะ แล้วสักพักจะเริ่มอยู่กับเรานานขึ้น จนรู้สึกปวดหน่วงๆ ตลอดเวลา แปลว่าเกิดการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายแล้ว หรือบางคนก็ออกแล้วเจ็บแปลบขึ้นมาทันที แล้วไม่หาย ก็ควรรีบมาปรึกษานักกายภาพหรือพบแพทย์

6. การซื้อยารับประทานแทนการกายภาพบำบัดได้ไหม

– การทานยาเป็นการลดปวด เพื่อให้เราสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ แต่ไม่ได้ทำให้กล้ามเนื้อบาดเจ็บนั้นหายไป พอผ่านไป 3-4 วันก็จะกลับมาใหม่ แนะนำว่าถ้าปวดจนทนไม่ไหว สามารถทานยาคลายกล้ามเนื้อหรือลดอาการปวดที่ทานอยู่ประจำ แต่การทานคือแค่บรรเทาให้ไม่ทรมานและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ไม่ได้ทำให้ตรงก้อนที่ตึงหรือ trigger point ที่เป็นจุดบาดเจ็บมันหายไป อันนี้ต้องอาศัยการรักษาโดยหัตถาการอื่น

[Guest sharing]
– ยาไม่ใช่ปัจจัยหลัก การดูแลตัวเองหรือการออกกำลังกายให้แข็งแรง และป้องกันการกลับไปเป็นซ้ำ เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า

– ยาแก้ปวดแนะนำให้ใช้ในกรณีที่ปวดมากๆ จนทนไม่ไหว กรณีที่บาดเจ็บฉับพลัน ใช้แค่ประมาณ 3-5 วันก็เพียงพอแล้ว ถ้าใช้ไปนานๆ จะทำให้ไตวายได้

– ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ ทางฝั่งแพทย์แนะนำว่าเป็นยาที่ไม่จำเป็นเท่าไหร่ ใช้ในกรณีที่เราไปออกกำลังกายใช้กล้ามเนื้อมากๆ ก็พอจะช่วยได้

– ยาแก้ปวดเส้นประสาท พวกอาการปวดหลังร้าวลงขา ลงแขน ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนของกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรม 80-90% ทำกายภาพก็จะดีขึ้น ไม่ต้องใช้ยา

7. วิธีการจัดท่านั่งไม่ให้ปวดตัว

– ท่านั่งที่เหมาะสมในการทำงาน ระยะของจอคอมพิวเตอร์ควรห่างประมาณ​ 20-30 ซม. ไม่ใกล้เกินไป จออยู่ที่ระดับสายตา การวางมือที่แป้นพิมพ์ไม่ห่างจากตัวเกินไป อาจจะต้องมีซัพพอร์ตตรงแขน เพื่อไม่ให้แขนลอย เพราะถ้าปล่อยแขนลอยไว้นานๆ จะทำให้เรารู้สึกปวดบ่า คอ แล้วก็สะบักตามมา เวลานั่งต้องนั่งให้เต็มก้น ที่หลังควรมีซัพพอร์ต ให้หลังแนบกับพนักพิง ถ้าไม่แนบอาจจะหาผ้าหรือหมอนมารอง เท้าแตะติดพื้น ขาต้องตั้งฉาก คอต้องตรง ไม่โน้มไปข้างหน้า ก็จะช่วยลดอาการปวดได้

– คนที่ลุกแล้วตึงหน้าขาหรือปวดเข่า เกิดจากเพราะเราชอบเอาเท้าเข้ามาใต้เก้าอี้ พอตอนลุกจะหน่วงๆ ที่หัวเข่า เพราะน้ำหนักไปโหลดลงที่หัวเข่าเยอะ

– เวลาเลือกโต๊ะ อยากให้ไปลองนั่งว่าระดับไหนเวิร์คสำหรับเรา คนเราต้องสูง ตัวเตี้ย ขาไม่เท่ากัน อยากให้ลองเอาไกด์พวกนี้ไปลองดู ไม่ได้ฟิคตายตัวว่าโต๊ะต้องสูงเท่าไหร่ เราต้องลองนั่งเอง

– อย่านั่งนานจนเกินไป ให้ลุกขึ้นมาบิดเนื้อบิดตัวทุกๆ 1-2 ชั่วโมง ถ้าเราไม่มีอาการปวด แต่ถ้าเริ่มมีอาการปวดหรือเมื่อยไวให้ลุกขึ้นมาทุกครึ่งชั่วโมง มาขยับแล้วยืดคอยืดบ่าแล้วค่อยกลับไปนั่งทำงานใหม่

8. วิธีการจัดท่านอนให้ถูกท่า

– หมอนต้องรองรับกับสรีระคอ หมอนสูงหรือต่ำก็ได้ แค่เป็นหมอนที่เรานอนแล้วรู้สึกสบาย จะไม่นิ่มหรือแข็งเกินไป ข้อสำคัญคือเวลาเรานอนหงาย ช่วงซัพพอร์ตหมอนจะต้องมาถึงที่บ่าหรือเกยบ่านิดนึงก็ได้ ไม่ให้มีช่องว่างระหว่างหมอกับบ่าของเรา ไม่ให้คอเกิดช่องระหว่างเตียง กระดูกคออยู่ในแนวระนาบ

– ใครที่นอนหงายแล้วชอบปวดเอว อาจจะเป็นเพราะลักษณะร่างกายของเรามีเอวแอ่นกว่าคนปกติ เวลานอนหงายควรหาหมอนรองซัพพอร์ตใต้ข้อพับทั้งสองข้าง ให้ลองนอนดูที่เตียง แล้วชันขาขึ้นมาจนหลังแนบกับเตียงนั้นคือระยะความสูงที่เหมาะสมสำหรับการซัพพอร์ต แล้วแต่สรีระของคน ยิ่งหลังแอ่นมากที่รองจะยิ่งสูง

– ท่านอนด้านข้าง คอจะทิ้งต่ำลงไป หมอนจะต้องสูงกว่าท่านอนหงายนิดนึง เพื่อให้คอไม่ตกลงไป พยายามให้คออยู่ในระนาบเดียวกับกระดูกสันหลัง นอนตะแคงควรจะมีหมอนข้างเอาไว้กอด รองใต้หัวเข่า เพราะถ้าไม่มีจะทำให้เอวเราบิด แล้วทำให้เกิดการปวดเอวหรือสะโพกได้ การที่เรามีหมอนข้างจะทำให้กระดูกเราไม่บิดและขาอยู่ในระนาบ ควรนอนตะแคงขวา ให้หัวใจที่อยู่ข้างซ้ายขึ้นอยู่ข้างบน

– ส่วนท่านอนคว่ำเป็นท่าที่ไม่แนะนำ ยกเว้นบางคนที่เป็นเกี่ยวกับเรี่องทางเดินหายใจ ที่หายใจได้ไม่สะดวก เลยต้องนอนคว่ำ

– กรณีคนที่ความดันไม่ปกติ คนที่เป็นความดันต่ำ เลือดจะไปเลี้ยงสมองได้ไม่เยอะ อาจจะต้องนอนหมอนเตี้ยนิดนึง เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง จะได้ไม่ปวด ส่วนคนความดันสูง ส่วนใหญ่จะนอนหมอนสูง เพื่อไม่ให้เลือดไปเลี้ยงที่สมองเยอะเกินไป

9. สิ่งที่ควรระวังเกี่ยวกับการนวด

– การไปนวดสิ่งที่ต้องระวังคือ อันดับแรกต้องดูว่าเรามีโรคประจำตัวไหม เช่น เรื่องความดัน ถ้าความดันสูงก็จะอันตราย อาจจะต้องลองไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อน เพราะการนวดจะทำให้เกิดความร้อนและไหลเวียนเพิ่มขึ้น ถ้าเรามีความดันสูงจะทำให้ความดันสูงขึ้นไปอีก อาจจะทำให้เกิดภาวะ stroke หรือเส้นเลือดในสมองแตกได้ อาจจะต้องระวัง ความดันสูงเมื่อก่อนมักจะพบในผู้ที่มีอายุมาก แต่ปัจจุบันพบได้ตั้งแต่อายุ 25-26 การนอนหลับ ความเครียด ก็มีผลต่อเรื่องความดันสูง

[Guest Sharing]
– คุณสามารถไปนวดได้ ถ้าความปวดเกิดจากกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ข้อหรือเส้นเอ็น กล้ามเนื้อต้องอาศัยการยืดๆ นวดๆ แต่ต้องไม่นานเกินไป ถ้าไปทำ 3-5 ครั้งแล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องหาสาเหตุต่อ อาจจะไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้่อ อาจจะเกิดจากข้อเสื่อม หรือเส้นเอ็นอักเสบ เคสนี้อาจจะต้องปรึกษานักกายภาพหรือแพทย์เพิ่มเติม

– เวลาที่คุณไปนวด คุณต้องสบาย ถ้านวดแล้วทรมาน หมายความว่านวดถูกเส้นเอ็นหรือข้อ หลักสูตรแพทย์แผนไทยจะชอบนวดที่ข้อก่อน แล้วตรงข้อเท้าจะมีเส้นเอ็นอยู่มากมาย แทบจะไม่มีกล้ามเนื้อ ทำให้เวลานวดแล้วเจ็บ สามารถบอกคนนวดได้ว่าตรงนี้เราเจ็บหรือไม่ไหว เรามีสิทธิ์บอก ไม่ต้องทน

– การที่เรากลับไปนวด แล้วกลับมาเจ็บซ้ำเป็นอีก ต้องมาหาสาเหตุว่าทำไมเราถึงเป็นซ้ำ นอกจากการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน เราอาจจะต้องมาดูโครงสร้างของเรา ว่าเปลี่ยนไปตรงไหนไหม ตรงที่เราไปนวดโดนจุดไหม ไปสะกิด trigger point ที่เป็นจุดบาดเจ็บไหม หรือโดนแล้วแต่ยังไม่เคลียร์ เพราะกล้ามเนื้อมีหลายชั้น การนวดต้องค่อยๆ ลงไปที่ละชั้นกล้ามเนื้อ จะไม่กระแทกให้ระบม

ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับกายภาพบำบัด

– ถ้าสนใจพวกเกี่ยวกับกายภาพบำบัด สามารถเข้ามาปรึกษาที่ ดวงกมลคลินิกกายภาพบำบัด ได้ มีทั้งกายภาพบำบัด ฝังเข็ม และการนวดตามจุดต่างๆ คลินิกอยู่ที่ Plearnary Mall วัชรพล ชั้น 2 ช่วงนี้ก็สามารถใช้บริการแบบออนไลน์ผ่านวิดีโอคอล ปรึกษาเรื่องการตรวจร่างกาย ดูโครงสร้างได้ สามารถติดต่อผ่านทางเพจ หรือแอดไลน์ @dkclinc ได้เลย


รายละเอียด

Date: 17 May 2021 (21:00-22:10)

Speaker: คุณอ้อม – Physiotherapist of ดวงกมลคลินิกกายภาพบำบัดและการแพทย์แผนจีน

Moderator: พี พนิต (วันนี้สรุป..มา)


#ClubhouseTH #WhyItMatters #กายภาพบำบัด #ดวงกมลคลินิก #ออฟฟิศซินโดรม #การแพทย์แผนจีน #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา