การฝากไข่คืออะไร? ผู้หญิงควรรู้อะไรบ้างก่อนฝากไข่?

Why It Matters EP1

สรุปสั้น

1. “การฝากไข่” คืออะไร

การแช่แข็งและคงสภาพไข่ที่สมบูรณ์ เพื่อใช้ในเวลาที่ต้องการมีลูก

2. ทำไมถึงสำคัญ

เมื่อเก็บในตอนที่ไข่เราสมบูรณ์ เราจะสามารถมีลูกได้ในอนาคต โดยอายุและความสมบูรณ์ของเซลล์ไข่นับจากวันที่เก็บไข่

3. เหมาะกับใคร

คนโสด/พ่อแม่/คนที่ยังลังเลว่าจะมีลูกไหม ทำได้ทั้งคนโสดและมีคู่ (ช่วงที่สมบูรณ์ที่สุดโดยปกติคือ 20-35 ปี แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจจะมีสิทธิทำได้แล้วแต่บุคคล)

4. ถ้าอยากเริ่ม มีคำแนะนำอย่างไรบ้าง

ดูแลสุขภาพให้ดี แล้วไปตรวจร่างกายปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจสอบและเตรียมความพร้อมก่อน

5. ข้อควรระวัง

ควรต้องปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมก่อน เพราะสภาพร่างกายแต่ละคนมีหลากหลายแตกต่างกันไป

 


บทความเต็ม

1. การ “ฝากไข่” คืออะไร

[คุณทราย]

– เป็นการเก็บไข่ในกลุ่มผู้หญิงที่แพลนว่าจะมีครอบครัวในอนาคตด้วยการ freezing โดยทำให้ไข่อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว สามารถเก็บสมดุลและคุณภาพของไข่ที่ดีที่สุดไว้ในถังไนโตรเจน เก็บได้ประมาณ 20 ปี

2. “การฝากไข่” มีกี่วิธี

[คุณทราย]

– การเก็บมี 2 วิธี

*1. การเก็บไว้เป็นไข่เดี่ยวๆ

– ใช้เทคนิคการลดความเย็นลงทันที จะทำให้คุณภาพ องค์ประกอบของไข่สมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน แนะนำให้ฝากไข่เอาไว้ในช่วงที่สมบูรณ์ที่สุด เวลาผ่านไป 10-20 ปี พอเราละลายออกมาใช้ก็จะเกิดการปฏิสนธิกับสเปิร์มได้ค่อนข้างสมบูรณ์

*2. แบบ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection)

– เหมาะสำหรับคนที่มีครอบครัว จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันแล้ว ขั้นตอน ICSI คือ เอาเสปิร์มกับไข่ผสมกันแล้วเป็นตัวอ่อนแล้ว freeze ไว้เลย จะทำให้ความรอดปลอดภัยของตัวอ่อนได้สูงกว่า freeze ไข่เซลล์เดียว ถ้าคิดว่าจะมีบุตรหลัง 35 เราจะแนะนำให้ทำ ICSI เลย

– เริ่มแรกจะมีการกระตุ้นไข่ ตรวจประจำเดือน วันที่ 1-3 ก็จะเชิญมาเจาะเลือด ตรวจอัลตร้าซาวด์ดูภายในว่ามีไข่ตั้งต้นกี่ใบ มีความพร้อมในการเก็บขนาดนั้น.- พอถึงสเต็ปการเก็บไข่ ก็จะเก็บออกมา ถ้าเป็นแบบ ICSI เราก็จะเอาสเปิร์มมาผสมเลยแล้วเลี้ยงต่อในห้องแลป จนวันที่ 3-5 จนกลายเป็นตัวอ่อนแล้วเอามา freeze

– เทคนิคในการเก็บรักษาไข่และ ICSI ใช้ freezing เหมือนกันทั้งคู่

3. ทำไม “การฝากไข่” ถึงสำคัญ

[คุณทราย]

– ในช่วงที่ผู้หญิงท้องแม้จะมีการสร้างไข่อยู่ในรังไข่ จำนวนประมาณ 1-4 ล้านใบ แต่มันจะหายไปเรื่อยๆ และไม่มีการเพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก ไข่เราก็จะหายไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือน พอเริ่มอายุมากขึ้นไข่ก็เริ่มจะฟ่อ การเก็บไข่ก็เหมือนการไปดึงเซลล์ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในช่วงอายุนั้นๆ เก็บไว้ สมมุติเราพร้อมมีบุตรตอนอายุ 40 ไข่ที่ freeze เอาไว้ก็จะมีอายุเท่ากับตอนที่เรา freeze ไว้ จึงเป็นความสำคัญว่าทำไมเราต้องฝากไข่

– เหตุผลที่เราต้องฝากไข่ก็จะมี

*1. กลุ่มคนโสดที่ยังมีไข่และสมบูรณ์ เก็บไว้เพื่อแพลนสำหรับการมีลูกในอนาคต

*2. กลุ่มคนไข้ที่มีซินโดรม คือกลุ่มโรคที่ส่งผลให้รังไข่เสื่อมกว่าวัยอันควร เช่น คนไข้มะเร็งที่ต้องฉายแสง คนไข้ที่มีซีสต์เป็นเนื้อร้ายในรังไข่ หรือมีความจำเป็นต้องตัดรังไข่

– การฝากไข่เหมือนการซื้อประกัน ทำให้เราก็มั่นใจในอนาคต เพราะถ้าไข่หมดแล้วก็คือหมดเลย อยากให้ทุกคนได้ทราบว่าการฝากไข่ไม่ได้อันตรายและเป็นการวางแผนที่คุณควรเข้าใจ

4. การฝากไข่ในอายุช่วงไหนดีที่สุด

[คุณทราย]

– 20-35 ปี เป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุด แต่ถ้ามากกว่านั้นก็อาจจะมีสิทธิทำได้แล้วแต่บุคคล รวมถึงถ้าเป็นคนไข้บางกลุ่มก็อาจจะดูตามความเหมาะสม

5. ขั้นตอนการเตรียมพร้อมก่อนเก็บไข่

[คุณเอิ๊ก]

– เหตุผลที่ไปฝากไข่ เผื่อว่าในอนาคตเราอาจจะมีลูก คิดว่าใครที่ยังลังเลว่าจะมีลูกหรือไม่มีลูก 50/50 การฝากไข่เป็นสิ่งที่เหมาะสมและควรทำในช่วงอายุที่ไม่ได้มากเกินไป สำหรับคนที่อายุเกิน 35 ปีก็มีเคสที่ไข่ยังสมบูรณ์เหมือนกัน แต่ยังไงก็แนะนำให้ทำตั้งแต่อายุยังน้อย

– เราฝากแบบเก็บเซลล์ไข่ที่ยังไม่ได้ผสม วิธีการนี้เหมาะสำหรับคนโสดหรือคนที่ยังไม่ได้มั่นใจในคู่ครอง อันดับแรกจะมีการเช็คสภาพมดลูกก่อน จริงๆ ผู้หญิงทุกคนไม่ต้องรอที่จะฝากไข่แล้วค่อยไปพบหมอสูติ สามารถไปหาได้เลย ควรจะเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก มีการตรวจภายใน ตรวจสุขภาพประจำปีให้เป็นนิสัย เพราะหลังจากที่ 30 ปีขึ้นไป มันก็จะเหมือนขบวนการ aging เหมือนผิวเรา เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเรา มีการเสื่อมสภาพลง ในเรื่องของมดลูก จะมีเรื่องของช็อกโกแลตซีสต์หรือเนื้องอกที่อาจจะไม่ได้ส่งสัญญาณให้เรารู้ตัวเลย แต่ถ้าเรามีการตรวจตรงนี้ เราก็จะเห็นและสามารถจัดการกับมันได้เร็วขึ้น ส่วนตัวเป็นคนตรวจสุขภาพภายในทุกปีตั้งแต่ช่วงอายุ 20 กว่าๆ มีการฉีดวัคซีน ก็จะชินกับการตรวจ ในเรื่องที่มีเปลี่ยนแปลงตอนฝากไข่คือ เราพบว่า เรามีช็อกโกแลตซีสต์ ในขนาดที่ยังไม่ถึงกับต้องผ่าตัด ก็เป็นข้อดีของการที่เราไปพบหมอสูติ เลยมีการควบคุมซีสต์หลังจากที่เก็บไข่ เนื่องจากขนาดยังไม่ใหญ่มากยังไม่จำเป็นที่จะต้องออกก่อนที่จะทำการฝากไข่ มีการตรวจในเรื่องของมดลูกและมาเช็คอีกรอบนึงในวันที่เรามีประจำเดือนว่า สุดท้ายเรามีไข่ให้กระตุ้นมากพอไหม

– เราตรวจโดยคุณหมอผู้ชาย ซึ่งค่อนข้างมือเบา มีการระวังว่าเราจะเจ็บไหม คอยถามเสมอ จะมีทีมพยาบาลเป็นคนช่วยเสียบในเรื่องของอัลตร้าซาวด์ เป็นลักษณะแท่งยาวๆ เข้าไปในบริเวณช่องคลอด และมีการคลุมผ้าให้เรียบร้อย คุณหมอก็จะไม่เห็น เราก็จะไปตรวจดูเรื่องความสมบูรณ์ของไข่หลังจากประจำเดือนวันที่ 1-3 ว่าไข่ของเรามีพอกระตุ้นไหม ถ้าเห็นว่าไข่มีจำนวนที่พอดี คุณหมอก็จะให้ฉีดยากระตุ้นไข่ ก่อนจะฉีดก็จะมีการเจาะเลือดเช็คว่าฮอร์โมนอยู่ในภาวะที่เหมาะสมกับการฝากไข่หรือไม่ ถ้าพร้อมแล้วก็จะมีการฉีดยาแต่ละสูตรของคุณหมอ และแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน ของเอิ๊กโดนฉีดยาเจาะเลือดไปทั้งหมด 34 เข็มใน 8-10 เข็ม เพราะของเราดูดเลือดออกมายากนิดนึง หลังจากการฉีดยากระตุ้นก็จะมีการเข้าไปเช็คกับคุณหมอค่อนข้างถี่ อาจจะทุกวันหรือวันเว้นวัน เพื่อดูค่าเอสโตรเจน (Estrogen – ฮอร์โมนเพศหญิงที่ร่างกายผลิตขึ้นเองโดยธรรมชาติ มีหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง) ซึ่งจะมีค่าสูงขึ้น อารมณ์เหมือนคนท้องประมาณสองเดือน บางคนอาจจะท้องอืดท้องป่อง อาจจะเจ็บนม อารมณ์แปรปรวน หรือง่วงนอนมากกว่าปกติ ช่วงนี้ก็ต้องดูแลตัวเองเหมือนคนท้องอ่อนๆ ต้องงดกระโดด งดออกกำลังกายรุนแรง งดการมีเพศสัมพันธ์ งดยาบางชนิด ยาคุม งดการเข้าสตรีม ซาวน่าร้อนๆ หรือการทานแอลกอฮอล์ก็ต้องงด ระหว่างช่วงที่เรากระตุ้นไข่ การกินอาหารเสริมหรือวิตามินถ้าดูแลตัวเองมาดีอาจจะไม่ต้อง ถ้าสมมุติวันนี้ยังไม่มีสิทธิที่จะฝากไข่ สิ่งที่จะต้องกลับไปทำการบ้าน 2-3 เดือนทีผ่านมาคือ ไปกินให้ดี พวกผัก ถั่ว ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ ถ้าพวกสายวีแกนก็ เต้าหู้ขาว ข้าวโอ๊ต เมล็ดเจีย หรือกินวิตามินที่มีแอนติออกซิแดนซ์ (antioxidants) สูงๆ เพื่อช่วยคุณภาพของไข่ดี นอกจากนี้เรื่องการนอน และอารมณ์ ถ้าเราควบคุมให้ดี ก็จะส่งผลต่อคุณภาพไข่เช่นกัน

[คุณพิมขวัญ]

– ตอนเราไปฝากเป็นช่วงอายุ 35 ปีปลายๆ แล้ว ก่อนทำมีการศึกษาหลายๆ ที่ จนมาตัดสินใจทำเพราะกลัวว่าช้ากว่านี้จะทำไม่ได้แล้ว เราก็เริ่มไปคุยกับคุณหมอ ตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ต่างๆ โชคดีที่เราเป็นคนที่ดูแลตัวเองดี พอหลัง 30 แล้วร่างกายเราจะไม่เหมือนเดิม อัตราการเต้นของหัวใจเหนื่อยง่ายขึ้น ตอนไปตรวจร่างกายครั้งแรกคาดคะเนไว้ว่าเราน่าจะได้ไข่ 6-7 ใบ แต่พอเก็บจริงเราได้มาถึง 29 ใบใน stage ที่เป็น M2 ซึ่งถือว่าเยอะมาก คิดว่าที่ได้เยอะ เพราะเราดูแลตัวเองค่อนข้างดี เราทานอาหารดี มีวิตามิน และเป็นคนที่พยายามนอนให้ได้ 8 ชั่วโมงทุกวัน วันที่เราเตรียมสภาพในการฝากไข่ มันเปลี่ยนการใช้ชีวิตของเราพอสมควร คุณหมอให้เอายาวิตามินทุกอย่างไปให้คุณหมอดู คุณหมอก็ขีดออกว่าตัวไหนห้ามรับประทานและสั่งงดออกกำลังกาย ซึ่งปกติเราออกทุกวัน สองอาทิตย์นี้รู้สึกเหมือนคนที่จะต้องฝากครรภ์

– กระบวนการฝากไข่มีอะไรมากกว่าที่เราคิดไว้ เป็นประสบการณ์ชีวิตใหม่คือ การที่ฉีดยากระตุ้นไข่ด้วยตัวเอง เรากลัวเข็ม แต่จากกระบวนการนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการใช้เข็มฉีดยา ฉีดได้หลายแบบ มีทั้งฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เข้าใต้ผิวหนัง เข้าเส้นเลือด ซึ่งการฉีดเข็มกระตุ้นไข่ด้วยตัวเอง เป็นการฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังแบบตรงๆ ทำอยู่ประมาณ 10 วัน รวมๆ น่าจะไม่ถึง 20 เข็ม การฉีดเข็มเป็นการใช้ปากกาทิ่ม คุณหมอจะให้น้ำยา customize ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับค่าเลือด ค่าอัลตร้าซาวด์ ทุกอย่างของเราดีปกติ ไม่ได้มีอะไรผิดปกติ ก็กระตุ้นปกติ การกระตุ้นได้รับประสิทธิภาพเป็นพิเศษ ตอบสนองดี จริงๆ การฉีดยาไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เพราะมันเป็นการฉีดที่ไม่ได้เข้ากล้ามเนื้อแบบที่ต้องใช้นางพยาบาลฉีด แบบนั้นก็มี แต่เป็นการฉีดยาเจาะเลือด เอาน้ำเลือดไปตรวจประมาณ 3-4 วัน แต่การฉีดยากระตุ้นไข่ เป็นแค่เข็มปากกาเล็กๆ จิ้มที่ตรงท้อง

– สิ่งที่ไม่คาดคิดคาดฝันคือเจอในเรื่องของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เป็นคนอ้วนง่ายเลยควบคุมตัวเองมาตลอด สองอาทิตย์นี้ต้องงดออกกำลังกาย แล้วเราเผลอกินเยอะเพราะช่วงที่ฝากไข่เหมือนคนท้อง ฮอร์โมนกระตุ้นและไข่ยิ่งเติบโต โดยเฉพาะวันที่ 10-11 ตัวบวมมาก เดินลำบาก เหมือนเพิ่งทำคลอดเสร็จ แต่แล้วแต่คนอาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ร่างกายมันหน่วง พอถึงเวลาดูดไข่ ก็ไม่ใช่ว่าจบ ต้องมีกระบวนการดูแลตัวเองหลังจากฝากไข่ ซึ่งคุณหมอก็ยังห้ามออกกำลังกายอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าน้ำหนักก็ยังไม่ลง เราต้องมีการวัดรอบเอวและรายงานคุณหมอตลอดเวลา หลังจากรอบเดือนหมดในครั้งที่สอง ทุกอย่างถึงจะค่อยๆ กลับมาเป็นปกติ

[คุณเอิ๊ก]

– เคสคุณพิมขวัญถือว่าเป็นเคสที่ประสบความสำเร็จสูง เพราะปกติเฉลี่ยแล้วการเก็บไข่จะอยู่ที่ 10-15 ใบ ถ้าเราอายุน้อยไม่ถึง 35 ปี เท่าที่เห็นสูงสุดในเมืองไทยอยู่ที่ 22 ใบ ของคุณพิมขวัญถือว่าสูงกว่าปกติมาก เพราะว่าเขาดูแลตัวเองดี มีการออกกำลังกาย พักผ่อนเยอะ ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่กำลังคิดจะฝากไข่

6. วิธีการเก็บไข่

[คุณเอิ๊ก]

– การที่เราฝากไข่ไปจะคุ้มไหม มีอยู่สองอย่าง คือ

*1. ไข่ที่เก็บไว้ ได้ใช้ไหม

*2. ไข่ที่เก็บไปใช้ได้ไหม ไข่ที่เก็บออกมาได้จะต้องเป็นไข่ที่โตเต็มวัยสมบูรณ์ จะเรียกในทางการแพทย์ว่า M2

– เวลาที่เราละลายในเรื่องของเซลล์พี่เลี้ยงออกมาแล้ว จะเป็นหน้าตาไข่กลมๆ อันนึง และจะมีกลมๆ เล็กๆ อยู่ข้างๆ อันนี้คือไข่ที่โตเต็มวัยสมบูรณ์ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการผสมกับอสุจิได้ในอนาคต

– ต่อให้บางคนเก็บได้เยอะ แต่ถ้าเป็น M1 หรือว่าไม่สมบูรณ์ก็อาจจะใช้ไม่ได้ ยกเว้นบางทีก็จะมีการเลี้ยง M1 ให้โตกลายเป็น M2

[คุณทราย]

– คุณหมอจะ estimate ว่าน่าจะได้ไข่ประมาณกี่ใบ ตอนอัลตร้าซาวด์ แต่ต้องใช้ประสบการณ์สูง เพราะในวันที่เก็บไข่ ไม่ใช่ว่าไข่เราโตพร้อมกันทั้งหมด ไข่บางใบใส่ฮอร์โมนเข้าไปกระตุ้นอาจจะโตเร็วกว่าเพื่อน หรือบางใบอาจจะโตช้ามากๆ หรือตอนเก็บอยู่อาจจะมีตกลงไป จุ๊บไม่ทัน เพราะว่าไข่มันสุกโตเต็มวัยมันก็จะร่วงลงมา เราก็ต้องหาจังหวะที่เป็น D-Day ที่ต้องเก็บไข่ เป็นวันที่เราประมาณว่าเราจะเก็บ M2 ได้มากที่สุด

– พอเก็บไข่ออกมา ก็จะปลอกเปลือกไข่​ โดยผู้เชี่ยวชาญ ต้องมานั่งส่องดูว่าเป็นไข่อ่อน ไข่โต และ ไข่โตเต็มวัย หรือไม่

Step 1: GV โอกาสที่จะเติบโตเต็มวัยหรือปฏิสนธิได้ก็จะน้อย ส่วนใหญ่จะทิ้ง ไม่ได้เก็บ เพราะโอกาสเติบโตหรือรอดชีวิตค่อนข้างน้อย

Step 2: M1 (Metaphase 1) เป็นไข่ที่โตแล้ว แล้วเราเอามาเลี้ยงต่อในห้องทดลอง สามารถโตไปเป็น M2 ได้ แล้วค่อย freeze

Step 3: M2 เป็นไข่ที่โตเต็มวัยอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไร เหมือนเราเก็บได้ตรงเวลาพอดี สามารถ freeze ได้เลย

– มีคนเคยเยอะมากกว่า 29 ใบ มีทั้งในกลุ่มที่ปกติและไม่ปกติ กลุ่มที่ปกติของคุณพิมขวัญถือว่ายังเยอะอยู่ในปกติ ยังอยู่ในเรทที่ไม่เยอะมากเกินไปจนเกิดอันตราย ค่อนข้างมีผลตอบรับดีต่อสูตรการกระตุ้นและมีรังไข่ตั้งต้นอยู่เยอะ ส่วนในกลุ่มที่ไม่ปกติจะเรียกว่า กลุ่มคน PCOS (Polycystic ovary syndrome) จะมีไข่เยอะมากๆ ถึง 50 ใบ แต่จะเป็นไข่ที่ไม่มีคุณภาพ เราก็จะมีดูแลที่แตกต่างออกไป ทุกเดือนที่เรามีประจำเดือนเราก็จะรู้สึกหน่วงท้อง รอบเดือนปกติไข่จะโตทีละใบ แต่ถ้าเราจะเก็บไข่ เราก็จะใส่ฮอร์โมนเข้าไปกระตุ้นเพื่อให้ไข่ในรังไข่โตพร้อมๆกัน เพื่อให้เก็บออกมาได้ทีเดียวหลายๆ ใบ สำหรับกลุ่ม PCOS น้ำในรังไข่ เวลาไข่โตพร้อมๆ กัน เหมือนมีลูกโป่งใหญ่ๆ คือรังไข่ ข้างมีลูกโป่งเล็กๆ คือไข่ แต่ละลูกจะมีการโต ก่อนที่จะปลอกเปลือกไข่ เปลือกไข่ก็คือถุงน้ำที่คลุมอีกที เวลาเรากระตุ้นฮอร์โมนเพศหญิงเข้าไป ถุงน้ำตรงนั้นจะบวมด้วย ทำให้รู้สึกตุ้ยๆ บวมน้ำ พอเก็บไข่ออกมาแล้วเราก็จะมาดูแลหลังการเก็บไข่ เพื่อให้ลดอาการอึดอัด ท้องแน่น ท้องอืด พยายามทานไข่ขาวเพื่อดำน้ำออกจากไข่

7. การเข้าห้องเก็บไข่ และหลังการเก็บ

[คุณเอิ๊ก]

– วันที่เราจะเข้าห้องผ่าตัด เราต้องงดน้ำ งดอาหาร ตั้งแต่เที่ยงคืนเหมือนการตรวจสุขภาพ มีการถอดเล็บออก รวมถึงไม่ใส่น้ำหอม ไม่ให้กลิ่นหรืออะไรมัน sensitive กับไข่ มีการให้ยาฆ่าเชื้อและน้ำเกลือประมาณ 30 นาทีก่อนเข้า การทำใช้เวลา 15 นาทีก็เสร็จ บางครั้งอาจจะไวกว่านั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และฝีมือของคุณหมอด้วย มีการให้ยานอนหลับ ทำให้เราหลับไปโดยไม่รู้ตัว พอให้ยานอนหลับแล้วไม่ถึง 10 วินาที เราก็จะหลับ พอยามันเดินเราจะรู้สึกบางอย่างภายในร่างกายแป๊บเดี๋ยว หลังจากนั้นคุณหมอจะจุ๊บเอาไข่ออกมา ภายใต้การใช้เข็มยาวๆ ที่เจาะเข้าไปแค่สองรู คือฝั่งมดลูกกับรังไข่ ซึ่งใช้การเจาะแค่สองครั้ง และดูดไข่จากในถุงไข่แต่ละอันออกมา หลังจากนั้นจึงนำไข่ไปปลอกเปลือก สไลด์เอาเซลล์พี่เลี้ยงออกไปจนกระทั่งเห็นว่าไข่ใบนั้นสมบูรณ์หรือไม่ แล้วก็จะเก็บเฉพาะไข่ที่สมบูรณ์ลงในไนโตรเจน ลบประมาณ 196 องศา เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในห้องผ่าตัด หลังจากนั้นเราก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ อาจจะเลือดออกกระปริบกระปรอยเล็กน้อยภายในไม่กี่ชั่วโมง อีกวันก็จะไม่มีอะไร ของเราจะรู้สึกหน่วงๆ เหมือนปวดอุจจาระ

[คุณพิมขวัญ]

– ตอนทำออกมา 32 ใบ แต่ใช้ได้จริงๆ ซึ่งเป็น M2 มี 29 ใบ ก็ใช้เวลาแค่ 15-20 นาที หลังจากออกห้องผ่าตัดเรารู้สึกมึนเพราะเราถูกดมยาสลบ แต่ก็เป็นอยู่ประมาณ 10-15 นาทีแล้วก็ดีขึ้น คุณพยาบาลเน้นย้ำว่าให้มีคนมารับ ไม่ควรขับรถด้วยตัวเอง แต่อาการจริงๆ ก็หน่วงๆ ไม่ได้รุนแรงมาก ของเราหน่วงและบวมเหมือนเป็นลูกโป่ง ประมาณ 5-7 วัน อาการเจ็บปวดเดี๋ยวก็หาย แต่ประสบการณ์ในการฝากไข่คือน้ำหนักที่ขึ้นมาประมาณ 4 กิโลกรัม พอเดือนที่สองไม่รู้สึกเจ็บหรือหน่วงอะไรแล้ว เริ่มเคลื่อนย้ายเดินได้มากขึ้น น้ำหนักลงไปมา 2 กิโลกรัม ก็ใช้ชีวิตปกติไม่มีอะไร

[คุณทราย]

– ผลข้างเคียงเมื่อเราดูดไข่ออกไปแล้ว น้ำจะเข้ามาแทนเซลล์ที่เราดูดออกไป เพราะฉะนั้นเราจะรู้สึกหน่วงและแน่นท้อง การดูแลระหว่างหลังเก็บไข่จะให้ทานไข่ขาวหรือกินยาวิตามิน หรืออย่างคนไข้ที่มีการเก็บไข่ออกมาเยอะ มีน้ำเข้ามาแทนที่เยอะ รู้สึกหน่วงนาน ก็สามารถเข้ามาที่คลินิกเพื่อให้ช่วยดูแลได้

8. คำแนะนำในการเลือกสถานที่ที่เราจะฝากไข่

[คุณเอิ๊ก]

– การเลือกว่าเราจะฝากไข่ที่ไหนดี แต่ละที่ราคาอาจจะใกล้เคียงกัน แต่การฝากไข่จะมีการผันผวนในเรื่องของอารมณ์ ร่างกายเยอะ องค์กรหรือคนที่ทำต้องมีความเข้าใจในระบบสืบพันธุ์ ความไว้ใจ การเข้าใจในเรื่องของจิตใจของคนไข้ สามารถสอบถามได้ตลอด ความเอาใจใส่อย่างละเอียด การที่จะเราเลือกหมอที่ไหน ประเทศของเราถือว่าโชคดี เพราะคุณหมอจะทำได้ต้องจบเฉพาะสาขาในเรื่องของสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา อนุสาขาอีกอันคือเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ถึงจะสามารถทำในเรื่องของเก็บไข่ได้ แต่ว่าแล้วเราจะเลือกหมอคนไหน

*1. เช็คความเชี่ยวชาญของแพทย์ก่อน ถึงตามกฎหมายจะบังคับ แต่เราก็ต้องเช็คเผื่อไว้ก่อน

*2. การสื่อสาร เราควรเลือกคุณหมอที่แคร์เรา ที่สำคัญคือมีเวลาสื่อสารที่คุยกับเรา ตอบคำถามเราได้ทั้งหมด รวมถึงมีความเข้าใจและเอาใจใส่ในความเจ็บของเรา

*3. ต้องเป็นสถาบันที่มีการจดเป็นคลินิกเวชกรรม สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ถูกต้องตามหลัก

– การฝากไข่เป็นเรื่องของระยะยาว ไม่ใช่ว่าตอนนี้คุณหมออาจจะมีเวลา แต่อีกสามปีข้างหน้าไม่มีเวลา ต้องดูทัศนคติและความเข้ากันได้ของเรากับหมอได้

9. การฝากไข่ มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่

[คุณทราย]

– เริ่มต้นเฉลี่ยประมาณหนึ่งแสนบาทขึ้นไป ซึ่งรวมในเรื่องของการตรวจสุขภาพ ยากระตุ้นไข่ หัตถการการเก็บไข่ ค่าปลอกเปลือกไข่ และ freeze หนึ่งปี และหลังจากนั้นก็จะเสียค่ารายปีแยกอีกจำนวน ก็จะมีแพ็กเกจให้เลือกอีกที่ (เฉลี่ยใบละ 1,000 บาทแต่อาจจะบวกลบตามแพ็กเกจ)

10. การมีลูกควรมีได้ถึงอายุเท่าไหร่

[คุณพิมขวัญ]

– คุณหมอแนะนำว่ายังไงถ้าจะมีลูกก็ไม่ควรเกิน 45 ปี หลังจากนั้นอาจจะมีโอกาสที่จะมีโรคแทรกซ้อนหลังการตั้งครรภ์ นอกจากนั้นแล้วยังมีในเรื่องสภาพการเงินด้วย เพราะเมื่อ 45 แล้วจะมีอายุทำงานอีกประมาณ 15 ปี ถ้ามีลูกตอน 45 ปี ลูกจะอายุ 15 ปีตอนเกษียณแล้ว ก็ต้องวางแผนการเงินดีๆ ด้วย เพราะการเลี้ยงลูกมีค่าใช้จ่ายเยอะ ถ้า ideal ที่ดีก็ไม่ควรเกิน 40 ปี


รายละเอียด

Date: 22 APR 2021 (20:00-21:00)

Speaker:

– คุณทราย: CEO of Bangkok Central Clinic IVF & Wellness

– คุณเอิ๊ก: ผู้มีประสบการณ์การฝากไข่และบิวตี้บล็อกเกอร์เจ้าของเพจ Erk-Erk

– คุณพิมขวัญ: ผู้มีประสบการณ์การฝากไข่และเจ้าของพอดแคสต์ China Talk with Pimkwan

Moderator:

– พี พนิต (วันนี้สรุป..มา)


#Clubhouse #ClubhouseTH #ClubhouseThailand #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #EP1 #การเก็บไข่ #BangkokCentralClinic #ErkErk #PimkwanChinaTalk #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา