DeFi คืออะไร? ทำไมDeFi ถึงสำคัญ?

Why It Matters EP5

สารบัญ

สรุปสั้น

1. DeFi คืออะไร?

– DeFi (Decentralized Finance) คือการทำธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลาง

– ปัจจุบันที่เป็น buzzword ก็คือการที่คนเอา cryptocurrency ไปทำ liquidity หรือว่าการเพิ่มสภาพคล่องให้คนอื่นมาแลกเปลี่ยนเหรียญและได้ผลตอบแทนมา

– ฝั่งที่กู้ยืมไปก็จะใช้คอนเซ็ปต์เหมือนโรงรับจำนำคือ เอาเหรียญ crypto มาฝากไว้ และเอามูลค่าออกไปใช้งาน

2. ทำไม DeFi ถึงสำคัญ

– DeFi ทำให้เกิดระบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนโลก และจริงๆ อาจจะช่วยผลักดัน Centralize ให้มาแข่งได้ดีขึ้นได้อีกด้วย

3. DeFi เหมาะกับใครบ้าง

– เหมาะกับคนที่มีเวลาศึกษาและทำความเข้าใจ เพราะการที่จะลงทุนได้ เราต้องเข้าใจพื้นฐานทั้งตัว Blockchain และ cryptocurrency ให้เข้าใจก่อนในระดับหนึ่ง ถึงจะไป DeFi ได้

4. ข้อควรระวังเกี่ยวกับ DeFi

– มีความเสี่ยงสูงตาม Crypto ที่ความผันผวนสูง ต้องศึกษาให้ดีก่อนลงทุนและแบ่งเงินให้ดี

– DeFi สิ่งสำคัญนอกจากจะดูพื้นฐานแล้ว ต้องดูเรื่องของกระแสด้วย

1. Bitcoin, Blockchain, Cryptocurrency คืออะไร แตกต่างกันยังไง

Bitcoin เป็นความพยายามในการลองสร้างขึ้นมาบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งมันไม่เคยสำเร็จมาก่อน เพราะข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมันสามารถ copy & paste ได้ ยากที่น่าจะเชื่อถือได้ เทคโนโลยีการเงินสมัยก่อนทำได้ แต่ก็อยู่ในรูปแบบที่มีคนคนหนึ่งคุมระบบทั้งหมดและเราก็ต้องเชื่อใจคนๆ นั้นว่าจะไม่ทำระบบพัง

– แนวคิดที่จะสร้างเงินโดยไม่ผ่านตัวกลางก็เกิดขึ้นมา ในปี 2008 เกิดวิกฤติ Subprime Crisis ขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่าธนาคารที่ควบคุมระบบการเงินเป็นปัญหา เพราะว่าเวลาเขามีอำนาจมากๆ แล้วจะทำอะไรกับระบบก็ได้ ถ้าระบบเกิดความผิดพลาดอะไร ก็สามารถโบ้ยความผิดให้ทุกคนได้ คล้ายกับการที่ระบบการเงินของประเทศพังหรือผิดพลาด สุดท้ายก็จะเกิดเป็นหนี้สาธารณะของทุกคน เขาก็เลยพยายามสร้างสกุลเงินที่ไม่ขึ้นกับตัวกลางก็คือ Bitcoin

– Bitcoin จะใช้เทคโนโลยีเบื้องหลังชื่อว่า Blockchain (ซึ่งจริงๆ คำว่า Blockchain เกิดหลัง Bitcoin) Blockchain เป็น database ตัวนึงที่ถูกกระจายไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง ปกติ database ถ้าอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว สมมุติมันถูกเปลี่ยนแปลงข้อมูลก็จะถูกเปลี่ยนไปหมด Blockchain คือการกระจายข้อมูลไปยังคอมพิวเตอร์หลายๆ ตัว ทำให้มันยากมากที่จะมาปลอมแปลงข้อมูล เพราะมันมีสำเนาชุดข้อมูลอยู่ในคอมพิวเตอร์ของทุกคน ทำให้เราสามารถสร้างสำเนาที่ไม่มีตัวกลางและใช้งานจริงได้

-Cryptocurrency ค่อนข้างมีหลายความหมาย แต่ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สกุลเงินใดก็ตามที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยเทคโนโลยี Blockchain เป็นพื้นฐาน เช่น พวก Bitcoin, Ethereum

2. DeFi คืออะไร

– DeFi (Decentralized Finance) จริงๆ เป็นแค่แนวคิดกว้างๆ แปลว่าระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลาง คำนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2018 ที่มีกลุ่ม developer กลุ่มนึงที่เขาพบว่า มันมีแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการเงิน ที่ทำงานโดยไม่มีตัวกลางมากขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็คิดว่าจะเรียกกระแสนี้ว่าอะไร เลยมาคุยกันและเรียกว่า DeFi แล้วคำนี้ก็เลยกลายเป็น buzzword และถูกสื่อทุกที่นำไปใช้

– ในเชิงของคำพูดที่เขาติดปากกันว่า DeFi จะสื่อถึงระบบการเงินไร้ตัวกลางอะไรก็ตาม ที่ทำได้มากกว่าการโอนเงิน เพราะว่า cryptocurrency อย่าง Bitcoin จะคือแค่การโอนเงินไปมา แลกเปลี่ยนมูลค่า แต่พอพูดถึง DeFi จะเป็นอะไรที่ซับซ้อนกว่าแค่การโอนเงิน เช่น การแลกเปลี่ยน การค้ำประกัน การกู้ยืม หรืออื่นๆ เวลาเราพูดว่า DeFi ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจแบบนี้ แต่ในทางคอนเซ็ปต์และก็แนวคิดแล้ว DeFi คือรูปแบบทุกอย่างเลย

3. Cryptocurrency ที่เราซื้อขายกันจริงๆ แล้วไม่ใช่การ decentralize ใช่ไหม เพราะต้องผ่านตัวกลาง

– ไม่เชิง เพราะว่าจริงๆ เวลาเราใช้ Bitcoin โอนไปโอนมา การโอนตรงนั้นไม่มีตัวกลาง แต่พอเวลาเราไปแลกเหรียญ Bitcoin บน exchange เช่น Bitkub ตรงนั้นเหมือนเราฝาก Bitcoin เข้าไปให้เขา ในทางปฏิบัติเขามีอำนาจเหนือเงินของเรา แต่ว่าในทางกฎหมายก็เหมือนกับว่าเงินยังเป็นของเราอยู่ คล้ายๆ กับว่าเราใช้ระบบตัวกลางในการซื้อชายสกุลเงินที่มีความเป็น decentralized ซึ่งแต่ละตัวจะมีความ decentrlize แตกต่างกัน มีความอิสระและเอกเทศไม่เท่ากัน

4. ทำไม DeFi ถึงน่าสนใจ

– เพราะว่า DeFi เป็นลักษณะเหมือน sharing economy คล้ายๆ กับ Uber, Grab, Airbnb คือเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับระบบ แล้วก็ได้รับผลตอบแทน สามารถสมัครเป็นคนขับ Grab แล้วก็รับผลตอบแทน DeFi ก็มีส่วนร่วมได้เช่นกันแต่เป็นในลักษณะของการเงิน การมีส่วนร่วมของเราตรงนั้นมันให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีมาก เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝาก ผลตอบแทนของ DeFi ขั้นต่ำสุดก็ยังอยู่ที่ 7-20% ในระดับความเสี่ยงต่ำสุด ซึ่งก็มากกว่าการลงทุนในโลก traditional ทั่วไป เกิน 70% ก็ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทำให้คนสนใจกันเยอะ

5. ผลตอบแทนจาก DeFi ได้มาจากไหน

– อย่างที่บอกคือเราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม จริงๆ คือมีหลายระบบ แต่ขอยกตัวอย่างที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและเห็นภาพง่ายสุด ทุกคนน่าจะรู้จัก Superrich เป็นสถานที่ใช้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สามารถเอาเงินไทยไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ ในโลกของ DeFi ก็มี Superich เหมือนกัน แต่เป็นแบบไม่มีตัวกลาง ทำงานบน Blockchain ซึ่งตัวแรกมีชื่อว่า Uniswap สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ สมมุติเราจะเทรดคู่เหรียญสองตัว เราสามารถฝากเงินบาทและเงินดอลลาร์ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน (เช่น เงิน 3,000 บาท กับ 10 ดอลลาห์) แพลตฟอร์มก็จะดูว่าฝากเงินมารวมแล้วมูลค่าประมาณ 6,000 บาท แล้วไปดูว่าเงินในคู่ซื้อขายบาทกับดอลลาร์มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วก็จะให้ส่วนแบ่งเรามา สมุมติในเงินกองนี้มีเงินบาทกับดอลลาร์รวมกันแล้ว 60,000 บาท เราฝากเข้าไป 6,000 เท่ากับว่าเรากินส่วนแบ่ง 10% ของคู่ซื้อขาย พอมีคนมาแลกดอลลาร์เป็นบาท เวลาแลกก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 0.3% สมมุติค่าธรรมเนียมในวันนั้น 300 บาท เราก็จะได้ส่วนแบ่ง 10% ก็คือ 30 บาท

– อีกส่วนคือในพวกแพลตฟอร์ม DeFi พวกนี้ส่วนใหญ่จะมีการแจกเหรียญ Governance Token (เปรียบเทียบเหมือนเราขับ Grab แล้วได้โบนัสจากบริษัทเพิ่ม) คล้ายๆ กับหุ้นที่ไม่มีปันผล สามารถเอาไปใช้โหวตได้ว่าแพลตฟอร์มจะมีอะไรเพิ่มเติม หรือเปลียนแปลงโครงสร้างทาง ecnomic ภายใน ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนได้ กลายเป็นผลตอบแทนที่ on top ขึ้นมาอีก ทำให้ผลตอบแทนยิ่งสูงขึ้นไปอีก

– ซึ่งการทำแบบนี้เรียกว่า Yield Farming หรือ Liquidity Mining

6. ฝั่งคนกู้ส่วนใหญ่เอาเงินไปทำอะไร

– Uniswap ไม่ใช่การกู้ แต่คือเราเอาเงินไปฝาก แล้วมีคนมาแลกเหรียญ

– ส่วนพวกแพลตฟอร์มกู้ยืม จะไม่เหมือนกับธนาคาร เพราะปกติการกู้ธนาคารจะใช้เครดิตค้ำประกัน อาจจะเป็นบ้าน รถ หรือธุรกิจไปค้ำ หรืออาจจะกู้ดอกเบี้ยความเสี่ยงสูงโดยไม่มีอะไีรค้ำประกัน หรือเครดิตอีกอย่างหนึ่งคือสถานะทางกฎหมาย สมมุติว่าถ้าไม่จ่ายก็จะโดนฟ้องร้องล้มละลาย

– แต่พอเป็น DeFi จะเป็นในลักษณะคล้าย “โรงรับจำนำ” สมมุติผมมี Bitcoin ก็สามารถเอาไปฝากโรงรับจำนำแล้วแลกออกมาเป็น Stable Coin ซึ่งอาจจะเป็นดอลลาร์ เพื่อให้ได้สภาพคล่อง โดยที่เรายังไม่ต้องการขายสินค้า (เหมือนจำนำทอง)

– Stable Coin คือเหรียญที่ออกแบบการทำงานและรูปแบบโครงสร้างทาง economic ให้มีคุณค่าใกล้เคียงกับเงินจริง เช่น ดอลลาร์ มีความผันผวนน้อย

7. คนที่สร้างแพลตฟอร์ม DeFi จะได้อะไรตอบแทน

– มีหลายอย่าง ข้อแรกคือ “Governance Token” บางทีคนที่สร้างจะมอบ Governance Token ให้กับทีมพัฒนาเป็นกี่ % หรือบางทีก็ไม่มีการแบ่งให้เลย แต่ส่วนใหญ่นักพัฒนาก็จะมีอิทธิพล แล้วก็เป็นคนที่ทำการขุดเหรียญ ก็คือจะถือเหรียญอยู่เยอะ ถ้าเขาสามารถทำให้ตัวเหรียญมูลค่าสูงขึ้นไปได้ เหรียญที่เขาถือก็จะมีมูลค่า

8. DeFi ถูกควบคุมด้วย Blockchain ใช่ไหม

– Blockchain เป็น database ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ในทางทฤษฎี พอเขียนอะไรลงไปแล้วก็ไม่สามารถแก้ไขได้ สมมุติเราเขียนโค้ดขึ้นไป เช่น ถ้าไม่คืนเงินจะมีการตัดเงินที่ค้ำประกัน ซึ่งถ้าเราไม่คืนเงิน มันก็จะตัดไปอัตโนมัติเลย ซึ่งถ้าเป็นโลกความจริงในปัจจุบัน อาจจะต้องฟ้องร้อง กว่าจะได้เงินคืน โค้ดไม่สนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทำตามเงื่อนไขเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “Smart Contact”

9. ใครที่เหมาะสำหรับการลงทุนใน DeFi บ้าง

– ในโลกของ cryptocurrency ก่อนที่จะมาเข้าใจ DeFi ต้องเข้าใจอะไรค่อนข้างเยอะมาก่อน ต้องเข้าใจว่า crypto แต่ละตัวทำหน้าที่ยังไง การรักษาความปลอดภัย Private Key ทำยังไง Smart Conctact, Blockchain ทำงานยังไง ใครก็สามารถลงทุนใน DeFi ได้ แต่ต้องทำใจที่จะต้องศึกษาหน่อย ผลตอบแทนได้สูงก็จริง แต่มันเป็นลักษณะของรูปแบบการเงินที่จะต้องดูแลตัวเอง มีหลายกรณีที่คนเข้ามาโดยไม่ศึกษา เขียนภาษาสินทรัพย์ไม่เป็น ดูแล Private Key ไม่เป็น เสียเงินเพราะโดนหลอกให้คีย์พาสเวิร์ดไป หรือเอาพาสเวิร์ดไปเก็บไว้บน Google Drive หลายคนโดนกันเยอะ เพราะไม่ระวังหรือไม่มีความรู้

– ถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น ก็ต้องยอมศึกษา ต้องยอมทำทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่ถ้าไม่สามารถศึกษาได้ ก็ต้องยอมให้คนอื่นดูแลเงินตรงนี้ ก็ต้องไปฝากธนาคาร ก็จะมีระบบเซอร์วิสทุกอย่างดูแลให้ ก็จะไม่ต้องห่วงเรื่องเงินหาย

– ถ้าไม่มีความรู้เลยมันก็เสี่ยง แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยความรู้ เหมือนหุ้น ก็จะไม่ใช่อะไรที่ความเสี่ยงสูง ถ้าเข้าใจว่ามันทำงานยังไง ลงทุนเป็น มันก็เหมือนกัน

ช่วง Q&A

Q1: อยากให้อธิบายเรื่อง RSK ให้ฟังหน่อยครับ

– RSK ผมไม่ค่อยได้ตามนานแล้ว แต่พวกนี้จริงๆ มันก็คือเป็นการใช้ประโยชน์จาก Blockchain ของ Bitcoin ในทางอ้อมๆ มันไม่ใช่ทางตรง ถ้าพูดถึงทางตรงจริงๆ Smart Contract หรือ DeFi มันต้องทำงานบน Blockchain ของ Bitcoin แต่ RSK แค่ยืมกำลังขุดของ Bitcoin มา confirmation แค่นั้นเอง จากที่ผมศึกษาล่าสุด

Q2: ถ้าผมขอยืมเงินจาก DeFi แล้วก็เอาไปลงทุนใน DeFi อีก​ ซึ่งคิดว่ามีหลายๆ คนที่ทำ แล้วในแง่ของฟังก์ชั่นในอนาคต มันจะสามารถเป็นอะไรต่อไปได้ นอกจากการทำแบบนี้

– คอนเซ็ปต์ปลายทางของโลก Digital Asset ระบบมันจะเชื่อมกัน อย่าง Mirror จะเป็นลักษณะแบบนั้น Mirror จะเป็นการเชื่อมแบบ decentralized พยายามเอาหุ้นจำลองมาต่อในโลก DeFi แต่ก่อนที่จะมี Mirror จริงๆ มันมีคอนเซ็ปต์ของการที่เราสามารถ tokenize asset สินทรัพย์ที่มีอยู่จริงบนโลก แล้วก็เชื่อมต่อเข้าไปในระบบ DeFi ได้ มันก็จะมีเป็นโลกที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ สมมุติเราเอาที่ดินมา tokenize แล้วเปลี่ยนเป็น token เราก็เอามาค้ำประกัน กู้ยืม leverage อะไรใน DeFi ได้ อันนั้นเป็นคอนเซ็ปต์ แต่ค่อนข้างเกิดขึ้นได้ยาก เพราะว่าพอมันไปขึ้นกับตัวกลาง กับ regulator มันทำงานได้ช้ามากๆ เมื่อเทียบกับเวลาที่เราไม่ขึ้นกับตัวกลาง แต่มันก็มีการพูดกันมาตั้งแต่ปี 2018 ตั้งแต่ security token, CBDC (Central Bank Digital Currency) ก็ยังไม่เกิด มันต้องใช้เวลา พอมันเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่อยู่บนโลกจริง ที่มีคนควบคุม

Q3: เวลาเข้าไปในแพลตฟอร์ม DeFi ถ้าเป็นเหรียญที่ไม่ได้อยู่ใน exchange เราจะไปหาคู่เหรียญมาได้ยังไง

– ปกติเราสามารถ provide ได้เกือบทุกเหรียญบน PancakeSwap แต่ว่าเราต้องไปเอา contract token มา provide เอง สามารถดูได้ใน Mirror Scan หรือ BSC Scan แต่ถ้าเป็นคู่เหรียญที่ไม่รองรับการฟาร์ม ก็จะได้ผลตอบแทนในลักษณะของ fee เท่านั้น จะไม่ได้ Governance Token ก็แค่ฝาก liqudity เข้าไป แล้วก็รอว่ามีคนมาแลกเปลี่ยน liqudity ใน pool นี้ แล้วก็รับผลตอบแทนไป แต่ไม่สามารถจะไปเอา Cake ได้

Q4: ถ้าอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับพวกแพลตฟอร์ม DeFi สามารถหาได้จากที่ไหนบ้าง

– หลักๆ ข้อมูลถ้าจะเอาเร็วที่สุด ต้องไปดู Telegram หรือ Medium ของแพลตฟอร์มนั้น

Q5: การที่ DeFi สามารถจ่ายผลตอบแทนได้สูง แม้กระทั่งกับเหรียญที่เป็น stable coin เป็นเพราะอะไร

– ต้องแยกกัน ผลตอบแทนจะมีสองส่วนคือ ผลตอบแทนที่เกิดจากการซื้อขาย และผลตอบแทนที่มาจาก Governance Token

*1. ผลตอบแทนที่เกิดจากการซื้อขาย จะผันผวนไปตามจำนวนการซื้อขาย ถ้ายิ่งมาก ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก

*2. ผลตอบแทนจาก Governance Token เป็นการสร้างมูลค่าซ้อนและมูลค่าเสมือน ภาพเหมือนหุ้น เป็นสิ่งที่จำลองอีกชั้นขึ้นมาจากธุรกิจ คือธุรกิจมีอยู่จริง มีมูลค่า มีการซื้อขาย แต่พอกลายเป็นหุ้น เราเอามูลค่าของธุรกิจมาซื้อขายอีกชั้นหนึ่ง ที่เราได้ผลตอบแทนเยอะเพราะมันแจกเหรียญ Governance Token เป็นหุ้นที่ไม่มีการปันผล มีการซื้อขาย อาจจะมีการปั่นทำราคากันเหมือนหุ้นในโลกปกติ ส่วนใหญ่ที่เราได้ผลตอบแทนกันเยอะ เพราะเงินใหม่เข้ามาเยอะ เมื่อเทียบกับเงินเก่า

– ถ้าไปดูตลาด DeFi ว่ามีมูลค่าเท่าไหร่ จะเห็นว่ากราฟซึ่งโตมาตลอด ถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปีที่แล้ว DeFi มีมูลค่ารวม น่าจะแบบ 300-400 ล้านดอลลาร์ แต่ตอนนี้ขึ้นมา 100k ล้านดอลลาร์แล้ว ขึ้นไวมาก ทำให้ผลตอบแทนที่เราได้ก็เยอะ

– เหมือนเรากำลังได้ผลตอบแทนเป็นหุ้นเรื่อยๆ แล้วตลาดหุ้นมันกำลังเฟื้องฟู ทำให้เราได้ผลตอบแทนเยอะไปด้วย

Q6: DeFi ปัจจุบันยังไม่เคยเจอตลาดหนักๆ แบบปี 2017-2018 มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาด DeFi ในจังหวะที่มีการปรับตัวอย่างรุนแรงของเหรียญหลักๆ อย่างเช่น BTC, ETH ซึ่งมันมีผลต่อเหรียญอื่นๆ

– เละแน่นอน ในแพลตฟอร์มเล็กๆ ไม่มีมูลค่าพื้นฐาน สร้างขึ้นมาเพื่อปั่น ก็จะตายลงไป เมื่อตลาดหนีเมื่อไหร่ อาจจะเกิดการ liquidate ของเงินที่เราค้ำประกันไว้ สมมุติเราเอา BTC ไปฝาก แล้วเรากู้มาเป็น USDT พอ BTC เกิด crash ปุ๊บ เขาก็จะ liquidate BTC ของเราไปเลย ผลที่เกิดขึ้นก็คือ สภาพคล่องในโลกของ crypto ที่มัน leverage อยู่ก็จะหายไป เป็น after shock ของมาร์เก็ตที่เกิดจากการ crash

– แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรามองตลาดหุ้นว่าเป็นเรื่องฟุ้งเฟ้อ แล้วเราไม่ควรมีตลาดหุ้นหรือเปล่า ก็ไม่ใช่แบบนั้น

Q7: คิดว่า stable coin ตัวไหนน่าจะเป็นเหรียญที่ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดไม่ค่อยดี

– คำตอบคือไม่มี ถ้าให้แนะนำก็คือ กระจายความเสี่ยงไปที่ stable coin หลายๆ ตัว stable coin แต่ละตัวมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างแตกต่างกันไปมากๆ

– ข้อดีคือ ในอนาคตจะมี stable coin เกิดขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดการแข่งขันทางการตลาดเกิดขึ้น สมมุติมีตัวไหนที่ชื่อเสียงไม่ดี คนก็จะย้ายไป stable coin สกุลอื่น เราก็กระจายความเสี่ยงไปได้ตามปกติเลย

Q8: ถ้า DeFi เกิด mass adoption มากขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ผลตอบแทนค่อยๆ ลดลงจนเข้าสู่ traditional finance ใช่ไหม

– มีความเป็นไปได้ แต่ผลตอบแทนใน DeFi ไม่ใช่ fixed rate มันเป็น flexible saving อะไรก็เกิดขึ้นได้ แล้วกว่าจะไปถึงจุดนั้น เดาว่าไม่ใช่อะไรที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะว่ากว่าจะถึงจุดนั้น เราอาจจะต้องเจอตลาด bear (ตลาดช่วงขาลง) อีกสักรอบนึง เพราะในโลก DeFi หรือ Cryptocurrency การหมุนเงินมันเร็วกว่าโลกเดิมประมาณสิบเท่า เพราะฉะนั้นจนกว่าโลกเดิมจะยอมปรับใช้โครงสร้างส่วนใหญ่ให้รวดเร็วเท่า DeFi มันจะมีความแตกต่างของผลตอบแทนอยู่ได้เสมอๆ เป็นความเห็นส่วนตัว

Q9: มีปัจจัยไหนบ้างที่ทำให้ DeFi เกิดการ crash ได้

– ง่ายๆ คือ BTC crash คือทุกอย่างจบ ถ้าเล่นตลาดนี้ต้องรู้เลยว่าทุกอย่างขึ้นกับ Bitcoin ถ้า Bitcoin crash ลงมาทุกอย่างจะไม่เหลือ

– มันเป็นโครงสร้างที่โยงใยกันทั้งหมด ซึ่งมีทั้งข้อดีและไม่ดี ข้อดีคือเป็นการ leverage มูลค่าที่ค่อนข้างโอเค เมื่อเทียบกับ Bitcoin ตอนปี 2018 เพราะมันตกจากการที่ leverage ICO ที่สร้างฝันอย่างเดียว ไม่มีการหมุนเงินหรืออะไรเลย อย่างน้อย DeFi มันมีโครงสร้าง มีการหมุนเงินในรูปแบบลักษณะนึง ซึ่งข้อดีคือมันทำให้ทั้งบางอย่างเกิดขึ้นและบางอย่างช้าลงเหมือนกัน

– ส่วนพวก regulator ก็คำตอบเดียวกับพวก Bitcoin ก็อาจมีได้หรือไม่ได้ เช่น สมมุติประเทศไทยแบนช่องทางการซื้อขาย Cryptocurrency ทั้งหมด ก็มีผลกับเรา แต่ไม่มีผลต่อตลาดโลก และสมมุติเราจะทำจริงๆ มันก็คงหาทางลอดผ่านหาช่องไปได้ แต่ก็ถือว่ามีผล

Q10: มีความเห็นเรื่อง regulator อย่างไรบ้าง

– เรื่องของ regulator มี 2 แง่มุม คือ

*1. การใช้งาน

– ไม่สามารถหยุดได้อยู่แล้ว ไม่มีใครห้ามเราใช้ Bitcoin หรือ Crytocurrency ได้ เหมือนกับที่เขาห้ามเราใช้อินเตอร์เน็ตไม่ได้

– โอกาสที่ regulator จะแบน Bitcoin ไหม ตอนนี้มันเกินกว่าจุดนั้นไปนานแล้ว ถ้าประเทศไหนแบน Bitcoin มันก็จะมีประเทศอื่นที่เปิดรับ Bitcoin ประเทศนั้นก็จะรวย ก็เป็นเรื่องธรรมดาของธุรกิจ

*2. มูลค่า

– ถ้า regulator ประกาศ ก็มีผลในทางความเชื่อ การเคลื่อนย้ายเงิน เพราะจริงๆ ตลาดนี้ต่อให้โตแค่ไหน ก็เล็กกว่าตลาดหุ้น ในเมื่อมันเล็กกว่าตลาดหุ้น เวลาตลาดหุ้นมัน crash down มันไม่มีทางที่ตลาดจะขึ้นสวนตลาดหุ้นได้ มันเป็นตลาดการเงินที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่และเติบโตเร็ว พออะไรเกิดขึ้นกับตลาดหลัก คนหนีตาย เขาก็จะเอาเงินออกจากตลาดรองก่อนตลาดหลัก

Q11: เรื่องของมูลค่าอ้างอิง ในระยะยาวพวก cryptocurrency มันจะน่าเชื่อถือไหม เพราะความผันผวนสูง

– สามารถตอบได้หลายอย่าง จริงๆ สามารถตอบได้กระทั่งว่า มันไม่มีมูลค่าพื้นฐานหรอกบนโลกนี้ จริงๆ ทองคำก็อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าก็ได้

– ถ้าพูดถึงมูลค่าพื้นฐานของ Bitcoin ในรูปแบบนึง มันเป็นระบบการเงินที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ และมีจำนวนจำกัด ซึ่งไม่มีอะไรที่เหมือน Bitcoin เลย และด้วยความที่มีจำนวนจำกัดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

– คนมักจะเข้าใจว่าอะไรที่มีมูลค่า เป็นสิ่งที่เราต้องเอาสิ่งนั้นไปทำอะไรได้ ยิ่งมันมีการใช้งานเยอะเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็จะยิ่งมีมูลค่า คนจะเข้าใจโลกในแบบนี้

– ในทางกลับกันเขาไม่ได้ดูว่า supplier มันมีเท่าไหร่ ดูตัวอย่างง่ายๆ เช่น ทองที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในประวัติศาสตร์ ทองไม่เคยมีประโยชน์การใช้สอยเท่ากับเงินดอลลาร์สักครั้งเดียว แต่ทองกลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาตลอด ส่วนนึงเป็นเพราะการยอมรับ ส่วนนึงเป็นเพราะการที่มีจำนวนจำกัด

– สิ่งใดก็ตามบนโลกเรา พอเริ่มมีมูลค่า ก็จะมีความพยายามของคนที่จะทำลายมูลค่า เหมือนกับว่า เปลือกหอยมีมูลค่า คนก็จะพยายามหาเปลือกหอยมาขายแล้วก็ทุบ สมมุติมีกระเป๋าแบรนด์ดังอะไรที่ขายในไทยได้รวย ก็จะมีคนที่หากระเป๋าแบรนด์นั้นจากต่างประเทศแล้วก็เอามาขายในไทย พอมันขาดความหายาก คนก็จะเริ่มคงที่ เหมือน PS5 ตอนนี้ในไทยก็แพงมากๆ เป็นลักษณะเดียวกัน

– แต่ว่าทองคำกับ Bitcoin ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหนก็ไม่สามารถผลิตเพิ่มในระยะเวลาอันสั้นได้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น และสำคัญ

Q12: การแจก Governance Token เหมือนการพิมพ์เงิน เข้าระบบหรือเปล่า

– ไม่เหมือนการพิมพ์เงินเข้าระบบ แต่เป็นการสร้างมูลค่าเสมือน เหมือนการสร้างหุ้น การสร้างตลาดหุ้นขึ้นมาก็คือการ leverage ธุรกิจ มีธุรกิจหนึ่ง ทำงานได้ มีการซื้อขาย อยู่ดีๆ ก็สร้างหุ้นขึ้นมาเป็นใบหุ้น แล้วก็ให้คนซื้อขายขึ้นมาเป็นตลาดหุ้น

Q13: มีปัจจัยหรือวิธีดูการเติบโตยังไงบ้าง เวลาจะเลือกที่ farm

– หลักการเดียวกับหุ้นเลย เราก็ว่าดูทีม active แค่ไหน ดูไอเดียของแพลตฟอร์มนั้นดีหรือเปล่า ตอบโจทย์อะไรไหม ก็อปคนอื่นมา หรือมีอะไรที่แตกต่างไป

– Mirror เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า เป็นคอนเซ็ปต์ที่ไม่เหมือนใคร สร้างหุ้นจำลองขึ้นมา ก็เลยมีการเติบโตที่สูงมาก เพราะคนรู้สึกว่าแปลกและไม่เคยมีมาก่อน

– ส่วนสำคัญอีกอย่างคือดูพวก token economic ว่ามันปล่อยเหรียญยังไง ต่อให้คอนเซ็ปต์จะดีแค่ไหน แต่ถ้าปล่อยเหรียญออกมาเยอะมากเกินไป ราคาเหรียญก็จะไม่ไปไหน

– ส่วนนึงก็คล้ายๆ Bitcoin ก็ไม่ได้ทำงานได้เยอะถ้าเทียบกับเหรียญอื่น แต่ว่ามันปล่อยเหรียญออกมาน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับเหรียญอื่น

Q14: มีวิธี valuation เหรียญไหม

– ตอบยากมาก ไม่มีการ valutation ชัดเจน ต้องเข้าใจก่อนว่าโครงสร้างทางธุรกิจมันถูกกำหนดไว้แล้วว่าเราจะ valuation ทางธุรกิจ จากผลตอบแทนของหุ้นหรือเงินปันผล แต่พอเป็นในลักษณะของ DeFi มันไม่มีข้อจำกัดของการออกแบบโครงสร้างธุรกิจนั้น เราจะไม่มีเงินปันหุ้นก็ได้ เราสามารถเอาหุ้นไปเป็นส่วนลดราคาก็ได้ จะไม่ปันผลหุ้นเลยก็ได้ จะเอาหุ้นไปทำอะไรอย่างอื่นได้เยอะร้อยแปดมาก ไม่มีวิธีที่ตายตัว

– แต่ถ้าให้บอกคอนเซ็ปต์ง่ายๆ ก็คือให้พยายามดู “กระแส” เนื่องจากในโลกนี้เราไม่สามารถวัด valuation อะไรได้ง่าย โลกนี้ค่อนข้างไหลไปตามกระแส ยิ่งในตลาด bull (ตลาดช่วงขาขึ้น) อะไรที่เริ่มถูกพูดถึงเยอะ สักพักเดี๋ยวมันก็จะเติบโตขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นตลาดที่เร็ว บางครั้งมันถึงขั้นที่ว่า เราควรจะอ่านกระแสมากกว่าพื้นฐานด้วยซ้ำในบางครั้ง

Q15: ปกติพอได้ Governance Token มา มีเทคนิคในการบริหารยังไงต่อบ้าง

– ถ้าไม่คิดว่าแพลตฟอร์มมันดีก็จะขายเหรียญทิ้งอย่างเดียว แต่ถ้าคิดว่าแพลตฟอร์มดีก็อาจจะเก็บไว้บ้าง อาจจะเก็บครึ่งนึง แต่ยังไงก็จะมีส่วนที่ขายอยู่เสมอ

Q16: การมาของ DeFi จะทำให้ระบบการเงินโลกจากนี้ไปเป็นยังไง รวมถึงระบบการเงินในประเทศไทย จะมีการเปลี่ยนแปลงในนัยยะที่สำคัญช่วง 2-3 ปีไหม

– 2-3 ปีนี่ค่อนข้างตอบยาก แต่โดยส่วนตัวคิดว่าลักษณะของอนาคต ตลาดของการเงินจะมีความอิสระมากขึ้นในแง่ของ asset และทุกอย่าง พอเราพูดถึงอินเตอร์เน็ต เราสามารถส่งข้อมูลพวกหุ้น เรื่องราวอะไรเกี่ยวกับการเงินได้ แต่พอเป็นการเงินเป็นอะไรที่เหมือนกับว่าเป็นตัวควบคุมไว้ในระดับหนึ่ง ซึ่ง cryptocurrency เป็นเหมือนตัวที่ปลดล็อกในจุดๆ นี้ไป

– ในอนาคตจะมีสองอย่างคือ โลกเราจะเป็นโลกที่มีอิสระทางการลงทุนหรือระบบการเงินได้มากขึ้น แต่คิดในอีกแง่นึง ก็มีความเป็นไปได้ที่ระบบ decentralize ไปกดดันให้ระบบการเงินเดิมทำงานให้ดีขึ้น ตอบแทนความต้องการของคนให้ดีขึ้น เพราะจริงๆ decentralize ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน สมมุติโลกของการเงินเดิมสามารถตอบจุดนั้นได้จริง มันก็จะมีความบาลานซ์ในรูปแบบนึง โดยส่วนตัวคิดว่าถ้าระบบการเงินเดิมไม่พัฒนาขึ้นมา คนก็จะมีอิสระในการลงทุนมากขึ้น ตอนนี้คนยังรู้จัก DeFi ไม่เยอะ สมมุติมีคนเข้าใจ DeFi เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ คนก็จะหันไปลง DeFi เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดๆ นึง ระบบการเงินเดิมก็จะรู้ว่าเรามีคู่แข่งแล้ว ก็ต้องพัฒนาตัวเอง ไม่งั้นอยู่ไม่ได้ สมมุติว่าเขาพัฒนาตัวเองขึ้นมา คนก็จะกลับมาลงทุนในรูปแบบการลงทุนแบบเดิม นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น

Q17: คนในโลกการเงินเดิมพอเห็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะโดดลงมาพัฒนาอะไรแบบนี้ได้ใช่ไหม

– เขาก็เข้ามาทำ แต่มันก็มีความช้าอยู่ ในแง่ของทุกเทคโนโลยีบนโลกจะถูก regulator หรือผู้คุมกฏเบรคอยู่ทั้งหมด อินเตอร์เน็ต รถยนต์ เครื่องบิน เคยโดนเบรคหมดจากผู้ที่มีอำนาจที่คิดว่าเทคโนโลยีนี้ยังไม่เหมาะสม หรือว่ามันอาจจะมาสร้างความวุ่นวายอะไรบางอย่าง สมมุติวันนี้ Satoshi Nakamoto (ผู้คิดค้น Bitcoin) ยังมีตัวตนอยู่แล้วเดินไปหารัฐบาลต่างๆ ว่า ผมจะทำเหรียญนี้ช่วยอนุญาตให้หน่อย ก็คงไม่มีใครอนุญาต และนวัตกรรมก็คงไม่เกิด

– แต่เอกชนในไทยก็มีการปรับตัว SCB10X, KBTG ก็เริ่มออกมาพูดเรื่องพวกนี้แล้วเหมือนกัน ยังไงเอกชนก็จะเข้ามาเล่นก่อน เห็นไวกว่ารัฐบาลเสมอ

Q18: DeFi มีปัจจัยความเสี่ยงอะไรอีกบ้างนอกจากเรื่อง crash, algorithm ของ smart contact, regulator แล้ว

– DeFi เป็น subset ของตลาด Cryptocurrency เวลาเกิดอะไรขึ้นกับ Bitcoin หลัก DeFi ก็จะได้รับผลหมด

– พอพูดถึงตลาด Cryptocurrency มันก็จะวิ่งตามตลาดหุ้นตัวหลัก มันก็จะเกิดผลกระทบกันเป็นทอดๆ อยู่แล้ว

– ความเสี่ยงอีกอย่างนึงคือ DeFi มันไม่ใช่อะไรที่ง่าย ทุกวันนี้เราฝากเงินกับธนาคาร ธนาคารจัดการดูแลให้เราทุกอย่าง แต่พอเป็นในโลกของ Cryptocurrency เราได้ผลตอบแทนที่มากขึ้น เราได้อิสระ แต่เราก็ต้องมีความสามารถพอจะที่ดูแลอิสระนั้นของเราเอง สมมุติเราโอนเงินผิด ก็ไม่สามารถเรียกร้องให้ใครโอนเงินกลับมาได้ มันเป็นไปไม่ได้ในโลกของ Cryptocurrency เป็นราคาที่แลกมากับอิสระทางการเงิน ถึงบอกว่าจะมาเล่น DeFi มันไม่ใช่อะไรที่แค่คิดง่ายๆ ไม่ต้องศึกษาเยอะ แล้วก็มาลงทุน มันไม่ใช่แบบนั้น เพราะมันไม่ได้มีหน่วยงานที่คอยมาช่วยเหลือ มาบอกว่าต้องทำแบบนู้นแบบนี้ มันไม่มี ต้องพยายามส่วนใหญ่ด้วยตัวเอง

Q19: ข้อเสียของ Decentralize เทียบกับ Centralize

– มันมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน สมมุติว่าถ้าเราเอาเงินมาเก็บไว้ที่ wallet ของเรา มันก็เป็นของเรา เราก็สบายใจว่ามันเป็นของเรา แต่ถ้าเรารักษามันไม่ดี ถ้าเราทำหายมันก็ไป หรือถ้าเกิดสมมุติเราเกิดเสียชีวิตไปแล้ว ไม่ได้บอกพาสเวิร์ดไว้กับใคร มันก็หายไปเลย

– ในทางกลับกันถ้าเราไปฝากไว้ที่ exchange แล้วเขาดูแลให้เรา ถ้าเกิดสมมุติเราลืมพาสเวิร์ด เราก็กดขอกู้พาสเวิร์ดได้ ถ้าสมมุติเราเสียชีวิตไป เราก็สามารถทำเรื่องทางฎหมายเพื่อขอให้ exchange คืนเงินให้กับทายาทของเราได้

Q20: สมมุติเรารู้เรื่อง DeFi อยู่คนเดียวก็จะมีความเสี่ยง แบบนี้ต้องทำยังไง

– อย่างแฟนผมเขาก็ไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย ผมก็เอา seed เก็บใส่เซฟไว้บ้าง เอาไปให้แฟนบ้าง แล้วก็บอกว่าถ้าผมเกิดเป็นอะไรไป ก็ให้ไปหาเพื่อนผมที่รู้เรื่องแล้วให้เขากู้ให้

– ถ้าในต่างประเทศ จะมีบริการรับฝากทรัพย์สินดิจิทัล เราจะเอาไปฝากตรงนั้นก็ได้ เขาก็จะดูแลให้เรา แต่ว่าเราก็ต้องเชื่อเขา ซึ่งโมเดลนี้ในไทยอีกสักพักก็น่าจะเกิดเหมือนกัน

Q21: เวลาเราทำ DeFi แล้วเงินต้นที่เราฝากไปมีสิทธิที่จะหายไหม

– มันไม่ได้หาย มีแต่มีสิทธิที่จะสูญเสียมูลค่า ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่เราไปฝากด้วย เช่น ถ้าเราเอาไปฝากค้ำประกันแล้วเราไม่จ่ายหนี้ เราก็โดนยึดได้

– สมมุติเราไปฝากในลักษณะของคู่ liquidity จะมีการ rebalance อยู่ตลอดเวลา ลองคิดถึงกระบอกน้ำสองข้างที่มีท่อต่อกัน สมมุติท่อไหนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น น้ำก็จะไหลไปอีกท่อหนึ่งให้ balance กัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือเราอาจจะสูญเสียเหรียญนึง แล้วเราก็ได้อีกเหรียญนึงเพิ่ม เช่น สมมุติเราฝาก BNB กับ BUSD เป็น 1 BNB กับ 400 BUSD แล้วอยู่ดีๆ BNB ขึ้น 50% สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 50% นั้น 25% ก็จะถูกเปลี่ยนเป็น BUSD เพื่อให้มูลค่ามัน balance กัน บางทีเหมือนกับว่าหน่วย BNB ท่ีเราได้ก็จะลดลง แต่โดยรวมถ้าคิดในหน่วยดอลลาร์ก็จะเพิ่มขึ้น

Q22: อยากรู้ว่า wallet มีโอกาสไหมที่ทาง developer จะมายุ่งกับเงินของเรา

– ไม่มี พวกนี้เป็นเหมือนแค่ client เฉยๆ เวลาคุณใช้พวกนี้ คุณถือกุญแจ แต่ Metamask เป็นคนสร้างประตูบ้านที่คุณจะใช้กุญแจไขเข้าไปอีกที ไม่ว่า Metamask จะตัดแต่งประตูบ้าน เปลี่ยนสีประตู กุญแจก็อยู่ที่คุณ ยกเว้นว่าคุณทำกุญแจหาย

– Seed เกิดจากการสุ่มในคอมพิวเตอร์ของเครื่องเรา ไม่เกี่ยวกับเซิร์ฟเวอร์ของเขา จริงๆ Seed คือรูปแบบหนึ่งของ Private Key จริงๆ เราสามารถเอากระดาษมาแล้วก็สร้าง Private Key ได้เลย โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต คุณลองทอยหัวก้อย ทอยหัวเขียน 0 ก้อยเขียน 1 ทั้งหมด 252 ครั้ง คุณจะได้ชุดตัวเลข 252 ตัวที่ประกอบด้วย 0 กับ 1 และสามารถแปลงเป็น Private Key ได้

Q23: สมมุติมีคนมายุ่งกับคอมเรา มันสามารถดูย้อนกลับไปได้ไหมว่ามันเคยมีรหัสนี้ ในเมื่อมันสร้างด้วยคอมเรา

– ถ้าคอมเราไม่ได้ติด Malware (ซอฟต์แวร์ที่เจตนาออกแบบมาเพื่อสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์) Seed ตอนแรกมันจะไม่ถูก paste ลงในเครื่องเราเลย ถ้าเราไม่ได้เอา Seed นี้ไป backup เก็บไว้ในคอม ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาถึงแนะนำว่า Seed ต้องเขียนลงกระดาษเท่านั้น นอกจากนั้นให้ลอง back up ดูหลังจากที่เราสร้างครั้งแรก แต่หลังจากนั้นไม่ควร back up สุ่มสี่สุ่มห้า เพราะเราไม่รู้ว่าคอมพิวเตอร์ที่เราไป back up จะโดน Malware หรือเปล่า

Q24: อยากสอบถามเรื่องทิศทางของเหรียญไทย เป็นยังไงบ้าง

[Definix]

– ผมไม่ได้สนใจ Definix มาก ผมรู้แค่คอนเซ็ปต์ Definix คร่าวๆ ว่าในอนาคต เขาจะเปิดให้คนมาทำเหมือนแบบเป็นกองทุนคล้ายๆ กับพวก eToro ที่เราสามารถกด follow up ได้ว่าใครที่เทรดหุ้นนี้แล้วก็เอาเงินไปฝากให้เขาได้ แต่จะทำงานด้วย smart contract บน DeFi ที่สามารถเทรดไปเทรดมาได้ ผมรู้คอนเซ็ปต์โดยเท่านี้ ถามว่าผมสนใจ Definix ไหม ก็สนใจอยู่ประมาณนึง แต่ไม่ได้สนใจมาก แล้วตอนนี้ยังไม่ได้สนใจเป็นพิเศษ เพราะว่าโปรดักขั้นต้นยังไม่ออกมาเลย แม้แต่นิดเดียว จนกว่าโปรดักขั้นต้นมันจะออกมา ผมจะค่อยสนใจ

– ต้องเข้าใจก่อนว่าแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ เลยมันแลกมาด้วยข้อเสีย เหมือนกับว่าถ้าคุณให้ APY (Annual Percentage Yield) สูงมาก ถ้าเกิดสมมุติไม่รีบปล่อยของอะไรออกมา APY มันจะถล่มได้เร็วมาก สมมุติมันถล่มถึงจุดๆ นึง แพลตฟอร์มนั้นก็จะไม่มีใครสนใจ ไม่เหลืออะไรเลย แล้วกลายเป็นว่า Definix มันแจกสูงมาก ซึ่งเข้าใจว่าตอนนี้มันยังไม่ได้ปล่อยของอะไรออกมาเลย ซึ่งถ้าไม่รีบปล่อยของออกมา ความเชื่อถือมันก็จะพังๆ ไปเรื่อยๆ เพราะทุกครั้งที่เขาแจกเหรียญออกมา มันก็จะมีคนอยากขายเหรียญ พอขายเหรียญปุ๊บราคามันก็จะตกๆๆ ลงไปเรื่อยๆ ทันทีที่เขาปล่อยของ ความเชื่อมั่นของเหรียญก็จะกลับมาและราคาก็ขึ้น เป็นลักษณะแบบนี้ คิดว่าเขาควรจะปล่อยอะไรมาได้แล้ว เพราะเขายื้อมานานมากแล้ว

– การทำฟาร์มจริงๆ มันคือการแจกเหรียญของแพลตฟอร์ม มันไม่ใช่มูลค่าพื้นฐานของแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้นถ้าแพลตฟอร์มมันไม่สามารถรีบสร้างมูลค่าพื้นฐานอะไรขึ้นมาได้ ให้มาชดเชยกับ APY ตรงนั้น สุดท้ายมันก็จะพัง .

[Dopple]

– มีข้อเสียคือยังไม่มี timelock ซึ่งจะทำให้เงินใหญ่ยังไม่เข้า แปลว่า APY เราจะยังได้สูง ตราบใดที่ยังมีคนเชื่อมั่นในโปรเจค แต่การที่เงินใหญ่ไม่เข้าก็หมายความว่า เหรียญจะไม่สามารถมีมูลค่าที่เติบโตแบบก้าวกระโดดได้

[Warden]

– กระแส เป็นเรื่องที่สำคัญสุด ไปดูได้เลยตัวอย่างของเหรียญไทยที่ทำมาร์เก็ตติ้งดีๆ คือ Warden ตัวนี้พอประกาศออกมา APY สูงก็จริง แล้วก็ตกแบบกระหน่ำแบบเร็วมากๆ แต่ทันทีที่ตกเขาก็เริ่มประกาศพาร์ทเนอร์ว่า pool เราเชื่อมกับ Spartan pool แล้วก็ประกาศเชื่อมทีละ pool ทีละ pool เรื่อยๆ สมมุติโปรเจคที่ทำมาร์เก็ตติ้งเป็น จะเข้าใจว่าการที่เราแจกเหรียญเยอะๆ มันแลกมาด้วยกับการที่เราต้องขยันปล่อยของ

– ในความเป็นจริงในตลาดนี้มันเป็นแบบนั้นคือ พาร์ทมาร์เก็ตติ้งจะนำมูลค่าพื้นฐานเสมอ ไม่ใช่ว่ามูลค่าพื้นฐานไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ว่ามาร์เก็ตติ้งในตลาดนี้ค่อนข้างสำคัญกว่า โดยเฉพาะเหรียญที่เกิดใหม่

ฝากส่งท้ายสำหรับคนที่อยากจะเข้ามาในโลกของ DeFi

– ทำการบ้านกันเยอะๆ ตลาดนี้เป็นตลาดที่เหมือนกับว่า ไม่มีใครเก่งกว่าใคร จริงๆ ที่ผมใช้คำว่าหัวหน้าเผ่า เพราะว่าผมไม่ต้องการเป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ไปหาใน Google เองก็เจอ ผมเองก็อาจจะผิดได้ การหาความรู้พื้นฐานเป็นอะไรที่สำคัญมากในโลกนี้ ทุกวันนี้ยังมีคนถามเรื่องโอนเหรียญยังไง ทั้งๆ ที่ข้อมูลทุกอย่างผมก็เขียนไปให้หมดแล้วเยอะมาก ถ้าอยู่ในโลกนี้ทักษะในการที่คุณจะต้องหาความรู้เอง โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาป้อน สำคัญมากๆ เลย เพราะไม่มีใครมาป้อนแล้ว ถ้าคุณไม่ทันหรือพลาดอะไร อาจจะเสียเงินก็ได้ อย่างเช่นที่เคยเล่าในเพจว่า มีคนมาบอกผมว่าถูกแฮก เพราะเผลอให้เลขกระเป๋าไป ผมก็งงว่าการให้เลขกระเป๋าทำไมถึงถูกแฮกได้ สุดท้ายคือเขาไม่เข้าใจว่า Seed กับเลขกระเป๋ามันต่างกันยังไง เขาไม่เข้าใจเรื่อง Private Key ด้วยซ้ำ แล้วเขาก็โดนขโมยไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น


– สิ่งที่สำคัญที่สุดคือหาฟาร์มให้ได้เร็วกว่าพี่คิม 😎

รายละเอียด

Date: 26 APR 2021 (20:00-21:20)

Speaker: คุณหาญ เจ้าของเพจ Blockchain Review และ รายการ DeFi WTF

Moderator: พี P Panit (วันนี้สรุป..มา)


#Clubhouse #ClubhouseTH #ClubhouseThailand #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #EP5 #DeFi #BlockchainReview #DeFiWTF #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา