Climate Change คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ?

Climate change ทำไมถึงสำคัญ

 

1. Climate Change คืออะไร?

– “ภาวะโลกร้อน” ตอนนี้มีการเปลี่ยนคำเป็น “ภาวะโลกรวน” เพราะจริงๆ มันไม่ได้ร้อนขึ้นอย่างเดียว มันคือภาวะที่อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศโลกมันสูงขึ้น แต่มีผลกระทบต่อหลายอย่าง

– ภาวะโลกร้อนมันทำให้อากาศมันรุนแรงขึ้นในทุกๆ ที่ของโลก ที่ฝนตกหนักก็หนักขึ้น ที่แล้งก็แล้งขึ้น จากป่าดงดิบกลายเป็นทุ่งสะวันนา จากพื้นที่ที่ปลูกพืชผักได้ดีเป็นปลูกไม่ได้ จากที่ริมฝั่งเริ่มจมทะเลหายไป มันมีตัวแปรร่วมกันคือ ก๊าชเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ มันทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมันสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศา เทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมช่วงปี 1800 เป้าหมายของเราคืออยากหยุดมันไว้ที่ 1.5 องศา ซึ่งตอนนี้เราใกล้มากๆ เต็มที่

– ในเมืองนอกสื่อจะเล่นตลอดว่าถ้าเราปล่อยให้โลกขึ้นไปสูงขึ้นถึง 2 องศา มันจะกู้กลับได้ยากแล้ว แต่ด้วยความเป็นไปในปัจจุบันมันอาจจะสูงขึ้นได้ถึง 4 องศา จะเป็นวิกฤติที่มนุษย์อยู่ได้ยากมากๆ ยังไม่นับสัตว์ต่างๆ

– ถ้าเอาตามการคาดการณ์ปัจจุบันถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ภายในปี 2030 อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1.5 องศา ซึ่งมันเพิ่มขึ้นด้วยเรท exponential มากๆ และยิ่งถ้าเราไม่ทำอะไรต่อ หลังจากปี 2030 มันก็จะยิ่งเพิ่มเร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะ climate change มันทับถมขึ้นไปเป็นลูกโซ่ต่อกันไปเรื่อยๆ เช่น ไฟป่าทำลายป่าไม้ ซึ่งป่าไม้เป็นตัวดูดคาร์บอนต่อชั้นบรรยากาศ คาร์บอนที่ต้นไม้กักเก็บไว้ก็โดนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ยิ่งทำให้โลกร้อนยิ่งขึ้น และกลับมาเป็นลูกโซ่ทำให้ไฟป่ามันยิ่งรุนแรงขึ้น

– สิ่งที่ Paris Agreement ตั้งเป้าเอาไว้ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของมนุษยชาติในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้คือ ยังไงก็ต้องให้ต่ำกว่า 2 องศาให้ได้ แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดคือต้องต่ำกว่า 1.5 องศา

– สิ่งที่น่าตกใจคือ ทำไมคนยังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้กัน climate change จะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องพื้นฐานชีวิตของทุกคน ตั้งแต่การผลิตอาหาร การใช้พลังงาน การหายใจอากาศเข้าไป ทุกๆ อย่างถูกผลกระทบจาก climate change การคาดเดาที่ออกมาซึ่งเห็นได้ชัดว่าน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้รัฐบาล รวมถึงประชาชนทั่วโลกตั้งใจทำอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น แต่ปัจจุบันก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่การเมืองโลกยังตอบสนองต่อสิ่งนี้ได้ไม่ทันท่วงทีพอ

2. ทำไม Climate Change ถึงสำคัญ

– มันเป็นเรื่องของทรัพยากรที่เราใช้ในการใช้ชีวิต เป็นความผิดพลาดของการสื่อสารในยุคก่อน เป็นเรื่องน่าแปลกที่สิ่งแวดล้อมไม่สามารถทำให้คนตื่นตระหนักได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเรื่องสงคราม โลกระบาด หรือเศรษฐกิจ ทั้งที่ความจริงมันส่งผลกระทบต่อชีวิตคนมหาศาล เช่น เรื่องมลภาวะทางอากาศได้ฆ่าคนตายปีละ 7-8 ล้านคน แต่ว่าน่าแปลกที่เรื่องนี้ไม่ได้รับการสนใจในการเปลี่ยนแปลง

– เรามีปัญหาเรื่องการสื่อสาร เรื่องสิ่งแวดล้อม และขอบเขตทางด้านการเมืองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมานาน เรามักจะยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทางเลือก ในบางประเทศก็ดีขึ้น มีพรรคกรีน มีนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมชัดเจน โจ ไบเดน เข้ามา ก็เอาอเมริกากลับเข้าสู่ Paris Agreement ทันที เพราะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสังคมเขา แต่ในบ้านเรานโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมมันยังรั้งท้าย ยังมีพื้นที่ให้เราต้องสื่อสารเรื่องพวกนี้อีกเยอะ เพราะฉะนั้นงานที่ผมทำก็จะเน้นเรื่องการสื่อสารค่อนข้างเยอะ ให้การมองเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่อยู่ข้างกับสังคมอีกต่อไป แต่เป็นประเด็นที่อยู่ล่าง เป็นพื้นฐานที่สุดก่อนที่จะมาพูดเรื่องสังคมที่เหลือ เพราะมันเป็นเรื่องทรัพยากรซึ่งเป็นพื้นฐานทั้งหมด แล้วค่อยว่ากันต่อว่าพอเราเข้าใจตรงกันแล้ว เราต้องทำอะไรบ้าง

– มีองค์กรนึงชื่อ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) เป็นกรรมาธิการข้ามรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มีนักวิทยาศาสตร์จาก 195 ประเทศมารวมตัวกันทำงานวิจัยและเช็คข้อมูล เพื่อหาข้อสรุปที่จะส่งรายงานให้คนทำนโยบายทั่วโลก เพื่อที่จะได้เอาข้อมูลไปอ้างอิง

– IPPC เพิ่งออกรายงานฉบับใหม่มาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากไม่ได้ออกมานานตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งหัวข้อเหมือนเดิมทั้งไฟป่า น้ำท่วม อากาศแล้ง พายุโซนร้อนที่รุนแรง แต่มีความรุนแรงขึ้นเยอะ จากมีความเป็นไปได้ปานกลางหรือต่ำ ตอนนี้กลายเป็นสูงหลายเรื่องมาก มีข้อนึงที่ชัดเจนซึ่งเขาใช้คำว่าไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอุณหภูมิโลกได้สูงขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งเราได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่นี่คือนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาสรุปกันอย่างจริงจังว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิง

– อากาศที่ร้อน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นเส้นตรง มันจะเป็นกราฟที่ค่อยๆ มีความชันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นกราฟโค้ง ตัวอย่างเช่น อากาศที่ร้อนขึ้นจะอุ้มน้ำได้เยอะขึ้น แปลว่าพื้นที่แล้งในหน้าร้อน น้ำจำนวนมากจะถูกดูดขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศและไม่ตกลงมาเป็นฝน เพราะน้ำสามารถกักเก็บในชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น ในขณะที่พอเวลาฝนตกไปเจออากาศเย็นในพื้นที่ชื้น ฝนก็จะตกลงมาหนักกว่าเดิม แปลว่าที่ที่น้ำท่วมน้ำก็จะท่วมแรงขึ้น ที่ที่แล้งก็จะยิ่งแล้งยิ่งขึ้น และพื้นที่แล้งก็จะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องไฟป่า เรื่องการเกษตร การผลิตอาหาร ซึ่งไฟป่าก็จะเชื่อมโยงกับความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศจะอยู่ได้ต้องพึ่งสัตว์ พึ่งพืชหลายชนิด ถ้าจิ๊กซอว์ตัวใดตัวหนึ่งหายไป มันก็อาจจะล้มทั้งระบบได้ เมื่อป่าอยู่ไม่ได้ คนก็อยู่ไม่ได้ เพราะทรัพยากรที่เราต้องการมาจากป่าเยอะมาก

– ไฟป่ายังเชื่อมโยงกับเรื่องอากาศที่เราหายใจ เช่น PM 2.5 ในภาคเหนือ พออากาศกลายเป็นอากาศที่เราหายใจไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บนานาก็จะตามมา

– พื้นที่ที่ผลิตทางการเกษตรได้ จะค่อยๆ เปลี่ยนจาก tropical zone เช่น บ้านเรา ไปยังพื้นที่ที่หนาวเกินไปสำหรับการเพาะปลูก เพราะว่าอากาศทั่วโลกมันร้อนขึ้น ทำให้พื้นที่ที่เพาะปลูกดีที่สุดถูกเคลื่อนย้ายออกไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นผลดีสำหรับบางประเทศ และผลเสียสำหรับบางประเทศ

– ประเทศชายฝั่งจะมีเรื่องระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่อันนี้จะเป็นเรื่องระยะยาว 70-80 ปี แต่ไม่แน่ใจว่าด้วยเรทปัจจุบันจะทำให้เร็วยิ่งขึ้นกว่านั้นหรือเปล่า

– สิ่งที่เรามักจะเห็นมาสคอร์ตของเรื่องโลกร้อนคือ หมีขั้วโลกเกาะน้ำแข็งที่ละลายมา เป็นเรื่องจริง แต่ผิดหลักการนิดหน่อย เพราะน้ำแข็งที่ละลายแล้วน่ากลัวจริงๆ คือน้ำแข็งที่อยู่บนบกมาก่อนแล้วละลายไปเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล ซึ่งมีอยู่สองที่หลักๆ คือ กรีนแลนด์และขั้วโลกใต้ หมีขั้วโลกอยู่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งเป็นน้ำแข็งที่เกิดจากน้ำในทะเลแข็งขึ้นมาในหน้าหนาว แล้วก็ละลายเป็นน้ำทะเลในหน้าร้อน แปลว่ามันไม่ได้เพิ่มปริมาตรน้ำทะเล แต่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับขั้วโลกเหนือคือ พื้นที่ในการทำมาหากินจะน้อยลง แต่ก่อนคนสามารถไปล่าแมวน้ำบนน้ำแข็งได้ พอน้ำแข็งมันเล็กลง หมีจำนวนมากก็อดตาย กลายเป็นว่าหมีต้องเข้าไปในพื้นที่เมืองก็อาจจะโดนยิงทิ้ง หรือตอนนี้มีหมีพันธุ์ใหม่ขึ้นมาชื่อหมีพิซลี ซึ่งเกิดจากหมีกริซลีผสมกับหมีโพลาร์แบร์เนื่องจากพื้นที่หากินของหมีทั้งสองประเภทมันมาเจอกันจนได้ หมีกริซลีหากินไม่ได้ก็ต้องขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ หมีโพลาร์แบร์หากินไม่ได้ก็ต้องลงใต้มาเรื่อยๆ เลยมาเจอกันและผสมพันธุ์กัน เป็นผลพวงที่ไม่คาดคิด

– ภาวะขาดแคลนน้ำก็จะตามมาเหมือนกัน แต่แล้วแต่ว่าเราอยู่โซนไหนของโลก มีพื้นที่จำนวนมากของโลกที่พึ่งน้ำที่มาจากธารน้ำแข็ง ซึ่งธารน้ำแข็งมาจากหิมะที่ตกในแต่ละฤดู และละลายลงมาเป็นน้ำตามลำธาร แล้วก็ลงมาเป็นแม่น้ำ พอธารนำแข็งมันละลายไวเกินเรทปกติ แล้วมันสร้างกลับมาใหม่ไม่ได้ ทำให้แหล่งน้ำในบางประเทศตั้งแต่จีน ทิเบต หิมาลัย จนยุโรป จะมีปัญหาในอนาคต ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการน้ำที่ดีจะทำให้เป็นปัญหาระดับประเทศ จนอาจจะกลายเป็นปัญหานานาชาติ อาจจะมีผู้ลี้ภัยทางภูมิอากาศที่ขาดแหล่งน้ำ อาจจะเกิดสงครามในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง เพราะต้องแย่งทรัพยากรพื้นฐานกัน จากปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นปัญหาสังคม

– ปัจจัยที่เป็นพื้นฐานของสังคมมนุษย์และสัตว์ต่างๆ มันจะโดนเขย่าอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นเราไม่ควรมองสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเป็นแค่มิติเดียวของสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป อนุรักษ์เพื่อให้เรามีที่ไปชมเพื่อความสวยงามหรือเหลือไว้ให้มีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญ แต่ที่พูดมาทั้งหมดมันเป็นคนละมิติกันกับการอนุรักษ์

3. เหตุการณ์ที่เกิดจากผลกระทบของ Climate Change

– ที่ที่หนาวขึ้น มีหลายกรณี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้หนาวขึ้นถาวร จะร้อนขึ้นมากกว่า แต่มีบางที่ที่หนาวขึ้นแบบเชิงช็อก เป็นเหตุการณ์พิเศษ อย่างเรื่อง Polar Vortex คือลมหมุนบริเวณขั้วโลกเหนือ มันจะกักอากาศเย็นแถวขั้วโลกเหนือ (Arctic) ไว้ Polar Vortex เกิดจากการที่โลกมันร้อนขึ้นแล้วความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของโซนขั้วโลกเหนือกับโซนที่ต่ำลงมามันแตกต่างกันน้อยลง ทำให้เกิดการทะลักของอากาศจากขั้วโลกเหนือลงมายังพื้นที่ที่อยู่ใต้ลงมา ย้อนกลับไป 1-2 ปี เกิดเหตุการณ์​ Polar Vortext ในอเมริกาเหนือและแคนาดา ที่หนาวจนส้วมพัง เพราะว่าน้ำในโถส้วมกลายเป็นน้ำแข็งจนขยายตัว ซึ่งเหมือนกับในหนัง The Day After Tomorrow แต่อันนี้มันไม่ใช่การหนาวขึ้นโดยถาวร แต่เป็นเหตุการณ์ช็อกเหมือนไฟป่า เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปตามฤดูกาล

– อีกสิ่งที่เป็นเหตุการณ์ช็อกที่จะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นคือ พายุโซนร้อน ได้แก่ ไต้ฝุ่น เฮอริเคน หรือไซโคลน แล้วแต่ว่าเกิดขึ้นในมหาสมุทรไหน จะมีชื่อเรียกต่างกันไป แต่ว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดคือ มีอากาศร้อนทำให้มันหมุนอากาศขึ้นไป ทำให้เกิดลม ลมก็ดึงน้ำฝนมาแล้วก็กลายเป็นพายุ ซึ่งเป็นเทรนด์ชัดเจน เห็นได้จากข่าวในปัจจุบันว่ามันรุนแรงขึ้น โหดขึ้น สร้างความเสียหาย บ้านพังทลาย ระบบพื้นฐานพัง ทั้งในอินเดีย บังคลาเทศ แอฟริกา ล่าสุดญี่ปุ่นก็เจอเรื่องน้ำท่วม โดนทั่วทุกมุมโลก แต่โซนที่โดนหนักสุดเรื่องน้ำท่วมจะเป็นแถวโซนเอเชียตะวันออกตั้งแต่จีน จนตะวันออกเฉียงใต้คือแถวบ้านเรา จนถึงเอเชียใต้คือแถวอินเดีย แต่ถ้าพายุโซนร้อนก็จะกระจายไปทั่วทั้งโลก

– มีภัยธรรมชาติหลายอย่างที่จะได้รับผลกระทบจากสิ่งนี้ ยังไม่นับสิ่งที่เราไม่เห็นโดยตรง เช่น ปะการังตายหรือฟอกขาว เกิดจากน้ำทะเลที่มันร้อนขึ้น แล้วปะการังมันเครียดก็เลยปล่อยสารเคมีที่มันไปไล่ตัวสาหร่ายที่อยู่บนปะการัง พอสาหร่ายไม่อยู่ ปะการังเลยไม่มีสีและสังเคราะห์แสงไม่ได้ ก็อดอาหารตาย พอปะการังตาย ปลาเล็กปลาน้อยก็ไม่มีที่แหล่งอนุบาล ไม่มีแหล่งเพาะพันธุ์ ปลาก็จะหมดทะเลไปด้วย

4. ผลกระทบของ Climate Change ต่อทะเล

– ปัญหาของทะเลคือเราไม่ค่อยเห็นว่าเราเกิดอะไรขึ้น แต่เรื่องโลกร้อน คาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกมาประมาณ 30% จะโดนดูดซับโดยน้ำทะเล ซึ่งจะมีปัญหาสองเด้ง คือ หนึ่งอากาศที่ร้อนขึ้นก็ทำให้น้ำร้อนขึ้น สองคือคาร์บอนพวกนี้มันไปเปลี่ยนความเป็นกรด-ด่างในมหาสมุทร ซึ่งทำให้พวกปู กุ้ง จะมีปัญหาในการสร้างเปลือก เพราะมีความเป็นกรด-ด่าง แคลเซียมคาร์บอเนตหรือว่าหินปูนที่อยู่ในน้ำทะเลลง สัตว์ที่มีเปลือกก็จะมีปัญหา ซึ่งอาจจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์เล็กสัตว์น้อย และอาจจะตามด้วยสัตว์ใหญ่

5. ผลกระทบของ Climate Change ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

– การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) ซึ่งมาจากการสูญพันธุ์ที่มันเกิดขึ้นเร็วขึ้นมากๆ ของสัตว์และพืชหลายชนิด ซึ่งทุกอย่างมันมีฟังก์ชั่นในการทำให้ระบบนิเวศของตัวเองคงอยู่ได้หมด ไม่ว่าจะเล็กจะน้อยแค่ไหนก็ตาม พอจิกซอว์มันหายไปหลายชิ้นมากขึ้น สุดท้ายมันก็พัง แล้วก็จะมาถึงสังคมมนุษย์แน่นอน เราพึ่งทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แค่เราอยู่ในเมืองบางครั้งแล้วเราอาจไม่ทันสังเกตเห็น

– อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้ผึ้งหลงทาง ทำให้ออกมาผิดฤดูกาลหรือหาทางที่ต้องไปไม่เจอ ทำให้มีผลต่อการทำการเกษตร เพราะเราพึ่งพาผึ้งมหาศาลมาก เคยทำมีการจัดลำดับว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ที่สุดเพราะ ผึ้งมันช่วยในการผสมเกสร ทำให้เราผลิตอาหารได้ ถ้าผึ้งไม่ตรงตามฤดูกาล เราก็จะมีปัญหาแน่นอน

6. วิธีการแก้ไขปัญหา Climate Change

– การจะรอดปัญหาพวกนี้อันแรกคือ ลดการปล่อยคาร์บอนซึ่งเป็นสิ่งที่เราพูดกันมานาน น่าจะยาก มีการพูดกันมาหลายสิบปี แต่ยังไม่เห็นลดสักที ถ้าไปดูกราฟของการปล่อยคาร์บอนมันสูงขึ้นทุกปี เราประชุมเรื่องนี้มา 40-50 ปีแล้วแต่มันก็ยังสูงขึ้นเรื่อยๆ

– อันที่สองคือ การปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่เปลี่ยนแปลง เช่น ต่อไปต้องสร้างบ้านสะเทินน้ำสะเทินบก รถทุกคันลอยน้ำได้ หรือพื้นที่ทุกตารางนิ้วบนตึกใช้เพื่อการปลูกพืชทั้งหมด (urban farming) เพื่อให้การเกษตรไม่ต้องพึ่งพาชนบทอย่างเดียว ซึ่งปัจจัยที่จะทำให้เรื่องพวกนี้สำเร็จได้คือ เทคโนโลยี อย่างน้อยที่สุดถ้าแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้ ก็ต้องสร้างเทคโนโลยีที่จะมารองรับชีวิตในภาวะโลกที่เปลี่ยนไป แต่มันจะเป็นโลกที่อยู่ยากกว่าเดิมโดยสิ้นเชิง แต่มันก็ยังไม่เกิดการลงทุนหรือมีแผนชัดเจนในตรงนี้

– จริงๆ เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยมีการร่างแผนขึ้นมาฉบับนึงผ่านทาง พรบ. โลกร้อน ซึ่งยังไม่ได้เข้าสภาไปพิจารณา ว่าด้วยการนับคาร์บอนของธุรกิจไทย เรื่องของการลดการปล่อยคาร์บอน และเรื่องแผนการปรับตัว

– อะไรก็ตามที่เป็นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าชเรือนกระจกอื่นๆ จะเรียกว่า mitigation คือลดผลกระทบที่ทำให้เกิดโลกร้อน ส่วนการปรับตัวเข้าหาโลกร้อนจะเรียกว่า adaptation ควรใช้ทั้งสองทางควบคู่กันไป

7. สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อช่วยเหลือ Climate Change ได้

– เรื่อง climate change ยังไงก็ต้องว่ากันในระดับนโยบาย ถ้ามันจะทำให้ได้ผลจริงๆ เรื่องการรักษ์โลกส่วนตัว มันเป็นเรื่องที่อาจจะแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้ เช่น ปัญหามลภาวะขยะ ปัญหาป่าเสื่อมโทรม อาจจะทำได้ แต่ climate change ยังไงก็ต้องเป็นระดับนโยบาย

– แต่ว่าสิ่งที่จะทำให้ระดับนโยบายมันเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยในประเทศที่เจริญทางด้านการเมืองมากกว่าเราคือ การส่งเสียงของประชาชน การที่ประชาชนเรียกร้องให้เกิดสิ่งนั้นขึ้น เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับสิ่งแวดล้อมใหม่ว่ามันเป็นเรื่องพื้นฐานของสังคม และส่งเสียงออกไปเรื่อยๆ เหมือนกับหลายๆ ประเด็นที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครพูดถึง แต่ปีนี้มีการพูดถึงกันเยอะ เชื่อว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมถ้าเราปรับแนวคิดกันใหม่ได้ อย่างน้อยมันขึ้นไปเป็นประเด็นหลักของสังคม ต่อไปทุกพรรคการเมืองที่เขาอยากได้รับการเลือกตั้งในอนาคตก็อาจจะต้องตอบสนองเสียงของพวกเรา

– การส่งเสียงต้องมาพร้อมกับความเข้าใจว่าอะไรบ้างที่สำคัญ ถ้าพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างแรกที่ทุกคนพูดกันคือ การลดการใช้พลาสติก ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่ต้องเข้าใจว่ามันเชื่อมโยงกับเรื่องโลกร้อนค่อนข้างน้อย แต่มันเชื่อมโยงกับเรื่องมลภาวะขยะค่อนข้างเยอะ ใช้คำเล่นๆ ว่า โลกเลอะกับโลกร้อน มันคนละเรื่องกัน โลกเลอะคือการลดขยะ โลกร้อนคือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าชเรือนกระจกอื่นๆ

– พลาสติกเป็นปิโตรเคมีชนิดนึง มันก็มี carbon footprint ของมัน ลดการใช้ก็ลดคาร์บอนได้ แต่ไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ขนาดใหญ่ ปัญหาของพลาสติกคือ มันกลายเป็นขยะ กลายเป็นมลพิษลงในทะเล ลงในบก เข้าไปในสัตว์ แล้วก็กลายเป็นไมโครพลาสติกในอาหารของเราทุกคน

– แต่ถ้าจะลดการปล่อยคาร์บอนจริงๆ หนึ่งคือพลังงาน สองคือการผลิตอาหาร เนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่มี carbon footprint สูงมาก เสื้อผ้าก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้ต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิต การกระจาย การปรับมุมมอง เรื่องของการเป็นมังสวิรัติ แต่ก่อนเรามองเป็นเรื่องจริยธรรม ศีลธรรม แต่ถ้าในอนาคตมันกลายมาเป็นกระแสหลักได้ มันเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน เพราะว่าการผลิตพืชมาเป็นอาหาร ยังไงก็ใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการผลิตสัตว์มาเป็นอาหาร

1. ทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างชัดเจน
2. ส่งเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
3. ในทางส่วนตัว ให้เปลี่ยนแปลงอาหารการกิน เปลี่ยนการใช้พลังงาน แล้วส่งเสียงเข้าไปในชุมชน ในองค์กรที่ตัวเองอยู่ มันก็จะกระทบไปในวงส่วนตัวด้วย

– ผมเองก็เริ่มพยายามไปทางวีแกนมากขึ้น เพราะคนใกล้ตัว เราได้เห็นว่ามันทำได้ มันมีทางเลือก ก็ส่งต่อคนข้างๆ ด้วย สมมุติมีคนทำสักล้านคน แต่ละคนส่งต่ออีกสักห้าคน สักพักเดี๋ยวมันก็ได้ทั้งประเทศ

– แต่มันก็ยังยาก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำ ยังไม่เกิดการกระจายรายได้ที่ดี คุณภาพชีวิตคนยังไม่ดี ซึ่งผมเคยคุยกับคุณยุ้ย สฤณี ซึ่งเป็นนักวิชาการ บอกว่าหลังจากดูผลงานวิจัย มันไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นนัยยะสำคัญระหว่างประเทศที่มีความใส่ใจดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมสูงกับความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่มีความสัมพันธ์ชัดเจนคือ ประเทศที่มีฐานะดีขึ้นทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายแล้วจะหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างจีนที่ตอนนี้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะ zero carbon และมีนโยบายต่างๆ ที่ออกมามากมาย ก็เป็นตัวอย่างนึง

8. การรักษาสิ่งแวดล้อมกับประเทศต่างๆ

– ประเทศที่วิถีชีวิตของคนใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น รวันดา หลายคนได้ยินในเรื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ของโลกที่มีการแบนถุงพลาสติก เกิดจากความใกล้ชิดของวิถีของคนและมุมมองชีวิตที่มันใกล้ชิดธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ก็ยังเป็นมุมมองเชิงอนุรักษ์อยู่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่มันเป็นมุมมองอีกคนละแบบกับการเปลี่ยนระบบการผลิตพลังงาน ผลิตอาหาร

– การชะลอเรื่องภาวะโลกร้อน ประเทศที่มีมุมมองใกล้เคียงกับธรรมชาติพวกนี้ ต่อให้ทำจนสามารถเป็น zero carbon ได้ ก็ไม่มีผล เพราะว่าการลดภาวะโลกร้อนมันขึ้นอยู่กับประเทศไม่กี่ประเทศ จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นทั้งหมด 27% ของโลก อเมริกาปล่อย 15% ตามด้วยอินเดียและอื่นๆ ถ้าประเทศเหล่านี้เปลี่ยนได้ มันถึงจะมีผลในเชิงการลดภาวะโลกร้อน ประเทศไทยเราอยู่ที่ 0.9% จะว่าน้อยหรือเยอะก็ได้ เพราะประชากรเราน้อยกว่าอเมริกาอยู่พอสมควร ถ้าวัดต่อคนต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 4 ตันซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยทั่วโลกพอดี ในขณะที่อินเดียอยู่ที่ 2 ตันกว่าๆ น้อยกว่าเราครึ่งนึง แต่ประชากรเขาเยอะกว่า ถ้าเราไปดูแถวตะวันออกกลาง โอมาน ซาอุดิอาระเบีย คาร์บอนต่อคนต่อปีจะประมาณ 20-30 ตัน เพราะเป็นประเทศน้ำมัน แต่ถ้าคิดเป็นโดยรวมอาจจะไม่ได้เยอะเพราะจำนวนประชากรเขาน้อย

– แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ว่าประเทศเล็กประเทศน้อยจะละเลย และปล่อยให้อเมริกา จีน อินเดีย ทำกันอยู่อย่างเดียว เพราะสุดท้ายแล้วถ้าประเทศเล็กประเทศน้อยสามารถปล่อยคาร์บอนได้เป็นศูนย์กันทั้งหมดจาก 1 เป็น 2 เป็น 10% สุดท้ายมันก็สำคัญอยู่ดี ถ้าประเทศไทยเอาจริงเอาจังและสามารถชักชวนประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรเยอะมากให้สามารถทำต่อได้ จะเป็นการแก้ปัญหาเชิง regional และเราจะสามารถสร้างภาวะผู้นำในเชิง regional อย่างน้อยในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ เพราะเหมือนเราจะเสียสภาวะที่เป็นที่น่าจับตามองของประชากรโลกไปแทบจะทุกอย่างแล้ว

9. แนวทางในการผลักดันกับ Climate Change สำหรับประเทศไทย

– ประเทศไทยโฟกัสเรื่องการปล่อยคาร์บอนก็ดี เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เราอยู่หนึ่งในสิบของประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่อง climate change สูงที่สุดในโลก เพราะฉะนั้นแปลว่าสิ่งที่เราต้องทำเยอะกว่าการ mitigation หรือการลดการปล่อยคาร์บอน คือการ adaptation สำหรับกรณี worst case เอาไว้ บ้านเราเจอทั้งแล้ง ทั้งน้ำท่วม ทั้งพายุโซนร้อน มาแน่นอน รวมถึงเรื่องระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นในระยะยาวจะกระทบเมืองหลวงของเราก็ติดในหนึ่งในเมืองที่เจอปัจจัยเสี่ยงด้านนี้สูง

– เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีแค่เรื่อง climate change เรื่องเดียว สิ่งที่เราช่วยกันแก้ไขเรื่องสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นที่ส่งผลกระทบต่อประเทศเราโดยตรงได้ ส่วน climate change เป็นสถานการณ์โลก เราก็ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบายโลก และร่วมกันเจรจากับประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเราอาจจะยังไม่ค่อยมีตรงนั้นเท่าไหร่ รวมถึงการร่วมโครงการต่างๆ ยิ่งมาช่วงนี้ เรื่องพวกนี้ก็เป็นประเด็นรองในเชิงการเมืองไปโดยสิ้นเชิง

– มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เราควรจัดการ เช่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เป็นฝุ่นในประเทศและฝุ่นภูมิภาคที่ลอยมาจากการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม แต่ถ้าภาคเหนือที่เราเห็นไฟป่ากันเยอะ ช่วงปลายปี ต้นปี จะมีควันที่ลอยเข้ามาจากแถวพม่า แถวกัมพูชา ที่มีการเผาไร่กันค่อนข้างเยอะ ซึ่งต้องไปเกี่ยวข้องกับสมาคม Asian Haze Free ซึ่งเป็นโต๊ะเจรจาเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เจรจายากเพราะต้องข้ามรัฐบาล แต่อย่างน้อยถ้าเรามีกฎหมายเรื่อง Clean Air Act ในประเทศไทย จะทำให้การจัดการเรื่องนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

– ตอนนี้ปัญหาเรื่องอากาศสะอาดในบ้านเรามันมีกฎหมายกระจายเต็มไปหมด เรื่องรถให้ตำรวจจราจรดูแล ซึ่งขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โรงงานอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องของไฟป่าอยู่กับกระทรวงเกษตร และ อบต. อบจ. ซึ่งอยู่ในกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตร อุทยานและป่าอนุรักษ์อยู่กับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม มันไม่มีแผนการณ์ในการดูแลอากาศของประเทศเรา มีแต่กฎหมายย่อยของแต่ละกระทรวง

– เครือข่ายภาคประชาชน Thai Clean Air Network พยายามผลักดันให้มี Clean Air Act เข้าไปในสภา ซึ่งตอนนี้ก็มีรายชื่อประมาณหมื่นกว่าหลายชื่อแล้วก็รอจังหวะที่เหมาะสมในการเสนอ แต่ก่อนหน้านี้มีโดนปัดตกไปหลายร่างแล้ว มีทั้งร่างที่เสนอโดยพรรค และเสนอโดยประชาชนที่รวมชื่อกันไป ก็โดนปัดตกไปด้วย พรบ. การเงิน พอเป็นเรื่องของการใช้เงิน อำนาจการตัดสินใจจะไปอยู่กับนายกรัฐมนตรี ทำให้บางอย่างโดนปัดหรือโดนดอง ทำให้สภาเรายัง non-functional ในเรื่องการเสนอกฎหมายของภาคประชาชนอยู่

– กรมควบคุมมลพิษ มีหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพอากาศ คุณภาพน้ำ และเสนอแนะทางนโยบาย แต่ไม่มีอำนาจไปจับกุมหรือสร้างกฎข้อบังคับโรงงานได้ ถ้าใครจะฟ้องก็ต้องฟ้องเป็นกรณี ยังมีอำนาจในการลงดาบและบังคับใช้ต้นเหตุน้อย สิ่งที่ทำได้คือตรวจวัดและประกาศ เราต้องการอะไรที่คล้ายๆ EPA (Environmental Protection Agency) ของอเมริกา ซึ่งมีอำนาจสั่งศาลด้วยว่าควรจะตัดสินคดีต่างๆ ยังไง ด้วยการเอาข้อมูลเชิงสิ่งแวดล้อมมาบอก ซึ่งเข้าใจว่ากรมควบคุมมลพิษของบ้านเรายังไม่มีอำนาจตรงนี้

10. ปรากฏการณ์Climate Change กับป่าอเมซอน

– หลายปีมานี้เกิดปรากฏการณ์ป่าอเมซอนไฟไหม้ป่า ซึ่งน่าตกใจมาก เพราะเป็นป่าร้อนชื้น ความชื้นสูงทั้งปี ปกติไม่ควรมีไฟไหม้ ตอนนี้ไหม้ยับเยิน ไอน้ำที่อยู่ในอเมซอนคือ ไอน้ำที่เกิดขึ้นเอง ฝนที่อยู่ในอเมซอนแล้วมันจะหมุนเวียนผ่านพืชผ่านดินเป็นการสร้างน้ำในตัวของมันเอง ที่นี้จะมีจุดนึงที่ทำให้เวียนกลับไม่ได้คือพอไฟไหม้ป่าถึงจุดนึง มันจะไม่มีไอน้ำจะที่มาหมุนเวียนมากพอที่จะทำให้พื้นป่าทั้งหมดมันรักษาต่อไปได้ ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่เปลี่ยนจากป่ากลายเป็นทุ่งหญ้า

– สิ่งที่ตามมาคือป่าอเมซอนนอกจากจะเป็นพื้นที่ที่ผลิตออกซิเจนแล้ว ยังเป็นพื้นที่ที่กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วถ้ามันไหม้หรือกลายเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ป่าดงดิบแบบทุกวันนี้ นอกจากจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งอเมซอนเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพเยอะที่สุดในโลกแล้ว คาร์บอนที่โดนเก็บไว้โดยต้นไม้ทั้งหมดจะถูกปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นเร็วกว่าเดิม

– มันมีความเชื่อมโยงกับนโยบายทางการเมืองของบราซิล ซึ่งมีนโยบายที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน เลยเปิดป่าให้คนเข้าไปทำมาหากินกันเยอะมาก ไฟป่าน้อยมากที่จะเริ่มจากธรรมชาติ เช่น ฟ้าผ่าหรือใบไม้เสียดสีกัน ส่วนใหญ่เริ่มจากคน​​ แต่สิ่งที่ทำให้ไฟป่ามันลามและดับได้ยากคือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงของ climate change อเมซอนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนตรงนั้น และเป็นตัวอย่างทางด้านการเมืองด้วยว่าสิ่งที่มีผลกระทบกับชีวิตคนทั้งโลกอย่างป่าอเมซอน กลับโดนบริหารจัดการโดยรัฐบาลเดียวคือรัฐบาลบราซิล และชาวโลกไม่ค่อยมีสิทธิไปยุ่งเกี่ยว ทำได้อย่างมาก็แค่คว่ำบาตรหรือกดดันผ่านองค์กรอย่าง UN หรือนโยบายต่างประเทศ แต่สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลของเขา ทั้งๆ ที่มันมีผลต่อคนทั้งโลก

– ระบบการเมืองที่เรามีอยู่ในปัจจุบันในการบริหารทรัพยากรนานาชาติ มันไม่มีเครื่องมืออะไรที่ให้เราสามารถร่วมกันกดดันประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะให้บริหารทรัพยากรในประเทศเขาที่มีผลต่อคนทั้งโลกได้ ทำให้หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น อย่างประเทศที่ต้องได้รับผลกรรมจาก climate change เช่น ประเทศเกาะเล็กๆ แถวแปซิฟิกอย่าง ตูวาลู นาอูรู วานูอาตู น่าจะเป็นประเทศแรกๆ ที่จมทะเลจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งประเทศพวกนี้เขาปล่อยคาร์บอนน้อยมากๆ แต่ต้องมารับกรรมก่อนชาวบ้าน

11. มันยังทันอยู่ไหมสำหรับการช่วยเหลือเรื่องโลกร้อน

– เรื่องโลกร้อนไม่มีคำว่าไม่ทัน ถ้าเอาจุดที่มันจะไม่ร้อนขึ้นเลย อันนั้นมันสายไปนานมากแล้วตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่อย่างน้อยที่สุดที่เราต้องการคือ ให้มันร้อนขึ้นน้อยที่สุด

– ในอนาคต 1.5 องศากับ 1.7 องศา สภาพโลกก็ต่างกันเยอะ ยิ่งลดความร้อนได้เยอะ ยิ่งปรับตัวได้กับภาวะโลกใหม่ได้เยอะ ก็จะทำให้การเสียหายน้อยลง มันเกิดขึ้นแน่นอนอยู่แล้วแต่ว่าเราจะทำให้มันน้อยที่สุดได้ยังไง

– สุดท้ายแล้วเชื่อว่าโลกมันไม่จบ ไม่ใช่ว่าอารยธรรมของมนุษย์จะล่มสลาย แต่จะมีคนที่เดือดร้อนแล้วอยู่ได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนที่มีฐานะน้อยที่สุด เพราะคนรวยก็จะมีการปรับตัวอะไรได้ อย่างช่วงโรคระบาดก็เห็นชัดเจนว่าคนรวยมีวิธีปรับตัวได้ ส่วนคนจนก็ต้องพึ่งนโยบายรัฐอย่างเดียว ซึ่งถ้าการบริหารจัดการไม่ดีก็จะเป็นอย่างที่เห็น


รายละเอียด

Date: 18 Aug 2021 (21:00-22:50)

Speaker:
คุณสิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล
– ผู้ดำเนินรายการ เถื่อน Travel และเจ้าของช่อง เถื่อนChannel

Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #ClimateChange #GlobalWarming #ภาวะโลกร้อน #วรรณสิงห์ #เถื่อนChannel #เถื่อนTravel #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา