Bitcoin คืออะไร? ทำไมถึงสำคัญ? (พูดคุยกับ อ.ตั๊ม พิริยะ)

Bitcoin

1. Bitcoin คืออะไร

– บิตคอยน์ (Bitcoin) คือ เงินสดดิจิทัลที่ไร้ศูนย์กลาง และทำงานในระดับบุคคลถึงบุคคล

– หลายคนจะบอกว่าบิตคอยน์ไม่ใช่เงิน เป็นทรัพย์สิน เป็นสินทรัพย์ แต่ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าอะไรคือเงิน เราอยู่ในโลกที่ถูกบ่มเพาะความคิดว่าเงินคือ สิ่งที่รัฐต้องบอกว่าเป็นเงิน จำเป็นที่ต้องชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย หรือต้องมีสภาพคล่องสูงสุดเท่านั้น

– จริงๆ ในที่สุดแล้วเงินคือ สินค้าที่ทุกคนต้องการ ซึ่งมากพอที่จะยอมรับมันแทนสินค้าอื่นๆ และใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนมูลค่าและสินค้าอื่นๆ ในสังคม ซึ่งถ้าเรามองแบบนี้ทั้งทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ก็สามารถเป็นเงินได้หมดเลย เพียงแต่ว่าเราเอามาใช้ทำอะไรเท่านั้นเอง

– เมื่อเรามองแบบนี้แล้ว สิ่งที่ทำหน้าที่เป็นเงินได้จำเป็นต้องตอบโจทย์อยู่ 3 โจทย์คือ
1. Store of Value (หน่วยในการรักษามูลค่า)
2. Medium of Exchange (ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน)
3. Unit of Account (หน่วยวัดมูลค่าของสินค้าอื่นๆ)

– ซึ่งทุกๆ สินค้าที่เคยนำมาใช้เป็นเงินก็จะสามารถตอบโจทย์ทั้งสามข้อนี้ได้ทั้งหมด แต่ในแต่ละข้ออาจจะอยู่ที่ระดับที่แตกต่างกัน บางเงินก็สามารถรักษามูลค่าได้ดี บางเงินก็สามารถใช้จ่ายได้คล่องแคล่ว บางเงินก็เหมาะสำหรับนำมาตั้งราคาสินค้า

– เมื่อเราพิจารณาแบบนี้แล้วเราก็สามารถมองบิตคอยน์เป็นเงินได้เช่นกัน คราวนี้มาดูกันว่าบิตคอยน์มันตอบโจทย์ทั้งสามอันได้ดีแค่ไหน

*1. Store of Value (หน่วยในการรักษามูลค่า)

– การรักษามูลค่า คือความสามารถในการรักษามูลค่าข้ามผ่านกาลเวลาของสินค้าชิ้นนึง (salability across time) สินค้าที่มันเน่าหรือย่อยสลายได้จะไม่มีความสามารถนี้ เราจึงไม่เห็นคนเอาปลาหรือตัวหอยมาทำเป็นเงิน แต่เราใช้เปลือกหอยเพราะมันทนมันอยู่ได้ อะไรก็ได้ที่มันทนและสามารถอยู่ได้ข้ามผ่านกาลเวลาเป็นเวลานาน ก็จะสามารถนำมาใช้เป็นอะไรก็ตามที่มนุษย์เอาไว้ใช้เก็บมูลค่าได้

– มูลค่าคือ งานที่เราทำลงไป เวลาของมนุษย์ที่เราใช้ในการสร้างผลผลิต เราเอาเวลาส่วนเกินที่เราผลิตได้มาเก็บไว้เป็นวัตถุที่นำไปแลกเหรียญเป็นสินค้าและบริการอื่นๆ ได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นความคงทนของสินค้านั้นสำคัญมาก

– แต่มีอีกปัจจัยหนึ่งคือ ความคงทนในแง่ของการต่อต้านการผลิต ทุกสินค้าที่ถูกนำมาใช้เป็นเงินในอดีต เมื่อถูกนำมาใช้เป็นเงินแล้วก็ทำให้คนอยากผลิตสินค้านั้นมากขึ้น เป็นกลไกลตามธรรมชาติ เมื่อทุกคนต้องการก็ทำให้เกิดการเร่งมูลค่าให้สูงขึ้น เงินอะไรก็ตามที่ผลิตได้ง่าย สุดท้ายก็จะเฟ้อมหาศาล สินค้าในสังคมจะมีราคาแพงขึ้น คนที่เก็บออมเงินก็จะมีสินทรัพย์น้อยลง แต่เงินอะไรก็ตามที่สามารถต้านทานการผลิตได้เนื่องจากข้อจำกัดบางอย่าง เช่น สมัยที่คนเราไม่สามารถทำประมงได้ เปลือกหอยก็จะต้านทานการผลิตได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้มันสามารถรักษามูลค่าได้ เพราะมันไม่สามารถผลิตเพิ่มได้อย่างรวดเร็ว

– บิตคอยน์ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์สองปัจจัยนี้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยความที่ตัวมันเป็น digital asset ไม่มีทางเสื่อมสภาพไปได้ เหมือนกับทองคำที่เป็นโลหะที่ไม่เป็นสนิม บิตคอยน์ยังไม่ได้อยู่บนคอมพิวเตอร์หรือเซิร์ฟเวอร์ใด เซิร์ฟเวอร์นึง เป็นระบบไร้ศูนย์กลาง คือตัวมันกระจายอยู่ในคอมพิวเตอร์ที่เป็น node ที่อยู่เป็นแสนๆ node ทั่วโลก โดยที่แต่ละ node ไม่รู้จักกัน เพราะฉะนั้นมันมีความคงทนมากๆ เป็นตัวเลขดิจิทัล ทำลายไม่ได้ เน่าเป็นสนิมไม่ได้ ถูกโจมตีได้ยาก

– บิตคอยน์ต่อต้านการผลิตได้ดีมากๆ อัตราการผลิตของบิตคอยน์คงที่ และถูกกำหนดไว้ในโค้ดไว้ตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน ทุกคนสามารถเปิดดูและไม่สามารถแก้ไขได้ ถ้าอยากจะแก้ไขต้องแก้หมดทุก node กฎเกณฑ์นี้จะกำหนดไว้ว่าบิตคอยน์จะถูกผลิต 50 คอยน์ต่อบล็อก ใน 210,000 บล็อกแรก และลดลงครึ่งนึงทุกๆ 210,000 บล็อก ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2140 จะมีบิตคอยน์ ถูกผลิตขึ้นมา 21 ล้านบิตคอยน์ ไม่เกินไปกว่านั้น

– สองปัจจัยนี้ทำให้บิตคอยน์มีความสามารถในการรักษามูลค่า ข้ามผ่านกาลเวลาได้ดีเยี่ยม บิตคอยน์ถูกออกแบบให้เป็น store of value ที่ดีในมุมมองของ fundamental แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความผันผวนของราคา จะเป็นอีกเรื่องนึง

*2. Medium of Exchange (ตัวกลางในการแลกเปลี่ยน)

– บิตคอยน์เป็นเงินสดดิจิทัล เพราะฉะนั้นบิตคอยน์จะพยายามทำให้การใช้บิตคอยน์เหมือนการใช้ “เงินสด” แปลว่าระหว่างคนสองคนใช้เงินกัน ไม่จำเป็นต้องมีใครมารู้เรื่องระหว่างคนสองคน เหมือนการยื่นเงินสดให้แม่ค้าในตลาด เงินสดเปลี่ยนมือ รัฐบาลไม่รู้ ธนาคารไม่รู้ ไม่มีใครมายุ่งได้กับการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับเงินนั้น

– เงินสด คือเป็นเงินที่มีความส่วนตัว แต่เป็นเงินที่กำลังจะถูกไล่ทำลายไป เพราะฉะนั้นหนึ่งในเป้าหมายของบิตคอยน์คือ การสร้างเงินสดที่เป็นดิจิทัล จะทำยังไงให้เรามีความสามารถในการใช้เงินเหมือนกับการใช้เงินสด แต่ว่าสามารถใช้ผ่านโลกดิจิทัล ผ่านไปให้กับคนที่อยู่ไกลๆ ได้

– สิ่งที่เกิดขึ้นเวลาเราใช้บิตคอยน์ เราจะสามารถรับหรือจ่ายจากใครที่ไหนในโลกก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน มากหรือน้อยเท่าไหร่ ก็ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเท่ากันหมด ซึ่งก็มีทั้งข้อดี-ข้อเสีย คือถ้าเน็ตเวิร์กแน่นมากๆ ก็อาจจะค่าใช้จ่ายแพง แต่ก็จะมีเทคโนโลยีอีกเช่น Lightning Network ซึ่งพัฒนาอยู่บนบิตคอยน์อีกทีนึง ทำให้เราสามารถส่งเงินถึงกันได้ โดยที่ไม่ต้องเชื่อใจกัน ไม่ต้องเจอหน้ากัน ไม่ต้องรู้จักกัน เหมือนกับเวลาเราใช้เงินสด ที่เราไม่ต้องรู้ว่าอีกฝ่ายคือใคร ไม่ต้องเชื่อใจเขาว่าจะเป็นคนดีไหม รวมถึงเวลารับก็เช่นกัน

– บิตคอยน์สามารถทำธุรกรรมแบบไม่ต้องเชื่อใจกัน ผ่านตัวระบบ cryptography ผ่านตัว public-key cryptography ที่บิตคอยน์ใช้งาน ทำให้บิตคอยน์เป็น medium of exchange ที่คล่องตัวมากๆ

– ถ้านึกย้อนไปถึงทองคำอาจจะรักษามูลค่าได้ดี แต่ถ้าต้องส่งทองคำในระยะทางไกลๆ ค่าใช้จ่ายมันสูงมาก ทำให้มูลค่ามันลดลงตามค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ แต่สำหรับบิตคอยน์ ไม่ว่าที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ มันถูกและเร็ว

*3. Unit of Account (หน่วยวัดมูลค่าของสินค้าอื่นๆ)

– เป็นข้อที่บิตคอยน์ ไม่ค่อย address เท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน แต่ขึ้นอยู่กับ network effect ของเงินว่า เราจะสามารถเอาเงินนี้มาใช้ในการวัดมูลค่าสินค้าได้ไหม อย่างเงินดอลลาร์ถูกใช้เป็น unit of account ของโลก เพราะว่ามันมี network effect

– แต่จริงๆ คุณสมบัตินี้จะเริ่มเกิดขึ้นในกลุ่มที่เรียกว่า Bitcoiner ที่เริ่มเก็บออมเป็นบิตคอยน์ จนทำให้เขาไม่มองหน่วยเงินอื่นเท่าไหร่ เวลาเขาจะมองราคาสินค้าหรือบริการ ก็จะมองเป็นหน่วย Satoshi (1 Bitcoin = ​​100,000,000 Satoshi) แต่ในคนทั่วไปคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะได้รับการยอมรับในขณะที่สามารถจะนำมาเป็น unit of account ได้ และเมื่อถึงวันนั้นมูลค่าของบิตคอยน์ก็จำเป็นที่จะต้องนิ่งกว่านี้เมื่อเทียบกับราคาและมูลค่าของสินค้าที่มันนำไปแลกเปลี่ยน

– จะมีประเทศที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือ “เอลซัลวาดอร์” ที่มีการประกาศให้บิตคอยน์เป็น legal tender หรือเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ในมาตรา 7 ของกฎหมาย legal tender ของเอลซัลวาดอร์ระบุว่า “เมื่อผู้ชำระเงินอยากจะชำระเงินเป็นบิตคอยน์ ผู้ค้าจำเป็นที่จะต้องรับ” แต่ก็จะมีมาตรา 8 ที่ระบุว่า “ถ้าไม่อยากรับเป็นบิตคอยน์ สามารถ convert เป็นดอลลาร์ได้ทันทีและสามารถตั้งราคาขายเป็นดอลลาร์ได้” และก็มีมาตรา 12 ที่ระบุว่า “ถ้าไม่พร้อม ก็สามารถที่จะให้รัฐเข้าไปช่วยในการเซ็ตอัพ” เป็นกฎหมายสามข้อที่เขียนไว้รองรับ เพราะว่าเขามองเห็นว่าบิตคอยน์ยังไม่ใช่ unit of account แต่ว่าสิ่งที่เอลซัลวาดอร์ทำคือ ใช้บิตคอยน์ในแง่ store of value และ medium of exchange เป็นหลัก

2. ทำไม Bitcoin ถึงสำคัญ

*1. ปณิธานของการสร้างบิตคอยน์

– ต้องมองย้อนไปถึงปณิธานในการสร้างบิตคอยน์ ซึ่งมีการพูดไว้ชัดเจนจากประวัติการพูดคุยของ Satoshi Nakamoto ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างบิตคอยน์ แต่ไม่มีใครรู้ตัวตนที่แท้จริงของเขา

– Satoshi เป็นหนึ่งใน Cypherpunk คือกลุ่มคนที่ต้องการทวงคืนสิทธิเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวให้กับประชาชน กลุ่มนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 70 และมีการตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า Cypherpunk ขึ้นอย่างเป็นทางการประมาณในปี 1985 เป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นในการรักษาความเป็นส่วนตัวของประชาชน ในบริบทของรัฐบาลที่กำลังพยายามล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวเข้ามาเรื่อยๆ จากกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ค่อยๆ ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้อำนาจรัฐบาลในการเข้ามาตรวจสอบกิจกรรม กิจวัตรประจำวัน เศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาษีของประชาชนมากขึ้น ในที่สุดรัฐบาลและธนาคารกลางเริ่มมีอำนาจมากเกินไป ในการควบคุมชี้นำระบบธุรกิจ ระบบเศรษฐกิจ และทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีการช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่อยู่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เริ่มมีการใช้ระบบการเงินและการสื่อสารในการควบคุมความประพฤติของประชาชน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ

– ระบบการเงินถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุม ถ้าคุณทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ คุณมีโอกาสสูงมากที่เงินของคุณจะโดนอายัติ โดนตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน สรรพากรมาหาที่บ้าน ซึ่งมันเกิดจากการใช้อำนาจในการควบคุมระบบการเงินและระบบสื่อสารเพื่อควบคุมประชาชนให้ไม่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ

– ปณิธานของกลุ่ม Cypherpunk คือต้องการที่จะรักษาความเป็นส่วนตัวตรงนี้ เพราะเขาบอกว่าการพูดคุยระหว่างคนสองคน ควรจะเป็นเรื่องของคนสองคน การจ่ายเงินระหว่างคนสองคน ก็ควรจะเป็นเรื่องของคนสองคนเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราจะหาทางที่จะเอาความเป็นส่วนตัวแบบนี้กลับมาได้ยังไง หนึ่งในเทคโนโลยีที่กลุ่ม Cypherpunk ใช้มาตลอดก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดกลุ่มนี้ขึ้นมาเลย เรียกว่าเป็นเทคโนโลยีของ public-key cryptography (หรือ asymmetric cryptography) คือการเข้ารหัสแบบที่มีกุญแจสองดอกคือ public key และ private key ซึ่งเราจะเห็นว่าในบิตคอยน์เองก็เอากลไกนี้มาเป็นหนึ่งในเสาหลักของการทำงานในบิตคอยน์เหมือนกัน

– บทความที่ Satoshi Nakamoto เขียนก็จะพูดถึงเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดเวลาว่า ในปัจจุบันระบบการเงินเป็นระบบดิจิทัลเกือบหมดแล้ว แต่ปัญหาคือเราจำเป็นต้องเชื่อถือตัวกลางในการทำธุรกรรม การโอนเงินจากจุด A ไปจุด B เราต้องเชื่อถือในตัวกลางว่าเขาจะทำบัญชี ทำธุรกรรม อนุมัติการโอนเงิน รับเงินให้เราเข้าถูกที่ เราจะต้องเชื่อใจธนาคารในการเก็บเงินของเราไว้ในธนาคาร และเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของเราไว้กับเขา โดยที่ต้องมั่นใจว่าเขาจะไม่พลาด เขาจะไม่ถูกคนที่ปลอมแปลงเป็นเราแล้วขโมยเงินของเราไปหมดบัญชี เชื่อมั่นในรัฐบาลและธนาคารกลางว่าเขาจะไม่ทำให้เงินของเราเสื่อมเสียมูลค่า ไม่ทำให้เงินของเรามีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง แต่สิ่งที่เราเห็นมาตลอดเวลาคือรัฐบาล ธนาคารกลาง และธนาคารได้ทรยศความเชื่อใจนี้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์เงินเพิ่ม การอัดฉีดธุรกิจใน Wall Street ทำให้ค่าของเงินเสื่อมลง บัญชีของธนาคารโดนแฮก โดนโกง โดนขโมย เกิดขึ้นเป็นประจำในทุกที่

– Satoshi บอกว่านี้คือปัญหา และมันถึงเวลาแล้วที่เราจะนำเอาเทคโนโลยีของ public-key cryptography และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาประกอบกัน ให้เรามีสิ่งที่เรียกว่าเงินสดดิจิทัลได้

– เพราะฉะนั้นความสำคัญของบิตคอยน์คืออะไร เราต้องเข้าใจประเด็นตรงนี้ เราต้องเข้าใจว่าสิทธิเสรีภาพมันถูกคุกคาม ระบบการเงินภายใต้การควบคุมของธนาคารมันกลายเป็นโซ่ตรวนในการควบคุมความประพฤติของประชาชน จะเห็นเคสแบบนี้ได้ยิ่งชัดมากๆ ในประเทศที่เป็นเผด็จการเช่น ประเทศจีน ที่ระบบการเงินถูกนำมาใช้ควบคุมความประพฤติ ถ้าทำตัวไม่ดี social scoring ต่ำ คุณไม่สามารถซื้อของในร้านสะดวกซื้อได้

– เพื่อที่เราจะหลุดพ้น และหลีกเลี่ยงอนาคตที่ทุกคนจะไม่มีสิทธิ์คิด พูด หรือทำอะไรตามความคิดเห็นของตัวเอง แล้วต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่รัฐอยากให้เราทำ และก็จะเกิดการขยายกลุ่มที่จงรักภักดีต่อรัฐ เราจำเป็นที่จะต้องมีเงินที่รัฐบาลไม่สามารถเข้ามาแทรกแซง หรือห้ามไม่ให้ใช้ได้ เงินที่ใช้แล้วเหมือนเงินสด เป็นเรื่องของผู้จ่ายและผู้รับโดยไม่มีใครเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งหมดนี้เป้าหมายของการสร้างบิตคอยน์ขึ้นมา

*2. สามเสาหลักของบิตคอยน์

– เทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างบิตคอยน์ก็เหมือนกับโปรเจคที่พยายามจะทำเงินดิจิทัลมาก่อนหน้านี้ คือใช้พวก digital signautre ก็คือตัว public-key cryptography ซึ่งเป็นเสาหลักเสาที่หนึ่งของบิตคอยน์

– แต่ digital signautre มันทำได้อย่างเดียวคือการพิสูจน์ตัวตนว่า เราเป็นเจ้าของเงินโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ซึ่งมันสำคัญมากๆ แต่ยังขาดอีกอย่างคือการทำบัญชีธุรกรรมทั้งหมด เนื่องจากถ้าเราต้องการให้ระบบไม่มีศูนย์กลางแปลว่าผู้ใช้งานทุกคนมีสิทธิ์บันทึกบัญชี มีสิทธิ์ปิดบัญชี แล้วในที่สุดบัญชีในเวอร์ชั่นไหนที่เราจะเชื่อได้ว่าเป็นความจริง เพราะฉะนั้นใน whitepaper ของบิตคอยน์ Satoshi ได้เสนอกลไกใหม่ขึ้นมาหนึ่งอันคือ hash based proof-of-work ซึ่งเป็นกลไกลที่จะใช้กำลังในการประมวลผลเพื่อสุ่มตัวเลข ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ไม่สามารถโกงได้ วิธีเดียวที่จะสามารถปิดบล็อกบนบิตคอยน์ และสามารถเขียนบล็อกเชนบนบิตคอยน์ได้คือ คุณต้องมานั่งสุมตัวเลขเหมือนกันหมด ซึ่งการสุมตัวเลขเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น ซึ่งถ้าว่ากันตามสถิติเราจะคำนวณได้ว่าทุกๆ ประมาณสิบนาทีในโลกนี้จะมีคนสุ่มได้คนนึง นี้คือหลักการของ proof-of-work ที่นำมาใช้ในการสร้างให้เหลือความจริงเพียงหนึ่งเดียว ให้เหลือบัญชีเล่มเดียวที่เราจะมั่นใจว่านี่คือความจริงที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่ไม่ได้สนใจว่าความจริงนี้จะถูกต้องหรือถูกตามกฎหมายหรือเปล่า แต่เราสนใจเพียงอย่างเดียวว่ามันเป็นอะไรก็ตามที่ไม่มีใครสามารถแก้ไขมันได้ นอกจากจะใช้กำลังในการปิดบัญชี ก็คือกำลังประมวลผลและกำลังไฟฟ้าในการขุดมากกว่าทั้งหมดโลกรวมกัน นี่เป็นเสาหลักเสาที่สองของบิตคอยน์คือ hash based proof-of-work

– ส่วนเสาหลักเสาที่สามของบิตคอยน์ก็คือ Blockchain ซึ่งรวมกันทั้งหมดสามอย่างก็คือ Public-key Cryptography + Proof of Work + Blockchain

3. คนที่เหมาะกับ Bitcoin

– คนที่ยังอยากรักษาความเป็นมนุษย์อยู่ ไม่อยากตกเป็นทาสรับใช้ใคร อยากมีความคิดความอ่านของตัวเอง อะไรบ้างที่เป็นสินทรัพย์ที่รัฐบาลไม่สามารถทำลายมูลค่า ไม่สามารถโน้มน้าวให้เราใช้จ่ายจนเป็นหนี้หัวบานได้ ไม่สามารถมีใครมายับยั้งได้ หรือพกติดตัวไปที่ไหนก็ได้ เมื่อจำเป็นต้องเดินทางย้ายถิ่นฐาน เงินในบัญชีธนาคารคุณเอาไปไหนไม่ได้ ทองคำเอาออกนอกประเทศก็ไม่ได้ ที่ดินยิ่งไม่ต้องพูดถึง มันก็เลยมีแค่บิตคอยน์ ถ้ายังอยากรักษาความเป็นปัจเจกบุคคล อยากเป็นมนุษย์ที่มีความคิดอ่านเป็นของตัวเองในยุคปัจจุบัน คุณต้องเข้าใจแล้วว่าปัญหาของระบบการเงินคืออะไร แล้วบิตคอยน์มันถูกออกแบบให้มาแก้ปัญหาตรงไหนอย่างไร แล้วค่อยเลือกจากตรงนั้นว่าเราควรที่จะมีมันอยู่บ้างไหมค่อยว่ากัน

4. คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นศึกษา Bitcoin

– มันเป็นเหมือน Rabbit Hole ยิ่งศึกษาลงไปลึกๆ ผมศึกษามาอย่างจริงจัง 5-6 ปีแล้วก็ยังไม่หมด ยังมีเรื่องใหม่ๆ ให้เรียน ให้ทดลอง มีมุมมองใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทุกวัน

– ถ้าอยากเริ่มศึกษาอย่าง Youtube Channel ของผมก็จะพูดถึงเรื่องบิตคอยน์ทุกวันอังคาร ถ้าเป็นหนังสือที่แนะนำให้เป็นเล่มเริ่มต้นสำหรับหลายๆ คนเลยคือหนังสือชื่อ “The Bitcoin Standard – Saifedean Ammous” เป็นอาจารย์ที่จอร์แดน เป็นนักเศรษฐศาสตร์สายออสเตรียน ที่วิเคราะห์บิตคอยน์ในมุมของ Australian Economy ได้อย่างเฉียบขาดที่สุดเล่มนึง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้เราเริ่มต้นศึกษาหลักเศรษฐศาสตร์แบบดั้งเดิมว่ามันแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์ร่วมสมัยที่เราเรียนกันทั่วไปในโรงเรียนต่างๆ อย่างไรบ้าง ทำให้เราเห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งปกติผมจะแนะนำแค่เล่มนี้เล่มเดียวเลย เพราะว่าอ่านเล่มนี้เสร็จแล้ว refenrece ของเล่มนี้มันจะพาให้คุณไปหาหนังสือได้อีกเป็นตู้เลย ซึ่งสนุกมากๆ เลยทุกเล่ม

– แต่ถ้าอยากรู้ว่าบิตคอยน์ทำงานยังไง อีกเล่มนึงที่น่าสนใจ และอ่านง่าย เข้าใจง่าย คือ “Inventing Bitcoin – Yan Pritzker” สองเล่มนี้เป็นเล่ม starter สำหรับคนที่สนใจ

– ส่วนใครที่อยากมีมุมมองที่เกี่ยวกับบิตคอยน์หลายๆ แง่มุม ผมแนะนำ “The Internet of Money – Andreas M. Antonopoulos เล่ม 1-3”

– สามเล่มนี้เป็นพื้นฐาน ถ้าจะลงลึกมันก็จะมีหลายเส้นทาง จะไปทางสายโปรแกรมมิ่ง หรือว่าเป็นสายการลงทุนก็จะเป็นอีกเรื่องนึง

– ตั้งแต่ผมเริ่มทำวิดีโอตั้งแต่ปี 2014-2015 ถึงวันนี้มุมมองต่อบิตคอยน์ก็เปลี่ยนไปเยอะมาก มันลึกมาก หลายคนจะมองมันเป็นโปรเจคที่โบราณ แต่จริงๆ แล้วทุกๆ การตัดสินใจในการออกแบบบิตคอยน์ มันถูกคิดมาอย่างลึกซึ้งจนน่าตกใจว่า มันคิดได้ยังไง มันไม่ใช่ผลงานของการทดลอง แต่เป็นผลงานของการศึกษาวิจัย ลองผิดลองถูกมาหลายสิบปีหลายทศวรรษกว่าจะออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่าบิตคอยน์

5. เคสที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Bitcoin

– จริงๆ ผมไม่ค่อยแนะนำให้ใครซื้อบิตคอยน์เท่าไหร่ เพราะว่าการซื้อมันเป็นหนึ่งในสามวิธีในการได้มาซึ่งบิตคอยน์ วิธีที่ดีที่สุดคือ earn หรือการทำงานแลกกับบิตคอยน์

– ความรู้สึกเวลาที่เราทำงานแล้วเอาหยาดเหงื่อของเราไปแลกเป็นบิตคอยน์มาได้ มันวิเศษมากๆ เลย มันเป็นเงินที่มีค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทที่เราได้ปกติแล้ว เรารู้สึกว่าอันนี้มันดีนะ แล้วก็ไม่รู้สึกว่ามีความเสี่ยงอะไรมากมายด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถเซ็ตอัพระบบที่เป็นแบบนี้ได้ เวลาเราทำงานอะไรได้มาแล้ว เราจะเอามา convert เองก็ได้

– ถ้าซื้อมันจะกลายเป็นมุมมองเหมือนการลงทุน เราก็จะเอาเงินบาทลงไปซื้อแล้ว convert เป็นบิตคอยน์ แล้วเราก็จะมานั่งประสาทเสียกับการที่ราคาของมันในหน่วยบาทมันขึ้นๆ ลงๆ เพราะฉะนั้นผมจะมีมุมมองอันนึงที่เพิ่งเกิดขึ้นประมาณปีสองปีที่ผ่านมา อย่างที่บอกไปตอนต้น ทุกคนก็จะยังจะมองว่าบิตคอยน์ยังไม่ใช่ unit of account แต่สำหรับผม พอเราอยู่กับมันมานาน แล้วเริ่มศึกษามันเยอะๆ แล้วเราอยากได้มัน ผมเลยเข้าใจหนึ่งในปัจจัยสำคัญของ unit of account ว่ามันไม่ใช่เรื่องของ network effect อย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของความต้องการด้วย ถ้าคนคนหนึ่งต้องการบิตคอยน์มากกว่าเงินบาทหรือว่าเงินดอลลาร์ คนๆ นั้นเวลาที่ตัดสินใจลงทุนอะไรก็ตาม ก็จะมองผลตอบแทนและความเสี่ยงเป็นหน่วยของบิตคอยน์ มันจะมีการใช้บิตคอยน์เป็น unit of account โดยไม่รู้ตัวเยอะมากๆ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

– ส่วนตัวผมค่อนข้างที่จะมองอะไรเป็นหน่วย Sat (100,000,000 Sat = 1 Bitcoin) หน่วย Bitcoin เพราะเป้าหมายในการเก็บออมของเราเปลี่ยนจากการเก็บออมเงินบาทมาเป็นบิตคอยน์ สมมุติว่าเราตั้งเป้าหมายว่าเราอยากมีเงินให้ถึงหนึ่งบิตคอยน์ ค่าจ้างอะไรเราก็จะมองเป็นอันนี้ 30,000 Sat อันนี้ 100,000 Sat แล้วเวลามันขึ้นลงเราก็จะมองจังหวะของโลกอีกแบบเหมือนกัน แต่ต้องบอกว่ามัน early มากๆ ไม่ได้หวังว่าจะให้เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าบางทีเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันจำเป็นเสมอหรือเปล่า ที่ unit of account จะเกิดขึ้นหลังจากที่ adoption เกิดขึ้นแล้ว หรือว่าจริงๆ แล้วเพียงแค่การตอบโจทย์ข้อแรกคือเป็น store of value ที่ดี ก็ทำให้อย่างน้อยในระดับบุคคล คนเริ่มมองบิตคอยน์เป็น unit of account มากขึ้น ซึ่งผมเริ่มมีเพื่อนๆ หลายคนที่เริ่มพูดอะไรเป็นบาท ก็นึกถึงราคาบิตคอยน์ในช่วงเวลานั้นแล้วก็แปลงเป็นหน่วย Sat แล้วก็มาพิจารณาว่ามันแพงหรือมันถูก อย่าง Permanent Residency ในเอลซัลวาดอร์ ราคาแค่ 3 Bitcoin เอง

6. ข้อควรระวังเกี่ยวกับ Bitcoin

– ต้องรู้และเข้าใจมัน บิตคอยน์เป็นเทคโนโลยีใหม่ บางคนจะคิดว่ามันจะเป็นแบบ the next Facebook หรือเปล่า เดี๋ยวมันก็หายไป มันจะกลายเป็น MySpace ของโลกของการเงินหรือเปล่า มองแบบนั้นมันตื้นไป เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้น มันเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดจากระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งตัวอินเทอร์เน็ตเองคือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงแล้วปฏิวัติการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ บิตคอยน์มันเป็นเทคโนโลยีระดับเดียวกันกับอินเทอร์เน็ต เพียงแต่ว่ามันเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงและปฏิวัติสิ่งที่เรียกว่าเงิน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีการอัพเดทเลยมาเกือบ 200 ปีแล้ว

– เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นการอัพเดทเทคโนโลยีที่เพิ่งเกิดขึ้น 10-20 ปีที่แล้ว แต่เป็นการอัพเดทเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในรอบ 100-200 ปี เพราะฉะนั้นมันใหม่แน่นอน การจะทำความเข้าใจบิตคอยน์ มันยากมากๆ ทั้งในมุมมองของ technical และเศรษฐศาสตร์ และถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วบิตคอยน์จะมี mass adoption คนส่วนใหญ่ก็จะยังไม่รู้อยู่ดีว่ามันคืออะไร เหมือนกับที่ทุกวันนี้คุณรู้หรือเปล่าว่า เงินรัฐบาลที่คุณใช้อยู่มีทรัพย์สินอย่างไรบ้าง คนที่ผมเจอส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเงินรัฐบาลไม่มีทองคำหนุนหลังนะ ถึงแม้ว่าเราจะมีทองคำในคลัง แต่ไม่ได้แปลว่าเรามีทองคำหนุนหลังในการผลิตเงินเพิ่ม อเมริกาไม่ได้ใช้ทองคำในการผลิตดอลลาร์เพิ่ม ซึ่งในโรงเรียนยังมีการสอนกันอยู่เลยว่าทองคำเป็นสิ่งที่หนุนหลังเงินรัฐบาล​ ซึ่งมัน outdate ไปเป็นร้อยปีแล้ว

– มันเป็น paradigm shift ที่ผมมองว่าตรงช่องรอยเปลี่ยน ถ้าใครอยากจะเข้ามายุ่งเกี่ยวกับมัน ก็จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ ซึ่งความรู้ก็จะเป็นอะไรที่หลายคนอาจจะขี้เกียจศึกษา แต่ถ้าไม่รู้เราก็อาจจะไปเจอเหรียญอื่น ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะเป็น scam พอเป็นเทคโนโลยีใหม่มันจะมี gap ของความรู้ จะมีเหรียญอื่นๆ มาโฆษณาว่าเราดีกว่าบิตคอยน์อย่างนู้นอย่างนี้ หลอกให้เราไปลงทุน แล้วสุดท้ายก็สูญเสียเงินทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นโปรเจคหลอกลวง ซึ่งต้องเรียกว่าเกือบทุกโปรเจคในโลกนี้ก็เป็นแบบนั้นเกือบทั้งหมด เราก็จะหลงกล หลงทาง

– นอกจากนั้นบางทีพอเราได้บิตคอยน์มาแล้ว เราก็ไม่รู้วิธีที่จะเก็บรักษายังไง บางคนไปซื้อบิตคอยน์บน exchange ซึ่งรองรับโดย กลต. ด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือบิตคอยน์มันให้ความเป็นส่วนตัวกับคุณ แต่ถ้าคุณทำแบบนั้นความเป็นส่วนตัวก็หายหมด คุณจะโอนบิตคอยน์ไปไหน ใช้ยังไง เก็บเท่าไหร่ รัฐก็รู้หมด exchange ก็รู้หมด เพราะฉะนั้นมันก็กลายเป็นการใช้งานบิตคอยน์แบบที่ไม่ได้เกิดประโยชน์แบบที่บิทคอยน์อยากให้เป็นสักเท่าไหร่ แล้วในที่สุดเราก็ยังเชื่อใจให้ exchange เก็บรักษาบิตคอยน์ของเราให้ปลอดภัย ให้เขาเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวของเราให้ปลอดภัย ซึ่งถ้าอย่างนั้นมันไม่ได้แตกต่างอะไรกับการใช้งานระบบธนาคารทั่วไป ผมก็จะแนะนำเสมอว่าถ้าจะใช้ คุณต้องเข้าใจจริงๆ ว่ามันคืออะไร แล้วต้องลองใช้มันจริงๆ คือต้องเก็บบิตคอยน์เอง เก็บ private key เก็บ seed บน wallet ของตัวเองที่ลงในคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ device ที่เป็น hardware wallet ของตัวเอง ซึ่งนำมาสู่ข้อถัดไป

– ถ้าคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับ wallet ดีไม่ดี คอมพิวเตอร์โดนแฮก บิตคอยน์หายหมดอีก ก็เลยเป็นเรื่องที่ต้องบอกว่ามันเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน พอยุคเปลี่ยนผ่านพ้นไปในที่สุดคนก็อาจจะใช้บิตคอยน์โดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองใช้บิตคอยน์อยู่ แต่ในยุคเปลี่ยนผ่านมันเหมือนยุคแรกของรถยนต์ requirement ของการขับคือ คุณต้องซ่อมเครื่องเองเป็น ประกอบใหม่ได้เป็น เพราะมันจะ break down ตลอดเวลา ทุกวันนี้คนขับรถยนต์ บางคนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันต้องเติมน้ำอะไรบ้าง ขับไปจนแบบน้ำแห้งกลางถนน มีเยอะแยะ เพราะว่ามันถึงจุดที่เทคโนโลยีมัน adoption ในระดับหนึ่ง จนไม่ต้องรู้ว่ามันทำงานยังไง แต่ในจุด early adopter คุณจำเป็นต้องรู้

– เหมือนกับอินเทอร์เน็ตยุคแรก มันยากมากๆ การที่จะ request ไฟล์สักไฟล์นึง การเปิด connection เพื่อจะคุยกับใครสักคนนึง ต้องทำ handshake ต้องรู้ IP ซึ่งกันและกัน ต้องส่งจดหมายเพื่อแลกเปลี่ยน IP address และ port ต่างๆ เพื่อติดต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตอีกทีนึง มันเป็นโลกอีกโลกนึงเลย แต่ทุกวันนี้ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตได้แบบลืมตาก็ใช้แล้ว โดยที่ไม่รู้ว่ามันทำอะไรอยู่

– เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าคุณอยากจะเข้ามารู้จักกับบิตคอยน์ อยากจะใช้งานมัน คุณต้องยอมรับก่อนว่ามัน early มากๆ สำหรับบิตคอยน์ และในยุค early แบบนี้ความรู้สำคัญมาก ต้องศึกษา เก็บบิตคอยน์ยังไง เก็บ key ยังไงให้ปลอดภัย ป้องกันการแฮกอย่างไร รักษาความเป็นส่วนตัวยังไง

7. การวิวัฒนาการของโลกการเงิน

– โลกการเงินอัพเดทครั้งล่าสุดคือ ศตวรรษที่ 19 กับการที่เอาระบบของทองคำมาใช้แทนระบบ bimetallic standard ซึ่งมีโลหะหลายประเภททำเป็นเหรียญ กลายเป็น true gold standard โดยที่เอาทองคำฝากไว้กับตัวกลาง แล้วให้ตัวกลางแลกเปลี่ยนตัวเลขทางบัญชี เกิดเป็นระบบธนาคารกลางขึ้นในศตวรรษที่ 19 แล้ว จากนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีวิวัฒนาการจนในที่สุดทองคำก็ค่อยๆ หายไป จนกลายเป็นระบบของธนาคารกลางโดยสมบูรณ์

– เป็นสถานการณ์ที่ประหลาดมาก เพราะถ้าเราเข้าใจในเชิง marketing dynamic สกุลเงินเป็นสิ่งที่พิเศษอยู่อย่างนึงคือ ทุกครั้งที่มีการแข่งขันว่าอะไรจะเป็นเงิน มันจะมีผู้ชนะอย่างเดียว ถ้าสมมุติว่าเราต้องเลือกระหว่างเกลือกับทองคำอะไรจะเป็นเงิน ถ้าทองคำชนะ ไม่ได้แปลว่าจะมีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ใช้เกลืออยู่ เกลือในฐานะของเงินก็จะเสื่อมหายไปเลย จนทองคำกลายเป็นเงินของสังคม เพราะว่าผู้ชนะจะเกิด network effect แล้วผู้คนจะอยากเก็บมูลค่าในเงินประเภทนั้น

– มันมีความสำคัญมากๆ ในเรื่องของกลไกตลาด เพราะการที่เรามีเงินสกุลเดียวทำให้เราสามารถตั้งราคาสินค้าได้ โดยไม่ต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนเต็มไปหมด การที่เราไม่มีสกุลเงินเดียว ทำให้เราต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสินค้า เช่น ไก่ขานึงอาจจะเท่ากับข้าวครึ่งกระสอบ แต่ข้าวหนึ่งกระสอบแลกปลาได้สิบตัว มันจะมีอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างคู่สินค้าเต็มไปหมด จนระบบตลาดมันทำงานไม่ได้ แต่ในปัจจุบันมันกลับดันเป็นอย่างนั้น เรามีสกุลเงินเป็นร้อยๆ สกุล ซี่งมีอัตราแลกเปลี่ยน free float กันระหว่างสกุล จนทำให้เกิดปัญหาเพราะ ถ้าเรามีเงินหลายประเภทในสังคมเดียวกัน มันจะทำให้ตลาดในสังคมนั้นไม่เกิด พอตลาดไม่เกิด สังคมก็ไม่สามารถพัฒนาได้ เพราะมันไม่สามารถเกิดสิ่งที่เรียกว่า specialization ของ labor ไม่สามารถเกิดการเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ เนื่องจากว่าการแลกเปลี่ยนสินค้ามันยาก อัตราแลกเปลี่ยนมันเต็มไปหมดเลย คนก็จะพยายามไปทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อใช้ในการมีชีวิตรอดแทน แล้วกลายเป็นว่าคนก็จะใช้เวลาทั้งหมดในการออกล่าสัตว์ จับปลา หาอาหาร แล้วก็ไม่ได้มีการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมขึ้น สังคมนั้นในที่สุดก็จะล้าหลัง ไม่พัฒนา และจมปรักอยู่กับที่ แต่อันนี้เราหมายถึงสังคมนึงและตลาดนึงที่อาจจะใช้หลายสิ่งหลายอย่างเป็นเงินจนในที่สุดมันไม่มีอะไรเป็นเงิน แล้วก็อัตราแลกเปลี่ยนเต็มไปหมด

– ในปัจจุบันตอนนี้ในสังคม ในหนึ่งประเทศมีสกุลเงินเดียว เพราะฉะนั้นในตลาดของแต่ละประเทศ มันพอที่จะทำงานได้ พอที่จะเจริญเติบโตได้ แต่ปัญหาคือตลาดระหว่างประเทศดันไม่เป็นอย่างนั้น ตลาดระหว่างประเทศมีสกุลเงินระหว่างประเทศเยอะแยะเต็มไปหมด แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือกำแพงการทำการค้า การที่เราจะวางแผนเชิงเศรษฐกิจของธุรกิจเราในเวทีโลก คุณจะส่งออก นำเข้า มันจะมีปัจจัยเต็มไปหมดเลย ว่าเดี๋ยวสกุลนั้นขึ้น สกุลนี้ลง ประเทศนั้นปรับดอกเบี้ยขึ้น ปรับดอกเบี้ยลง คือเราต้องคอยเฝ้าดูปัจจัยเหล่านี้เต็มไปหมด จนกลายเป็นว่าผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถที่จะยืนบนเวทีโลกได้เลย คุณต้องเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เท่านั้น มองอีกแง่มุมนึงมันก็กลายเป็นกลไกในการกีดกั้นการแข่งขันจากรายย่อย ในเวทีโลก ทำให้มหาอำนาจของโลกสามารถที่จะครองอำนาจเอาไว้ได้

– นี่คือสิ่งนึงที่ทำไมบิตคอยน์พยายามที่จะสร้างเงินของโลก ให้เป็นสกุลกลางของโลก เพราะเขามองว่าในโลกนี้มันเป็นโลกยุคดิจิทัล มันเป็นโลกอินเทอร์เน็ตที่การติดต่อสื่อสารมันถึงกันหมดทั้งโลกแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องมีตลาดระดับโลก และมนุษยชาติจำเป็นที่จะต้องก้าวจากจุดตรงนี้ที่มันย่ำอยู่กับที่ เพราะมันไม่สามารถเกิดการค้าขายและตลาดระดับโลกที่ลงถึงระดับของรายย่อยได้ มันต้องเปลี่ยนไปได้แล้ว

– เคยมีการประชุมสมัยก่อนที่พยายามจะสร้างสกุลเงินกลางของโลกที่ทุกคนอยากจะโหวตให้ใช้ทองคำกลับมา แต่สหรัฐอเมริกายืนกรานบอกให้ US Dollar เป็น base เพราะตอนนั้นสหรัฐอเมริกาเพิ่งชนะสงครามโลกมา ตอนนี้สกุลเงินของโลกคือ US Dollar คุม และมีการพยายามรักษาระดับของตลาดที่เป็นอัตราสกุลเงิน free float ระหว่างกัน ในแง่หนึ่งเพื่อรักษาดุลอำนาจไว้กับสหรัฐฯ แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนจาก US Dollar ไปเป็นอย่างอื่นจะเปลี่ยนเป็นอะไรดี เป็นจีน เป็นรัสเซีย ไม่น่าไหว เป็นเผด็จการทั้งคู่ หรือจะเปลี่ยนไปเป็นยุโรป ยุโรปเอาตัวเองยังไม่รอดเลย เพราะฉะนั้นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีคือ เปลี่ยนไปเป็นเงินที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เหมือนกับสมัยที่อัตราการผลิตทองคำถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และระบบเศรษฐกิจจำเป็นที่ต้องวิวัฒนาการรอบๆ อัตราการผลิตของทองคำ ไม่ใช่เป็นตัวการกำหนดอัตราการผลิต

8. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับ Bitcoin

– 3-4 ปีที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับบิตคอยน์มา เพื่ออยากให้ทุกคนได้รู้จักและเข้าใจว่าบิตคอยน์คืออะไร เพราะผมเห็นโปรเจค scam มากมาย อยากให้ทุกคนมีภูมิต้านทาน อยากให้เข้าใจว่าการเก็บเงินมันสำคัญขนาดไหน แล้วทำไมบิตคอยน์ถึงอาจจะเป็นคำตอบอันนึงที่น่าสนใจ แล้วถ้าเรารู้จัก เราเข้าใจแล้วเราพิจารณาว่าเราอยากจะให้โอกาสมัน ก็ค่อยเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษาว่าเราจะดูแลรักษาและเก็บมันให้ได้ปลอดภัยได้อย่างไร

– มันเป็นเทคโนโลยีใหม่ต้องใช้ความรู้สูง ความรู้เป็นสิ่งที่ใครก็ได้ที่สามารถจะศึกษาได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม มันไม่มีอะไรมากีดกั้นความสามารถในการหาความรู้ เพราะฉะนั้นอยากให้ขวนขวายเข้าไว้ ผมก็จะพยายามที่จะเผยแพร่ความรู้ให้มากที่สุด แล้วเราก็จะสามารถไปเจอกันได้ในช่อง CDC ChalokeDotCom ซึ่งเราเริ่มต้นจากการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุน ตอนหลังผมก็เริ่มพูดเรื่องบิตคอยน์อย่างเดียวมากขึ้น มีรายการสดทุกวันอังคาร คุณพ่อก็จะมีรายการเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นตลาดต่างๆ อัพโหลดขึ้นรายสัปดาห์ด้วยเช่นเดียวกัน


รายละเอียด

Date: 9 July 2021 (21:00-22:40)

Speaker: อ.ตั๊ม พิริยะ สัมพันธารักษ์ – Managing Director at ChalokeDotCom

Moderator: พี พนิต (วันนี้สรุป..มา)


#ClubhouseTH #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #Bitcoin #บิตคอยน์ #Piriya #ChalokeDotcom #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา