แชร์ประสบการณ์ อยากเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน ต้องทำอย่างไรบ้าง?

นักเรียนแลกเปลี่ยน

สารบัญ

1. นักเรียนแลกเปลี่ยนคืออะไร

[คุณป๊อบ]
นักเรียนแลกเปลี่ยน เกิดจากสองคำคือ นักเรียน = คนที่ศึกษาเล่าเรียน แลกเปลี่ยน = แลกเปลี่ยนทั้งวัฒธรรม ภาษา

นักเรียนแลกเปลี่ยน = การไปเรียนโรงเรียนในต่างประเทศพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภาษา

[คุณณัฐฯ]
– คือการที่ไปแลกเปลี่ยนในช่วงมัธยม การแลกเปลี่ยนอาจจะไม่ได้จำกัดแค่วัฒนธรรม ภาษา แต่คือทุกอย่างในการที่เราไปใช้ชีวิตอยู่อีกประเทศนึงในเวลาเกือบหนึ่งปี ทั้งสำหรับตัวเราเองที่เจอสิ่งใหม่ๆ รวมถึงประเทศปลายทางก็เป็นการแลกเปลี่ยนสำหรับเขาด้วยเหมือนกัน การที่เราเข้าไปเรียนในคลาสเขา เขาก็ได้เรียนรู้เกี่ยวประเทศเราด้วย

2. เงื่อนไขในการไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน

[คุณณัฐฯ]
– ส่วนใหญ่เป็นระดับมัธยมปลาย high school year program ช่วง ม. 4 – 6 อาจจะไปเรียนชั้นเดียวที่เท่ากันหรือต่ำกว่า เพราะระบบการศึกษาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน อาจจะมีการปรับเพื่อให้เข้ากับตัวนักเรียนแลกเปลี่ยนให้ได้ดีที่สุด

– ส่วนใหญ่เราจะได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาลของประเทศนั้นๆ อาจจะมีโปรแกรมพิเศษบ้าง แต่อันนั้นเป็นอีกกรณีนึง

3. ต้นกำเนิดของนักเรียนแลกเปลี่ยน

[คุณป๊อบ]
นักเรียนแลกเปลี่ยนก็มีหลายโครงการ แต่จุดกำเนิดน่าจะมาจากลักษณะคล้ายๆ กัน อย่างโครงการ YFU เกิดมาจากช่วงสมัยหลังสงครามโลก โดยผู้ก่อตั้งอยากให้โลกมีสันติภาพ ไม่มีสงคราม ให้คนหลายๆ ประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน จึงจะต้องมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รู้เขารู้เรา โดยที่อาจจะเริ่มต้นจากเด็กก่อน เพราะเด็กวันนี้ก็คือผู้ใหญ่ในวันหน้า จึงเกิดมาเป็นการส่งนักเรียนข้ามประเทศกันเพื่อให้เขาเข้าใจในวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ จะได้มีความเข้าใจกันมากขึ้น

– นักเรียนแลกเปลี่ยนกลุ่มแรกก็คือระหว่างประเทศเยอรมันกับสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้ประเทศส่วนใหญ่ที่เด็กไทยไปมากที่สุดก็คือสองประเทศนี้ด้วย

4. ทำไมนักเรียนแลกเปลี่ยนถึงสำคัญ

[คุณณัฐฯ]

4.1 ในแง่ของสังคม

– วัตถุประสงค์แรกเริ่มของนักเรียนแลกเปลี่ยนคือ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ การมีนักเรียนแลกเปลี่ยนคนนึงช่วยให้แต่ละชาติเข้าใจกันมากขึ้น อย่างผมอยู่ไทยมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งวันนึงผมไปแลกเปลี่ยนที่เอสโตเนีย คือทุกอย่างมันใหม่หมด และเราก็ใหม่สำหรับเขาด้วย เพราะไม่ได้มีคนเอเชียอยู่ในเมืองนั้นเลย ทำให้เขาก็เข้าใจเรามากขึ้น และมันไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ช่วงที่เราไปแลกเปลี่ยน ในระยะเวลาหนึ่งปีมันเกิดอะไรหลายๆ อย่าง มีความสัมพันธ์เกิดขึ้น พอเรากลับมา เราก็ยังพูดคุยกับคนทางฝั่งนั้นอยู่ ขณะเดียวกันเมื่อเรากลับมา เราก็มีการพูดคุยให้เพื่อน ให้ครอบครัวของเราได้เข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประเทศที่เราไปแลกเปลี่ยนด้วย เพราะฉะนั้นยิ่งเรามีนักเรียนแลกเปลี่ยนเยอะมันก็จะเป็นเน็ตเวิร์กที่ค่อนข้างจะแข็งแรงและทำให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น

4.2 ในแง่ของตัวเอง

– เป็นประสบการณ์ที่เราไม่สามารถหาที่ไทยได้ เราไปเรียนรู้สิ่งที่ประเทศที่เราไปแลกเปลี่ยนและเราก็สามารถนำกลับมาประยุกต์ใช้ได้ ด้วยความที่เป็นช่วงนักเรียนมัธยม พอเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ รวมถึงไปใช้ชีวิตโดยที่เราไม่ได้อยู่กับครอบครัวหรือคุณพ่อคุณแม่ ยิ่งทำให้เราเรียนรู้ที่จะเอาชีวิตรอดด้วยตัวเอง ถึงเราจะไปอยู่กับโฮสแฟมิลี่ แต่เราก็ต้องปรับพฤติกรรมให้เข้ากับเขา เราจะมีสกิลการปรับตัวได้เพิ่มขึ้น และเมื่อเราเรียนรู้การปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ ทำให้เราสามารถปรับตัวในเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น การเข้ามหาวิทยาลัย หรือการเข้าทำงาน เพราะเราเคยผ่านการฝึกฝนมาแล้ว

4.3 เป็นตัวแทนของประเทศ

[คุณป๊อบ]
– ในปัจจุบันที่การเดินทาง การสื่อสารไร้พรมแดน เราไม่ได้เป็นแค่ country citizen แล้ว แต่เราเป็น global citizen การเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเหมือนเป็นทูตเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ การที่เราไปอยู่ในประเทศที่ไม่รู้จักเรามาก่อน อะไรที่เราทำหรือพูดมันจะเป็นภาพให้ประเทศเราเลย ถ้าเราทำพฤติกรรมยังไง เขาก็จะคิดว่าประเทศเราเป็นแบบนั้นเลย

5. เรียนภาษาก่อนไปเรียนแลกเปลี่ยนจำเป็นไหม

[คุณป๊อบ]
– เราไปเม็กซิโกใช้ภาษาสเปน มีเรียนการออกเสียง การนับเลข แกรมม่าพื้นฐาน แต่พอไปถึงเหมือนต้องเริ่มต้นใหม่หมด เพราะที่เรียนมาถือว่าน้อยนิด แต่ก็ช่วยให้ไม่ช็อกมากตอนไปครั้งแรก

[คุณณัฐฯ]
– จริงๆ อยากเรียน แต่ภาษาเอสโตเนียหาเรียนไม่ได้เลย แค่ข้อมูลของประเทศในอินเทอร์เน็ตที่เป็นภาษาไทยยังแทบไม่มี แถมภาษาเอสโตเนียเป็นหนึ่งในภาษาที่ยากอันดับต้นๆ ด้วย ถือว่าเป็นปัญหาเหมือนกันสำหรับตอนไปแรกๆ แต่เอสโตเนียเป็นประเทศที่คนอ่านออกเขียนได้เกือบ 100% คนรุ่นใหม่ๆ ก็พูดภาษาอังกฤษค่อนข้างได้ เดือนแรกก็อาศัยให้เพื่อนช่วยแปล

– จริงๆ ภาษาเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำให้เราสามารถสื่อสารความต้องการได้ ยิ่งเราได้ภาษาเร็วก็ยิ่งดีสำหรับคนที่คิดจะไปแลกเปลี่ยน ทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น มีความสุขได้เร็วขึ้น

6. ใครที่เหมาะกับการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน

[คุณป๊อบ]
– อย่างแรก ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องมีใจ

– สองคือมีความกล้า ความมั่นใจในระดับหนึ่ง เราอาจจะถูกเลี้ยงมาด้วยกลัวการไม่กล้าพูดภาษาต่างประเทศ ถ้าเราไปแล้วไม่มีความกล้าที่จะคุย ก็จะทำให้ใช้ชีวิตยาก

-สามคือภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ การสอบเข้าทุกโครงการต้องใช้ภาษาอังกฤษ ทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ สุดท้ายไปถึงต่างประเทศแล้ว แม้แต่สหรัฐอเมริกาที่เราเรียนภาษาอังกฤษมาโดยตลอดเรายังมีความไม่เข้าใจได้ในบางครั้ง แล้วยิ่งถ้าเป็นภาษาที่สาม บางประเทศก็ใช้มากกว่าหนึ่งภาษา

[คุณณัฐฯ]
– ทุกคนสามารถไปได้ถ้าพร้อม ซึ่งความพร้อมก็ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย เช่น สกิลในการเข้ากับคนอื่น การใช้ภาษา สมมุติไปประเทศภาษาที่สาม ภาษาอังกฤษก็อาจจะไม่ต้องเก่งมาก แต่อยู่ในระดับที่สามารถทำความเข้าใจ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจภาษาที่สามได้เร็วขึ้น สกิลที่ใช้มากที่สุดคือการพูดและฟัง เพราะเราได้ใช้ในชีวิตประจำวันแน่ๆ มากกว่าเขียน

– ความพร้อมในด้านของการเงิน ทั้งทุนของตัวนักเรียนเอง หรือบางโครงการจะมีทุนการศึกษาให้สำหรับนักเรียนที่มีความสามารถ

– ความพร้อมในเรื่องของความทะเยอทะยานที่จะอยากไป จะทำให้เราเตรียมตัวได้ดีที่สุด ตัวเราจะหาข้อมูลเยอะมาก

– หรือในบางกรณีก็มีที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ไป แต่ตัวนักเรียนไม่ได้อยากไป แต่สุดท้ายพอไปแล้วผ่านไปสองสามเดือนแฮปปี้มาก การวัดความพร้อมคือสิ่งที่ทำให้เรามั่นใจว่าเราไปได้ แต่ไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียว ยกเว้นถ้าเราไม่ได้อยากไปจริงๆ การสื่อสารให้เข้าใจถึงความพร้อมของทั้งตัวคนที่จะไปและพ่อแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ

– บางครั้งเราอาจจะคิดว่าการอยู่ไทยหนึ่งปีอาจจะไม่ได้มีอะไรเพิ่มขึ้นเยอะ แล้วทำไมเราไม่ลองไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอ ถ้ารู้สึกว่าเราคิดแบบนี้ อยากเจออะไรใหม่ๆ มากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียนที่โรงเรียนโดยปกติสามปีในชีวิตมัธยมปลาย ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่จะไปแลกเปลี่ยน

– ถ้ายังไม่มั่นใจก็อยากให้ลองสมัคร เพื่อที่จะได้เรียนรู้ เพราะหลายๆ โครงการหลังจากสมัครไปมันจะยังผ่านอีกหลายขั้นตอน ทั้งปฐมนิเทศ การเข้าค่ายเตรียมความพร้อม จะทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น สุดท้ายจะได้รู้ว่ามันใช่หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่ลองเริ่มดูเลย เราก็จะไม่รู้

7. ถ้าอยากเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนต้องทำยังไงบ้าง

[คุณป๊อบ]
*1. สมัครโครงการ: กรอกเอกสาร

*2. สอบข้อเขียน: เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ conversation

*3. สอบสัมภาษณ์: เป็นลักษณะเหมือนการพูดคุย ถามถึงประสบการณ์ หรือความคิด ที่เป็นเรื่องของอดีตที่ผ่านมา ดูทัศนคติ ดูความพร้อมว่ามีความคิดที่เหมาะสมสำหรับการไปแลกเปลี่ยนหรือเปล่า

*4. ประกาศผลและปฐมนิเทศ: ในระหว่างนี้ก็จะอาจจะมีการโยกย้ายประเทศสำหรับประเทศที่ยังมีโควต้าว่างอยู่

*5. เข้าค่ายเตรียมความพร้อม: อย่างโครงการ YFU ของเรา จะมีให้เข้าค่ายสองรอบ เป็นการให้เด็กได้มาเจอกันเอง และหัดปรับตัวในการเจอเพื่อนใหม่ๆ ในประเทศก่อน เซสชั่นที่สอนในค่ายก็จะเป็นการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในทุกด้านๆ ทั้งโฮสแฟมิลี่ โรงเรียน ภาษา การเดินทาง โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นช่วงเริ่มต้นในค่ายแรก และช่วงลงลึกในค่ายที่สองที่จะจัดตอนใกล้เดินทาง

– ขั้นตอนทั้งหมดก็จะใช้เวลาเกือบๆ หนึ่งปีพอดี ตั้งแต่เริ่มสมัครจนจะได้บิน เพราะฉะนั้นสมมุติถ้าเราสมัครตอนอยู่ ม. 5 เราก็จะได้ไปตอน ม. 6

– บางโครงการก็จะมีเรื่องของทุนการศึกษาให้ด้วย ขั้นตอนการสมัครก็อาจจะต่างกันนิดนึง มีการสอบเพิ่มมากขึ้นหลายรอบกว่าแบบธรรมดา แต่พอผ่านขั้นตอนนั้นมา ก็จะได้มาเข้าค่ายปกติเหมือนคนอื่นทั่วไป

[คุณณัฐฯ]
– จะมีเพิ่มเติม อย่างบางโครงการเช่นของ YFU เราจะมีค่ายหลังจากที่นักเรียนแลกเปลี่ยนได้เดินทางกลับมาแล้วด้วย เพื่อที่จะช่วยให้เราได้ปรับตัวกลับเข้าสู่วัฒนธรรมไทย เพราะเราไปใช้ชีวิตที่นู่น มาเกือบหนึ่งปี บางทีก็อาจจะเคยชินติดวัฒนธรรมบางอย่างที่นู่นมา ก็ถือว่าเหมือนเป็นการช่วยปรับตัวให้กลับสู่บ้านเรา ถือว่าเป็นการสิ้นสุดโครงการ แต่ประสบการณ์ที่ได้ก็จะยังอยู่และสามารถนำไปใช้อย่างอื่นต่อได้

8. การจับคู่เรากับ host family เป็นอย่างไร

[คุณป๊อบ]
– โฮสแฟมิลี่ของนักเรียนแลกเปลี่ยนหลายๆ โครงการจะเป็นลักษณะของอาสาสมัคร โดยไม่ได้รับเงินหรือจ่ายเงินให้โครงการ เหตุผลที่เขาอยากจะรับอาจจะเกิดจากหลายเหตุผล เช่น เขาอาจจะอยากฝึกลูกเขา ให้รู้จักการแบ่งปัน การมีพี่น้อง ได้ฝึกภาษา หรือคนที่ไม่มีลูกหลาน อาจจะเหงาก็อยากจะรับเด็กไปอยู่เป็นเพื่อน ซึ่งเขาจะต้องเลี้ยงดูเราเหมือนเป็นลูกจริงๆ เลย มีอาหารให้สามมื้อ พาออกไปข้างนอก ใช้ชีวิตอยู่กับเขา อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์

– ขั้นตอนก็คือโปรไฟล์ของเด็กทั่วโลกที่สมัครจะไปอยู่ที่ประเทศที่เด็กเลือก แล้วคนที่สนใจเป็นโฮสแฟมิลี่ก็จะสมัครเข้าไป ต้องมีการตรวจ criminal record ถ่ายรูปบ้าน ถ่ายรูปห้องนอน ระบุข้อมูลครอบครัว พอผ่าน เขาก็จะเอาโปรไฟล์เด็กไปให้โฮสเลือก คิดดูว่าการรับเด็กคนนึง เขาจะเห็นจากแค่รูปไม่กี่รูป กับข้อความที่เราเขียนไปในแอพพลิเคชั่นแค่นั้นเลย อาจจะดูจากไลฟ์สไตล์ หน้าตาถูกชะตา เขาเองก็เหมือนวัดดวง ว่าเด็กคนนั้นจะเข้ามาอยู่กับครอบครัวได้ไหม น่าจะทุกโครงการที่เราจะไม่สามารถเลือกโฮสได้ โฮสจะเป็นคนเลือกเรา เขาก็ต้องมีความเสี่ยงเหมือนกัน

9. แชร์ประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่เม็กซิโก

[คุณป๊อบ]
– เราไปเม็กซิโกและเป็นเด็กเอเชียคนเดียว เพื่อนที่เจอที่เป็นเด็กแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ก็จะเป็นเด็กยุโรป เราจะมีความคล้ายคนเม็กซิโกอยู่คือมีผิวคล้ำ ตอนเราไปคือไม่ได้เป็นจุดสนใจของเขาเลย คนก็นึกแค่ว่าเหมือนเรามาจากต่างจังหวัดแล้วเพิ่งย้ายมา ไปเดินกับ host mom เขาก็นึกว่าเป็นหลาน พอเราไปซื้อของเวลาพูดมาเร็วๆ เราก็จะบอกว่าเราฟังไม่รู้เรื่อง เขาก็จะงงว่าทำไมเราฟังภาษาสเปนไม่ได้ ที่โรงเรียนก็ไม่มีใครรู้เลยว่าเราเป็นคนไทย นอกจากเพื่อนในห้องเพราะเราต้องออกไปพรีเซนต์หน้าห้องว่าเราเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน จนเพื่อนในห้องเราไปบอกว่าเราเป็นเด็กมาจากประเทศไทยนะ เขาถึงจะแบบตื่นเต้น มาสนใจเข้ามา ก็เป็นอะไรที่ไม่คิดว่าพอเราไปแล้วจะไม่ได้มีใครสนใจ เพราะเขาไม่ได้คิดว่าเราเป็นคนต่างชาติ

– เรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เหมือนกันมากๆ พืชพรรณธัญญาหารเหมือนกัน มีมะละกอ เรามีไปทำส้มตำให้คนที่นู่นกิน เขาก็เซอรไพร์มาก เพราะเขาไม่เคยมีมะละกอดิบมาก่อน หรืออย่างดอกอัญชัญที่นู่นก็มี แต่เขาเอาไว้ให้วัวกินเหมือนเป็นวัชพืช แต่เราก็เอามาบี๋กลายเป็นน้ำผสมแป้ง กลายเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับที่นู่น

– แต่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงคือเรื่องของภาษาและวัฒนธรรม เขาเป็นคนเฟรนด์ลี่จะ open มาก จนเราสามารถพูดตรงๆ กับเขาได้ว่าสิ่งไหนเราชอบหรือไม่ชอบ และเรื่อง touching เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คือกอดและหอมแก้มกันจริงจัง พอเด็กไทยไปแรกๆ ก็จะค่อนข้างช็อกพอสมควร ตอนแรกเราไปก็ตกใจและมองว่ามันแปลก แต่สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นความประทับใจ กับโฮส เรารู้สึกใกล้ชิดเขามาก เพราะเราสามารถกอดเขา หอมแก้มเขาได้ปกติ และทำให้เปลี่ยนเรา พอเรากลับมาไทยก็ยิ่งกอดหอมพ่อแม่มากกว่าเดิม

10. แชร์ประสบการณ์การไปแลกเปลี่ยนที่เอสโตเนีย

[คุณณัฐฯ]
– ประสบการณ์ผมจะตรงข้ามกับป๊อบหมดเลย เพราะผมไปยุโรปเหนือ ด้วยลักษณะหน้าตาเราก็แตกต่างกับคนที่นั่น และย้อนไปเมื่อสิบปีที่แล้ว เราแทบจะเป็นคนเอเชียคนเดียวในโซนนั้นเลย พอไปเขาก็จะรู้ชัดเลยว่าเราไม่ใช่คนเอสโตเนีย ทุกคนจะสนใจและพยายามเข้าหาเรา ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือเขาจะคิดไปก่อนเลยว่าเราพูดเอสโตเนียไม่ได้ ก็จะพูดภาษาอังกฤษใส่เราก่อน ทำให้เราฝึกได้ช้าลง

– ที่เอสโตเนียคือหาของอะไรแบบที่มีในไทยไม่ได้เลย เวลาเจออะไรก็แปลกใหม่ เราก็จะถามไปซะทุกอย่าง อย่างมารยาทบนโต๊ะอาหารของเอสโตเนียคือเวลากินอะไรก็จะกินร่วมกัน เขาก็จะถามเป็นมารยาทว่าเอาไหม แรกๆ เราก็ไม่รู้ก็จะปฏิเสธเขา

– มีประสบการณ์ไปทะเลของเขาคือ 20 องศาก่อนเข้าหน้าหนาว ซึ่งสำหรับของเขาคือถือว่าอุ่น แต่เราไปคือหนาวมากๆ แต่พออยู่ไปสักพักถึงเข้าใจว่าที่เขาว่าอุ่น เพราะหน้าหนาวของเขาอุณหภูมิสามารถลงไป -30 องศาได้ ฤดูหนาวคือมืดเกือบทั้งวันแทบไม่เห็นแสง ช่วงฤดูร้อนก็คือกลางวันยาวนาน เช้าไวมาก เป็นปีที่ช่างแตกต่างตั้งแต่ตื่นยันนอน

11. หลังจากไปแลกเปลี่ยนแล้วทำให้เราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง [คุณป๊อบ]

[คุณป๊อบ]
– มันเปลี่ยนชีวิตของเราไปทั้งหมดเลย เชื่อว่าเรามีทุกวันนี้ได้เพราะการไปแลกเปลี่ยน ทั้งเรื่องบุคลิกความมั่นใจ แม้แต่เรื่องการงาน ทำให้เราเป็นคนมั่นใจขึ้น เปิดเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ใจกว้าง สามารถเข้ากับคนได้ทุกสถานการณ์ เพราะการไปแลกเปลี่ยนมันคือจุดที่ยากสุดแล้วเพราะเราต้องไปเจอคนต่างชาติ ต่อไปการเข้ามหาลัยหรือการทำงาน เราก็สามารถปรับตัวได้หมด หลายๆ ครั้งที่เรามีปัญหาในชีวิตเราก็จะนึกย้อนกลับไปตอนแลกเปลี่ยนว่าเรายังผ่านมันมาได้เลย

– อีกอย่างที่ประทับใจมากๆ คือความสัมพันธ์ ทุกวันนี้ทั้งโฮสกับเพื่อนที่นั่นเรายังติดต่อกันเหมือนเดิม คิดดูเหมือนวันหนึ่งเราได้มีแม่อีกคนอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง และเขาก็มองเราเป็นลูกและรักเราจริงๆ

12. หลังจากไปแลกเปลี่ยนแล้วทำให้เราเปลี่ยนไปยังไงบ้าง [คุณณัฐฯ]

[คุณณัฐฯ]
– เราได้ไปเรียนกับอีกระบบการศึกษานึง กับหลักสูตรต่างๆ ที่มันแปลกใหม่ จะทำให้เราคุ้นชินกับการเรียนรู้อีกแบบนึง ทำให้เมื่อเราเข้ามหาวิทยาลัย เราจะปรับตัวได้เร็วขึ้น และยิ่งคนที่คิดจะเรียนต่อในสายภาษาก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากและจะช่วยให้เราเรียนรู้ภาษาได้อย่างรวดเร็ว อย่างผมได้เรียนภาษาเอสโตเนียเพิ่ม เมื่อเราเรียนภาษาเพิ่มสัก 2-3 ภาษาเราจะเริ่มเห็นความเชื่อมโยง ทำให้เราพอเข้าใจเรื่องของ linguistics ไม่ใช่แค่ภาษาใดภาษาหนึ่งเท่านั้น ทำให้เราสามารถเรียนรู้ตรงนี้ได้ไวขึ้น

– พอเราเข้าทำงาน เราอยู่ใน international environment มาก่อนแล้ว และทุกวันนี้โลกก็ globalization เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำงานใน multi-national firm เราก็จะสามารถรับรู้และปรับตัวให้เข้ากับสังคมนั้นๆ ได้ไวและง่ายขึ้น มันเหมือนเป็นการเตรียมตัวกับสิ่งที่เจอในชีวิต แต่เป็นการเตรียมตัวที่ไวขึ้นและครบถ้วน เป็นประสบการณ์ที่ดี ที่เราสามารถมาปรับใช้กับชีวิตเราต่อไปได้

– ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือความพร้อมในการที่จะมีความมั่นใจในตัวเอง การที่เราสเต็ปออกจาก comfort zone ออกจากครอบครัวที่เราอยู่มาด้วยทั้งชีวิต มันเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิตต่อไป

13. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับนักเรียนแลกเปลี่ยน

[คุณณัฐฯ]
– ถ้ายังไม่มั่นใจอยากให้ลองปรึกษาครอบครัว หาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วถ้ามีความพร้อม ความมั่นใจ ก็สมัครเลย

[คุณป๊อบ]
– สำหรับน้องๆ ที่สนใจโครงการ YFU สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ YFU Thailand Office และก็มีเพจของสมาคมศิษย์เก่า YFU Alumni Council of Thailand เผื่อใครสนใจหรือมีคำถามเพิ่มเติมก็สามารถส่งไปสอบถามได้เลย


รายละเอียด

Date: 31 July 2021 (21:00-22:25)

Speaker:

– คุณณัฐฯ
อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ YFU Thailand ไปประเทศเอสโตเนีย (2007-2008)

– คุณป๊อบ
นายกสมาคม YFU Alumni Council of Thailand อดีตนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ YFU Thailand ไปประเทศเม็กซิโก (2010-2011)

Moderator: พี พนิต
เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา


#ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #ExchangeStudent #YFU #YFUThailand #YFUACT #นักเรียนแลกเปลี่ยน #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา