1. Ethereum คืออะไร
– Ethereum (ETH) คือ แพลตฟอร์มเปิดที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้อย่างเท่าเทียม ไม่ยึดติดอยู่แค่แอพพลิเคชั่นแค่เงินหรือทองคำดิจิทัลอย่างเดียว เป็นพื้นที่เปิดให้ใครก็ได้สามารถสร้างแอพพลิเคชั่น เหมือน app store จะเป็นการปล่อยกู้ เกม โซเชี่ยลมีเดีย มันเลยถูกเรียกว่าเป็น “World Computer”
– ขอย้อนกลับที่ Bitcoin ที่วางตัวเองเป็น digital gold หรือ hard money ที่อยู่ในโลกดิจิทัล เป็นระบบการเงินที่กระจายศูนย์ ไม่มีตัวกลาง ใครก็สามารถเข้าไปใช้ได้ ทำให้เรามีอำนาจอธิปไตยทางการเงิน ไม่สามารถมีใครยึดไปได้ ถูกสร้างขึ้นมาโดยที่จะไม่มีการเปลี่ยนกลไกทางด้าน economic มี supply จำกัด คล้ายๆ กับทองที่เราไม่สามารถสร้างเพิ่มเองได้
– โดยสิ่งที่สร้างบน Ethereum ข้อมูลทั้งหมดจะถูก protect และ secure ด้วยระบบกระจายศูนย์ โดยการที่แอพพลิเคชั่นที่อยู่บนนั้นก็จะมีการใช้งาน จ่ายเป็นค่า fee กับตัว app store ที่เป็นฐาน
– เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนเราคิดค้นเครื่องยนต์ขึ้นมา ให้คนดัดแปลงเอาไปสร้างรถ เรือ หรือเครื่องบิน แต่เครื่องยนต์ต้องทำงานด้วยน้ำมันชนิดเดียวที่เรียกว่า Ethereum เขาถึงเรียกกันว่า gas fee
2. ประวัติของ Ethereum ในยุคต่างๆ
2.1 จุดกำเนิดของ Ethereum
– Ethereum ถูกสร้างขึ้นหลัง Bitcoin โดยคนที่ชื่อว่า Vitalik Buterin ที่มีความเชื่อมั่นกับ Bitcoin แต่มองว่ามันควรจะมีแอพพลิเคชั่นที่มากกว่าแค่เงินที่โอนไปมา ซึ่งตอนแรกเขาก็อยากจะไปทำบน Bitcoin แต่เหมือนฟีดแบคที่เขาได้รับจากทางคอมมูนิตี้ ว่ามันไม่ใช่โฟกัสของทาง Bitcoin เขาก็เลยคิดว่าเขาต้องคิดระบบขึ้นมาใหม่
– การสร้าง world computer อาจจะมี economic ที่ต่างจาก Bitcoin ซึ่งไม่ค่อย flexible เท่าไหร่ เพราะต้องการเป็นเงินที่แข็งแกร่ง เขาก็เลยมีโจทย์ตรงนี้และสร้างเป็น Ethereum ขึ้นมา
– คำว่า smart contract เป็นคำที่มาใหม่ สมัยแรกๆ มีการเรียกว่า financial contract ก่อนด้วยซ้ำ สมมุติทำเป็น contract ง่ายๆ แค่เอาเงินสกุลนึงมาแลกเป็นอีกสกุลได้ เป็น contract ที่สถาบันการเงินมีการทำได้อยู่แล้ว แต่เขาเป็นตัวกลาง ถ้าทำอันนี้สำเร็จ คนก็มาสร้างระบบบนแพลตฟอร์มได้ และสามารถตัดตัวกลางด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า smart contract ทำให้เราสามารถ excute financial contract ได้ นี่คือจุดเริ่มต้น
2.2 ใช้ทำ ICO เพื่อการระดมทุน (2017)
– ช่วงแรกก็มีคนโจมตีเยอะมากว่ามันจะไม่เวิร์ค โดยเฉพาะในปี 2017 เป็นจุดที่พีคมากๆ ของ Ethereum แต่ก็เป็นจุดที่โดนต่อว่ามากเช่นกัน เพราะเรื่อง ICO (Initial Coin Offering) คือการระดมทุนผ่านทาง token digital ซึ่งได้รับความนิยมมากๆ บน contract ของ Ethereum
– การ ICO สามารถทำได้ง่ายมาก สมมุติเราโอนเงินให้เขา เขาจะโอนเหรียญกลับมาให้เลยโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นมันทำให้การระดมทุนมันไร้พรมแดน ไม่ต้องผ่านตัวกลาง และรวดเร็วมาก ช่วงปี 2017-2018 มีการระดมทุนได้ไปประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์ผ่าน ICO แต่โปรเจคที่สำเร็จจากการระดมทุนนี้มีน้อยมากๆ กว่า 90% ตายหมดเลย ซึ่งคนก็เลยบอกว่า Ethereum use case ก็ให้แค่คนมาระดมทุน แล้วก็ไป scam ต่อ เพราะภาพมันเป็นว่าคนใช้ Ethereum ระดมทุนแล้ว แต่ไม่เห็นมีการสร้างแอพพลิเคชั่นบน Ethereum อะไรต่อ แล้วพอตลาดขาลงทุกโปรเจคก็พังกันไปหมด
– เหมือนการ IPO โดยไม่ได้มีการ regulate พอตลาดขาขึ้น ICO ก็ทำให้คนที่โลภจากการลงทุนกระโดดเข้าไป โปรเจคส่วนใหญ่ยังไม่มีอะไรเลย มีแต่สิ่งที่เรียกว่า white paper ว่าอยากจะทำอะไรแล้วก็ระดมทุน ทำให้คนเข็ดกันไปเยอะช่วงนั้น
– หลังจากตลาดลงทุกคนก็คิดว่ามันคงจบแล้ว ไม่มีอะไรที่ทำบน Ethereum แล้วใช้ได้จริง แต่บางโปรเจคที่ระดมทุนไปได้ ในหัวของนักพัฒนาเขามีแพสชั่นที่จะพัฒนาแอพพลิเคชั่นระบบกระจายศูนย์อยู่แล้ว สิ่งที่เขาทำก็คือช่วงตลาดขาลงก็ไม่กระทบเขา เพราะเขาได้เงินไปแล้ว เขาก็จ้าง developer ทำตามความฝันเขา ทำไปเรื่อยๆ
2.3 มีการเกิดขึ้นของ DeFi (2019)
– จนถึงจุดนึง ปลายปี 2019 มีกระแสของสิ่งที่เรียกว่า DeFi (Decentralized Finance) เข้ามา คำนี้เกิดขึ้นมา เพราะมีคนเริ่มเห็น potential ว่ามันมีแอพพลิเคชั่นที่เราใช้ได้จริงและสามารถตัดตัวกลางได้ เงินที่อยู่ในระบบ DeFi หรือเงินที่ปล่อยกู้หรือวางเพื่อให้คนแลกเปลี่ยนไปมา ช่วงสิ้นปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านดอลลาร์ พอปี 2020 อยู่ที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ตอนต้นปี แต่ตอนต้นปี 2021 แค่เดือนมีนาคมขึ้นไปถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ อันนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนกล้าวางเงินอยู่ในโค้ดที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของบริษัท แต่เป็นโค้ดที่เราอ่านกันเอง แล้วมันทำงานตามที่มันควรจะทำ
– Volume ของการแลกเปลี่ยน ไม่รวม lending อยู่ที่ประมาณ 50,000 ล้านได้ เป็น volume ที่สามารถแข่งกับ exchange ใหญ่ๆ ได้เลย อย่าง Uniswap ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มตัวนึง สามารถเก็บค่า fee วันที่พีคๆ อยู่ที่ 7 ล้านดอลลาร์ต่อวัน เป็นสิ่งที่ทำ Ethereum กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งนึง เพราะมันเริ่มมีแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได้จริง
– เมื่อก่อนคนบอกว่าการระดมทุนไปไม่เวิร์ค แต่ตอนนี้มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการระดมทุนแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับการสร้างแอพพลิเคชั่นที่สามารถดึงดูดผู้ใช้ให้ไปใช้ได้จริงๆ ถ้านับค่า fee ที่ Ethereum เก็บได้จะอยู่ที่ 12 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งมันก็จะมีขึ้นลง แต่นี่แสดงให้เห็นว่ามันสามารถจับต้องได้จริงๆ อย่าง Bitcoin fee อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งคงที่มานานแล้วเพราะ Bitcoin เป็นเน็ตเวิร์กที่คนไม่ได้เน้นโอนขนาดนั้น use case ส่วนใหญ่คือการถือ แต่ Ethereum เป็นแพลตฟอร์มที่คนยิ่งใช้งานเท่าไหร่ ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น
2.4 มีการออกเหรีญ Governance Token (2020)
– DeFi บูมขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2020 ที่ตลาดยังเป็นขาลง ด้วยมีแพลตฟอร์มนึงที่เป็นแพลตฟอร์มปล่อยกู้ที่ชื่อว่า Compound มีไอเดียที่เรียกว่า yield farming หรือ liqudity mining โดยการที่จะหาคนมาปล่อยกู้ การแบ่งแค่ค่า Fee หรือผลประโยชน์
ธรรมดาอาจจะไม่พอ เขาเลยสร้างเหรียญ Compound ขึ้นมา ที่เป็นเหรียญ governance token คล้ายๆ กับหุ้นส่วนของเขา ใครที่มีเหรียญนี้สามารถโหวตได้ อาจจะมีสิทธิได้รับปันผลในอนาคตเหมือนบริษัท ซึ่งถ้าใครเอาเงินมาวางเขาจะแจกเหรียญบริษัทนี้ให้ตามสัดส่วนที่คุณวาง เป็น incentive ให้คนที่ไปวางนอกจากจะได้ดอกเบี้ยแล้วยังได้หุ้นด้วย ฝั่งกู้ปกติเขากู้ไปแล้วเสียดอก ปรากฏเอาดอกไปหักลบกับเหรียญที่ได้มา อาจจะเหมือนกู้ฟรีๆ เลย เขาก็เลยมากู้กันเยอะ
– การออกเหรียญเพิ่มให้คนที่เอาเงินมาวาง ถ้าคนมองว่าบริษัทเรามีอนาคต ก็จะมีคนที่หวังจะเก็งกำไรโดยการทยอยซื้อเหรียญ แพลตฟอร์มอื่นๆ ก็มีการทำตามกันเยอะ โดยการออกเหรียญ governance token ซึ่งบางอันก็ดี บางอันก็ไม่ดี บางอันแค่โหวตได้ บางอันได้ปันผลด้วยก็มี
– พอเริ่มมีการปันผล คนก็จะเริ่มคำนวณเป็น PE ได้เหมือนบริษัท กลายเป็นจุดพลิกจากกลไกตรงนี้ที่ทำให้คนมีส่วนร่วมได้ผลตอบแทน คนเลยอยากเข้ามามีส่วนร่วม เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ DeFi บูม แม้ในขณะช่วงตลาดขาลง
– ยิ่งช่วงปลายปี 2020 ที่ Bitcoin กลับมาเป็นขาขึ้น ทำให้เงินไหลเข้ามาในตลาดเยอะมาก คนเริ่มเปลี่ยนจากการเทรดอย่างเดียว มาปล่อยกู้มากขึ้น แถมยังมี stable coin ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียเงินต้นอีกด้วย กลายเป็นว่าโลกคริปโตสมัยก่อน มีแต่ก็ซื้อขายเก็งกำไร พอตอนนี้เราขายเสร็จแล้วเราก็ยังจะมีอะไรทำต่อ ระหว่างรอตลาดลงก็สามารถเอาเงินไปพักที่ฟาร์มต่างๆ พวกที่ปล่อยกู้ ฝากไว้แล้วได้ปันผล และ incetive ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเทรดก็รอไป กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เงินเริ่มไม่ไหลออกจากคริปโต เมื่อก่อนเงินเข้าคริปโตพอตลาดพังก็ไหลออกนอกตลาดหมดเลย ตอนนี้พอเลิกเทรดตลาดขาลงก็ไม่จำเป็นต้องเอาออก ก็จะไปวางอยู่ตามแพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆ ทำให้คนไม่ออกไปจากตลาด
2.5 อธิบายเพิ่มเติมเรื่อง DeFi
– ธุรกิจสถาบันการเงินมีหลายอย่าง แต่ปกติเราจะเข้าไม่ถึง หรือต่อให้เราเข้าถึงเราจะได้เรทที่โดนตัวกลางตัดไป เช่น การปล่อยกู้ ตอนปล่อยกู้ดอกเบี้ยจะแพง แต่เอามาให้คนฝากนิดเดียว ถ้าเป็นโลก DeFi เราจะตัดตัวกลางไประดับนึง ตัวกลางอาจจะเก็บค่าดำเนินการนิดเดียว แต่สุดท้าย demand-supply มันจะทำให้ทั้งสองฝั่ง ได้ราคาที่ optimal กัน
– มีบริการอื่นๆ เช่น exchange ซึ่งปกติคนทั่วไปไม่สามารถทำได้เลย จะให้เราไปเปิดตลาดหลักทรัพย์หรือคริปโต exchange ก็ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่ลองคิดดู ถ้าเกิดสมมุติมีแพลตฟอร์มนึงเปิดตัว ถ้าเราจะไปแลกเหรียญเหมือน Super Rich แต่ถ้ามันไม่มีเงินให้เราแลก เราก็ไม่อยากจะไปใช้ มันเป็นปัญหาไก่และไข่ ดังนั้นเขาเลยต้องหาเงินจากไหนสักแห่งมาวางคู่เหรียญ สมมุติเช่นเป็นเงินบาทกับเงินดอลาร์ ธุรกิจถึงจะดำเนินต่อไปได้ เขาเลยบอกว่าสมมุติคุณมีเงินแล้วเอามาวางให้ แล้วมีคนมาแลก เขาจะแบ่งค่า fee ให้กับคนที่เอามาวาง เลยกลายเป็นกลไกที่ทำให้คนทั่วไปเข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจพวกนี้ ทำให้โลก DeFi มันโตเร็วขึ้นมากๆ
3. ทำไม Ethereum ถึงสำคัญ
– Ethereum เป็นเหมือนพื้นที่ใหม่สำหรับโลกการเงินในอนาคต Traditional Finance มันถูกสร้างมาหลายร้อยปี ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน วุ่นวายและใช้ตัวกลางเยอะ คนที่รับกรรมก็คือผู้ใช้ ตอนนี้โลกเราเป็นดิจิทัลแล้ว ทำไมจะต้องไปอยู่ในโลกแบบนั้นอีก ทุกอย่างมันถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยน
– Bitcoin เป็นตัวจุดประกายกับไอเดียที่ว่าเราไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง พอ Ethereum เกิดขึ้นมา จะเป็นตัวเปิดให้เกิด general use case เต็มไปหมด เราสามารถสร้างอะไรก็ได้อยู่บน Ethereum ซึ่งแอพพลิเคชั่นแรกๆ ก็คือเรื่องการเงิน ซึ่งคนมองว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เราก็ได้เห็นว่ามีเงินเป็นแสนล้านดอลลาร์ไหลเข้ามาในนี้ และมีการเชื่อมั่นในโค้ดว่าน่าเชื่อถือมากกว่าคนหรือบริษัท มุมมองตรงนี้จะมาเปลี่ยนโลกหรือแนวคิดว่า ถ้าต่อไป ต่อให้เราไม่รู้จักกัน แต่ตัวกลางของเราคือโค้ด เราก็ยังกล้าที่จะทำธุรกรรม เพราะถ้าเป็นตัวกลาง เราจะต้องไปนั่งดูว่าเป็นใคร อยู่มานานขนาดไหน บริษัทมั่นคงไหม จะผิดพลาดหรือเปล่า
– ถามว่าอะไรจะมาบ้าง เราเห็นชัดเจนเลยว่า DeFi มาแน่ๆ โลกการเงินน่าจะย้ายไปอยู่บนนั้น แม้แต่พวก Fiat หรือเงินจริง ก็ถูกทำให้เป็นอยู่ stable coin ไปอยู่บนโลก DeFi จะเป็นหุ้นหรือแม้แต่ที่ดิน คนก็อยากจะ tokenize มัน เพื่อที่จะสามารถไปอยู่บนนั้น ทำให้เราสามารถโอนได้ ซื้อขายได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำเอกสารให้วุ่นวาย สามารถซอยเป็นยิบย่อย สามารถไปนำเป็นค้ำเพื่อปล่อยกู้ จะมีความเป็นไปได้อย่างที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้เลย มีแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย การเงินต่อไป จะไปอยู่บนนั้น ยังไม่รวมเรื่องเกมหรืออะไรต่างๆ ที่เป็นกระแสกันในช่วงนี้
– สิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ Ethereum หรือแพลตฟอร์มพวกนี้ประสบความสำเร็จ มันคือการรวมตัวของนักพัฒนาทั่วโลกที่ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน แล้วคนกลุ่มนี้เมื่อก่อนอาจจะไม่มีโอกาส สมัยก่อนถ้าจะทำ startup ก็ต้องไปซิลิคอนวัลเลย์ ถ้าทำในประเทศก็อาจจะโดนจำกัด จะขยายไปประเทศอื่นก็ต้องมีขอใบอนุญาต ทุกอย่างติดขัด ไม่ดึงดูดคนที่อยากจะ innovate คนที่อยากจะพัฒนา เขาจะไปอยู่ในพื้นที่ที่เปิดให้เขาได้พัฒนาได้อย่างเต็มที่เหมือน sandbox ซิลิคอนวัลเลย์ก็เลยดึงดูด talent ไปตรงนั้น แต่ตอนนี้เหมือนกับเรามีสิ่งที่ใหญ่กว่าซิลิคอนวัลเลย์เป็นร้อยเท่า เป็นโลกที่ทุกคนสามารถโอนเงินให้กันได้ การที่ทีมเล็กๆ สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มและ launch ขึ้นไปวันแรก ไม่จำเป็นต้องเปิดตัวแค่ในประเทศ แต่เปิดตัวปุ๊บแล้วเป็น global platform ได้เลย ทำให้มีการพัฒนาที่เร็วมาก ตอนนี้เหมือนเป็น experimental stage ที่ทุกคนสามารถมาพัฒนา และคนเก่งๆ ก็เข้ามาเพราะเห็นโอกาส ที่จะได้ใช้ฝีมือได้เต็มที่
– ข้อดีคือ Ethereum คือมันจะเป็น fail experiment ก็ได้ เป็นพื้นที่ให้คนได้ลองของ พอได้ลองแล้วไม่เวิร์คก็จบไป ไปลองของใหม่ได้ อาจจะมีคนเสียหาย แต่ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ โลกมันหมุนต่อไป เราได้เรียนรู้จากบทเรียนตรงนั้น แพลตฟอร์มอย่าง Ethereum ที่เป็น general purpose จะทำให้เรามี innovation ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเยอะ
4. ข้อควรระวังเกี่ยวกับ Ethereum
– จริงๆ ข้อเสียที่สุดของนักลงทุนคือ ราคาร่วง เวลาที่ผมบอกว่ามันดี ผมพูดในมุมมองของระบบว่าดี ต่อให้ราคาลงไปแค่ไหน ระบบก็ไม่ได้พัง มันยังทำงาน คนยังใช้ทำธุรกรรม ทำแอพพลิเคชั่นบนนั้นได้
– แต่ในความเป็นจริงถ้าเราเป็นนักลงทุนยังไงก็ต้องเอา mindset นักลงทุนเข้ามาว่า มันน่าเข้าหรือเปล่า เหมือนกับหุ้น ที่เราคงไม่เพิ่งรู้จักแล้วเข้าเลย ต้องดูก่อนว่าหุ้นนี้ดีไหม ควรเข้าตอนไหน บางคนเพิ่งรู้จักตลาด เพิ่งเคยได้ยิน โดยเฉพาะในช่วงตลาดขาขึ้นสูงๆ คนจะได้ยินเรื่องพวกนี้เยอะมาก และกลุ่มนี้จะเข้ามาซื้อในราคาแพง เพราะเขาดันไปได้ยินในตอนนั้นพอดี แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นจุดที่น่าเข้า ใครที่เข้ามา อยากให้ศึกษาก่อนว่าเราเข้าใจและอินกับมันไหม อย่าไปลงทุนกับอะไรที่เราไม่เข้าใจ ของพวกนี้เป็นอะไรที่ใหม่และมีความเสี่ยง
– Bitcoin ได้พิสูจน์ตัวเองมาสักระยะหนึ่งแล้ว บริษัทหรือสถาบันใหญ่ๆ ถึงกล้าซื้อ แต่ Ethereum อายุมันน้อยกว่า จะมีอัพเกรดอะไรพวกนี้ด้วย เรารู้ไหมว่าหลังอัพเกรดจะเกิดอะไรขึ้น มันไม่มีใครรู้ อย่าง Ethereum 2.0 ก็ไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นการทำครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ดังนั้นความเสี่ยงของมันว่าถ้าระบบมันพังขึ้นมาจะเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่รู้ มีความเสี่ยงสูง เรากำลังเล่นกับเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ อยู่ ถ้าใครจะเอาแบบซื้อแล้วสบายใจ ยังอยู่ไปได้อีกสิบปี ผมยังมั่นใจอยู่แค่ Bitcoin อันเดียว มันเหมือนทองคือผ่านไปอีกกี่สิบปี มันก็ยังเป็นอย่างนั้น
– Ethereum เป็นเหรียญที่ดี มีอนาคตก็จริง แต่มันมีการปรับเปลี่ยนตลอด ถ้าเรามองว่า Ethereum เป็นบริษัท แล้วบริษัทกำลังไปในทิศทางที่ดี เพราะมันกำลังจะมีอัพเดทในอนาคตอันใกล้ ผมก็เหมือนคนซื้อหุ้น ถ้าเรามองว่าบริษัทกำลังไปในทิศทางที่ดี ผมก็สนใจและอยากจะถือมัน ถ้าวันนึงทิศทางมันเปลี่ยน ผมก็พร้อมที่จะขายมัน เพราะมันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด ไม่เหมือนกับ Bitcoin ที่ไม่เปลี่ยนแปลง เลยอยากจะให้ระวังว่าเราต้องติดตาม เวลาลงอะไรพวกนี้ โดยเฉพาะ DeFi มันมีการโหวตตลอดเวลาว่าจะ implement อะไร มีการโหวตว่าจะเปลี่ยนแปลงปันผล พวกการเปลี่ยนแปลงพวกนี้เราต้องดูดีๆ เพราะถ้าเราเป็นนักลงทุนแล้วเราถือลืม อยู่ดีๆ เขาไปเปลี่ยนแปลงในทิศทางไม่ดี คนเขาก็จะขายกันหมด ดังนั้นพวกนี้ก็ควรจะศึกษาอย่างใกล้ชิด
5. ข้อเสียของ Ethereum ในปัจจุบัน
– ค่า gas ที่ได้จะเอาไปจ่ายให้คนขุดคือ คนที่ทำงานเพื่อตรวจสอบ ช่วยรับรอง transaction ระบบ (เหมือนกับ Bitcoin) เป็นที่มาทำให้คนบอกว่า Ethereum ถือไปแล้วไม่ได้อะไร เพราะทุกอย่างจะถูกนำไปให้กับคนที่ขุด ซึ่งคนขุดไม่จำเป็นต้องถือ Ethereum เพราะเขาขุดได้มา และเขาก็ขายทิ้ง ทำให้ Ethereum ไม่น่าถือ
– กลไกของ Ethereum ในทางด้านของ inflation ถือว่าแย่มากๆ ณ ตอนนี้ เพราะ Etheruem ถูกเสกออกมาเป็น reward ให้กับคนที่ขุด เหมือนกับ Bitcoin แต่ Bitcoin มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ แต่ Ethereum คือไม่มีวันจบ แจกไปเรื่อยๆ เป็นข้อเสียด้าน economic มันไม่ใช่ข้อเสียในแง่ของระบบ แต่เป็นในมุมของนักลงทุน
– อีกเรื่องคือ Ethereum ไม่มีจำนวนจำกัด เป็นอีกจุดที่เป็นปัญหาของ Ethereum
6. การมาของ Ethereum 2.0 จะมีผลกระทบอะไรบ้าง
6.1 มีกลไกในการ deflation โดยนำส่วนนึงของ gas fee ไป burn
– อย่างแรกเลยคือ Ethereum ยังมีจำนวนไม่จำกัดเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เข้ามาอัพเกรด (เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564) คือเรื่อง gas fee จะมีส่วนนึงที่จะถูกนำไป burn หรือเผาทิ้ง เมื่อก่อน Ethereum มีแต่เพิ่มจำนวน fee ที่ได้ไป ไม่ได้ถูกเผาทิ้งเหมือนน้ำมัน แปลว่าจำนวนมันมีแต่มากขึ้นแค่เปลี่ยนมือ อันนี้คือข้อเสียที่คนเห็น เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Ethereum ที่จะมีกลไกที่เรียกว่า deflation ที่จะทำให้จำนวนมันลดลง ที่แม้แต่ Bitcoin เองก็ไม่มีตรงนี้ แต่ Bitcoin มีจำนวนจำกัด
6.2 Proof of Work -> Proof of Stake
– อัพเกรดที่เรียกว่า Ethereum 2.0 จะเป็นการอัพเกรดที่เปลี่ยนจาก proof of work คือการเอาคอมพิวเตอร์มาช่วยตรวจสอบระบบแล้วได้ผลตอบแทน เป็น proof of stake คือการเอา Ethereum ที่มีมา stake ไว้ และได้รับปันผลจากระบบการตรวจสอบ และยังได้ค่า fee จากระบบด้วย กลายเป็นเหมือนหุ้นของระบบเลย ที่จะได้รับการปันผลจากการถือ Ethereum
– พอรวมกันทั้งสองอย่างนี้ ทำให้ economic ของ Ethereum เปลี่ยนไป ซึ่งผมมองว่ามันจะเป็นทิศทางที่ดีและน่าสนใจ ทำให้มีคนพูดถึง Ethereum เยอะขึ้น ตัวที่ burn gas fee มีการอัพเกรดไปแล้ว แต่ตัว Ethereum 2.0 น่าจะใช้เวลาอีกนาน อาจจะสัก 1-2 ปี แต่อย่าลืมว่าการที่เราเป็นนักลงทุน ถ้าเรามองว่าเรามีราคาไหนที่ Ethereum มันเหมาะสมแล้ว เราอาจจะเข้าไปซื้อก็ได้ เพราะเรามองไปถึงในอนาคต
– ตอนนี้เริ่มมีการให้เอาเหรียญ Ethereum ไป stake ได้แล้ว แต่ยังจะถอนไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันมีคนที่เอาเหรียญไป stake ถึง 5% ของเหรียญทั้งหมด อันนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่คนมีต่อระบบ
7. เปรียบเทียบ Ethereum กับ Bitcoin
– ธรรมชาติของ Bitcoin คือมันไม่ต้องเปลี่ยนแล้ว มันถึงจุดที่สร้างความมั่นใจให้หลายๆ คนในฐานะ digital gold ได้แล้ว Ethereum ยังมีอะไรเปลี่ยนอีกเยอะ แล้วมุมมองยังใหม่ต่อทั้งสถาบันและบริษัทต่างๆ ผมมองว่าถ้าเขาจะซื้ออะไรเพิ่มที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล Ethereum คืออันถัดไป ซึ่งตอนนี้เขายังต้องศึกษาอยู่ เพราะเขาคงไม่ไปซื้ออะไรที่เขาไม่เข้าใจ และตอนนี้ Ethereum ถือไปอาจจะยังไม่ค่อยได้ benefit อะไร แต่ถ้า 2.0 สำเร็จ ผมมองว่าสถาบันการเงินและพวกบริษัทใหญ่ๆ น่าจะเริ่มซื้อเก็บ เพราะจะมองว่าเหมือนเขาซื้อหุ้นเก็บ แต่เป็นหุ้นของระบบ แล้วระบบนี้เป็นระบบที่ดี
– เป็นมุมมองที่น่าคิดว่า Ethereum ไม่เคยมีข่าวอะไรที่เป็นการต่อต้านกับรัฐบาลเลย มีความ friendly ที่ไม่ได้มีใครมาโจมตีเหมือน Bitcoin คือ Bitcoin มันสร้างมาเพื่อเป็นศัตรูของรัฐอยู่แล้ว เพราะว่าตามธรรมชาติของมันคือ เงินไม่ควรจะเป็นส่วนนึงของรัฐ คนควรจะมีอธิปไตยทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการ โดยเฉพาะอย่างรัฐบาลจีนที่พยายามจะแบน เพราะมันเป็นอะไรที่เขาไม่สามารถไปยึดได้ เป็นความเสี่ยงของรัฐบาล แต่ Ethereum ต่างกัน เพราะเขาวางตัวเองเป็นคอมพิวเตอร์ของโลก
8. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับ Ethereum
– ถ้าใครเป็นสายเทรด อาจจะให้คอยระวังกันหน่อย อยากให้ศึกษาให้ดีว่าเทรนด์อะไรกำลังจะมา เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะศึกษา เพราะตลาดมันยังคลุมเครืออยู่ และถ้าเราพร้อมก่อน ตอนตลาดขาขึ้นเราก็จะไม่ตกรถ
– Ethereum เป็นอะไรที่น่าศึกษาและ DeFi ก็เช่นกัน ข้อดีคือเราสามารถไปลองได้ ไม่ใช่ฟังอย่างเดียว แต่ต้องไปลองดูจะได้เห็นภาพและรู้ว่าเราจะชอบมันไหม tool ต่างๆ ในโลกนี้มีเยอะแยะเลยว่ามันได้รายได้เท่าไหร่ fee เท่าไหร่ volume เท่าไหร่ ข้อมูลพวกนี้มันโกหกไม่ได้ เพราะฉะนั้นลองไปหาดู เพื่อให้ตัวเองจะได้มั่นใจจริงๆ ก่อนลงทุน
– ถ้าอยากติดตามผมก็ตามได้ที่ทางเพจ Coinman และช่วงนี้ก็มีทำตัว Merkle Capital ที่เป็นเหมือนผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล กำลังขอใบอนุญาต ก็จะมีกอง DeFi ที่จะไปฟาร์มให้ มีคนจัดการให้ อย่างคุณคิม (Kim Defi Daddy) จะเป็นผู้จัดการเฉพาะเลยสำหรับกองนี้ ถ้าใครสนใจก็สามารถไปดูรายละเอียดกันได้
รายละเอียด
Date: 28 July 2021 (21:00-22:30)
Speaker:
คุณเอ อัครเดช เดี่ยวพานิช
– Chairman บริษัท Cryptomind
– CEO กองทุนทรัพย์สินดิจิทัล Merkle Capital
– เจ้าของเพจ Coinman
Moderator:
พี พนิต
– เจ้าของเพจ วันนี้สรุป..มา
ClubhouseTH #ทำไมถึงสำคัญ #Ethereum #CryptoMind #MerkleCapital #Coinman #Cryptocurrency #DeFi #todayinotetoevent #todayinoteto #วันนี้สรุปมา