การเมืองคืออะไร? พูดคุยกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

การเมือง

1. การเมืองคืออะไร

การเมือง คือ การทำงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ เป็นทั้งระบบ กติกา และหน้าที่ ในการบริหารจัดการประเทศและดูแลประชาชน

– ระบบของประเทศเราคือ ประชาธิปไตย มีสามอำนาจค้านกัน นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

– กติกาคือ รัฐธรรมมนูญ

– หน้าที่คือ คนที่อยู่ในการเมืองมีหน้าที่ที่จะตอบสนองโดยใช้กติกาและองค์กรที่มี ในการดูแลให้ประเทศชาติดีขึ้น ประชาชนมีความสุข

2. ทำไมการเมืองถึงสำคัญ

– เปรียบเสมือนบริษัทบริษัทหนึ่งก็ต้องมีผู้บริหารคือรัฐบาล มีบอร์ดคือรัฐสภา มีกฎระเบียบข้อบังคับก็เหมือนรัฐธรรมนูญ ต้องมีฝ่ายตรวจสอบ คณะกรรมการตรวจสอบผู้ปฏิบัติงาน มี CEO มีหัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนกต่างๆ

การเมืองสำคัญเพราะว่าการเมืองคือ ผู้ขับเคลื่อนประเทศแทนประชาชน เราปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การปกครองในโลกคือประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ระบบประชาธิปไตยคือระบบตัวแทน การที่ประชาชนเลือกตัวแทนเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ละคนก็จะต้องไปเลือกผู้ที่จะมาบริหาร โดยปกติพรรคการเมืองไหนชนะการเลือกตั้งจะเท่ากับว่าเป็นฉันทานุมัติว่าประชาชนไว้ใจมากที่สุด ก็รวบรวมเสียงรองลงมาเพื่อที่จะตั้งรัฐบาล และผู้ที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในสภาเพื่อตรวจสอบถ่วงดุลกัน อันนี้เป็นกลไกประชาธิปไตยที่ทั่วโลกได้ใช้ตามกฎสากล

– นอกเหนือจากพรรคที่ได้อันดับ 1 จะไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เลย ก็ต้องเป็นพรรคลำดับ 2 ตามกติกามารยาทก็จะรวบรวมเสียงขึ้นมาแทน ส่วนใหญ่ก็แข่งกันแบบนี้

– แต่บ้านเราเป็นระบบประชาธิปไตยที่อาจจะแตกต่างจากประเทศอื่น คือในปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญปี 60 เรามี ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แถมยังมีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว. ทำหน้าที่แทนประชาชนในการไปเลือกนายกรัฐมนตรี จริงๆ แล้ววุฒิสภาในหลายๆ ประเทศ ก็มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นทางตรงที่ประชาชนเลือก หรือทางอ้อมคือเลือกตามกลุ่มอาชีพ เลือกกันขึ้นมาแล้วก็มาโหวตอีกทีนึง เพื่อให้มาเป็นตัวแทนของแต่ละเซคเตอร์

– เจ็ดปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ไม่ว่าเราจะเก่งแค่ไหน แต่ถ้าเราอยู่ใน ecosystem ที่ไม่ดี ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย กำลังซื้อหดหาย การส่งออกมีปัญหา ทั้งผลกระทบจากการบริหารจัดการภายใน และผลกระทบจากการค้าระหว่างจีนและอเมริกา พอมาถึงโควิดเราคงเห็นว่าการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ มันส่งผลต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ

การเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้กำหนดทิศทางในการบริหารประเทศ กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโควิดหรือเศรษฐกิจ ถ้าการเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง เราเองที่เป็นประชาชนก็จะเดือดร้อน เพราะการเมืองไม่ดี

– การเมืองจึงมีความสำคัญกับทุกคน ไม่ว่าคุณจะเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าคุณอยู่ใน ecosystem ที่ไม่ดี ก็ทำให้เดินได้ไม่เต็มที่ การเมืองคือปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อเราเอง ตั้งแต่ชีวิต สุขภาพ ไปถึงเรื่องการทำมาหากิน สิทธิ การศึกษา การดูแลสภาพแวดล้อมของเมือง อากาศ น้ำท่วม

– ประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่ให้สิทธิประชาชนมากที่สุด ถ้าระบบไม่ผิดเพี้ยน ประชาชนจะเป็นคนควบคุม ecosystem นี้ได้ผ่านการใช้สิทธิเลือกตั้ง เป็นคนลงฉันทานุมัติว่าจะให้ใครมาบริหารประเทศ ใครเป็นฝ่ายตรวจสอบ และระบบก็จะตรวจสอบกันเอง ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาล มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ

– ถ้าการเมืองแข็งแรง พรรคการเมืองแข็งแรง ระบบตรวจสอบของประชาชนก็ควรจะต้องแข็งแรงด้วย จึงมีการตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อมาตรวจสอบและถ่วงดุลกับนักการเมืองเพื่อให้การเมืองแข็งแรง และระบบตรวจสอบก็ต้องแข็งแรงด้วย

– ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุด จะเห็นว่าประชาชนไม่สามารถที่จะมีอำนาจ มีสิทธิมีเสียง อำนาจนิยม เผด็จการกดทับในทุกเรื่อง ตั้งแต่การที่ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองที่จะมาบริหารประเทศ ก็ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ตัวระบบแทนที่พรรคที่ได้เสียงมากที่สุดจะได้จัดตั้งรัฐบาล ก็มี ส.ว. 250 คน มาใช้เสียงแทนประชาชนและมันก็บิดเบี้ยว

– สิทธิเรื่องอื่นๆ ถ้าเป็นพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะถือว่าทำผิดรัฐธรรมนูญหลายอย่าง เช่น สิทธิในการที่จะปกป้องตัวเองของประชาชน ว่ารัฐต้องจัดหาการป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นแค่ตัวอย่างนึง

– การเมืองเป็นสิ่งที่ถ้าเราไม่เข้าใจ มันก็จะกลับมาทำร้ายเรา ทั้งเรื่องของสุขภาพอนามัย ชีวิต เศรษฐกิจ

– ถ้าเปรียบเทียบการเมืองเป็นบริษัท เราก็เหมือนผู้ถือหุ้น เราต้องเลือกบอร์ดมาทำหน้าที่ตรวจสอบ จัดการผู้บริหาร เลือกผู้บริหารที่มีฝีมือ

3. การเมืองไทยในแต่ละยุคสมัย

– การที่จะศึกษาประวัติศาสตร์การเมือง ปัจจุบันมีทั้งหนังสือและออนไลน์ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ถ้าจะให้เล่าย่อๆ โดยช่วงหลังจะมีสามยุค

*1. ยุค 14 ตุลา จะคล้ายๆ กับยุคปัจจุบัน ที่เผด็จการครองอำนาจ มีการเลือกตั้ง แต่ก็ใช้อำนาจรัฐในการควบคุมการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่ได้ตอบสนองความต้องการของคน ในความทุกข์ร้อนของประชาชน มีการคอรัปชั่น และมีการเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษา

– ในช่วงนั้นเป็นยุคสงครามเย็นมีการต่อสู้กันระหว่างคอมมิวนิสต์ คือ รัสเซีย จีน กับประชาธิปไตย คือ อเมริกา ซึ่งสมรภูมิรบก็อยู่แถวบ้านเรา การแย่งชิงกัน ระหว่างที่จะเผยแพร่การปกครองของทั้งสองแบบ บางประเทศก็ต้องเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ เวียดนามก็มีแบ่งเป็นเหนือใต้ ปกครองคนละแบบ หรือแม้แต่เกาหลี ยุคนั้นสำหรับประเทศไทยก็มีความกดดัน ประชาชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียงเช่นเดียวกัน สุดท้ายก็มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และมีการปรับรัฐธรรมมนูญ ก็มั่นคงอยู่ได้ระยะหนึ่ง

*2. ยุคที่พรรคการเมืองค่อนข้างจะเปลี่ยนหลายรูปแบบ บางรัฐธรรมนูญก็เขียนให้ ส.ส. มีอิสระในการโหวต ไม่ต้องตามพรรค บางรัฐธรรมนูญก็ให้ ส.ส. ต้องโหวตตามพรรค คล้ายๆ ปี 60 ก็คือ semi แต่จริงๆ ระบบที่จะให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมันจะต้องพรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค พรรคต้องรับผิดชอบต่อคน คนต้องรักษาพรรค ไม่อย่างงั้นมันจะสะเปะสะปะไปหมด

– ยุคนั้นจะเป็นเรื่องของการที่จะโหวตที่นึง ก็จะต้องไปเข้าห้องน้ำไปจ่ายเงินกัน การเมืองอ่อนแอ ส.ส. จะโหวตยังไงก็ได้ มีการซื้อเสียงมโหฬาร

– ต่อมาก็จะเป็นยุคที่รัฐบาลอยู่กันอย่างสั้นๆ ตอนช่วงที่พี่เริ่มเข้ามาทำงานการเมือง ประมาณ 30 ปีที่แล้ว จนปี 40 ก็เกิดการปฏิรูปทางการเมืองขึ้น

*3. ยุคปัจจุบัน เป็นยุค disruption เราต้องยอมรับว่าวันนี้การเมืองมันถึงยุคที่คิดอย่างเดิมไม่ได้แล้ว เอาคนที่เป็นนักการเมืองที่ได้มา เพราะบ้านใหญ่ มีอิทธิพล เป็นตระกูลเก่าแก่ หรือผูกขาดด้วยความดีหรือใช้เงินทองอำนาจในจังหวัด มันหมดยุคตรงนั้น เพราะวันนี้โลกมันเปลี่ยน การเมืองก็ต้องถูก disrupt ด้วยเช่นกัน คนที่เป็นนักการเมืองรุ่นก่อนอาจจะมีข้อดีคือ มีพื้นฐานการเมืองแข็งแรง มีประสบการณ์ มีความรู้ความเข้าใจว่าจะดีลกับรัฐราชการอย่างไร มีฐานของการเมือง เป็นเสาเข็มของโลกยุคปัจจุบัน เราอยากใช้ประสบการณ์ตรงนี้เป็นเสาเข็ม เป็นนั่งร้าน ถึงเราจะพยายามเรียนรู้โลกใหม่อยู่เสมอ ไปลงเรียนคอร์สต่างๆ แต่ไม่ว่าจะพยายามอัพเดทยังไง เราก็จะเอาคนรุ่นเรามาทำงานทั้งหมดไม่ได้แล้ว ได้เป็นแค่ฐานราก จำเป็นจะต้องเอาคนเก่งๆ คนยุคใหม่ เอาเทคโนโลยีมาสร้างประเทศไทย

4. คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจเข้ามาในการเมือง

– นักการเมืองจะต้องมีจิตใจอาสาก่อน ต้องมีความเสียสละเป็นพื้นฐาน มีความมุ่งมั่นว่าจะใช้ความรู้ที่ตนเองถนัดมาแก้ไขปัญหา

– อยากจะเชิญชวนทุกคนว่าอย่ารังเกียจการเมือง ว่านักการเมืองเลว ถ้าคิดแบบนั้นเราก็จะได้แต่โจรมาบริหารประเทศ ได้แต่คนไม่ดี เพราะมันเป็นอาชีพของคนเลวก็ไม่มีคนดีมา พี่พยายามอยากจะชักชวน และสร้างคนรุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ยุคก่อน แต่ตอนนั้นยังไม่เห็นภาพความจำเป็นเท่ากับยุคนี้ การ disrupt มันทำให้ยิ่งมีความจำเป็น ถ้ามีองค์ประกอบของคนรุ่นก่อนที่มีฐานขององค์ความรู้ ประสบการณ์ทางด้านการเมือง เป็นฐานให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีในด้านต่างๆ มาช่วยกันสร้างประเทศไทยให้มันดีที่สุด คือเรื่องที่จะต้องทำ

– อย่างแรกเลยคือต้องเปลี่ยน mindset อย่าคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว เจ็ดปีมานี้คิดว่าทุกคนเห็นแล้วว่าการเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ถ้าการเมืองไม่ดีต่อให้เก่งแค่ไหน ก็เหนื่อย ถ้าเรายังไม่ทันแข็งแรงแล้วมาเจอ ecosystem แบบนี้ เราก็จะสามารถที่ล้มหายตายจากได้เลย ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ ถ้าแข็งแรงก็ยังเหนื่อย เราต้องใช้สิทธิเราเต็มที่เพื่อเปลี่ยนการเมืองให้ดี การเมืองดีทำให้เราดีขึ้น แต่ถ้าการเมืองแย่ก็จะทำให้เราแย่ไปด้วย

– สอง อย่างมองพรรคการเมือง และนักการเมืองเป็นคนเลว เพราะจะไม่มีคนดีเข้ามาสู่การเมือง ตอนนี้ที่พี่มีมาตั้งพรรคไทยสร้างไทยก็ดีใจที่เห็นน้องๆ แสดงตัวออกมาว่าสนใจการเมือง อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ อยากจะมาสร้างประเทศไทยให้ดีกว่านี้ เป็นห่วงตัวเอง ห่วงครอบครัว ว่าเราจะอยู่กันยังไงในระบบแบบนี้ การศึกษาแบบนี้ วันนี้ถ้าเราบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องของเรา และเราต้องสร้างพรรคการเมืองที่ดี เราต้องเอานักการเมืองที่ดี เอาคนดีเข้ามาเป็นนักการเมืองคือหัวใจสำคัญ มันถึงจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้

– หลักคิดของพรรคไทยสร้างไทยคือเราต้อง empower สร้างพลังให้กับประชาชนและ liberate จากระบบที่กดทับ จากอำนาจนิยมและรัฐราชการที่ใหญ่โตออกให้เร็วที่สุด จริงๆ สามารถสมัครเข้ามาที่พรรคไหนก็ได้ เพื่อมาช่วยกัน

5. ระดับของการเข้ามามีส่วนร่วมในการเมือง

*1. เป็นกองเชียร์ สนับสนุน เชียร์ให้พรรคเกิดขึ้น เป็นหัวคะแนน

*2. สมัครเป็นสมาชิก มีส่วนร่วมกับทิศทางของพรรค ออกความเห็นในฐานะสมาชิก

*3. เข้ามาอาสาสมัครทำงาน

อาจจะเป็นหลังบ้าน ทำเรื่องนู้นเรื่องนี้ ทำเรื่องเฉพาะด้าน นโยบายด้านต่างๆ ด้านดิจิทัล ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านสาธาณสุข ใช้ความรู้ความสามารถของตัวเองมาทำ มาร่วมคิดนโยบาย มาเป็นอาสาสมัครในการร่วมปฏิบัติงาน

*4. ออกหน้าเป็นแนวหน้า ไม่ลงสมัครเลือกตั้ง

แต่อาสาเป็น head ของแต่ละนโยบาย ถ้าสำเร็จก็จะได้มาเป็นผู้ผลักดันนโยบายในด้านที่เขาต้องการ ถ้าจะเข้ารับเลือกตั้งก็จะเป็น ส.ส. ก็มีสองระบบคือ บัญชีรายชื่อและระบบเลือกตั้งประจำเขต

6. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับการเมือง

– อยากจะย้ำว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของใคร การเมืองเป็นเรื่องของเรา เป็นเรื่องที่จะกำหนดชะตาชีวิตของเราว่าจะไปทางไหน ความเก่ง ความสามารถของเราเป็นส่วนนึง แต่ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี เก่งแค่ไหน แข็งแรงแค่ไหนก็ต้องพบความยากลำบากหรือไปต่อไม่ไหว

– อยากให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญ และได้รักษาสิทธิของตัวเอง รักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ชื่อว่าประเทศไทย ได้ใช้สิทธิของตัวเองในการที่จะทำให้ประเทศไทยมันดีที่สุด อยากให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างประเทศไทยที่ดีที่สุด

– ยุคของการ disrupt และโควิดในครั้งนี้มันคือโอกาสที่จะทำให้เกิดประเทศไทยใหม่ มันจะเกิดใหม่ได้ ถ้าทุกคนที่มีความสามารถได้มองเห็นการเมืองว่ามันเป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องมาลงแรง ลงสมองช่วยกัน จะอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลัง จะสนับสนุนอะไรก็ได้ แต่ทุกคนต้องมาช่วยกัน สร้างประเทศไทยที่ดีที่สุดสำหรับเรา วิกฤตครั้งนี้มันคือโอกาส ที่เราจะต้อง disrupt การเมืองและสร้างการเมืองใหม่ สร้างประเทศไทยขึ้นมาใหม่ อยากจะเชิญชวนให้ทุกคนมามีส่วนร่วมและใช้สิทธิ จะร่วมกับใครก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสมกับเรา


รายละเอียด

Date:16 July 2021 (21:00-23:30)

Speaker: คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ – ประธานและผู้ก่อตั้ง พรรคไทยสร้างไทย

Moderator: พี พนิต (วันนี้สรุป..มา)


#ClubhouseTH #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #การเมือง #คุณหญิงสุดารัตน์ #พรรคไทยสร้างไทย #todayinoteto #วันนี้สรุปมา