การลงทุนคืออะไร? พูดคุยกับคุณเบส (ลงทุนศาสตร์)

การลงทุน

สารบัญ

1. การลงทุน คืออะไร

การลงทุน คือ การนำทุน (ส่วนใหญ่ก็คือเงิน) ไปซื้อสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง แล้วหวังผลตอบแทนจากสินทรัพย์นั้น ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม มีทั้งทางตรงและทางอ้อม

การลงทุนทางตรง คือการไปทำธุรกิจด้วยตัวเองเลย แต่ส่วนใหญ่ที่พูดถึงกันคือการลงทุนทางอ้อม คือการเอาเงินไปซื้อสินทรัพย์ใดๆ แล้วได้รับผลตอบแทนจากสินทรัพย์นั้น เช่น เป็นส่วนต่างราคา เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่า

2. ประเภทของการลงทุน

การลงทุนในสินทรัพย์มีทั้งหมด 6 ประเภท

*1. เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลากออมทรัพย์
*2. ตราสารหนี้
*3. ตราสารทุน หุ้น สินทรัพย์ขายหุ้น เช่น ใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น
*4. ตราสารอนุพันธ์ สัญญาการซื้อขายล่วงหน้า TFEX
*5. สินทรัพย์ทางเลือก เช่น โลหะมีค่า ทองคำ คริปโตเคอเรนซี อสังหาริมทรัพย์ หรือ Passion Invesment (นาฬิกา, พระเครื่อง)
*6. กองทุนรวม

3. ทำไม การลงทุน ถึงสำคัญ

– การลงทุนอาจจะไม่ได้สำคัญสำหรับบางคนก็ได้ การลงทุนคือการนำเงินไปสร้างผลตอบแทน จะสำคัญในคนที่ต้องการวางแผนการเงินด้วยการลงทุน เช่น คนที่ต้องการกระแสเงินสดเพื่อที่จะเตรียมตัวตัวเกษียณ ลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง หรือลงทุนเพื่อการลดหย่อนภาษี

– แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่การลงทุนไม่สำคัญสำหรับเขา เช่น คนที่มีเงินมากๆ อยู่แล้วใช้ยังไงก็ไม่หมด

– ไม่ใช่ทุกคนที่ต้องลงทุน การลงทุนเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูว่ามันเหมาะกับเราหรือเปล่า ถ้าเราศึกษาแล้วสามารถหาเงินจากมันได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับบางคนอาจจะไม่ตอบโจทย์ เช่น มาลงทุนแล้วขาดทุน การไปทำงานที่เป็น active income อาจจะตอบโจทย์มากกว่าก็ได้

– การลงทุนไม่ได้เป็นการลดความเสี่ยง แต่เป็นการบริหารความเสี่ยง เราจะเจอความเสี่ยงจากตลาด ความผันผวน การประกอบธุรกิจของทรัพย์สินที่เราไปเลือกลงทุน ซึ่งความเสี่ยงนี้ก็สามารถทำให้เราสร้างผลตอบแทนได้ เพราะมีโอกาสที่สินทรัพย์จะราคาถูกแบบไม่สมเหตุสมผล และก็มีโอกาสที่จะแพงแบบไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน เราสามารถอาศัยสิ่งนี้มาใช้ในการทำกำไรได้

4. คนที่เหมาะสำหรับการลงทุน มีใครบ้าง

– การลงทุนเหมาะสำหรับคนที่สามารถหาเงินจากการลงทุนได้ คนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนอาจจะไม่ได้มีความรู้ทุกคน แต่เกือบ 99% ต้องมีความรู้ ก็อาจจะมีบ้างที่นักลงทุนบางคนซื้อหุ้นตามตลาดไปเรื่อยๆ เช่น ซื้อตอนหุ้น IPO แบบไม่มีความรู้ ก็อาจจะมีสิทธิ์ได้กำไรเท่าตัวเหมือนกัน

– การลงทุนเหมาะกับใครก็ได้ที่หาเงินได้จากมัน แต่ถ้าไม่มีความรู้ก็ต้องใช้ดวงเยอะซึ่งมันไม่ง่าย โดยทั่วไปการมีความรู้จะทำให้การลงทุนหาเงินได้ง่ายขึ้น เพราะจริงๆ แล้วการลงทุนมันมีหลักการอะไรบางอย่าง แต่บางคนใช้โอกาสแทงทีเดียวแล้วถูกก็มีสิทธิ์ได้ แต่ถ้าจะลงทุนในระยะยาว 5-10 ปี มันหนีความรู้ไม่พ้น

5. คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มลงทุน

– ก่อนอื่นต้องทำตัวเองให้รักการลงทุนก่อน ต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราจะรวย เหมือนการที่เราตั้งใจจะลดน้ำหนัก เราต้องเชื่อก่อนว่าเราจะผอมได้ ไปหาแพสชั่นก่อน

– เริ่มวันแรก ยังไม่ต้องสนใจความรู้มาก แต่ให้ทำตัวเองให้อยากอยู่ในตลาดหุ้น อยากอ่านหนังสือหุ้นก่อน ให้เรามั่นใจว่าเราจะรวยจากหุ้น อันนี้ยากที่สุด บางคนทำได้ทุกอย่าง อ่านหนังสือหลายเล่ม แต่สุดท้ายก็อยู่ในตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้เชื่อว่ามันจะทำเงินให้เขาได้จริงๆ ตอนผมเข้าตลาดหุ้นวันแรก ไม่มีคนสอน ไม่มีใครบอก ลุยเอง มั่วซั่วมาเป็นปีๆ แต่เราเชื่อ เราเลยอยู่ได้ สิ่งสำคัญคือแพสชั่น ถ้าวันนี้ยังไม่มี ให้หาเพื่อน หาคนรู้จัก ใครก็ได้ที่เขาหลงใหลใฝ่ฝันเรื่องเดียวกับเรา เอาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่มีพลัง ไปหากลุ่มหุ้น ก๊วนนักลงทุน อ่านหนังสือ อ่านเพจหุ้น ฟังพอดแคสต์ เราต้องเชื่อก่อนว่าเราจะประสบความสำเร็จกับสิ่งนี้ได้ แล้วหลังจากนั้นมันจะพาเราไปเอง

– การแนะนำหนังสือหรือตัวเริ่มต้นอาจจะมีคนบอกไว้เยอะแล้ว วันนี้ผมเลยอยากมาเน้นย้ำเรื่องแพสชั่น มันสำคัญที่สุดเลยในระยะยาว 10-20 ปี ถ้าไม่มีแพสชั่น ปีเดียวก็เบื่อแล้ว ต้องเป็นความหน้าด้านหน้าทน สุดท้ายเราจะอยู่กับมันได้แบบประสบความสำเร็จจริงๆ

– การลงทุนในช่วงแรก ผมแนะนำว่าคุณต้องเหยียบให้มิดไมล์ ต้องเป็นนักลงทุนแบบบ้าคลั่ง ช่วงแรกๆ ในการลงทุน ไม่สามารถอยู่กับหุ้นได้ 6-10 ชั่วโมง ยากมากที่จะเติบโตไปเป็นนักลงทุนที่ above average เพราะวันแรกที่เราเริ่มลงทุนมันจะพีคมาก และความพีคจะค่อยลดลงไปเรื่อยๆ พอเวลาผ่านไป มันจะเหลือน้อยมาก ช่วงแรกผมอ่านทั้งวันทั้งคืนไม่ต่ำกว่าวันละ 10 ชั่วโมง พอเราเหยียบมิด กักเก็บความรู้จนพองฟูแล้ว มันจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบาก จะมีวิกฤตเข้ามา ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เราเก็บความรู้ไว้แต่เราผ่อนความรู้สึกลง สิ่งที่เราทำคือเราต้องกระจายความเสี่ยงในชีวิต อย่ายึดถือการลงทุนเป็นทุกอย่างในชีวิต อย่าเอาคำว่าการลงทุนมาเป็นสิ่งตัดสินว่า คุณมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ ชีวิตทุกอย่างมันเคลื่อนไหวตามพอร์ตหุ้นไม่ได้ ในระยะสั้นอาจจะพอทนได้ แต่ระยะยาวคุณจะเป็นบ้า หันไปใช้ชีวิตด้านอื่น ไปมีงานอดิเรก มีครอบครัว มีความรัก มีวิถีชีวิตอื่นบ้าง เก็บความเข้มข้นในการศึกษาเรื่องการลงทุนให้เท่าเดิม แต่ถอดใจของเราออกมา

– ช่วงแรกในการศึกษามันต้องใส่ใจเยอะ เพราะเราต้องใช้แพสชั่นในการเรียนรู้ การเรียนรู้มันยากเสมอ แต่ถ้าเรารู้แล้วเหมือนเราว่ายน้ำเป็น เราไม่ต้องมาเกร็งทุกอย่างตลอดเวลา เราสามารถปล่อยฟรีสไตล์ได้ ทำอย่างอื่นไปด้วย การจัดความรู้สึกยาก แต่ถ้ากระจายความเสี่ยงไปทำอย่างอื่นก็จะช่วยได้ อย่างผมก็เขียนหนังสือนิยาย ช่วยให้เรามีงานอดิเรกให้เราไปต่อได้

6. การตั้งเป้าหมายในการลงทุน สำคัญอย่างไร

– เป้าหมายของทุกคนที่เข้ามาในตลาดหุ้นคืออยากรวย ผมจะไม่ค่อยไปบอกให้ใครตั้งเป้าว่าต้องได้กี่ % ในวันแรกที่ลงทุน แต่จะให้ประสบการณ์มันสอนเรา ปีแรกจะเป็นช่วงเวลาที่มีสีสัน เชื่อมั่นในตัวเองถึงขีดสุด ทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเซียนหุ้น สุดท้ายแล้วตลาดหุ้นคือการ optimization การหาจุดสมดุล ความหวังผลตอบแทนสูงไม่ผิด แต่คุณหาได้หรือเปล่า ถ้าคุณตั้งเป้าว่าอยากกำไรเกิน 100% แล้วทำได้ก็ถือว่าดี แต่ถ้าการคิดแบบนั้นทำให้คุณลงไปสู่เหว ไปลงทุนในหุ้นปั่น หุ้นที่มีความเสี่ยงสูง สุดท้ายมันจะสอนคุณเองว่าวิธีนี้เสี่ยงเกินไป จงลดผลตอบแทน ลดความคาดหวังลง เพราะเราจะอยู่ไม่ได้

– แต่ถ้าคุณ conservative เกินไป อยากได้ปีละ 1-2% ก็ไม่ผิด แล้วแต่คน สมมุติวันนี้คุณมีเงินเก็บหมื่นล้าน แล้วอยากได้ผลตอบแทนปีละ 1% คือร้อยล้าน ก็ไม่มีใครว่า ตลาดหุ้นจะสอนคุณเองว่าจุดไหนคือ จุดที่คุณควรจะอยู่ มากไปก็มีผลเสียแบบนึง น้อยไปก็มีผลเสียแบบนึง คุณตั้งมากไป คุณหาไม่ได้เลย สุดท้ายคุณก็จะท้อ ก็จะรู้ว่ามันยาก ก็จะปรับลดลงมาเอง

– ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจความเสี่ยงของเรามากแค่ไหนด้วย ยิ่งเรารู้สึกเครียดหรือกังวลกับการลงทุนมากเท่าไหร่ สิ่งที่ต้องเพิ่มคือความรู้ เราเข้าใจตลาดหุ้นไหม เข้าใจหุ้นที่เราถือ ว่าถือไปทำไม ทำไมราคาต่ำลง มูลค่าพื้นฐานคือจุดไหน

– ถ้าหาความรู้จนแน่นแล้ว สิ่งต่อไปที่ควรศึกษาคือ จิตวิทยาในการลงทุน ต้องเข้าใจว่าการลงทุนมันคืออะไร มันมีความเสี่ยง นี่คือเรื่องพื้นฐานและเป็นศาสตร์ที่ยากที่สุด ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีต่างๆ ไม่ใช่การเข้าใจหุ้น แต่คือการบริหารจิตใจ ผมเจอนักลงทุนเก่งๆ มีพอร์ตเป็นพันล้านหมื่นล้าน ความรู้ความสามารถมันสามารถเรียนทันกันได้ อ่านให้ละเอียด บางคนรู้หุ้นมากกว่าผู้บริหารรู้ซะอีก แต่สุดท้ายแล้วการบริหารความรู้สึก จิตใจ การใช้วินัยในการลงทุน จะเป็นตัววัดว่าเราจะอยู่รอดหรือไม่ เก่งแค่ไหนแต่ถ้าทำใจถือหุ้นไม่ได้หรือขายหุ้นไม่เป็น ก็เจ๊งอยู่ดี

– เรื่องพวกนี้เหมือนการสอนว่ายน้ำ มันพูดสอนท่าได้ แต่ถ้าไม่ได้ทำเอง จิตใจก็ไม่ได้ฝึกฝน ก็ไม่รู้วิธีที่จะรับมือกับความเครียดได้

7. ข้อผิดพลาดที่มักจะเจอสำหรับการลงทุน

– ข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนคือ ถ้าคุณพลาด คุณห้ามเลิกลงทุน

– การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาว ทุกคนมี bad time มีช่วงเวลาที่ย่ำแย่ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณต้องจำคือ ตลาดหุ้นมีขึ้นและลง เป็นไปไม่ได้ที่พอร์ตหุ้นจะขึ้นไปมหาศาล มันไม่ได้มีแต่วันที่ดี ไม่มีนักลงทุนคนไหนไม่เคยขาดทุน แต่สิ่งสำคัญเลยคือขาดทุนแล้วห้ามหยุด ห้ามหมดไฟ ถ้าวันนี้คุณขาดทุน แล้วคุณเลิก คุณก็จะขาดทุนไปตลอดชีวิต

– แต่ถ้าวันนี้คุณขาดทุนแล้วคุณไม่เลิก ตลาดหุ้นในระยะยาวเป็นขาขึ้น อยู่ๆ ไปถ้าไม่เลิกซะก่อน มันก็จะรวยไปเองโดยธรรมชาติ ถ้าคุณไม่ซื้อหุ้นผิดแบบ 100% จริงๆ แค่ซื้อหุ้นให้ถูกเกิน 50% มันก็รวยแล้ว สิ่งสำคัญคือห้ามเลิก และต้องเชื่อว่าคุณจะรวย ถ้าผิดพลาดแล้วให้กลับไปทบทวนว่าเราทำผิดอะไรแต่อย่าเลิก ถ้าเลิกแล้วคือเลิกเลย

– ยิ่งเราลงทุน เราจะยิ่งรู้สึกว่าเรารู้น้อย รู้สึกว่าเรายังจะต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะมาก อันนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งเราเป็นแบบนี้จะยิ่งดี จะทำให้เรา stay awake ทำให้เราหวาดระแวง ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เราก็จะนอบน้อมและเข้าใจตลาดหุ้นมากขึ้น ซึ่งมันเป็นความรู้สึกจริงๆ ไม่ได้เป็นการถ่อมตัว

– ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองเก่ง เราจะใช้สัญชาตญาณมากขึ้น แทนตรรกะ แต่ถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่เก่ง จะยิ่งหาความรู้ จะค่อยเช็คข้อมูลอยู่สม่ำเสมอ

– การลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ท่ายากหรือท่าง่าย แต่ขึ้นอยู่กับท่าที่เราถนัด ซึ่งถ้ามันเป็นท่ายากแต่ถ้าเราถนัด เราอยากทำ มันก็ทำได้ อย่าไปหยุดตัวเองไว้ที่ท่าง่าย

8. การเล่นหุ้นจำเป็นต้องดูกราฟเป็นไหม

– ผมไม่เคยใช้กราฟในการลงทุนเลย สามเดือนแรกใช้เพื่อการเรียนรู้ว่า ตอนนั้นจะเป็น technical investor ไหม แต่หลังจากนั้นไม่เคยใช้กราฟตัดสินใจอีกเลย เปิดกราฟแค่ว่าหุ้นเคยขึ้นไปถึงจุดไหน ลงไปถึงจุดไหน จะได้เข้าใจว่าเคยเทรด PE เท่าไหร่บ้าง แต่นอกนั้นใช้พื้นฐานทั้งหมด ใช้ธุรกิจ ใช้งบการเงิน ใช้ valuation เป็น fundamental investor 100% ไม่ได้ใช่ technical เลย

– แต่ถ้าลงทุนแบบนี้ สิ่งที่จะมาตัดสินก็คือการทำ valuation ว่าทำเป็นหรือเปล่า ถ้าทำไม่เป็นก็แก้ปัญหาด้วยการ DCA ซื้อถัวเฉลี่ยไปเรื่อยๆ เลือกหุ้นที่คิดว่าน่าจะดีใน 5-10 ปี แล้วซื้อสะสมเก็บเรื่อยๆ เอาเวลาที่เหลือไปทำมาหากิน แล้วเอาเงินมาเติมพอร์ตดีกว่า

– แต่ถ้า valuation ได้ ก็สามารถลงทุนแบบซื้อเมื่อราคาถูก ขายเมื่อราคาแพง แบบนี้ก็ทำได้

– สรุปก็คือ
*1. Technical ไม่ได้จำเป็น ไม่ต้องใช้ก็สามารถลงทุนได้
*2. ลงทุนแบบ fundamental ถ้า valuation ไม่เป็น ก็ใช้วิธี DCA แต่ถ้าสามารถใช้ valuation ได้ ก็ให้ศึกษาเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ สักวันนึงก็จะประสบความสำเร็จ

9. เวลามีวิกฤตควรจะปรับพอร์ตลงทุนยังไง

– ผมใช้ valuation เป็นหลัก ถ้า valuation แล้วราคายังถูกอยู่ ก็ซื้อเรื่อยๆ ถ้าหุ้นที่เราซื้อไว้ที่ดูแข็งแกร่ง รายได้มั่นคง ราคามันลงน้อยผมก็ขาย แล้วเอาเงินมาซื้อหุ้นที่ลงมาเยอะๆ ที่ดูมีอนาคตที่ดี

– วิธีการสู้กับวิกฤตไม่ใช่การถือเงินสด เพราะเงินสดซื้อแป๊บเดียวก็หมด แต่วิกฤตอาจจะอยู่กับเราเป็นปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือความสามารถในการสวิตช์หุ้น ออกหุ้นให้ได้ เข้าหุ้นใหม่ให้เป็น การปิดจอไม่ดูอะไรเลย ถ้าหุ้นตัวไหนลงไปเยอะๆ คุณไม่มีโอกาสซื้อ ยิ่งมีวิกฤตยิ่งต้องหาโอกาสให้ได้ ถ้าหุ้นคุณลง 20% แต่อาจจะมีหุ้นลง 70% ที่น่าซื้อ ก็ต้องขายไปซื้อมันให้ได้

– การถือเงินสดเราไม่รู้เลยว่าตรงไหนจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ให้โฟกัสเรื่องการ valuation และปรับหุ้นในพอร์ตดีกว่า การถือเงินสดไม่ได้ผิด แต่บางทีพอตลาดลงแล้วมันก็เด้งกลับขึ้นมาได้อีกเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าไปมองตลาดเยอะ ให้มองบริษัท มองการ valuation มีหลายบริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเชื่อว่าโควิดคงไม่ได้อยู่เราไปตลอดชีวิต สักวันนึงก็จะผ่านไป แต่ก็ไม่ได้ให้ไปซื้อหุ้นเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบมากๆ อาจจะไปดูหุ้นบริษัทที่อาจจะได้ผลประโยชน์จากโควิด แต่ราคาหุ้นลง มาอันนี้ก็เป็นโอกาส

10. ตลาดหุ้นไทย vs. ตลาดหุ้นต่างประเทศ

– ถ้าเพิ่งเริ่มลงทุน ไม่แนะนำให้ลงทุนต่างประเทศก่อน เพราะการเข้าถึงข้อมูลไม่เท่ากัน เราอยู่ข้างนอก ไม่เคยเห็นธุรกิจนั้นจริงๆ ไม่รู้จักผู้บริโภค ข้อมูลเราก็ช้ากว่า เรื่องของภาษาก็เป็นอีกเรื่องนึง เพราะการอ่านเพื่อลงทุนมันต้องอ่านเยอะมากๆ แล้วการลงทุนในต่างประเทศมีท่าเยอะ มีค่าลงทุนขั้นต่ำ มีการเหลื่อมของเวลา ถ้ายังไม่เก่งประสบการณ์ แนะนำให้ลงทุนในไทยให้เก่งก่อน ให้ได้สัก 3 ปี เอาตัวรอดให้เงินต้นไม่หาย

– ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนต่างประเทศมันเฟื่องฟูมาก แล้วหุ้นไทยไม่ขึ้น หุ้นต่างประเทศอนาคตดีกว่าเยอะ ประเทศไทยถ้ามองในเชิงโครงสร้างแล้วยากมาก การเมืองไม่สเถียร เศรษฐกิจไม่ค่อยดี GDP โตไม่เยอะมานานแล้ว ถ้าเป็นคนต่างประเทศคงไม่มาลงทุนที่ไทย แต่เราเป็นคนไทยก็อาจจะลงทุนเพื่อซ้อมมือ

– สิ่งที่อันตรายที่สุดคิดว่าคือ โครงสร้างประชากร ประเทศไทยตอนนี้จะเข้าสู่ระยะสังคมผู้สูงอายุ และคาดว่าอีกสามปีจะเป็นผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ คือมีคนอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของประชากร ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่เป็น aging society แล้วยังไม่ได้เป็นประเทศที่พัฒนา อัตราการเกิด การแต่งงานต่ำ ประชาชนที่เป็นแรงงานน้อย ภาครัฐอาจจะกระตุ้น สร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ แต่อย่าลืมว่ามันเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมากแค่ประมาณ 10% ของ GDP ส่วนใหญ่มันจะไปหนักอยู่ที่ภาคบริโภคที่อยู่ที่ประมาณ 55%

– วันนี้หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติศาสตร์ แล้วจะเอาอะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ความหวังเดียวของเราคือ ต้องทำให้ทั้งประเทศ modernization ทั้งประเทศ ทำให้ทั้งประเทศเป็นอย่างกรุงเทพ วันนี้ทั่วประเทศรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000 แต่กรุงเทพอยู่ที่ 28,000 คิดง่ายๆ ถ้าทำให้ทั้งประเทศเป็นแบบกรุงเทพได้ เราจะได้ GDP เติบโตขึ้นประมาณสองเท่าซึ่งมหาศาลในตลาดหุ้น แต่ไม่ได้เกินจริงเพราะ GDP per capita ของไทยยังตามหลังประเทศอื่นอีกเยอะ อย่างของสหรัฐอเมริการอยู่ที่ประมาณ 60,000 USD ต่อคนต่อปี แต่ของไทยอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 USD ต่อคนต่อปี

– ต้องกลับมามองว่าประเทศไทยมีโครงสร้างอะไรที่จะพัฒนาเราไปได้ไกลแบบนั้นบ้าง เวลาวิเคราะห์ปัจจัยมหภาค เราวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ ลักษณะสังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และกฎหมาย ส่วนตัวยังไม่ค่อยเห็นความหวัง เพราะฉะนั้นการลงทุนธีมหลักในประเทศไทยคือการซื้อหุ้นเล็กถึงกลาง คือซื้อตอนมันเล็กพอกลางแล้วก็ขาย แล้วก็หาตัวใหม่ แต่ไม่ใช่การซื้อถือไปตลอดกาล ประเทศไทยไม่ใช่อเมริกาที่เติบโตได้เป็น 100 ปี อันนี้พูดตามสิ่งที่เห็น

– ต่างประเทศเป็นโอกาสการลงทุนที่เติบโตสูงมาก แต่ท่ายาก ใช้เงินเยอะ ความเสี่ยงสูง สองปีที่ผ่านมาหุ้นอเมริกาขึ้นไม่หยุด เพราะ Down Jones มัน weight ด้วยหุ้นเทคโนโลยีเยอะ และการมาของโควิดทำให้หุ้นเทคโนโลยีเติบโต แต่เราไม่รู้เลยว่ามันฟองสบู่แล้วหรือยัง และมันก็จะยังไงต่อ

11. ฝากส่งท้าย เกี่ยวกับการลงทุน

– ตอนนี้บางคนอาจจะพูดว่ามันไม่ใช่ยุคทองของ VI แล้ว แต่มันก็ยังสามารถหาเงินได้อยู่ ผมลงทุนมา 7-8 ปี หาหุ้นเด้งได้สักประมาณ 20 ตัว ซึ่งก็สามารถหาได้ทุกปี สิ่งสำคัญในการจะหาหุ้นเด้งคุณต้องเชื่อก่อนว่ามันมีหุ้นเด้ง ต้องเชื่อมั่นก่อนว่าเราจะประสบความสำเร็จในเส้นทางนี้จริงๆ จะหาหุ้นให้ได้ผลตอบแทนที่เปลี่ยนชีวิตได้ สร้างอิสรภาพทางการเงินได้ การตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่มันจะถอยกลับมาเป็นการกระทำ

– ถ้าเราเชื่อว่าวันนี้เราจะลงทุนเพื่อเปลี่ยนชีวิตให้เป็นเศรษฐีร้อยล้าน เราจะทำงานแบบนึง เราจะทุ่มเทเวลาให้ตลาดหุ้น แต่ถ้าเราคิดว่าเราลงทุนเพื่อหาค่าขนมวันละร้อยสองร้อย เราก็จะทำงานอีกแบบนึง ไม่ได้บอกว่าแบบไหนถูกหรือผิด แต่ถ้าวันนี้อยากจะไปให้ไกล คุณก็ต้องฝันให้ใหญ่ แล้วต้องทำให้ได้ตามความฝันนั้น เอาจริงเอาจัง มีความพยายาม มีความใส่ใจในการลงทุนมากๆ แล้วมันจะตอบแทนคุณอย่างที่คุณไม่คิดไม่ฝัน พูดได้จากคนที่เคยเปลี่ยนชีวิตจากการลงทุนมาแล้ว


รายละเอียด

Date: 14 July 2021 (21:00-23:00)

Speaker: คุณเบส กิตติศักดิ์ คงคา – นักลงทุนและเจ้าของเพจ ลงทุนศาสตร์

Moderator: พี พนิต (วันนี้สรุป..มา)


#ClubhouseTH #WhyItMatters #ทำไมถึงสำคัญ #Investment #การลงทุน #Investerest #ลงทุนศาสตร์ #todayinoteto #วันนี้สรุปมา